โรงหนังแต่ละแบบต่างกันอย่างไร? (Thailand Standalone Movie Theatre)

‘ไปดูเน็ตฟลิกที่ห้องเราไหม’ เป็นประโยคที่นอกจากจะเป็นประโยคชวนคนที่ชอบไปดูหนังแล้วเนี่ย ยังสื่อได้ถึงการเข้ามาแทนที่โรงภาพยนตร์ของสตรีมมิงในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจนเลยนะครับ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนเลือกดูหนังดูซีรีส์จากสตรีมมิงแทนเพราะสะดวกสบายกว่า แต่โรงภาพยนตร์ก็ยังมีมนต์เสน่ห์ให้คนได้ออกไปซื้อตั๋ว นั่งชมในโรงที่มีองค์ประกอบของแสง สี เสียงที่ดีกว่าเป็นไหน ๆ

แล้วทุกคนทราบไหมครับว่า ในอดีตเมืองไทยเราเคยมียุคที่โรงหนังเฟื่องฟูมาก ๆ ถึงขนาดที่ว่ามีโรงหนัง โดยเฉพาะโรงหนังสแตนอโลนกว่า 700 แห่งทั่วประเทศเลยทีเดียว แล้วโรงหนังสแตนอโลนต่างจากโรงหนังปกติอย่างไรล่ะ? วันนี้ Wazzadu Encyclopedia จะพาทุกท่านไปรู้จักกับโรงภาพยนตร์เดี่ยว ( Stand Alone ) หรือโรงหนังสแตนอโลนที่เราคุ้นหูกันให้มากขึ้นกันครับ

ประวัติศาสตร์โรงภาพยนตร์ในไทย (History of Theatre in Thailand)

โรงภาพยนตร์แห่งแรกของโลกเกิดขึ้นโดย หลุยส์และออกุสท์ ลูมิแอร์ สองพี่น้องชาวฝรั่งเศส ได้พัฒนาไคน์โตสโคป ให้สามารถฉายขึ้นสู่จอใหญ่ได้ โดยเรียกว่า “ซินีมาโทกราฟ” ที่ห้องใต้ถุนร้านแกรนด์กาแฟ ณ กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1895 และได้เผยแพร่เข้ามาในไทยฉายภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2440 โดย มาร์คอฟสกี้ ชาวฝรั่งเศส ที่ได้นำซินีมาโทกราฟเข้ามาฉายในสยามและมีการเก็บเงินจากผู้ชม โดยใช้โรงละครหม่อมเจ้าอลังการเป็นที่จัดฉาย จนกล่าวได้ว่าเป็นที่ฉายหนังแห่งแรกของสยาม

จนเมื่อปี พ.ศ. 2448 โทโมโยริ วาตานาเบะ ได้จัดตั้งโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรก บริเวณเวิ้งหลังวัดชัยชนะสงคราม ถนนเจริญกรุง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “เวิ้งนาครเขษม” ซึ่งตรงกับยุคของสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ภายหลังจากนั้นโรงหนังต่าง ๆ ก็ได้กำเนิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม เช่น โรงหนังกรุงเทพซินีมาโตกราฟ ปี 2450, โรงหนังบางรัก ปี 2451, โรงหนังพัฒนากร ปี 2453 เป็นต้น

การแข่งขันในอุตสาหกรรมยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นายเฮนรี่ เอ แมกเร ได้สร้างหนังที่ใช้ชาวสยามเป็นผู้แสดงครั้งแรก ในนามของหนังที่ชื่อ นางสาวสุวรรณ ในปี 2466 ตามมาด้วยอาชีพพากย์หนังที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีการผลิตภาพยนตร์ที่สามารถพูดและบันทึกเสียงได้ทั้งเรื่อง ถือเป็นภาพยนตร์พูดได้เรื่องแรกของประเทศไทย ในชื่อหลงทาง

และเมื่อปี พ.ศ.2476 ศาลาเฉลิมกรุงฤกษ์ถือกำเนิดขึ้น เป็นโรงภาพยนตร์ในประเทศสยามที่ก้าวสู่ยุคใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ของความหรูหรา สะดวกสบาย ทันสมัย และฉายหนังเสียง เป็นโรงมหรสพแห่งแรกในเอเชียที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ความนิยมในการชมภาพยนตร์กลับตกต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากสภาวะสงครามไม่เอื้ออำนวยให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ปกติ ผู้คนกังวลในความปลอดภัยของชีวิตและต้องเก็บเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทยจึงซบเซาลงไป ท้ายที่สุดเมื่อสงครามได้ยุติลง ผู้คนแสวงหาสิ่งบันเทิงใจ เกิดโรงภาพยนตร์ขึ้นมามากมาย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจน พ.ศ. 2520 “โรงหนัง” ได้ขยายไปทั่วประเทศ รวมแล้วมากถึง 700 แห่ง จนในยุคปัจจุบันที่โรงภาพยนตร์ก็ยังคงวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เสริมเติมแต่งทั้งภาพ เสียง ฯ เพื่อเพิ่มอรรถรสแก่ผู้ชม

เรียกได้ว่าโรงภาพยนตร์คือเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยก็ว่าได้นะครับ เพราะการเปลี่ยนแปลงโรงภาพยนตร์ก็จะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในขณะนั้น ๆ นั่นเอง

วิวัฒนาการของโรงภาพยนตร์ไทย (Evolution of Thai Theatre)

ยุคที่ 1 โรงภาพยนตร์เดี่ยว ( Standalone ) พ.ศ.2448-2531

  • เริ่มแรกสร้างขึ้นเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ 
  • มีที่นั่ง 800-1,000 กว่าที่นั่ง 
  • เน้นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และใช้ที่ดินมาก
  • สร้างแบบโดดเดี่ยว มีโรงเดียว 
  • ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง 
  • แต่ละโรงภาพยนตร์มีการแบ่งกลุ่มพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างชัดเจน เช่น โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงจะเน้นฉายภาพยนตร์ไทย

โรงภาพยนตร์ในยุคนี้ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมไทย สยาม แมคแคนนา โคลิเซี่ยม ฮอลลีวู้ด เมโทร และ เอเธนส์ เป็นต้น

ยุคที่ 2 โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ( Mini–theater ) พ.ศ.2532-2536

  • ถือเป็นยุคเริ่มต้นของธุรกิจศูนย์การค้า บ้านเมืองเจริญเติบโตขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป หันมานิยมการซื้อสินค้าและหาความบันเทิงในศูนย์การค้า (ห้างสรรพสินค้า) มากขึ้น ทำให้
  • ผู้ประกอบการธุรกิจโรงภาพยนตร์หันมาเปิดโรงภาพยนตร์ใหม่ในศูนย์การค้า
  • มีการย่อขนาด ลดจำนวนที่นั่งลง เหลือประมาณไม่เกิน 250 ที่นั่ง เรียกว่าโรงภาพยนตร์มินิเธียเตอร์
  • มีจำนวน 2-3 โรง อยู่ในที่เดียวกัน
  • ธุรกิจโรงภาพยนตร์เริ่มมีการเติบโต เนื่องจากการลงทุนไม่สูงมากนัก
  • โรงภาพยนตร์แบบเดี่ยวเริ่มมีการปรับปรุง แบ่งโรงภาพยนตร์ออกเป็นโรงมินิเธียเตอร์ เช่นกัน 

โรงภาพยนตร์ในยุคนี้ เช่น โรงภาพยนตร์ศูนย์การค้ามาบุญครอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว

ยุคที่3 โรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ ( Multiplex ) พ.ศ.2537-2541

  • ยุคที่โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กหลายแห่งมีข้อจำกัดทางด้านคุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กส่วนใหญ่จะมาสร้างต่อเติมภายหลังในพื้นที่ของห้าง
  • ปี 2537 ได้มีการถือกำเนิดโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ โดยเป็นการลงทุนสร้างของบริษัท เอนเตอร์เทน โกลเด้น วิลเลจ อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด
  • ยังคงสร้างขึ้นภายในศูนย์การค้าเป็นหลัก เนื่องจากความสะดวกสบายที่ทางศูนย์การค้ามีให้ทั้งที่ทำเลที่ตั้ง ที่จอดรถ รวมถึงแหล่งบันเทิงต่าง ๆ 
  • แตกต่างจากโรงมินิเธียเตอร์ คือการออกแบบมาเพื่อเป็นโรงภาพยนตร์โดยตรง ไม่ใช่การดัดแปลงพื้นที่ของห้างสรรพสินค้ามาเป็นโรงภาพยนตร์ 
  • โรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์จึงสมบูรณ์แบบ ทั้งในเรื่องของขนาดโรง จอฉายภาพ รวมถึงการออกแบบติดตั้งระบบเสียงได้อย่างมาตรฐานสากล 
  • มีการสร้างโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ขึ้นในแบบที่เดียวและแยกออกมาจากศูนย์การค้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าออก โดยสร้างเป็นเมืองหนังพร้อมทั้งมีร้านค้าแหล่งบันเทิงรวมกันอยู่ในที่เดียว 

โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ที่เปิดตัวแห่งแรกที่ปิ่นเกล้า

ยุคที่ 4 โรงภาพยนตร์แบบเมกะเพล็กซ์ พ.ศ.2542-ปัจจุบัน

  • โรงภาพยนตร์ยุคนี้มีแนวคิดจะเหมือนกับโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ทุกอย่าง เพียงแต่จะใหญ่โตกว่า
  • จำนวนโรงภาพยนตร์และจำนวนที่นั่ง คือ จะต้องเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่มีจำนวนมากกว่า 15–30โรง 
  • โรงภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้น 
  • มีโรงภาพยนตร์ระบบใหม่เจ้ามารวมอยู่ด้วย เช่น โรงภาพยนตร์ไอแม็กซ์ (IMAX) 
  • จำนวนรอบชมภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น 

นับเป็นโรงภาพยนตร์ที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ชม เช่น โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์รัชโยธิน เป็นต้น

โรงหนังสแตนอโลนคืออะไร? (What Is a Standalone Movie Theatre?)

ความหมายของโรงหนังสแตนอโลนนั้นปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคม ปัจจุบันเราใช้คำนี้แทน สถาปัตยกรรม หรือ อาคาร ที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นโรงภาพยนตร์ สร้างรายได้จากการฉายหนังเท่านั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ‘โรงหนังเดี่ยว’ และโรงภาพยนตร์ Standalone แห่งสุดท้ายในประเทศไทยก็คือ สกาลา ซึ่งในปัจจุบันก็ได้ถูกทุบทำลายทิ้งไปเสียแล้ว เหลือไว้เพียงความทรงจำอันสวยงามในวัยเด็กของหลาย ๆ คนที่ได้เคยมาดูหนัง ณ ที่แห่งนี้

การปิดตัวลงของโรงหนังสแตนอโลน (Standalone Movie Theatre Shutdown)

โรงหนังสแตนอโลนได้ทยอยปิดตัวลงไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่ได้เคลื่อนเข้ามาแทนที่ แม้แต่ Doc Club & Pub. โรงหนังสแตนอโลนขนาดเล็กกึ่งคาเฟ่และบาร์ ที่ฉายภาพยนตร์นอกกระแส ซึ่งเคยได้รับความสนใจจากผู้ชมที่หาชมภาพยนตร์แนวนี้กันเป็นอย่างมาก ก็เป็นที่น่าใจหายของหลาย ๆ คน เมื่อได้ประกาศปิดตัวลงเช่นกัน ไม่ได้เป็นเพราะความนิยมของคนที่เปลี่ยนไป แต่ด้วยข้อกฎหมาย ‘โรงมหรสพ’ 

จากบทสัมภาษณ์ Doc Club & Pub. ได้พยายามยื่นดำเนินเรื่องและให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งการชมหนังด้วยกันอย่างหลากหลายและเป็นอิสระ ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Micro Cinema หรือโรงหนังที่ฉายหนังขนาดเล็กทั่วประเทศ แต่กลับได้พบว่า Micro Cinema นั้น เกิดขึ้นได้ยาก เพราะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และกฎกระทรวงในปัจจุบันใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด ทำให้ ‘โรงหนังห้องแถว’ ไม่สามารถมีอยู่จริงได้ในบริบทสังคมไทย เนื่องจากกฎหมายทำให้โรงมหรสพจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในอาคารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะที่ในหลาย ๆ ประเทศไม่นับโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กเหล่านี้ว่าเป็นโรงมหรสพนั่นเองครับ

ซึ่งทำให้เราได้ทราบว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้โรงหนังสแตนอโลนเหล่านี้ต้องปิดตัวลงไป แม้จะมีผู้คนมากมายที่ออกมายืนหยัดเพื่อสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทั้ง ทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและทางจิตใจมากขนาดไหนก็ตาม  ผมเองก็หวังว่าประเทศเราจะมองเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้กันมากขึ้น เพราะสถาปัตยกรรมเองก็เป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนเรานี่แหละครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ