หลักการออกแบบห้องครัวพื้นที่จำกัด

หลักการออกแบบห้องครัว (Kitchen Design) คือ

การออกแบบวางผังพื้นที่ปรุงอาหาร (ครัว) ในภาพรวม ให้มีความเหมาะสมสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ ให้ความสะดวกสบาย ให้ความปลอดภัยในการใช้งาน และช่วยยกระดับสุขอนามัยที่ดี หรือ คุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย หรือ ผู้ใช้งาน และถึงแม้ห้องครัวจะมีพื้นที่จำกัด ก็สามารถจัดสัดส่วนการออกแบบให้ได้พื้นที่การใช้งานที่คุ้มค่าได้ จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไร ติดตามในบทความนี้ได้เลยครับ...

ห้องครัวพื้นที่จำกัด จัดเป็นรูปแบบใดได้บ้าง ?

การจัดวางผังครัวแบบ I หรือ I-Shaped Kitchen

เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็ก  3-5 ตร.ม. ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นห้องในอาคารชุด เช่น อพาร์เม้นท์ คอนโดมิเนียม หรือ ทาวน์เฮ้าส์ พื้นที่ครัวลักษณะนี้มักจะมีพื้นที่ทั้ง 3 โซน อยู่ในแถวเดียวกัน โดยออกแบบเรียงลำดับพื้นที่ใช้งานจากซ้ายไปขวา เริ่มจากพื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1)  พื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาด (Zone 2) พื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร (Zone 3) ตามลำดับ

การจัดวางผังครัวแบบ L หรือ L-Shaped Kitchen

เหมาะกับพื้นที่ตั้งแต่  6 ตร.ม. ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นห้องชุดคอนโดมิเนียมที่มีขนาดใหญ่ หรือ บ้านพักอาศัยทั่วไป แต่การจัดผังครัวในลักษณะนี้มักไม่มีรูปแบบการวางฟังก์ชั่นที่ตายตัว 100% ดังนั้นการจะจัดวางตำแหน่งฟังก์ชั่นใดๆ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากตำแหน่งพื้นที่ตั้ง จำนวนช่องเปิด และบริบทสภาพแวดล้อมเป็นหลัก

แต่ส่วนใหญ่โดยทั่วไปแล้วมักจะจัดให้พื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1) และพื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาด (Zone 2) อยู่เคาน์เตอร์ด้านที่มีความยาวมากที่สุด และมักจัดวางในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยในส่วนพื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร (Zone 3) จะจัดวางอยู่ในบริเวณเคาน์เตอร์ด้านที่มีความยาวสั้นกว่า ซึ่งการจัดวางฟังก์ชั่นต่างๆในลักษณะนี้ลักษณะพื้นที่ห้องมักจะมีช่องเปิดอย่างน้อย 2 จุด

การจัดวางผังครัวแบบเส้น 2 ด้าน หรือ Gallery Kitchen

เป็นการจัดวางผังครัวที่เหมาะกับพื้นที่ขนาด  9 ตร.ม. ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย หรือ อาคารสาธารณะ เช่น ครัวโรงแรม หรือ ครัวในร้านอาหาร

การจัดวางผังครัวในลักษณะนี้จะมีลักษณะคล้ายกับผังแบบ U หรือ U-Shaped Kitchen เพียงแต่จะไม่มีเคาน์เตอร์ด้านสั้นมาเชื่อมให้เป็นตัว U เท่านั้น ซึ่งจะจัดวางพื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง (Zone 1) และพื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร (Zone 3) ให้อยู่ตรงข้ามกัน

และจัดวางพื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาด (Zone 2) และพื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร (Zone 3) ให้อยู่ในฝั่งเดียวกัน โดยพื้นที่ตรงกลางจะมีความกว้างตั้งแต่ 90 ซม. ขึ้นไป ซึ่งเป็นความกว้างที่สามารถเดิน หมุนตัว หรือ กลับตัวทั้งด้านหน้า และหลังในระหว่างปรุงอาหารได้อย่างสะดวก และไม่เป็นอันตราย

ทริคการออกแบบเคาน์เตอร์ครัวให้พอดีกับสัดส่วนของสรีระ

ใช้วิธีการคำนวนโดยนำส่วนสูงของผู้ใช้งานมาเป็นหลักในการหาขนาดความสูงของเคาน์เตอร์ครัวที่พอดีกับสรีระ โดยสูตรการคำนวนคือ ส่วนสูงหาญด้วย 2 และบวก 5 เซนติเมตร เช่น 160÷2+5 = 85 ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนสูง 160 เซนติเมตร เหมาะกับการเลือกใช้เคาน์เตอร์ที่มีความสูงประมาณ 85 เซนติเมตร จะเป็นความสูงที่พอดีในการใช้งาน ทำให้ไม่ต้องโค้งตัวจนเกินไป หรือสูงจนทำครัวไม่ถนัด

ลักษณะพื้นที่ใช้สอยแบบต่างๆ ของห้องครัว (Function Zoning)

สามารถแบ่งออกได้ 3 Zone ดังนี้

Zone 1 : พื้นที่สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง

องค์ประกอบหลักของพื้นที่ส่วนนี้ คือ ที่เก็บวัตถุดิบทั้งแบบสด และแบบแห้ง ประกอบด้วย

- ตู้ และชั้นลอย (สำหรับเก็บของแห้ง)  

- ตู้เย็น (สำหรับเก็บของสด) ควรจัดวางห่างจากผนังอย่างน้อย 15 ซม. เพื่อให้ตู้เย็นมีพื้นที่รอบๆสำหรับระบายความร้อนได้อย่างเหมาะสม ในด้านรูปแบบส่วนใหญ่แล้วตู้เย็นจะมีตั้งแต่แบบ 1 ประตู 2 ประตู และ 3 ประตู  โดยมีลักษณะการเปิดที่แบ่งได้ดังนี้ เปิดจากด้านซ้าย (นิยมเป็นส่วนใหญ่) เปิดจากด้านขวา (นิยมเป็นส่วนน้อย) และบานเปิดคู่ (ส่วนใหญ่ใช้กับครัวขนาดใหญ่)

ในการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ ควรจัดให้อยู่ใกล้กับบริเวณทางเข้าห้องครัวมากที่สุด และเพื่อความสะดวกในการหยิบจับใช้สอยได้ง่าย จึงควรแยกชนิดวัตถุดิบต่างๆ อย่างชัดเจน 
 
Zone 2 : พื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาด 

องค์ประกอบหลักของพื้นที่ส่วนนี้ คือ ซิงค์ล้างจาน และที่พักจาน ในการออกแบบควรจัดพื้นที่สำหรับล้าง และทำความสะอาดให้อยู้ใกล้กับช่องเปิด หรือ หน้าต่าง สำหรับให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันเชื้อรา และกลิ่นเหม็นอับ 

นอกจากนี้ควรจัดวางอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตู้เย็น เพราะจะสะดวกต่อการจัดเตรียมวัตถุดิบ เช่น สามารถนำวัตถุดิบสด เช่น เนื้อ ผักประเภทต่างๆ หรือ ผลไม้ มาล้างทำความสะอาดก่อนปรุงอาหารได้อย่างสะดวก

Zone 3 : พื้นที่สำหรับเตรียมของ และปรุงอาหาร 

องค์ประกอบหลักของพื้นที่ส่วนนี้ ประกอบด้วย

- ท็อปครัว (สำหรับเตรียมอาหาร)

- พื้นที่เตาประกอบอาหาร และเครื่องดูดควันสำหรับถ่ายเทอากาศ (สำหรับปรุงอาหาร)

- เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น เครื่องปั่น ตู้อบ หรือ ไมโครเวฟ ฯลฯ (สำหรับปรุงอาหารด้วยกรรมวิธีอื่นๆนอกเหนือจากเตาประกอบอาหาร)

ในการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ควรจัดวางเตาปรุงอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆให้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในระยะที่เดินได้ไม่เกิน 1-2 เมตร และไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง เพื่อความสะดวก และความปลอดภัยในการใช้งาน

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ