ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา สถาปัตยกรรมที่สร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติ กสิกรรม และความพอเพียงที่ยั่งยืน
ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา คือ โครงการด้านการเรียนรู้กสิกรรมและศาสตร์พอเพียงที่ดำเนินตามศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีการวางผังรูปแบบการใช้งานที่ประยุกต์ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม แบ่งสัดส่วนพื้นที่บริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ทำกินให้สอดคลองกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โครงการนีได้รับการออกแบบโดย ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ (คุณวิน) จากสตูดิโอสถาปัตยกรรม Vin Varavarn Architects
โครงการศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา มีฟังก์ชั่นการใช้งานอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ อาคารหลักและอาคารห้องน้ำ
อาคารหลัก หรือ อาคารสัมมนาศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา มีทั้งหมด 2 ชั้น หลังคาขนาดใหญ่ของอาคารถูกออกแบบให้มีรูปทรงเหมือนใบไม้ธรรมชาติแบบโมเดิร์น ทรอปิคอล ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก การออกแบบพื้นที่ภายในอาคารมีความเรียบง่าย Space มีความสูงโปร่งแบบพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง จึงทำให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก มีแสงสว่างที่เพียงพอ และมีการใช้สีโทนธรรมชาติ เช่น สีเทา สีน้ำตาล สีส้ม และสีของสัจจะวัสดุ
ชั้น 1 จะเป็นพื้นที่ของห้องสัมมนาสำหรับใช้เรียนรู้และบูรณาการทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโรงอาหาร ที่มีทั้งพื้นที่ประกอบอาหาร ส่วนรับประทานอาหาร และส่วนล้างจาน
ในขณะที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารจะเป็นพื้นที่ของห้องเวิร์คช็อป ห้องรับแขก ห้องน้ำแขก และห้องประชุมสำหรับทีมงานก่อนการจัดกิจกรรมต่างๆ
ถัดจากอาคารหลักไปทางด้านหลังเล็กน้อย คือ อาคารห้องน้ำ ที่มีรูปแบบและอัตลักษณ์ที่ค่อนข้างแตกต่างแปลกตาไปจากห้องน้ำทั่วไปทั้งรูปลักษณ์แบบผนังเส้นโค้ง และฟังก์ชั่นภายในที่จะต้องอำนวยต่อลักษณะของกิจกรรมต่างๆภายในศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งจะต้องมีพื้นที่สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า และอาบน้ำหลังร่วมกิจกรรมที่อาจเลอะดินและโคลน อีกทั้งยังได้รับการออกแบบให้น่าใช้งานอยู่เสมอตามหลักสุขอนามัยที่ดีแม้จะมีการใช้งานที่ค่อนข้างหนัก ด้วยการออกแบบให้ผนังมีความโปร่งไม่ทึบตัน ซึ่งจะทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไร้จุดอับ ไม่เกิดการสะสมของเชื้อโรค และกลิ่นไม่พึงประสงค์
สำหรับงานโครงสร้างและการใช้วัสดุ ตัวอาคารสัมมนาหลักใช้เหล็กท่อกลมที่มีความมั่นคงแข็งแรงสูงในการทำโครงสร้างหลังคาทรงใบไม้ขนาดใหญ่ โดยใช้เหล็กตัวซีและเหล็กท่อแบนขนาดต่างๆ เป็นแปย่อยรองรับหลังคาไม้ไผ่
วัสดุที่นำมาใช้ในการตกแต่งส่วนใหญ่มักจะเป็นวัสดุพื้นถิ่นที่มีเป็นจำนวนมาก ผสมผสานกับผนังคอนกรีตภายในอาคารหลักที่ฉาบด้วยดินสีแดงของเขาใหญ่ และในส่วนของห้องน้ำก็ก่อผนังแบบเส้นโค้งสามมิติด้วยอิฐมอญ แม้จะเป็นวัสดุธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ก็มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างด้วยรูปแบบงานก่อที่มีความแปลกใหม่
ด้วยแนวคิดในการออกแบบและองค์ประกอบในการก่อสร้างที่สอดรับสัมพันธ์กับศาสตร์เกษตรทฤษฎีใหม่ จึงทำให้ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติ กสิกรรม และความพอเพียงที่ยั่งยืน
งานออกแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้างเหล็กอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สำหรับท่านที่สนใจท่อเหล็กและเหล็กโครงสร้าง เพื่อนำไปใช้ในงานก่อสร้าง
สามารถสอบถามข้อมูล และติดต่อแบรนด์ได้ที่ Cotco Call Center 02-285-2700
Website : www.cotcometalworks.co.th ,FB Page : Cotco Metal Works Ltd.
ผู้เขียนบทความ
ผู้ผลิตท่อเหล็ก เหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น และศูนย์บริการเหล็ก ... อ่านเพิ่มเติม