เปลี่ยนร้านขายยาสุดโทรม..เป็นบูติคโฮสเทลตอนที่ 1 : จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ

สวัสดีค่ะ เปิดหัวเรื่องตอนที่ 1 นี้ จากหัวข้อ เพื่อนๆ คงรู้สึกถึงความสุดโต่งของ Before and After ว่าจากจุดเริ่มต้นที่เป็นร้านขายยานั้น คิดได้ยังไงถึงได้ขอเปลี่ยนไปซะจนกลายเป็นโรงแรมบูติค : P คงต้องเล่าท้าวความกันตั้งแต่ต้นค่ะ เพราะอยากจะเก็บบทความนี้ไว้ให้เป็นบันทึกแห่งความทรงจำด้วย

เรากับน้องสาวเติบโตมากับการพักอาศัยบนตึกแถวที่มีชั้นล่างเป็นร้านขายยามาตั้งแต่เกิด เนื่องจากมีทั้งป่าป๊าและหม่าม้าเป็นเภสัชกร และเปิดร้านขายยาอยู่แถวสำเหร่ ฝั่งธนบุรี จนเมื่อปีพ.ศ. 2544 เราได้ย้ายบ้านมาอยู่แถวเจริญนคร เป็นถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี  ซึ่งก็ยังคงคอนเซปต์ของบ้านตึกแถวที่ชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายยาเช่นเดิม

นี่คือสภาพตึกแถวที่เราอยู่อาศัยและด้านล่างเปิดเป็นร้านขายยามากว่า 16 ปี

ท้ายซอยมีลักษณะเป็นที่ดินว่างเปล่า ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับ Asiatique แบบเป๊ะๆ เลย

(เป๊ะจนเห็นชิงช้าสวรรค์แบบเป็นแนวตั้งตรง 555 ไม่เห็นความสวยงามของมันเลย... 555)

ตึกหลังซ้ายสุดริมซอยนี่ล่ะ คือตึกเป้าหมายที่เราจะทำการเปลี่ยนแปลง

ถนนเจริญนคร คือถนนเส้นที่ติดแม่น้ำตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับเจริญกรุง ชีวิตของถนนเส้นนี้ผูกพันกับสายน้ำมาก เคยมีน้ำท่วมสูงสุดในปี 2526 สูงถึง 0.58 ม. มีความเดือดร้อนกันถ้วนหน้าจนในหลวงร.9 ทรงโปรดเกล้าฯ เสด็จเยี่ยมราษฎร และมีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำและยกระดับซอย และถนนทั้งสาย จนปัจจุบัน เรายังไม่เคยเจอน้ำท่วมอีกเลย แม้เรากับครอบครัวจะย้ายมาอยู่ได้เพียง 16 ปี แต่ก็หลงใหลสเน่ห์สภาพแวดล้อม การเดินทางที่สะดวกสบายทั้งทางบกและทางน้ำ และผูกพันกับความเป็นกันเองของย่านนี้เป็นอย่างมาก

จนเมื่อปี 2553 มีบ้านในซอยขาย หม่าม้าจึงตัดสินใจซื้อไว้ และเราก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ทาวเฮาส์ข้างในซอยแทนตึกแถว เย้!
ตึกแถวเดิมกลายเป็นใช้งานแค่ 30% คือ ชั้น 1 กับชั้นลอย ชั้น 2-5 ทิ้งร้างไม่มีการใช้งาน อยู่เป็นเวลา 7 ปี

จนเมื่อประมาณปลายปี 2558 เป็นปีที่ป่าป๊าอายุครบ 60 ปี ซึ่งถ้ารับราชการก็ถึงเวลาเกษียณแล้ว จึงเริ่มคิดว่าภายในอีกไม่เกิน 5 ปีอยากให้ป่าป๊าเลิกขายยา

ป่าป๊าในมาดเภสัชกรผู้เลื่องชื่อในเจริญนครที่ค่ายาไม่แพง ให้คำปรึกษาเรื่องโรคภัยต่างๆ แก่ลูกค้าทุกคนด้วยปณิธานอยากให้ทุกคนมีชีวิตดีๆ เอาชนะโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างแข็งแรง

เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็เกิดรู้สึกเสียดายตึกแถว หากไม่ทำร้านยาแล้วเราต้องปล่อยตึกทั้งหลังให้ร้าง จะนำมาทำประโยชน์อย่างไรได้บ้างให้เหมาะสมลงตัวที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายคนสนใจเช่าทั้งหลังเพื่อทำกิจการต่อ แต่ด้วยความที่เรามีความใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง จึงเห็นว่าการที่เรามีตึกแถวเป็นของเราเองไม่ต้องเช่านี้เป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นทำกิจการอะไรซักอย่างตามที่ฝันไว้ จึงเริ่มต้นคิดเรื่องการทำกิจการบนตึกแถวหลังนี้อย่างจริงจัง

ด้วยประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจที่น้อย และเงินสะสมที่มีอยู่ไม่มากนัก งานนี้จึงต้องมีการเสนอโครงการให้นายทุนพิจารณา ซึ่งนายทุนใหญ่ (มีเงินมากสุดในบ้านละ)​ ของเราก็ไม่ใช่ใคร เจ้าของตึกแถวหลังนี้ หม่าม้าของเรานี่เอง!!!

สำหรับโครงการที่เสนอนายทุนใหญ่มีหลายโปรเจค ได้แก่ ร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ยา อาหารเสริม ฯลฯ, เนอร์สเซอรี่รับดูแลเด็ก, ศูนย์สุขภาพ ประกอบด้วย Fitness โยคะ ฯลฯ, โรงเรียนกวดวิชา และอีกหลายๆ กิจการ
ซึ่งก็ไม่ผ่านซักโครงการจนเราเริ่มท้อ คิดว่าปล่อยคนมาเช่าไปละกัน ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว!!!
ระหว่างที่ยังคิดไม่ออก ก็ลองปรึกษาน้องสาว, เพื่อน และหาข้อมูลต่างๆ จนมาเจอกับกิจการที่คิดว่าเหมาะสมกับทำเลที่ตั้ง บรรยากาศโดยรอบ และที่สำคัญ เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ของตัวเราและคนในครอบครัว นั่นก็คือ กิจการโรงแรมขนาดเล็ก ที่มีการตกแต่งแบบเฉพาะตัว หรือที่มีคำนิยามว่า "Boutique Hostel" นั่นเอง หลังจากที่พยายามเสนอโครงการอยู่หลายรอบ ในที่สุดความพยายามก็สำเร็จ นายทุนใหญ่ของเราเห็นด้วยกับกิจการนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ "เปลี่ยนร้านขายยาเป็นบูติคโฮสเทล"

แต่เรื่องไม่ได้จบง่ายๆ แค่นั้นแน่นอนค่ะ มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น!!! เรื่องราวของบูติคโฮสเทลแห่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนที่ 2 เร็วๆ นี้นะคะ

 

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม หรือส่งข้อความทักทายกันได้ที่ Facebook Fanpage "PAMAhouse Boutique Hostel" ตามลิงค์นี้นะคะ

https://www.facebook.com/pamahousehostel/

เราเป็น User ของ Wazzadu.com ที่ชอบเรื่องการออกแบบตกแต่ง และตอนนี้กำลังทำการ Renovate ตึกแถวของทางบ้านให้กลายเป็น Boutique Hostel เราเลยตัดสินใจอยากบันทึกเรื่องราวตลอดเส้นทางไว้เป็นความทรงจำของงานใหญ่ของครอบครัวครั้งนี้ : )

มาลุ้นไปพร้อมๆ กันกับเรานะ 55 ...

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ