หลักการออกแบบทางเท้า และการจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณทางเท้า (Footpath infrastructure Detail Design)
เคยไหมที่ต้องเดินหลบฟุตบาทพัง ๆ เหมือนอยู่ในเกมหลบระเบิดยอดนิยมยุค 90 เพราะมีแผ่นบล็อกปูทางเท้าที่แตกหักและมีน้ำเน่าเหม็นกักขังอยู่ด้านใต้ ถ้าหากเดินไม่ระวังแล้วเผลอเหยียบเข้าไปก็เท่ากับ Game Over จากลุคสุดเก๋ไก๋ก็กลายเป็นผู้ประสบภัยทันที ไหนจะต้องคอยหลบหลีกสิ่งกีดขวางอย่างรถเข็น ป้ายโฆษณาและสารพัดเสาที่ติดตั้งไม่สนคนเดิน หรือมอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า
จะดีแค่ไหนนะถ้าการเดินกลับบ้านจากการทำงานมาเหนื่อย ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าหากทางเท้าเมืองไทยถูกออกแบบมาอย่างถูกต้องได้มาตรฐานและปลอดภัย รวมไปถึงใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูง ก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชาวเมืองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และไม่ต้องมาเสี่ยงภัยดังที่กล่าวไปข้างต้น
เราเคยสงสัยไหมว่าทางเท้าที่ดีควรเป็นยังไง (Footpath)
วันนี้ Wazzadu encyclopedia ร่วมกับแบรนด์ CPS ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสำหรับงานทางเท้าและงานภูมิทัศน์ จะมาแชร์ข้อมูลหลักการออกแบบทางเท้าและการจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณทางเท้าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
เพื่อทำให้ทุก ๆ ท่านได้เห็นว่าทางเดินเท้าควรเข้าถึงได้ง่ายและเชื่อมต่อกับทางม้าลายอย่างปลอดภัย ให้ความสะอาดเรียบร้อย เขียวขจี น่าเดิน มีความสะดวกสบาย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับผู้คนทุกวัยและผู้พิการ ทางเท้าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลจะมีหน้าตาและรายละเอียดการออกแบบที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง มาติดตามชมกันได้เลยครับ
ข้อกำหนดการออกแบบพื้นทางเดินมาตรฐาน (Ground Plane)
- ความกว้างมาตรฐานขั้นต่ำอย่างน้อย 2 เมตร
- บริเวณที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความหนาแน่นและพลุกพล่าน ทางเท้าควรจะกว้างกว่าปกติเพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมากและเพื่อความปลอดภัย
- Slop ความลาดเอียงพื้นฟุตบาทต้องไม่เกิน 1% เพื่อไม่ให้มีน้ำขังบนฟุตบาท
- ทางลาดก่อนจะข้ามทางม้าลายต้องมี Slop ไม่เกิน 5% เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถเดินทางได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการสร้างสิ่งกีดขวางบนทางเท้า
- พื้นผิวทางเดินต้องไม่ลื่น ซึ่งจะต้องมีค่าความลื่นมากกว่า R11* ตามมาตรฐานทางสถาปัตยกรรม
*ค่า R หรือ Slip Resistance คือ ค่าที่ใช้วัดคุณสมบัติการกันความลื่นของพื้นผิว
เทคนิคการติดตั้งบล็อกปูพื้นทางเท้า จะต้องบดอัดชั้นดินให้แน่นและปรับระดับให้มีความสม่ำเสมอ ในอดีตบางพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องรับน้ำหนักมากนัก ใช้วิธีการเททรายแล้ววางติดตั้งบล็อกเลยซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องน้ำขังตามมา ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาในเรื่องความแข็งแรงสำหรับการก่อสร้างทางเท้า ในบริเวณพื้นที่ที่มีการสัญจรพลุกพล่าน เช่น ทางเท้าภายในเมือง จะมีการเทคอนกรีตเพื่อเพิ่มความแข็งแรงก่อนปูบล็อก จะเห็นได้ว่าหนึ่งในสิ่งสำคัญของทางเท้าคือเรื่องของความปลอดภัย
ดังนั้นนอกเหนือจากทางเท้าที่เราเดินกันปกติแล้ว ยังมีองค์ประกอบร่วมที่มีส่วนทำให้การสัญจรหรือการเดินทางในทุกช่วงเวลาและทุกสภาพอากาศนั้นปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ทำให้ทางเท้ามีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพในการใช้งาน ประกอบด้วย
ฐานเสาไฟฟ้า (Light pole footing)
การติดตั้งเสาไฟฟ้าก็ควรมีฐานตอม่อที่รองรับเพื่อให้มั่นคงแข็งแรง ป้องกันการล้มไปสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินพลเรือน โดยมี J-bolt ที่ถูกฝังไว้ในฐานเพื่อยึดเสาเข้ากับฐานรากอีกที สามารถใช้ฐานรองเสาไฟฟ้าสำเร็จรูปเนื่องจากง่ายต่อการติดตั้งและเลือกขนาดให้เข้ากับขนาดของเสาไฟฟ้าได้
เสาไฟฟ้า (Electric pole)
เสาไฟฟ้ามีหน้าที่รองรับสายไฟเพื่อแจกไฟไปยังบ้านเรือน การติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะจำเป็นจะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
- ระยะห่างของเสาไฟฟ้าที่กำหนดไว้ ประมาณ 20, 40, 80 เมตร ขึ้นอยู่กับประเภทสถานที่และขนาดของสายไฟ
- มาตรฐานความส่องสว่าง คือความสว่างที่มีความเหมาะสมและปลอดภัยกับลักษณะพื้นที่และประเภทการใช้งานในบริเวณนั้น
- ลักษณะความสูงและค่าความสว่างไฟฟ้าจะสอดคล้องสัมพันธ์กับประเภทของถนนแต่ละรูปแบบ เช่น ถนนสายหลัก, ถนนสายรอง, ทางแยก, วงเวียนที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ตัวอย่างเช่น ถนนสายหลัก 15 lux, วงเวียนที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร 15 lux, ในตลาดหรือในอาคาร 100 lux, ทางเดินเท้า 7 lux เป็นต้น (lux คือ ความส่องสว่างเฉลี่ยวัดในแนวระดับต่ำสุด)
- ในปัจจุบันงานไฟฟ้าส่องสว่างนิยมใช้ไฟ LED มากขึ้น ซึ่งจะให้ค่าความส่องสว่างที่ดีและช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น
ตัวบอกแนวสายเคเบิ้ล (Cable Marker)
มีไว้เพื่อบอกแนวการวางสายเคเบิ้ล เพื่อให้สะดวกต่อการซ่อมบำรุงหรือรื้อถอน โดยติดตั้งอยู่ในระดับพื้นเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรบนบริเวณทางเท้า
บ่อพักน้ำและท่อระบายน้ำ (Gutter Manhole/Manhole)
ระยะการวางบ่อพักเหมาะสมทั่วไปคือ 8–10 เมตร ต่อ 1 บ่อพัก แต่ในแต่ละพื้นที่และการใช้งานอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป โดยมีขั้นตอนการติดตั้งบ่อพักคอนกรีตสำเร็จรูป ดังนี้
1. วางแผนวางบ่อพักคอนกรีต : ทำควบคู่ไปกับการวางท่อระบายน้ำ ซึ่งในการก่อสร้างจะต้องมีการกำหนดจุดวางและตำแหน่งสำหรับการวางท่อระบายน้ำและบ่อพักคอนกรีตให้ถูกต้อง
2. การเตรียมพื้นที่ : การตรวจเช็คปรับสภาพดินให้แน่นหนา ไม่ให้เกิดการทรุดตัวของดิน การขุดร่องสำหรับวางแนวบ่อพักคอนกรีตจะต้องได้ตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ ภายใต้การควบคุมของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ
3. ตรวจสอบสภาพของบ่อพักคอนกรีต : บ่อพักมีลักษณะตรงกับความต้องการ มีรูเชื่อมต่อระบายน้ำกี่ทาง มีการบิ่นหรือแตกบริเวณช่องต่อระหว่างท่อระบายน้ำหรือไม่
4. ตรวจสอบบ่อพักสำเร็จรูปหลังติดตั้ง : ควรตรวจสอบอีกครั้ง ว่ามีการแตกหรือบิ่นในระหว่างการก่อสร้างหรือไม่ ติดตั้งเอียงหรือเปล่า และบ่อพักคอนกรีตสูงกว่าหรือต่ำกว่าพื้นผิวดินไหม เพราะอาจทำให้ดินหรือทรายไหลลงไปบ่อพักแล้วนำไปสู่การอุดตันได้
5. การกลบดินถมทับบ่อพัก : การกลบจะต้องใช้ดิน หิน หรือทราย ที่ไม่มีหินก้อนใหญ่ หรือเศษไม้มาเจือปน ควรทำทีละชั้น ๆ จากนั้นจึงกระทุ้งอัดดินให้แน่น โดยใช้น้ำน้ำช่วยเพื่อให้ดินมีการอัดตัวกันแน่นมากขึ้น
6. ตรวจสอบท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อพักคอนกรีต : ต้องสำรวจดูว่าระดับของท่อระบายน้ำมีความลาดเอียงได้มาตรฐานหรือไม่ ก้นบ่อของบ่อพักระบายน้ำคอนกรีตต้องมีเศษดินตกค้างอยน้อยที่สุดเพื่อ ที่จะได้สามารถรองรับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ขอบคันหิน (Concrete curb)
เส้นแบ่งระหว่างฟุตบาทกับถนนคือขอบคันหิน ซึ่งเป็นเติมเต็มในส่วนของการตกแต่งตามขอบทางสาธารณะให้ดูเรียบร้อยสวยงามและยังเป็นการทำให้คนเราเดินบนฟุตบาทได้ตามแนว ด้วยวัสดุเป็นคอนกรีตทำให้มีความแข็งแรงต่อการใช้งานสามารถรับน้ำหนักของถนนได้ดี สามารถกั้นแผ่นปูพื้นให้แนบสนิทกันไม่มีการเคลื่อนตัวได้อีกด้วย
ซึ่งขอบคันหินนี้เองก็มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น คันหินแบบ Slope, ขอบคันหิน (Curb Stone),ขอบคันหินรางตื้น (Concrete Curb and Gutter) ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับขอบคันหินรางน้ำ (Mountable Curb and Gutter) มีลักษณะเหมือนทางน้ำไหล และขอบคันหินรางน้ำจะมีตะแกรงสำหรับระบายน้ำไปยังรางน้ำนั่นเอง
วิธีการติดตั้งขอบคันหินรางตื้น
1.ทำการวัดระดับของพื้นและขุดดินเพื่อให้พื้นได้ระดับที่เหมาะสม
2.เกลี่ยตบอัดดินให้เรียบและแน่น
3.ปูแผ่นสังเคราะห์รองทราย
4.วางขอบคันหินตะแกรงรองตื้น และใช้ค้อนยางเคาะเพื่อให้ขอบคันหินได้ระดับ (ใช้ค้อนยางเพื่อป้องกันความเสียหายของเนื้อคอนกรีต)
การเลือกพรรณไม้สำหรับทางเท้า (Street Trees)
สำหรับหลักเกณฑ์การปลูกต้นไม้ตามถนนที่มีทางเท้า อาทิ ทางเท้าที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตร และไม่มีกันสาดคลุมให้ปลูกไม้ยืนต้น, ทางเท้าที่มีความกว้างน้อยกว่า 3 เมตร ให้พิจารณาใช้วัสดุปูพื้นและหรือจัดซุ้มไม้เลื้อยตามความเหมาะสม
ในส่วนของพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกรณีต้นไม้ริมถนนหรือทางเท้า ควรพิจารณา
- ต้นไม้ที่มีความสูงปานกลาง (5-15 เมตร)
- มีทรงพุ่มธรรมชาติและหนาทึบ ไม่ต้องได้รับการตัดแต่งมาก
- ลำต้นและกิ่งก้านเหนียว ไม่หักง่าย ระบบรากแข็งแรง มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อย
- หลีกเลี่ยงไม้ผลัดใบและมีใบมาก
- พิจารณาเลือกต้นไม่ที่มีดอกสวยงาม เช่น อินทนิลน้ำ ทองอุไร ราชพฤกษ์ เป็นต้น
- มีศักยภาพในการดูดซับมลพิษและฝุ่นละอองได้
- ควรพิจารณาขนาดของพื้นที่ ความกว้างที่เหลืออยู่และความลึกของระดับท่อร้อยสายใต้ดิน เนื่องจาก เกี่ยวข้องกับความลึกของรากต้นไม้ที่จะเจริญเติบโตลงไป
Universal Design
คือการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนปกติ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพื่อให้สะดวกและปลอดภัยอย่างเท่าเทียม สำหรับเรื่องของทางเท้านอกเหนือจากหลักการออกแบบเบื้องต้นที่ได้กล่าวไปนั้น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการออกแบบทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นการทำให้ไม่มีอุปสรรค (Barrier-free)
โดยการวางแผ่นนำทางเดินคนตาบอด (Braille Block) วัสดุปูพื้นนี้จะมีลักษณะเป็นปุ่มกลมและเส้นนูนบนผิววัสดุ เมื่อปูบนทางเท้าที่ออกแบบเพื่อผู้พิการทางสายตา คนตาบอดจะใช้ไม้เท้านำทางเดินสัมผัสกับวัสดุ ช่วยให้ทราบเส้นทางเดินบนแผ่นทางเท้าคนพิการได้ทันที
แผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา (Braille Block)
มีทั้งหมด 3 ประเภท
1.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน (Warning Tactile/Warning Block) เรียกว่า แผ่นทางเดินคนตาบอด ลายกลมชนิดเตือน เป็นปุ่มกลมนูน เป็นสัญลักษณ์ให้หยุดและระมัดระวังการเดินไปยังเส้นทางด้านหน้า อาจจะมีอุปสรรคเช่นพื้นต่างระดับ ทางลาดทางข้าม หรือริมทางรถไฟ เป็นต้น
2.พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทาง (Guiding Tactile/Guiding Block) หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า Directional Tactile แผ่นทางเดินคนตาบอดลายเส้น เป็นแถบนูนลายเส้นบนผิววัสดุ นำเส้นทางให้เดินไปตามเส้นทางนั้น
3.พื้นผิวต่างสัมผัสเพื่อแจ้งการเปลี่ยนทิศทาง (Positional Tactile) เพื่อให้คนตาบอดทราบว่า จะต้องเลือกทิศทางการเดินอีกครั้งในตำแหน่งนี้
การติดตั้งแผ่นนำทางคนตาบอด (Braille block)
ต้องนำผังพื้นที่มาทำการตรวจเช็คว่าจะติดตั้งที่บริเวณใดบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพิ่มความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับคนตาบอด กรณีต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่สามารถเข้าถึงได้จากหลายด้าน เช่น ป้าย ตู้ไปรษณีย์ ฯลฯ ต้องปูพื้นผิวสัมผัสในการเตือนล้อมทุกด้านที่เข้าถึงได้
ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบของทางเท้าที่ถูกออกแบบและพัฒนามาให้ผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย หากเมืองต่าง ๆ ในไทยมีระบบทางเท้าที่ดีจะส่งผลอย่างไรต่อชาวเมือง?
- ช่วยเสริมสร้างทัศนียภาพของเมืองให้สวยงามเรียบร้อย
- สร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย
- ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
- ให้ความปลอดภัย สร้างความสะดวกสบายให้กับวิธีชีวิตของชาวเมือง
- ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ
- ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับเมือง
- สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองนั้น ๆ ได้ผ่านการดีไซน์
- มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะบอกลาทางเท้ากับระเบิด โดยใช้วิธีการออกแบบที่ตรงตามมาตรฐานสากล และใช้วัสดุที่มีคุณภาพมาออกแบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงวางเป้าหมายระยะยาวที่ต้องใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและการบรรลุ Net Zero
ถ้าคุณต้องการมีส่วนร่วมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือกระจกที่ทำให้โลกร้อน สามารถเลือกสเปคผลิตภภัณฑ์ของ CPS เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะล่าสุดนี้ทาง CPS ได้รับฉลาก CFO คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization) ที่รับรองโดย TGO องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงกว่าเดิมและตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม