การเตรียมพื้นที่ก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต และวิธีการใช้งานตัวจบแต่ละประเภท
พื้นไม้ลามิเนต (Laminate Wood Flooring)
พื้นประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย เพราะความสวยงาม ทนทาน และติดตั้งง่าย อีกทั้งยังราคาถูกหากเทียบกับพื้นไม้จริง โดยพี้นไม้ลามิเนตมีองค์ประกอบหลายชั้นที่ถูกรวมเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นชิ้นไม้ที่มีความทนทาน ซึ่งสามารถแบ่งชั้นไม้ออกได้เป็นสัดส่วนดังนี้
1 ผิวหน้าชั้นบนสุดจะเป็นชั้นที่ใช้ป้องกันรอยขูดขีดหรือคราบต่างๆ
2 เป็นชั้นตกแต่งที่ทำให้ลามิเนตมีผิวสัมผัส และลวดลายเหมือนไม้จริง
3 ชั้นแกนกลางทำมาจาก fiberboard ที่มีความหนาแน่นปานกลาง หรือ หนาแน่นสูง เพื่อใช้รับน้ำหนัก และแรงกดจากการเดิน
4 เป็นชั้นที่ให้ความความแข็งแรง ความคงตัวจะเกิดจากชั้นล่างสุด ซึ่งช่วยให้แผ่นไม้ลามิเนตสามารถคงรูปร่างได้ไม่โค้งงอ หรือ พังเสียหาย
ปัจจุบันพี้นไม้ลามิเนตมีระบบล๊อคที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ การเปลี่ยนจากการเชื่อมต่อด้วยกาวมาเป็นการเชื่อมโดยใช้กลไกคลิ๊กล๊อคเล็กๆน้อยๆก็ทำให้การติดตั้งเป็นไปได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว โดยสามารถใช้งานได้ทันทีหลังติดตั้งเสร็จ อีกทั้งยังดูแลรักษาได้ง่ายอีกด้วย
การเตรียมพื้นที่ก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต
มีข้อควรปฏิบัติก่อนการติดตั้งดังนี้
ตรวจสอบความชื้นของพื้นก่อนการติดตั้ง
ถ้าบริเวณพื้นที่จะติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต เป็นพื้นคอนกรีตเทใหม่แล้วมีความหนา 10-15 ซม. ควรทิ้งระยะเวลาให้คอนกรีตเซ็ตตัวประมาณ 15 - 20 วัน เพื่อให้พื้นแห้งสนิทก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นจากพื้นคอนกรีตมาทำความเสียหายให้แก่พื้นไม้ลามิเนต นอกจากนี้ต้องตรวจสอบจนมั่นใจไม่มีน้ำรั่วซึมทั้งจากพื้นด้านล่าง และด้านข้าง หากพบปัญหาต้องรีบซ่อมแซมแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะปูพื้นไม้ลามิเนตได้ เพราะน้ำที่รั่วซึมจะทำให้พื้นไม้ลามิเนตเสียหายได้อย่างรวดเร็ว
ตรวจสอบความสม่ำเสมอของพื้นก่อนการติดตั้ง
สำหรับพื้นห้องที่จะทำการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต จะต้องมีความสม่ำเสมอของระนาบพื้นผิว โดยจะต้องไม่นูน หรือ เป็นแอ่ง ซึ่งภายใน 1 ตรม. ควรมีระดับต่างกันไม่เกิน 1-2 มม. สามารถทดสอบได้โดยการวางท่อนไม้ที่มีความตรงหนึ่งท่อน ยาวประมาณ 1-1.5 เมตร แล้วตรวจหาจุดต่ำบนพื้นที่ทำให้เกิดช่องระหว่างท่อนไม้ และพื้นที่เป็นแอ่ง เมื่อตรวจพบจุดที่เป็นแอ่งแล้วให้ทำสัญลักษณ์บนพื้นจากหลายๆ มุมเพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ ที่จะต้องแก้ไขให้มีระนาบความเรียบที่สม่ำเสมอ มีขนาดความกว้าง และลึกเท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขมีความผิดพลาดน้อยที่สุด
การเตรียมพื้นที่ในกรณีที่มีการปูพื้นเดิมมาก่อนแล้ว
สำหรับพื้นเดิมที่มีการปูกระเบื้องเซรามิก ,พื้นหินขัด ,พื้นแกรนิต หรือ พื้นไม้ปาร์เก้ มาก่อนสามารถติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตทับได้โดยไม่ต้องมีการรื้อถอน ยกเว้นในกรณีที่พื้นเดิมมีการแตกหัก หลุดร่อน หรือพื้นเดิมที่เป็นไม้มีปลวกกิน โดยมีผลทำให้พื้นเดิมชำรุดเสียหายจนพื้นผิวไม่มีความความเรียบสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ในกรณีที่พื้นเดิมเคยปูพรม หรือ พื้นกระเบื้องยางที่เกิดการชำรุดในลักษณะร่อนออกจากพื้น กรณีนี้ควรรื้อพื้นเดิมออกให้หมด (พื้นกระเบื้องยางถ้ายังอยู่ในสภาพดีไม่ต้องรื้อก็ได้) และกำจัดกาวที่ยึดพรม หรือ กระเบื้องยางที่พื้นเดิมออกให้หมดก่อนการติดตั้งพื้นไม้ลามิเนต เพื่อให้พื้นเกิดความเรียบร้อยสม่ำเสมอ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเสียหายอื่นๆตามมาภายหลัง
ลักษณะของตัวจบแต่ละประเภท กับการเว้นระยะระหว่างความห่างของไม้พื้น
การติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเว้นช่องสำหรับให้ไม้ขยายตัว ( ไม้ลามิเนตยาว 1 เมตรมีโอกาสขยายตัวประมาณ 1 มม. ) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ตัวจบในการเก็บขอบมุมให้เรียบร้อย สวยงาม และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน โดยตัวจบแต่ละประเภทมีลักษณะการใช้งานดังนี้
บัวพื้น (Baseboard)
เมื่อติดตั้งพื้นไม้ลามิเนตมาถึงบริเวณผนัง จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างผนังกับพื้นไม้ลามิเนตไว้ประมาณ 1 - 1.5 cm เพื่อให้พื้นไม้ลามิเนตได้ขยายตัว แล้วทำการติดตั้งบัวพื้นบริเวณช่องดังกล่าวเพื่อกดทับให้พื้นไม้ลามิเนตไม่กระเดิด และเป็นการเก็บรายละเอียดเพิ่มความสวยงามไปด้วยในตัว
ตัวที ( T-Moulding)
T-Moulding ใช้สำหรับเชื่อมรอยต่อระหว่างวัสดุที่เหมือนกัน หรือ แตกต่างกันให้เกิดความเรียบร้อย สวยงาม และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เช่น พื้นไม้ลามิเนต กับพื้นกระเบื้อง หรือ พื้นไม้ลามิเนต กับไม้ธรณีประตู
ตัวจบต่างระดับ (Transition)
Transition ใช้สำหรับจบงานในกรณีที่พื้นไม้ลามิเนตสูงกว่าพื้นที่เชื่อมต่อกัน เช่น บริเวณระดับพื้นหน้าห้องน้ำ เป็นต้น
ตัวจบ Edging
Edging ใช้สำหรับจบงานระหว่างพื้นไม้ลามิเนตกับผนัง หรือ ขอบที่เป็นมุมฉากโดยไม่สามารถใช้บัวพื้นได้ เช่น บริเวณพื้นไม้ กับเฟรมอลูมิเนียม เป็นต้น
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
สินค้าเทียบเคียงในหมวด "พื้นไม้ลามิเนต"
สินค้าเทียบเคียงในหมวด"พื้นไม้ลามิเนต"
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม