สาเหตุ!!! ที่ทำให้กระจกเทมเปอร์เกิดอาการลั่น และแตกเอง

การที่อยู่ดีๆแล้วกระจกเกิดอาการลั่นแตกเองนั้น (ส่วนมากจะเกิดกับกระจกเทมเปอร์) มีสาเหตุมาจากปัจจัยที่หลากหลาย และแตกต่างกัน ซึ่งสามารถจำแนกสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระจกลั่นแตกเองได้ 5 สาเหตุดังนี้

สาเหตุที่ 1 เกิดจากการเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปติดตั้ง

ในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นจากความไม่ระมัดระวังในการขนย้ายขึ้นมาเพื่อติดตั้ง โดยผิวกระจกอาจไปกระแทกกับอะไรบางอย่างจนผิวกระจกเกิดรอยแคร็กเล็กๆ หรือ เกิดรอยบิ่นกระเทาะที่ขอบกระจก แม้กระจกจะยังไม่ถึงจุดที่จะแตกในทันทีทันใด แต่ก็พร้อมที่จะแตกได้ตลอดเวลา เนื่องจากเนื้อกระจกมีความสมบูรณ์ลดลง ซึ่งมีผลต่อความแข็งแรงของเนื้อกระจกโดยตรง โดยกระจกจะสะสมความเครียดที่เนื้อกระจกซึงเป็นสภาวะที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อเวลาผ่านไปความเครียดจะสะสมจนถึงจุดที่รับไม่ไหว ในที่สุดกระจกก็จะลั่น และแตก ดังนั้นก่อนการติดตั้งกระจกควรตรวจสอบบริเวณสัน และขอบกระจกโดยรอบ รวมทั้งบริเวณช่องบากหรือรูเจาะต่างๆให้ดีก่อนว่ามีรอยตำหนิที่อาจจะเป็นอันตราย อย่าติดตั้งกระจกทั้งๆที่มีรอยบิ่นกระเทาะ หรือ รอยแคร็กของเนื้อกระจกเด็ดขาด

นอกจากนี้การติดตั้งกระจกเทมเปอร์เข้ากับเฟรม โดยไม่ได้ตรวจสอบความสะอาดเรียบร้อยของเฟรมเสียก่อนแล้วมีเศษอะไรบางอย่างติดอยู่ เมื่อนำกระจกเทมเปอร์ติดตั้งลงไปก็จะทำให้ขอบกระจกไปกดทับ หรือ เบียด กับเฟรม และเศษที่ตกค้างอยู่ในเฟรม ซึ่งมีผลทำให้ขอบกระจกกลายเป็นจุดอ่อนของกระจกเทมเปอร์ทันที แม้จะมีแรงมากระทำเพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำให้กระจกเทมเปอร์ลั่น และแตกเองได้ทั้งแผ่น 

 

สาเหตุที่ 2 เกิดจากการไม่ได้ตรวจสอบความสะอาดเรียบร้อยของเฟรมกระจกก่อนติดตั้ง

นอกจากนี้การติดตั้งกระจกเทมเปอร์เข้ากับเฟรม โดยไม่ได้ตรวจสอบความสะอาดเรียบร้อยของเฟรมเสียก่อนแล้วมีเศษอะไรบางอย่างเข้าไปติดอยู่ เมื่อนำกระจกเทมเปอร์ติดตั้งลงไปก็จะทำให้ขอบกระจกไปกดทับ หรือ เบียด กับเฟรม และเศษที่ตกค้างอยู่ในเฟรม ด้วยน้ำหนักของกระจกที่ไปเบียด และกดทับ นานวันเข้าจะมีผลทำให้ขอบกระจกกลายเป็นจุดอ่อนของกระจกเทมเปอร์ทั้งแผ่น เมื่อมีแรงมากระทำเพียงเล็กน้อย หรือ มีปัจจัยตัวเร่ง เช่น อุณหภูมิที่ต่างกันฉับพลัน ก็อาจจะทำให้กระจกเทมเปอร์ลั่น และแตกเองได้ทั้งแผ่นในทันที 

สาเหตุที่ 3 เกิดจากการสั่นสะเทือน หรือ การเคลื่อนตัวของอาคาร

เมื่ออาคารมีการสั่นสะเทือน ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากภัยธรรมชาติ ,การทุบซ่อมอาคารข้างเคียง หรือ การเจาะเสาเข็มในพื้นที่ใกล้เคียง สันหรือขอบกระจกเทมเปอร์เป็นส่วนที่บอบบางและรับแรงที่มากระทบได้น้อย  ซึ่งทำให้เฟรมกระจกบิดผิดรูปไปจากเดิมจึงเป็นสาเหตุให้กระจกเทมเปอร์เกิดการแครก และลั่นแตกเองได้เช่นกัน

สาเหตุที่ 4 เกิดจากการปะปนของนิกเกิลซัลไฟด์ 

นิกเกิลซัลไฟด์ (Nickel Sulfide) อาจปะปนอยู่ในเนื้อกระจกมาตั้งแต่กระบวนการหลอม และอาจแฝงตัวมากับกระจกเทมเปอร์ที่เสร็จมาจากโรงงาน ซึ่งนิกเกิลซัลไฟด์จะมีลักษณะเป็นเม็ดจุดเล็กๆปะปนอยู่ในเนื้อกระจก ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ถ้าหากไม่สังเกตดีๆ 

ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์ลั่น และแตกก็เพราะว่านิกเกิลซัลไฟด์จะขยายตัวเมื่อโดนความร้อน เมื่อมีนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนอยู่ในเนื้อกระจก และมีการสะสมตัวของอุณหภูมิภายในกระจกมากขึ้นจะทำให้เกิดการขยายตัว และดันกระจกให้แตกจากภายในกระจกได้เอง โดยจะมีลักษณะการลั่นเป็นรูปเลข 8 คล้ายผีเสื้อ ประกอบกับกระจกเทมเปอร์จะมีค่าความเครียดที่ผิวสูงมากจึงทำให้เกิดตัวเร่งในการลั่นแตกได้เร็วมากขึ้นกว่ากระจกชนิดอื่นๆ แต่ถ้ากระจกแตกและเก็บเศษทิ้งไปหมดแล้ว โอกาสที่จะทราบสาเหตุที่แท้จริงที่กระจกแตกจะทำได้ยาก ซึ่งถ้าหากเป็นกระจกธรรมดา หรือ กระจกฮีทสเตร็งเท่น การขยายตัวของนิกเกิลซัลไฟด์นี้จะไม่สามารถทำให้กระจกแตกได้

วิธีป้องกันการลั่นแตกของกระจกในกรณีนี้ สามารถทำได้โดยสั่งให้ผู้ผลิตนำกระจกเทมเปอร์ไปผ่านกระบวนการฮีทโซค (Heat Soak) ด้วยการนำกระจกไปอบเพื่อทำการทดสอบผ่านความร้อนในเตาที่อุณหภูมิ 290 องศาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ถ้าในกระจกมีนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนอยู่ มันก็จะขยายตัว และดันให้กระจกแตกในระหว่างการทำการทดสอบ โดยการทำฮีทโซคจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20% ของค่ากระจกเทมเปอร์ และต้องใช้เวลาในการผลิตกระจกนานขึ้นมากกว่าเดิมหลายวัน

สาเหตุที่ 5 เกิดจากการกระจายอุณหภูมิในเนื้อกระจกที่ไม่เท่ากันแบบเฉียบพลัน

อีกสาเหตุของกระจกลั่นแตกเอง บางกรณีมาจากความร้อนในเนื้อกระจกกระจายตัวไม่เท่ากัน หรือ อุณหภูมิในเนื้อกระจกเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน ถ้าหากกระจกมีความไม่สมบูรณ์แม้เพียงน้อยนิด เช่น มีรอยบิ่น รอยแคร็ก ในเนื้อกระจกยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการแตกร้าวได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสเกิดได้ยาก และเกิดขึ้นน้อยมากๆ

สำหรับการเลือกใช้กระจกตกแต่งอาคาร (โดยเฉพาะภายนอกอาคาร) นั้น มีกระจกอยู่ 3 แบบ ที่อาจจะแข็งแรงไม่เท่ากระจกเทมเปอร์ แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการที่กระจกจะลั่นแตกเอง และมีความปลอดภัยสูง ก็คือ กระจกลามิเนต ,กระจกฮีทสเตร็งเท่น หรือ กระจกฮีทสเตร็งเท่นลามิเนต 

ข้อมูลวัสดุศาสตร์เชิงลึกของกระจกแต่ละประเภท

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

- www.jaykhodiyarglass.com

- www.krajok.com

วัสดุเทียบเคียงในหมวด "กระจกอาคาร"

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ