"อิฐ" แต่ละประเภท มีคุณสมบัติ ข้อดี/ข้อจำกัด ที่แตกต่างกันอย่างไร?
"อิฐ" เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นฐานสำหรับการก่อสร้างอาคารทั่วไป ซึ่งถูกใช้งานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีต และในปัจจุบันมักจะนำ "อิฐ" ไปตกแต่งหรือต่อเติมอาคารที่พักอาศัย เพราะอิฐเป็นวัสดุที่ดูเป็นธรรมชาติ อิฐบางชนิดเหมาะกับการก่อโชว์แนว และอิฐบางชนิดยังช่วยประหยัดพลังงานและลดความร้อนในที่พักอาศัยได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ "อิฐ" เป็นวัสดุที่เหมาะอย่างยิ่งกับสำหรับประเทศซึ่งอยู่ในโซนร้อนชื้น ที่อากาศร้อนและฝนตกบ่อย และวันนี้ Encyclopedia จะมาแบ่งปันเรื่องราวของ "อิฐ" ว่าแต่ละประเภท มีคุณสมบัติ ข้อดีและข้อจำกัด ที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ติดตามที่บทความนี้ได้เลยครับ...
อิฐมอญ
อิฐมอญ คืออะไร?
อิฐมอญ คือ อิฐที่มีลักษณะสีส้มแดง หรือที่เรามักเรียกกันว่าสีส้มอิฐ มีต้นกำเนิดมาจากชาวมอญที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย กระบวนการผลิตและส่วนประกอบทำมาจากดินเหนียวและแกลบ ผสมใส่แบบพิมพ์แล้วนำมาเผาเพื่อคงรูปอิฐที่อุณหภูมิ 700-800 องศาเซลเซียส เป็นวัสดุที่ใช้มาอย่างยาวนาน มักจะเห็นได้บ่อยในงานสถาปัตยกรรมเก่าแก่ เช่น วัดวาอาราม และอิฐมอญก็ยังเป็นวัสดุที่นิยมใช้มาจนถึงปัจจุบัน อิฐมอญเป็นอิฐที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ราคาต่อก้อนถูกมาก และที่สำคัญคือช่างค่อนข้างมีความชำนาญและคุ้นเคยในการก่ออิฐประเภทนี้
อิฐมอญ เหมาะกับงานก่อสร้างอาคารที่ไม่สูง เช่น บ้านพักอาศัย 1-2 ชั้น มักจะถูกเลือกใช้ในบริเวณที่โดนความชื้นบ่อยครั้ง เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ผนังส่วนที่โดนฝนสาดโดยตรง หรือส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น อ่างล้างหน้า ท็อปโต๊ะ ซึ่งถือว่าเป็นอิฐที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศบ้านเรา เพราะมีคุณสมบัติเรื่องการทนร้อนทนฝนได้ดี
ในงานออกแบบสมัยใหม่ มักถูกนำไปประยุกต์กับการตกแต่งหลากหลาย เช่น การตกแต่งสไตล์พื้นถิ่น ทรอปิคอล หรือแม้แต่อินดรัสเทียล เน้นการก่ออิฐโชว์แนว เพื่อให้ได้เสน่ห์ของสัจจะวัสดุ กลิ่นอายของความเป็นธรรมชาติ ความสวยงามที่เป็นเนื้อแท้
อิฐมอญมีข้อจำกัดในเรื่องของน้ำหนัก และการกักเก็บความร้อน จึงมักไม่เหมาะกับบ้านหรืออาคารสูงเท่าไหร่นัก น้ำหนักของอิฐมอญจะอยู่ที่ 180 กก./ตร.ม. (น้ำหนักรวมปูนฉาบ 2 ด้าน) ทำให้ค่อนข้างเปลืองงบประมาณเรื่องของโครงสร้าง และค่าแรงงานก่อสร้าง อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ระบายความร้อนได้ไม่ดีมากนัก ดังนั้น การก่อผนังด้วยอิฐมอญ จึงมีเทคนิคอย่างหนึ่งคือการ "ก่อผนัง 2 ชั้น" โดยจะต้องเว้นช่องว่างระหว่างอิฐแต่ละชั้นอย่างน้อย 5 ซม. เพื่อให้เกิดช่องว่างมีอากาศถ่ายเท พร้อมกับทำช่องระบายความร้อนให้กับอิฐชั้นนอกเพื่อให้ความร้อนถ่ายเทออกจากตัวบ้าน
ข้อดี ของอิฐมอญ
- ทนแดด ทนฝน ได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา
- อิฐมอญสามารถรับน้ำหนักได้ 30 กิโลกรัม/ตร.ซม.
- ความแข็งแรงและความหนาแน่นสูง
- เจาะแขวนของที่ผนังได้ง่าย ใช้พุกที่หาซื้อทั่วไปได้ง่าย
- ใช้ได้ดีสำหรับบริเวณเล็กๆ จะได้ไม่ต้องตัดอิฐมาก
- เป็นวัสดุที่ยึดเกาะได้ดี
- เหมาะกับเป็นอิฐตกแต่งโชว์แนว เพราะมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย
- ผลิตได้เองในประเทศไทย จึงทำให้ช่างผู้รับเหมาทั่วไปมีความชำนาญในการก่อ
ข้อจำกัด ของอิฐมอญ
- มีน้ำหนักมากกว่าอิฐชนิดอื่น
- เป็นอิฐที่มีมวลที่อัดแน่น จึงทำให้อิฐสะสมความร้อนมากกว่าระบายความร้อน
- ไม่ค่อยมีขนาดมาตรฐานแบบตายตัว
- เนื่องจากเป็นอิฐที่ขนาดก้อนค่อนข้างเล็ก จึงทำให้ใช้เวลาก่อนาน
- แตกหักระหว่างขนส่งได้ง่าย
การนำไปใช้งาน
บ้านพักอาศัย 1-2 ชั้น ก่อเป็นผนังโชว์แนว ผนังภายนอก ผนังห้องน้ำ อ่างล้างหน้า ท็อปโต๊ะ
ราคาโดยประมาณ : 3-140 บาท/ก้อน
อิฐบล็อก
อิฐบล็อก คืออะไร?
อิฐที่ทำจากปูนซีเมนต์และทราย ซึ่งถูกผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมมากกว่าอิฐมอญ ส่วนใหญ่จะมีสีเทาตามสีของส่วนประกอบที่ใช้ผลิต โดยมีลักษณะเด่นคือมีรูกลวงตรงกลางช่วยให้นำหนักเบาขั้น และช่วยถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ โดยนิยมใช้กับงานก่อสร้างทั่วไป เหมาะสำหรับงานที่เน้นการคุมค่าใช้จ่าย เพราะราคาถูกและใช้เวลาสร้างเร็วกว่าอิฐมอญ
คุณสมบัติ/ข้อดี ของ
- ขนาดก้อนใหญ่ ทำให้งานก่อสร้างจบไว
- เนื่องจากมีรูพรุน และมีรูโหว่ตรงกลาง จึงถ่ายเทความร้อนได้ดี
- เหมาะกับการก่อสร้างผนังโกดัง โรงงาน
- ราคาค่อนข้างถูก เหมาะกับงานที่ต้องการประหยัดงบประมาณ
ข้อจำกัด
- เป็นอิฐที่รับน้ำหนักแขวนมากๆ ไม่ได้
- ไม่เหมาะกับการเจาะผนังเพื่อยึดติดอุปกรณ์ต่างๆ
- มีโอกาสรั่วซึมได้สูง หากไม่มีการฉาบปูนที่ได้มาตรฐาน
- เปราะง่าย จึงไม่เหมาะกับงานเดินท่อไฟ ท่อประปา ภายในผนัง
- ไม่ควรใช้อิฐบล็อกในการก่อผนังห้องน้ำ เพราะมีโอกาสรั่วซึมสูง
การนำไปใช้งาน
นิยมใช้ในงานปูพื้นและทางเข้า และเหมาะกับการใช้ในงานลักษณะอุตสาหกรรม เช่น โกดัง โรงงาน
ราคาโดยประมาณ : 5-13 บาท/ก้อน
อิฐมวลเบา
อิฐมวลเบาคืออะไร?
อิฐมวลเบา ผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิด ได้แก่ ทราย ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนขาว น้ำ ยิปซั่ม และผงอลูมิเนียมที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มฟองอากาศนำมาผสมกันในปริมาณที่เหมาะสม และผ่านการอบไอน้ำด้วยแรงดันสูง ลักษณะเด่นของอิฐมวลเบา คือภายในจะมีฟองอากาศเล็กๆ เป็นรูพรุนที่อยู่ในเนื้อวัสดุมากถึง 75% ซึ่งส่งผลทำให้อิฐชนิดนี้มีน้ำหนักเบากว่าอิฐหลายชนิด รวมถึงฟองอากาศเหล่านี้ยังเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ราคาต่อก้อนของอิฐมวลเบาจะแพงกว่าอิฐมอญ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว อิฐมวลเบาจะช่วยในเรื่องของการประหยัดค่าโครงสร้าง และจำนวนของอิฐที่ใช้ เนื่องจากอิฐมวลเบามีขนาดใหญ่กว่าอิฐมอญ แต่น้ำหนักเบา และจำนวนอิฐที่ใช้ต่อตารางเมตรก็น้อยกว่า อีกทั้งความเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือขนย้ายก็มีน้อยกว่า จึงเหมาะกับการติดตั้งในงานโครงการ อาคารสูง หรือบ้านพักอาศัย เพราะนอกจากเรื่องน้ำหนักเบาแล้ว ช่วยประหยัดงบประมาณค่าโครงสร้าง อิฐมวลเบายังช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้บ้านเย็น ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ และช่วยเก็บเสียงได้ค่อนข้างดี
แต่อิฐมวลเบาก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้อุปกรณ์การก่อที่ต้องเป็นอุปกรณ์เฉพาะสำหรับอิฐมวลเบา และจำเป็นต้องให้ช่างที่มีความรู้ความเข้าใจในการก่ออิฐประเภทนี้ การก่ออิฐมวลเบา จะเป็นการก่อในลักษณะก่อสลับ โดยที่ช่างจะทำการก่อแถวแรกให้จบ เป็นการวางระยะเพื่อให้สามารถก่อสลับแนวที่ 2 ได้ง่าย เนื่องจากอิฐมวลเบาเป็นอิฐที่ฉาบค่อนข้างบาง และไม่นิยมมาแก้งานทีหลัง จึงต้องวัดระยะและวางแผนให้ดี
คุณสมบัติ/ข้อดี ของ
- งานจบไว เพราะอิฐมวลเบามีขนาดใหญ่
- น้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับอิฐชนิดอื่นๆ จึงช่วยประหยัดค่าโครงสร้าง
- มาตรฐานอิฐมวลเบากันการลามไฟได้นาน ประมาณ 4 ชม. เหมาะกับอาคารสาธารณะที่มีข้อกำหนดเรื่องวัสดุกันลามไฟ
- ประหยัดพลังงาน ระบายความร้อนได้ดี เพราะอิฐมวลเบามีลักษณะโครงสร้างเป็นรูเล็กๆ จำนวนมากภายใน
- ด้วยพื้นผิวของอิฐมวลเบาที่ค่อนข้างเรียบอยู่แล้ว จึงฉาบแบบบางและงานผนังดูเรียบร้อย
- มีขนาดที่เป็นมาตรฐาน เวลาฉาบจึงมีความสม่ำเสมอ และใช้เวลาน้อย
- ค่าก่อสร้างถูก เพราะเทียบเป็นตารางเมตร
- กันเสียงได้เป็นอย่างดี
ข้อจำกัด
- ราคาอิฐมวลเบา จะสูงกว่าอิฐชนิดอื่นๆ
- การเจาะผนังค่อนข้างยาก ต้องใช้พุกที่ออกแบบมาเพื่ออิฐมวลเบาโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันผนังเสียหาย
- ด้วยลักษณะของวัสดุที่มีรูพรุน ทำให้ไม่ทนต่อความชื้น จึงไม่เหมาะกับการก่อสร้างในห้องน้ำหรือห้องครัว
- ในการก่อฉาบจะแตกต่างจากอิฐมอญ และต้องใช้ปูนก่อหรืออุปกรณ์สำหรับใช้กับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องให้ช่างผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการก่ออิฐมวลเบา
การนำไปใช้งาน
งานก่อผนังทั่วไป โดยเฉพาะในห้องนอนและห้องนั่งเล่น เนื่องจากเป็นวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี ผนังอาคารสูง อาคารสาธารณะ
ราคาโดยประมาณ : 30-90 บาท/ก้อน
อิฐเซรามิก
อิฐเซรามิก คืออะไร?
อิฐเซรามิกหรืออิฐพันปี เป็นอิฐที่มีลักษณะสีส้มแดง คล้ายกับอิฐมอญ นอกจากสีที่คล้ายกัน กระบวนการผลิตหรือส่วนผสมก็มีความคล้ายคลึงกัน เพราะอิฐเซรามิกทำจากดินเผาที่ผ่านกระบวนการเผาที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 1000 องศาเซลเซียส จึงทำให้ได้อิฐที่มีอัตราการดูดซึมน้ำต่ำเพราะรูพรุนน้อย และมีความแข็งแรงสูงกว่าอิฐมอญซึ่งผ่านกระบวนการเผาที่ความร้อน 700-800 องศาเซลเซียส อิฐเซรามิกมีระบบอินเตอร์ล็อคที่ทำให้การติดตั้งเป็นไปได้อย่างง่ายดาย จบงานได้ไว ผนังจะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและฉาบบางได้ หรือสามารถก่อเป็นผนังโชว์แนวได้
คุณสมบัติ/ข้อดี ของอิฐเซรามิก
- เผาด้วยความร้อนสูง จึงแข็งแรงและทนทานกว่าอิฐมอฐ
- เจาะผนังและใช้พุกทั่วไปได้ รับน้ำหนักได้ถึง 50 กิโลกรัม
- ขนาดก้อนมีมาตรฐานและขนาดใหญ่ ทำให้ก่อง่ายและจบงานไว
- เมื่อก่อง่าย จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องของ แรงงาน ปูนก่อ ปูนฉาบ
- ออกแบบมาให้มีระบบอินเตอร์ล็อก ลักษณะคล้ายกับตัวต่อเลโก้ที่มีเดือยตัวผู้ ตัวเมีย ติดตั้งจัดระเบียบได้ง่าย
- ผนังที่ก่อด้วยอิฐเซรามิกจะมีความเรียบเนียนสม่ำเสมอ ทำให้ฉาบบางๆ ได้
- อัตราการดูดซึมน้ำต่ำเมื่อเทียบกับอิฐมอญและอิฐมวลเบา จึงช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาผนังแตกร้าว
- และเพราะอัตราการดูดซึมน้ำต่ำ ผนังจะไม่อมน้ำ ลดโอกาสการเกิดปัญหาสีหลุดร่อนและเชื้อรา
ข้อจำกัด ของอิฐเซรามิก
- น้ำหนักหลังก่อฉาบค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 120 กิโลกรัม/ตารางเมตร ใกล้เคียงกับอิฐมอญ
- ไม่เหมาะกับการก่อสร้างในอาคารที่มีความสูง ซึ่งอิฐมวลเบาจะเหมาะมากกว่า
- เนื่องจากความอัดแน่นของอิฐเซรามิก จึงระบายความร้อนได้น้อยกว่าอิฐมวลเบา
การนำไปใช้งาน
ห้องน้ำ ห้องครัว ผนังที่ต้องรับแรงเยอะ งานผนังที่ต้องการก่อโชว์แนว
ราคาโดยประมาณ : 12-20 บาท/ก้อน
อิฐขาว
อิฐขาว คืออะไร?
อิฐขาว เป็นอิฐที่มีส่วนผสมคือ ปูนขาวและทราย ผ่านกระบวนการอัดด้วยเครื่องจักรที่มีความกดดันสูง 500 ตัน แล้วอบด้วยความร้อนสูง ซึ่งอิฐขาวเป็นอิฐที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่พัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนอิฐมอญและอิฐบล็อก ลักษณะของเนื้ออิฐเป็นสีขาว เรียบเนียน และมีความหนาแน่นมาก จึงทำให้น้ำซึมผ่านได้ยาก และไม่อมความชื้น สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 180 กก./ตร.ซม.มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนและป้องกันเสียงได้ดี สามารถลดรอยร้าวในการฉาบได้เพราะมีการดูดซึมน้ำน้อย
คุณสมบัติ/ข้อดี ของอิฐขาว
- ลดปัญหารอยร้าวเพราะมีอัตราการดูดซึมน้ำที่ต่ำ
- ฉาบได้ง่ายเพราะบนผิวอิฐมีการชักร่องเพื่อสะดวกในการฉาบปูน
- ป้องกันความร้อนและป้องกันเสียงได้ดี
- สามารถยึดเจาะได้ทั่วผนังและรับน้ำหนักได้มากถึง 180 กก. / ตร.ซม.
- ประหยัดต้นทุนเรื่องโครงสร้าง
- มีคุณสมบัติในเรื่องของการทนไฟ สามารถทนไฟได้นานกว่า 4 ชัวโมง
- สามารถก่อโชว์อิฐได้ เพราะมีความสวยงามเรียบเนียน ดูมินิมอล
- ก่อสร้างในอาคารสูงได้
ข้อจำกัด ของอิฐขาว
- เป็นอิฐที่หาซื้อค่อนข้างยาก และมีร้านให้เลือกน้อย
- ราคาค่าจัดส่งค่อนข้างสูง
- เป็นอิฐที่มีราคาสูงกว่าอิฐมอญและอิฐบล็อก
- เนื่องจากแหล่งจัดจำหน่ายมีน้อย จึงเปรียบเทียบประเมิณราคาได้ยาก
การนำไปใช้งาน
ก่อสร้างบ้านอยู่อาศัย โรงงาน อาคารสูง และสิ่งก่อสร้างทั่วๆ ไป
ราคาโดยประมาณขั้นต่ำ : 8 บาท/ก้อน
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก
- youtube channel : คุยกับลุงช่าง
- http://blog.dbp.co.th/
- www.adheseal.com
- เพจ Homeone โฮมวัน /ลุงช่าง
- https://www.khaosod.co.th/
- onestockhome.com
- เพจ ATPAC
- www.banidea.com
ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม