สภาวิศวกรแห่งใหม่ เมื่ออาคารรัฐถูกปรับเป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง ผ่านดีไซน์และการออกแบบทางวิศวกรรม

หากพูดถึงสำนักงาน หรืออาคารขององค์กร เราคงจะนึกถึงอาคารที่เป็นแบบแผน เป็นทางการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ในยุคนี้ที่สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองมีความเป็นอิสระมากขึ้น และมองหาพื้นที่ที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ อาคารที่คอยให้บริการผู้คนในรูปแบบเดิม ที่ตั้งตระหง่านแต่ไม่สื่อสารกับสังคมอาจไม่ใช่อาคารที่ตอบโจทย์แล้วหรือเปล่า? นั่นเป็นหนึ่งในข้อสงสัยที่ คุณวิชญ์ อติวิชญ์ กุลงามเนตร สถาปนิก และ Design Director จาก Ativich / Studio รวมไปถึงสถาปนิกและวิศวกรในทีม AATTN8A ได้จุดประเด็นขึ้นในขณะออกแบบสภาวิศวกรแห่งใหม่นี้

ด้วยข้อสงสัยที่มี บวกกับความต้องการสร้างสถาปัตยกรรมในรูปแบบใหม่ให้ต่างไปจากเดิม ให้ผู้ใช้งานทั้งบุคลากรของสภาวิศวกร และประชาชนจากภายนอกสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างสบายใจ สภาวิศวกรแห่งใหม่นี้จึงกลายมาเป็นอาคารกึ่งพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่สำหรับผู้คนโดยรอบ เป็นพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง เป็นอาคารที่กลมกลืนกับอาคารอื่น ๆ อย่างลงตัว และที่สำคัญคือเป็นอาคารที่สะท้อนตัวตนของวิศวกรรมในทุกสาขาผ่านองค์ประกอบและงานระบบต่าง ๆ ในอาคารได้อย่างชัดเจน

อาคารใหม่ในย่านเก่า เล่าเรื่องคน เมือง และวิศวกรรม

บนถนนลาดพร้าว บริเวณโชคชัย 4 แห่งนี้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของโรงขายไม้และโรงกลึงไม้ ด้วยศักยภาพที่ดินที่เหมาะกับการเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน และมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตัดผ่าน ทางสภาวิศวกรจึงตัดสินใจเลือกที่ตรงจุดนี้เป็นที่ตั้งของสภาวิศวกรแห่งใหม่ และได้คุณวิชญ์ อติวิชญ์ กุลงามเนตร สถาปนิกและ Design Director จาก Ativich / Studio ผู้ชนะจากโครงการประกวดแบบของสภาวิศวกร รวมถึงทีมงานทุกท่านที่เกี่ยวข้องมาเป็นผู้ออกแบบอาคารนี้ และได้ผู้ชนะจากโครงการประกวดแบบของสภาวิศวกร เป็นคณะผู้ออกแบบ AATTN8A ที่มาจากทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย ativich / studio x Atelier of Architects x TeamSQ x TeamG x Next2nd x 8.18studio x Africvs 

พื้นที่นี้เป็นเขตที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างหนาแน่น อาคารส่วนใหญ่เป็นตึกแถว อาคารพาณิชย์และหมู่บ้าน รวมไปถึงมีพื้นที่สาธารณะกระจายตัวอยู่รอบ ๆ แต่พื้นที่สาธารณะนี้กลับไม่ใช้พื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนเข้าไปใช้งานได้อย่างอิสระ นี่จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ทางคุณวิชญ์และทีมงานต้องการออกแบบและก่อสร้างสภาวิศวกรแห่งใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้ามาใช้งานได้ เชื่อมต่อเรื่องราวของคน เมือง และวิศวกรรมเข้าด้วยกัน

อาคารสภาวิศวกรแห่งใหม่ จุดเริ่มต้นจากการออกแบบที่ “สุดขั้ว”

ถ้าเรามองอาคารสภาวิศวกรแห่งใหม่ แล้วหันกลับมามองอาคารที่เคยมีมา เราจะเห็นความแตกต่างในหลาย ๆ มิติอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ฟอร์มของอาคาร วัสดุที่ใช้ การอนุญาตให้ผู้คนเข้ามาใช้งานอย่างอิสระ ไปจนถึงฟังก์ชันการใช้งานภายในที่ถูกปรับและจัดวางใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นไอเดียมาจากคำถามและข้อสงสัยของคุณวิชญ์ อติวิชญ์ สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการนี้ ที่ว่า “จะสร้างอาคารที่ไม่เหมือนเดิมได้อย่างไรบ้าง?

จะทำอย่างไรให้อาคารส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคม? ผู้คนในสังคมตรงนั้นต้องการอาคารแบบไหน? และความต้องการทั้งหมดนี้จะสะท้อนความเป็นวิศวกรออกมาได้อย่างไรบ้าง?” จนเกิดมาเป็นความท้าทายที่ต้องการก่อสร้างอาคารให้ “สุดขั้ว” ทั้งในด้านดีไซน์ โครงสร้างและการใช้งาน

สภาวิศวกรแห่งใหม่นี้จึงกลายเป็นอาคารที่มองมุมไหนก็ไม่เหมือนอาคารสำนักงาน ทางทีมผู้ออกแบบหยิบเอาฟังก์ชันทั้งหมดในอาคารออกมาทำความเข้าใจผ่านกระบวนการ Design Thinking ที่ละลายข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ ก่อนปรับขนาดพื้นที่แล้วใส่กลับเข้าไปในฟอร์มอาคารใหม่ ทำให้สภาวิศวกรเป็นอาคารที่มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ไต่ระดับขึ้นไปตามบันไดด้านข้างเชื่อมต่อกับห้องสมุด พื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้น 2 – 3 เปิดโอกาสให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาสามารถเข้ามาใช้งานได้โดยไม่รู้สึกเกร็งหรือขัดเขิน ส่งเสริมให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองไปในตัวด้วย 

ส่วนออฟฟิศเดิมทีมักจะวางอยู่ด้านบนอาคาร กลับถูกสลับลงมาอยู่ที่ชั้นสองแทน เพื่อให้พนักงานเดินง่าย ใช้งานระหว่างวันได้ลื่นไหลขึ้น อีกทั้งส่วนบนสุดของอาคารที่เป็นห้องประชุมและสัมมนา นอกจากจะรองรับกิจกรรมของทางสภาวิศวกรแล้วยังเปิดให้คนภายนอกเข้ามาใช้เป็นสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ การที่ฟังก์ชันของคนภายในและคนภายนอกมีการสลับช่วงกัน ทำให้พื้นที่ของสภาวิศวกรเกิดการเชื่อมเข้ากับสภาพแวดล้อมรอบข้างมากขึ้น แม้จะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ก็สามารถกลมกลืนไปกับบริบทต่างๆได้อย่างดี

การออกแบบและก่อสร้าง ที่นำเสนอเอกลักษณ์ของวิศวกรรมทุกสาขา

นอกจากคอนเซ็ปต์ในการเชื่อมต่อพื้นที่ที่ทำให้อาคารไม่เป็นอาคารในรูปแบบเดิมแล้ว ทางคุณวิชญ์และทีมที่ร่วมทำงานยังร่วมกันวิเคราะห์เพื่อประยุกต์งานวิศวกรรมในสาขาต่าง ๆ เข้ามาใช้ในแต่ละส่วนของอาคารด้วย เช่น วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อาคารเป็น Zero Discharge คือไม่ปล่อยน้ำเสียออกจากโครงการเลย ผ่านการนำน้ำทิ้ง (Grey Water) จากการล้างมือ ล้างจานต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการบำบัดหนึ่งครั้งก่อนนำน้ำมารดน้ำต้นไม้ที่อยู่ในสวนทั้งหมด

วิศวกรรมโครงสร้างผ่านฟอร์มที่แปลกใหม่ของอาคารที่มีส่วนยื่นด้านหน้าที่ท้าทาย วิศวกรรมเครื่องกลที่แสดงออกผ่านการเดินท่องานระบบต่างๆและอาคารจอดรถอัตโนมัติในโครงการ ไปจนถึงเรื่องของการออกแบบระบบไฟฟ้าที่ประหยัดมากขึ้นกว่าเดิม 40 – 50% และการสื่อสารกับผู้คนข้างนอกผ่านจอแสดงผลขนาดใหญ่บนผนังอาคาร ของวิศวกรไฟฟ้าและสื่อสาร ฯลฯ 

ระบบทางวิศวกรรมในแขนงต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบให้ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน สภาวิศวกรแห่งใหม่จึงกลายเป็นอาคารที่ผ่านข้อประเมินด้านความยั่งยืนในหมวดต่าง ๆ ตามเกณฑ์ของอาคารเขียวแห่งประเทศไทยในระดับ Platinum ซึ่งเป็นเกณฑ์สูงสุด และกลายเป็นอาคารมีทั้งรูปทรง วัสดุและฟังกชันการใช้งานที่นอกจากจะสะท้อนตัวตนของวิศวกรรมในสาขาต่าง ๆ ออกมาได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน ทั้งยังสื่อสาร ทำความรู้จักกับผู้คนในพื้นที่ให้คุ้นเคยกับสังคมของวิศวกรมากขึ้นด้วย

H–BEAM จาก SYS การเปลี่ยนงานสุดขั้ว ให้ดีไซน์เป็นไปได้แบบสุดขั้น

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้คอนเซ็ปต์ รวมถึงงานวิศวกรรมสาขาอื่น ๆ เลยคือเรื่องของฟอร์มและโครงสร้างของอาคาร จากตัวอาคารถูกดีไซน์ภาพรวมให้มีทั้งความทันสมัยและร่วมสมัยอยู่ในตัว ส่วนด้านล่างเป็นพื้นที่สวนขนาดใหญ่และฟอร์มอาคารที่ล้อไปกับอาคารตึกแถวข้างเคียง ในทางกลับกันส่วนชั้นด้านบนของอาคารมีโครงสร้างพื้นยื่นยาวออกมา เป็น Shape and Form ที่แสดงถึงความเป็นวิศวกร วัสดุที่คุณวิชญ์และทีมงานเลือกใช้เป็นวัสดุคอนกรีตและเหล็กผสมผสานกัน

อาคารด้านล่างใช้คอนกรีตแบบ Post-tension เพื่อให้อาคารรับแรงอัดได้เยอะ ๆ ในขณะที่ส่วนของอาคารด้านบนที่ยื่นยาวออกมา 16 ม. ใช้เป็นโครงสร้างเหล็กที่ประกอบพิเศษขึ้นมาโดยใช้เหล็ก H–Beam เป็นส่วนหนึ่งของโครงถัก ทำการยื่นออกไปจากโครงสร้างอาคารและทำการขึงจากชั้น 7 ลงไปที่ชั้น 4 และขึงกลับเข้ามาที่ Core ลิฟต์หลัก

อาคารจอดรถอัตโนมัติเป็นเป็นโครงสร้างเหล็กทั้งหมดเช่นกัน โดยเป็นการก่อสร้างแบบ Pre-fabrication ทำการเตรียมชิ้นส่วนทั้งหมดที่โรงงานก่อนจะยกมาติดตั้งที่หน้างาน ซึ่งอาคารหลังนี้เริ่มก่อสร้างหลังอาคารหลักพอสมควร แต่เสร็จเกือบพร้อม ๆ กัน เพราะใช้เวลาในการติดตั้งที่งานแค่ประมาณ 1 – 2 เดือนเท่านั้น

ในมุมมองของสถาปนิกและทีมงานที่ได้งานร่วมกันมาตั้งแต่ต้น คุณวิชญ์เล่าเพิ่มเติมว่า การเลือกใช้เหล็กในงานนี้ถือว่าช่วยตอบโจทย์งานที่วางแผนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะเหล็กมีความสามารถในการรับแรงดึงที่ดีมาก การยื่นพื้นออกไปมาก ๆ จึงไม่เป็นปัญหา อีกทั้งเหล็กเมื่อเชื่อมกันแล้ว ก็จะสามารถรับแรงเป็นเหมือนโครงสร้างชิ้นเดียวกันเลย ซึ่งช่วยให้งานดีไซน์ทำได้อิสระมากขึ้น 

การใช้งานเหล็กยังช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้นได้ สามารถเตรียมงานเหล็กในโรงงาน และก่อสร้างส่วนอื่น ๆ ที่หน้างานไปพร้อมกันได้ ทั้งยังใช้จำนวนคนงานน้อยลง จึงช่วยให้การก่อสร้างอาคารสภาวิศวกรแห่งใหม่ที่ถึงแม้จะเจอกับปัญหาการระบาดของโควิด – 19 ก็ยังสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามแผน

การก่อสร้างที่ดีในวันนี้ คือการลงทุนกับคุณภาพชีวิตในอนาคต

ในตอนท้ายทางคุณวิชญ์ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงมุมมองเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเอาไว้ว่า อาคารรักษ์สิ่งแวดล้อมจะกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของการก่อสร้างในอนาคต ซึ่งเป็นโจทย์ที่วงการออกแบบและก่อสร้างต้องช่วยกันคิดแล้วว่า จะออกแบบอย่างไร ก่อสร้างอย่างไร เลือกใช้วัสดุอะไร ให้อาคารสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมากอยู่แล้ว ให้ลดน้อยลงเพื่อให้ผู้คนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และส่งต่อโลกใบใหม่ที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นต่อไป

ซึ่งการทำให้อาคารช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน การเลือกใช้วัสดุที่รักษ์โลกเป็นสิ่งแรกที่ควรทำ เช่นเดียวกับที่ทางสภาวิศวกรเลือกใช้เหล็กที่มีจากเศษเหล็กรีไซเคิลกว่า 99% ของ SYS ลดการถลุงเหล็กใหม่ หรือการเลือกใช้คอนกรีตจากการผลิตที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง

รวมไปถึงการวางระบบที่ช่วยประหยัดพลังงานต่าง ๆ เอาไว้ในอาคาร ที่แม้การสร้างอาคารรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้จะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างที่มากกว่าอาคารทั่วไป แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนและประยุกต์เอาการออกแบบและการก่อสร้างเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงได้ ซึ่งสภาวิศวกรแห่งใหม่ ภายใต้การออกแบบและดูแลของคุณวิชญ์และคณะผู้ออกแบบ AATTN8A ก็สามารถแสดงออกมาให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน

อ่านเนื้อหาอื่นๆ เพิ่มเติม

Siam Yamato Steel
Steel you can trust
บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนและเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน
- ผลิตจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง
- ผลิตสินค้าสนองตอบการใช้งานด้านโครงสร้าง ได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสม
- ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสากหรรมไทยและและมาตรฐานต่างประเทศ ...

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ