ถอดแนวคิดแบบ Feminist Urbanism สู่การออกแบบเมือง Glasgow ที่ดีต่อทุกเพศ
หลายคนอาจจะนึกถึงแนวความคิดเพื่อผู้หญิง เพราะแปลตรงตัว Feminist Urbanism ก็หมายความว่า แนวคิดการออกแบบเมืองแบบสตรีนิยม แต่ทว่าที่เมือง Glasgow (กลาสโกว์) ประเทศสกอตแลนด์ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจไม่น้อยและมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของสกอตแลนด์ ชวนให้สงสัยอยู่เหมือนกันว่าจะออกแบบเมืองอย่างไรให้ดีต่อทุกคน โดยไม่เจาะคงแค่ผู้หญิงเท่านั้น เพราะผู้คนจากทั่วโลกที่ทั้งมาเที่ยวพักผ่อนและตั้งรกรากที่นี่ ทำให้ Glasgow เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตและเพศ
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2022 หลังจากสภาเทศบาลเมือง Glasgow มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ที่จะให้ผู้หญิง เป็นหัวใจสำคัญของการวางผังเมืองทุกมิติ เพราะรัฐบาลของเมืองเชื่อว่า การออกแบบเมืองที่ดีสำหรับผู้หญิง คือการออกแบบเมืองที่ดีสำหรับทุกคน ด้วยความที่สามารถเพิ่มความกลางทางเพศ การคิดคำนึงถึงความปลอดภัย การคำนวนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและการแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะให้ทุกเพศ ทุกวัย เข้าถึงพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ของเมืองให้ทั่วถึง
และขยายความเพิ่มอีกนิดกับ Feminist Urbanism นั้น แท้จริงแล้ว หมายถึงการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมการไม่แบ่งแยกกัน ซึ่งรวมถึงความหลากหลายของคนทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน โดยคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ที่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิง (Non-binary), กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศโดยกำเนิดของตนเอง (Genderfluid People) และแน่นอนว่ารวมถึงความต้องการของผู้หญิงด้วย
เหตุผลที่ต้องออกแบบภูมิทัศน์เมืองโดยมีผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นศูนย์กลาง เพราะในอดีตแทบจะทุกเมือง ถูกออกแบบด้วยผู้ชายเสมอมา เป็นผลให้เกิดการดีไซน์ของตัวเมืองและพื้นที่การใช้สอยต่างๆ ที่พัฒนาให้รองรับและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชาย จึงอาจมีจุดบอดบางส่วนที่ทำให้หลายๆ กรณีของความปลอดภัยและการเข้าถึงของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศมักถูกมองข้ามไป
ด้วยเหตุนี้ สภาเทศบาลจึงหันมาวางแผนในการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการเข้าถึงเพื่อใช้งานสถานที่ต่างๆ สำหรับผู้หญิง โดยให้การออกแบบนั้นมาจากพื้นฐานสำคัญของการออกแบบที่ยึดผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของการวางแผน การออกแบบพื้นที่สาธารณะ และการพัฒนานโยบายและงบประมาณทุกด้าน
ในอนาคต เมือง Glasgow จะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน และจะสามารถเป็นเมืองต้นแบบของการดีไซน์เมืองเพื่อคนทุกกลุ่ม ทุกเพศได้หรือไม่ ต้องคอยติดตามชมต่อไป
ขอบคุณข้อมูลและรูปประกอบจาก
urbancreature
womanthology
unsplash
ผู้เขียนบทความ