ไม้ HMR คืออะไร มีคุณสมบัติ และวิธีการนำไปใช้งานอย่างไร ?
ไม้ HMR คืออะไร?
ไม้ HMR (High Moisture Resistance board) มีคุณสมบัติขึ้นชื่อในเรื่องของการทนทานต่อความชื้น ผ่านกระบวนการผลิตโดยการนำชิ้นไม้ยูคาลิปตัสมาสับและบดจนเป็นเส้นใยละเอียดแล้วอัดประสานด้วยกาวชนิดพิเศษ
มักจะถูกนำไปใช้ทดแทนในส่วนที่ต้องการตกแต่งให้ได้กลิ่นอายของความเป็นไม้ แต่พื้นที่บริเวณนั้นมีโอกาสสัมผัสกับความชื้น เช่น ห้องครัว หรือห้องน้ำโซนแห้ง ซึ่งไม้ HMR เมื่อนำไปตัดหรือตกแต่ง สามารถทำได้ง่ายโดยที่เนื้อไม้ไม่หักหรือบิ่น
ลักษณะของไม้ HMR จะเป็นสีเขียวและมีพื้นผิวที่เรียบเนียนสม่ำเสมอกัน ส่วนสีเขียวของไม้อัดชนิดนี้ เป็น pigment สีที่เพิ่มเข้าไปในกระบวนการผลิต ซึ่งสีอาจจางและเปลี่ยนไปเมื่อถูกแดดหรือโดนความร้อน แต่จะไม่มีผลกับคุณภาพ ความคงทน และความสามารถในการทนชื้นของเนื้อไม้
ค่ามาตรฐานการทดสอบ และ สเปคของไม้ HMR
(REFERENCE BY EN622-5)
V313 หรือที่เรียกว่า 3 Cyclic Test โดยมีขั้นตอน คือ
1. แช่น้ำ ควบคุมอุณหภูมิที่ 20°C เป็นเวลา 72 ชั่วโมง
2. แช่เย็น ไว้ในตู้เย็น ควบคุมอุณหภูมิที่ -12°C ถึง -25°C เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
3. อบในตู้ ควบคุมอุณหภูมิที่ 70°C เป็นเวลา 72 ชั่วโมง
ทดสอบตามมาตรฐาน EN317 ทุกขั้นตอนซ้ำทั้งหมด 3 ครั้งรวม 21 วัน
TS (SWELLING IN THICKNESS (AFTER 24 hr. SOAKING) ทดสอบตามมาตรฐาน EN 317
ค่าการพองตัวตามความหนา มีผลต่อการทนความชื้นของแผ่นไม้ ทดสอบโดยการนำชิ้นตัวอย่างแช่น้ำ เป็นระยะเวลา 24 hr และนำมาคำนวณค่าการพองตัว โดยมาตรฐานบอร์ดความหนา 4-9 mm. ไม้จะพองตัวไม่เกิน 18-25 % และไม่เกิน 7-10% สำหรับความหนา 12-25 mm.
MOR (MODULUS OF RUPTURE) ทดสอบตามมาตรฐาน EN 310
ค่าสัมประสิทธิ์การแตกหัก ทดสอบโดยการรับแรงกดในบริเวณจุดกึ่งกลาง โดยระยะห่างระหว่างจุดรับแรงทั้งสองด้านมีค่าเท่ากับ 20 เท่าของความหนา โดยปกติ บอร์ดความหนา 4-9 mm. ค่าสัมประสิทธิ์การแตกหักไม่ต่ำกว่า 27 N/mm2 และไม่ต่ำกว่า 24 N/mm2 สำหรับความหนา 12-25 mm. ค่า MOR ยิ่งสูงยิ่งทำให้แผ่นบอร์ดมีความแข็งแรงไม่แตกหักง่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการผลิตของแต่ละบริษัท
Density ทดสอบตามมาตรฐาน EN 323
ความหนาแน่นของเนื้อไม้ โดยทั่วไปจะมีความหนาแน่นอยู่ที่ 650- 800 Kg/m3 ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและสูตรการผลิตของแต่ละบริษัท ซึ่งแตกต่างกันออกไป ไม้HMR ที่มี Density สูงกว่า ส่งผลให้มีพันธะภายในที่แข็งแรง แต่ก็มีน้ำหนักมากกว่าในความหนาเดียวกัน
คุณสมบัติของไม้ HMR
- ไม้ HMR มีคุณสมบัติทนทานต่อความชื้นได้ดี
- สามารถปิดผิวด้วยวัสดุปิดผิวต่างๆ ได้ เช่น แผ่นไฮเพรสเชอร์ ลามิเนต
- พื้นผิวของไม้ HMR มีความเรียบเนียนเสมอกันตลอดแผ่น
- เนื้อไม้มีความแน่น แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้ดี
- สามารถนำไปทำสีได้ง่าย พื้นผิวเนียนเรียบสม่ำเสมอ
- สามารถดัดเจาะหรือดัดแปลงทำงานบิ้วอินต่างๆ ได้ง่าย โดยที่เนื้อไม้ไม่หักหรือบิ่น
- สามารถเซาะร่องตกแต่ง หรือฉลุเป็นลวดลายต่างๆ ได้
- ไม้ HMR มีการรับรองการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม FSC (E2)
- ด้วยความที่พื้นผิวมีความเรียบเนียน จึงทำให้สามารถทาสีทับได้ง่าย
การนำไปใช้งาน
ตกแต่งภายในห้องน้ำ (พื้นที่ที่มีโอกาสสัมผัสความชื้น)
ไม้ HMR สามารถตกแต่งภายในห้องน้ำ เช่น ติดตั้งเป็นเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าในห้องน้ำ หรือชั้นวางของ built-in เพราะไม้ HMR มีคุณสมบัติเรื่องการทนทานต่อความชื้นสูงได้ดี ข้อแนะนำในการติดตั้ง คือออกแบบพื้นที่ในห้องน้ำเป็น 2 ส่วน การใช้งานส่วนเปียกและการใช้งานส่วนแห้ง และติดตั้งใช้งานไม้ HMR ในห้องน้ำส่วนแห้ง บริเวณท็อปของเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า โดยติดตั้งให้ยื่นออกมาเกินจากบานเปิดประมาณ 3-5 ซม. ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำกระเด็นไปโดนพื้นผิวของไม้ HMR บ่อยเกินไป วิธีนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของไม้ HMR ได้ดี และเทคนิคเพิ่มเติมในการตกแต่งคือการปิดผิวไม้อัดด้วยวัสดุปิดผิวเพื่อเพิ่มความสวยงามก็สามารถทำได้เช่นกัน
การใช้ไม้ HMR ตกแต่งภายในห้องครัว (พื้นที่ที่มีโอกาสสัมผัสความชื้น)
ไม้ HMR สามารถตกแต่งภายในห้องครัว เช่น เคาน์เตอร์บริเวณอ่างล้างจาน หรือ built-in เป็นชั้นวางของต่างๆ ไปจนถึงการติดตั้งเป็นตู้เพื่อซ่อนงานระบบท่อต่างๆ เพราะมีคุณสมบัติในเรื่องของความทนทานต่อความชื้น ไม่เกิดการบวม บิด โก่ง หรือแตกยุ่ยตามขอบบานได้ง่าย โดยข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการติดตั้งใช้งานเป็นเคาน์เตอร์ในเครัว คือ การออกแบบให้ท็อปเคาน์เตอร์ยื่นออกมาเกินกว่าบานตู้ประมาณ 3-5 cm เพื่อกันน้ำไหลหรือกระเด็นมาโดนบานตู้โดยตรง และติดตั้งบานตู้ให้สูงจากพื้นประมาณ 5-10 cm เพื่อให้สามารถทำความสะอาดบริเวณพื้นได้สะดวก ลดการสัมผัสน้ำหรือคราบสกปรกจากผ้าถูพื้นโดยตรง
การใช้ไม้ HMR ตกแต่ง built-in ในห้องนอน และห้องอื่นๆ
การ built-in คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ติดตั้งเข้ากับพื้นที่ในขนาดที่พอดี หรือก็คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาสำหรับพื้นที่ภายในบ้านส่วนนั้นโดยเฉพาะ อาจจะเป็นการทำขึ้นที่หน้างานหรือทำมาจากโรงงานแล้วนำมาประกอบที่หน้างานก็ได้ เฟอร์นิเจอร์ที่นิยมทำเป็น built-in ยกตัวอย่างเช่น ตู้เสื้อผ้า ชุดครัว เตียงนอน และวัสดุที่นิยมนำมาใช้สำหรับงาน built-in ก็มีหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือ ไม้ HMR
ไม้ HMR ตามท้องตลาดมีให้เลือกหลายขนาด และบางแบรนด์มีขนาดใหญ่สูงสุดถึง 4.8 เมตร ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับนำไปใช้ออกแบบติดตั้งเป็นงาน built-in ในส่วนต่างๆ ได้ทั้งในห้องนอน ห้องทำงาน ห้องรับแขก ด้วยความยาวของไม้ HMR ที่มีให้เลือกหลากหลาย จึงสามารถออกแบบทำให้สูงชนเพดานห้องได้ หรือนำไปประยุกต์ใช้ในงานดีไซน์ในรูปแบบอื่นๆ ที่ต้องการใช้ไม้ที่มีขนาดยาวพิเศษ ช่วยลดการเกิดรอยต่อ ทำให้งานตกแต่งออกมาสวยเรียบและดูสม่ำเสมอตลอดแนว
นำไปเซาะร่อง หรือฉลุลวดลายสำหรับงานตกแต่ง
ไม้ HMR สามารถนำไปเซาะร่องหรือฉลุลวดลาย เพื่อนำไปใช้ในงานตกแต่งได้เช่นกัน โดยสามารถเซาะร่องเป็นลวดลายได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ทำให้เนื้อไม้ยุ่ยหรือเป็นขุย ซึ่งการนำไปฉลุลวดลาย มักจะใช้เครื่อง CNC (Computer Numerical Control) ในกรณีที่ต้องการลวดลายที่ค่อนข้างซับซ้อน และต้องการใช้ในจำนวนมาก ซึ่งการฉลุลายเป็นแพทเทิร์นต่างๆ นิยมนำไปตกแต่งเป็นฉากกั้นห้อง ฉากกั้นในร้านอาหารที่ต้องการตกแต่งให้ได้ดีไซน์ที่สวยงาม
ข้อแนะนำเพิ่มเติมในการฉลุลายไม้ HMR
- ควรเว้นพื้นที่บริเวณขอบโดยรอบ 5-10 cm. เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ขอบในการยึดกับโครงสร้างได้อย่างแข็งแรง
- สัดส่วนของพื้นที่ที่ถูกฉลุลายลงไป ไม่ควรเกิน 50% ของเนื้อไม้ทั้งหมด เพื่อความแข็งแรง
- ควรออกแบบให้เส้นสายหรือลวดลายมีหน้ากว้างที่ไม่น้อยจนเกินไป เพราะไม้อาจหักได้ง่ายหากโดนกระแทก
- การตกแต่งด้วยการพ่นสี ได้ผลลัพธ์ของสีที่เรียบเนียนกว่าการทาสีด้วยแปรง
การนำไม้ HMR ไปผนังตกแต่ง เซาะร่อง 3D Wall สุดฮิต
เทคนิคการเซาะร่อง คือการทำให้พื้นผิววัสดุเป็นร่อง เทคนิคนี้คล้ายกับการแกะสลัก เพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงามตามแบบที่ต้องการ เทคนิคการเซาะร่องจึงนิยมนำไปใช้ในงานตกแต่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หน้าบาน บานลูกฟัก หัวเตียง บัวพื้น บัวฝ้า ประตู และ "ผนัง 3D Wall" ซึ่งเทคนิคการเซาะร่องวัสดุสำหรับตกแต่งผนัง 3D Wall สามารถนำไปกับวัสดุได้หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ "ไม้ HMR" โดยเฉพาะหากในพื้นที่ที่ต้องการตกแต่งนั้นมีความชื้นสูง เช่น ร้านอาหาร ร้านขนมหรือร้านกาแฟ ซึ่งต้องมีการปรุงอาหาร ทำเครื่องดื่ม หรือโถงต้อนรับของอาคารที่พื้นที่มีการตกแต่งด้วยน้ำพุ น้ำตก หรือบ่อน้ำ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ว่าไม้ HMR มีคุณสมบัติในเรื่องการทนความชื้นได้ดี แข็งแรงทนทาน ทนแรงกระแทกได้ดี และยังสามารถกรู๊ฟร่อง ฉลุลายหรือตัดแต่งให้เป็นรูปแบบต่างๆ ได้อีกด้วย
การนำไม้ HMR ไปใช้ติดตั้งเป็นฝ้าดรอป/ฝ้าเพดาน
ฝ้าดรอป/ฝ้าเพดาน คือ การทำฝ้าเพดานฉาบเรียบให้มีความต่ำลงมาจากระดับฝ้าเดิม การดรอปฝ้านั้นมักใช้กับฝ้าเพดานที่มีความสูงจากระดับพื้นค่อนข้างมาก มักใช้ในบริเวณโต๊ะทานข้าวหรือห้องรับแขกที่ต้องการความสวยงามของฝ้าเพดาน นอกจากนี้ เทคนิคการทำฝ้าดรอปยังสามารถเพิ่มความพิเศษเข้าไป ด้วยการติดตั้งไฟหลืบไฟซ่อน หรือ Indirect Lighting เป็นการออกแบบแสงเพื่อไม่ให้มองเห็นหลอดไฟภายหลังการติดตั้ง โดยแสงจะส่องกระทบไปบนพื้นที่ระนาบใดระนาบหนึ่ง หรือ อาจจะทั้งสองระนาบก็ได้ ซึ่งจะสามารถกระจายแสง และให้แสงสว่างได้อย่างนุ่มนวลสม่ำเสมอสบายตา มักจะใช้เพื่อตกแต่งสร้างบรรยากาศและความสวยงาม ซึ่งการทำไฟหลืบไฟซ่อนนั้นสามารถนำไปใช้กับการตกแต่งผนังได้เช่นกัน
ไม้ HMR สามารถนำไปใช้เป็นฝ้าเพดาน โดยสามารถออกแบบได้หลายวิธี เช่น การทำเป็นฝ้าดรอป (Drop Ceiling) หรือจะนำไปฉลุลายเพื่อใช้เป็นฝ้าตกแต่งก็ได้เช่นกัน แนะนำให้ปิดผิวด้วยวัสดุปิดผิว เช่น เมลามีน หรือแผ่นไฮเพรสเชอร์ลามิเนตก่อนการติดตั้งหรือเจาะรูสำหรับใส่ไฟดาวน์ไลท์ หากมีการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างควบคู่ไปด้วยก็จะทำให้ฝ้าเพดานมีความน่าสนใจขึ้น
ข้อแนะนำเพิ่มเติมและข้อควรระวังในการใช้งาน
- นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง แต่ไม่เหมาะกับการสัมผัสกับน้ำโดยตรงเป็นเวลานาน
- เมื่อไม้ HMR สัมผัสกับน้ำโดยตรง ควรรีบเช็ดน้ำออกทันที จะช่วยยืดอายุการใช้งาน
- ควรเลือกใช้ไม้ HMR ให้มีความหนาเหมาะสมตามการใช้งานแต่ละประเภท
- การพ่นสีหรือทำสีลงบนไม้ HMR โดยใช้วิธีพ่นสี จะได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่าการใช่แปรงทาสี
ข้อมูลผลิตภัณฑ์ไม้ HMR แต่ละขนาด
-
25 mm HMR E2 เอชเอ็มอาร์ (แผ่นใยไม้อัดทนความชื้น) High Moisture Resistance board
วัสดุแผ่น ไม้อัด
1,125 บาท/แผ่น
Online -
15 mm HMR E2 เอชเอ็มอาร์ (แผ่นใยไม้อัดทนความชื้น) High Moisture Resistance board
วัสดุแผ่น ไม้อัด
690 บาท/แผ่น
Online -
4 mm HMR E2 เอชเอ็มอาร์ (แผ่นใยไม้อัดทนความชื้น) High Moisture Resistance board
วัสดุแผ่น ไม้อัด
265 บาท/แผ่น
Online -
18 mm HMR E2 เอชเอ็มอาร์ (แผ่นใยไม้อัดทนความชื้น) High Moisture Resistance board
วัสดุแผ่น ไม้อัด
815 บาท/แผ่น
Online -
12 mm HMR E2 เอชเอ็มอาร์ (แผ่นใยไม้อัดทนความชื้น) High Moisture Resistance board
วัสดุแผ่น ไม้อัด
570 บาท/แผ่น
Online -
6 mm HMR E2 เอชเอ็มอาร์ (แผ่นใยไม้อัดทนความชื้น) High Moisture Resistance board
วัสดุแผ่น ไม้อัด
335 บาท/แผ่น
Online
เขียนและจัดทำภาพโดย Wazzadu Encyclopedia
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม