เสน่ห์ของบ้านอิฐที่เรียบง่ายลงตัว ออกแบบโดย"Jun sekino Architect and Design"

บ้านเดิมที่เป็นบ้านชั้นเดียวนั้นถูกน้ำท่วมหนักแบบจัดเต็มในปี 2554 ซึ่งทำให้ต้องซ่อมแซมหลายจุด เมื่อเห็นว่าไม่คุ้มทางเจ้าของบ้านจึงวางแผนสร้างบ้านใหม่ จึงได้พูดคุยปรึกษากับสถาปนิก ลูกครึ่งไทย – ญี่ปุ่น คุณ Jun Sekino เกี่ยวกับรูปแบบบ้านหลังใหม่ที่ต้องการ ซึ่งในระหว่างการพัฒนาแบบ สถาปนิกได้มีการพุดคุยแนวคิดในการออกแบบร่วมกับเจ้าของบ้านอย่างไกล้ชิด เจ้าของบ้านจึงค่อนข้างแฮปปี้กับรูปแบบบ้านหลังใหม่ที่ออกมา ซึ่งเป็นบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอย 235 ตารางเมตร มีขนาด 2 ชั้น แต่ให้ความรู้สึกที่เหมือนบ้านชั้นเดียว ด้วยบรรยากาศสบายๆในสไตล์ที่เรียบง่าย และเน้นในความเป็นสัจจะวัสดุ

จนมาถึงขั้นตอนที่ต้องเลือกวัสดุปิดผิวภายนอก ซึ่งคุณ Jun Sekino สถาปนิกที่ออกแบบบ้านหลังนี้ ได้เสนอวัสดุให้เจ้าของบ้านเลือก 3 ชนิด คือคอนกรีตพิมพ์ลาย วัสดุไม้ และอิฐแดง วัสดุที่หลายๆคน คุ้นเคย และรู้จักดี  แต่ในที่สุดแล้วครอบครัวเจ้าของบ้านก็เลือกอิฐเพราะดูแล้วเป็นความรู้สึกที่ใช่ที่สุด แต่ก็ยังแอบมีความกังวลนิดๆ ที่ผ่านเข้ามาในหัวคือ มันจะดีหรอ มันจะไม่เชยหรอ

เมื่อเวลาผ่านไป สถาปนิกได้พัฒนาแบบจนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทันทีที่เจ้าของบ้านได้เห็นแบบร่าง ความคิดกังวลของเจ้าของบ้านที่เกิดขึ้นในตอนแรกก็ได้หายไปในทันที แต่กลับรู้สึก “เฮ้ย!!! แบบนี้แหละที่ใช่ เท่อย่างไทย ในแบบที่ไม่เหมือนใคร”  ซึ่งทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกดี และชอบอิฐขึ้นมาทันที นับเป็นการนำวัสดุง่ายๆที่เราคุ้นเคยดีอย่างอิฐแดงมาตกแต่งในแนวร่วมสมัยได้อย่างมีเสน่ห์ และโดดเด่น

ดังนั้น จุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้ จึงเกิดจากจุดเล็ก ๆ กับวัสดุที่เรียกว่า “อิฐ” ที่ซึ่งได้กลายมาเป็นองค์ประกอบและวัสดุพื้นฐานสำคัญที่อยู่เบื้องหลังงานก่อผนัง และใช้ในการตกแต่งหลักของบ้านหลังนี้ ก่อให้เกิดเป็น “Brick House” พื้นที่ชีวิตอันอบอุ่น ในกล่องอิฐสุดแปลกตา

ผนังอิฐที่หนาถึง 30 เซนติเมตร ถูกออกแบบเพื่อใช้เป็นผนังกันความร้อน อีกทั้งอิฐยังมีข้อดีช่วยให้บ้านเย็นทั้งวัน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงความรู้สึกผูกพันกับบ้านหลังเก่าด้วยการนำไม้กลับมาใช้ใหม่อีกด้วย

บ้านอิฐหลังนี้ ประกอบด้วย 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ โดยชั้นหนึ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ มีทั้งห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว และมีคอร์ตกลางบ้านเป็นจุดเด่นที่ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน และมีประตูบานเลื่อนกระจกเป็นตัวกำหนดพื้นที่การใช้งาน  ซึ่งทำให้บ้านดูโปร่งโล่ง ไม่ทึบตัน ทุกห้องของบ้านจึงมีแสงสว่างที่เพียงพอ

การตกแต่งภายใน ด้วยสไตล์รัสติกแบบอบอุ่น ในบรรยากาศผ่อนคลาย ที่ผสานกลมกลืนกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่จัดวางในแบบ มินิมัล ที่ให้กลิ่นอายถึงความเป็นธรรมชาติ ซึ่งคอร์ตกลางบ้าน ก็ได้ปลูกต้นกระพี้จั่นเพื่อให้ร่มเงา และความสดชื่นสบายตา

อิฐที่เราเห็นเหล่านี้กว่าจะประกอบได้เป็นบ้านทั้งหลัง ต้องใช้ทั้งเวลาและความตั้งใจอย่างมาก กว่าจะกลายมาเป็นบ้านที่อบอุ่น และเต็มไปด้วยความหมายต่อครอบครัวนี้

 

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.archdaily.com


Photographs : Spaceshift Studio

 

#‎WAZZADU #‎JunsekinoArchitectandDesign #‎BrickHouse #‎IdeaDeccoration #‎NgamwongwanBrickHouse

การศึกษา: จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
สาขาสถาปัตยกรรมภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไลฟ์สไตล์: ชื่นชอบการเดินทาง และหลงไหลในงานสถาปัตยกรรม ...

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ