เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย เคมีภัณฑ์กันซึมชนิดอะคริลิคกับชนิดโพลียูรีเทน

ต้อนรับเข้าสู่ฤดูฝนที่หลายคนเตรียมรับมือกับปัญหาการรั่วซึมที่เกิดขึ้นในอาคาร โดยเฉพาะบริเวณดาดฟ้ามีสาเหตุของปัญหานี้มาจากพื้นดาดฟ้าที่เสื่อมไปตามระยะเวลา เจอทั้งความร้อนของแสงแดดสลับกับความเย็นของฝนหรือช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดินแล้วอุณหภูมิเย็นลง สภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตก็จะผุกร่อนและแตกลายงาไปโดยธรรมชาติ

อีกสาเหตุคือระดับพื้นที่ไม่สม่ำเสมอกัน ไม่มีร่องระบายน้ำที่ช่วยกระจายน้ำขังให้น้อยลง ยิ่งถ้าไม่มีสโลปที่ดี เมื่อเจอฝนเข้าไปดาดฟ้าก็จะมีแอ่งน้ำและน้ำท่วมขังอยู่เป็นเวลานานจนซึมเข้าสู่พื้นผิวดาดฟ้าและไหลผ่านชั้นคอนกรีตกลายเป็นหยดน้ำที่ตกลงตามผนังเพดานในบ้าน  

 

สิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมได้ คือวัสดุกันซึมที่มีให้เลือกใช้หลายแบบ ตั้งแต่แบบผสมในคอนกรีตที่ใช้หล่อพื้น, แบบแผ่นที่ติดตั้งได้สะดวกและอีกแบบที่ Wazzadu.com จะมาเปรียบเทียบให้เห็นคือกันซึมแบบทา ที่เป็นของเหลวครับ เรียกง่ายๆ ว่าน้ำยากันซึมหรือเคมีภัณฑ์กันซึมนั่นเอง เพราะรูปแบบนี้หาซื้อมาใช้ได้ง่าย และสะดวกกว่าแบบอื่น แต่ควรจะเลือกเคมีภัณฑ์กันซึมแบบไหนดี ลองมาศึกษาข้อมูลเพิ่มกันครับ

กันซึมแบบทา มี 2 ประเภทที่แบ่งตามวัสดุ ได้แก่

1. อะคริลิคกันซึม (Acrylic Waterproofing)

หากบริเวณที่ต้องการทาเพื่อซ่อมแซมรอยแตกขนาดเล็ก ความลึกไม่ถึง 2 มม. แบบอะคริลิคจะใช้งานสะดวกกว่าเพราะเป็นส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่พร้อมใช้งาน โดยก่อนใช้จะผสมน้ำเปล่าเพื่อปรับเนื้อวัสดุให้ลดความเหนียวลง เพราะจะช่วยให้ทาง่ายขึ้น เมื่อทาอะคริลิคกันซึมเสร็จแล้วพออะคริลิคแห้งตัวจะมีลักษณะคล้ายแผ่นยางบางๆ ปิดทับไว้

 

ข้อดี :

- เนื้อวัสดุมีความยืดหยุ่น จึงไม่เกิดการหดตัวเมื่อทาเสร็จแล้ว

- ช่วยป้องกันน้ำซึมผ่านมากกว่าป้องกันน้ำกักขัง

- ช่วยสะท้อนความร้อนจากแสงแดดได้

- มีให้เลือกหลายสี ช่วยให้ตกแต่งหน้างานได้สวยงาม

 

ข้อเสีย :

- ไม่เหมาะสำหรับทาปิดรอยแตกที่ลึกเกิน 2 มม. ควรใช้ตาข่ายไฟเบอร์เสริมเพื่อยึดเกาะรอยที่แตกแล้วทาอะคริลิคทับอีกทีถึงจะช่วยยึดเกาะรอยต่างๆ ให้สนิทขึ้น

- ไม่ทนต่อบริเวณที่เกิดการขังน้ำ มีโอกาสเกิดการรั่วซึมได้

 

การใช้งาน : เหมาะกับการทาป้องกันการรั่วซึมบริเวณหลังคา, ดาดฟ้า, ระเบียงและผนังอาคาร

 

ราคาเฉลี่ย :

- เริ่มต้นที่ 200 บาทขึ้นไป สำหรับอะคริลิคที่บรรจุน้ำหนัก 1-2 กิโลกรัม

- เริ่มต้นที่ 2,500 บาทขึ้นไป สำหรับอะคริลิคที่บรรจุน้ำหนัก 20 กิโลกรัม

*หมายเหตุ – ราคาขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเคมีภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย

2. โพลียูรีเทนกันซึม (Polyurethane Waterproofing)

ถ้าต้องการป้องกันน้ำรั่วซึมในบริเวณที่มีปัญหามากๆ เป็นบริเวณน้ำท่วมขัง ใช้เป็นโพลียูรีเทนจะช่วยป้องกันได้ดีกว่า โดยสามารถใช้ทาทับได้เลยไม่ต้องผสมน้ำ นอกเสียจากบางยี่ห้ออาจมาแบบแยกส่วนแล้วต้องผสมกันก่อนจึงจะทาใช้งานได้ โพลียูรีเทนมีลักษณะคล้ายแผ่นยางเคลือบผิวแบบหนา ช่วยปกปิดรอยแตกรอยร้าวได้ดี

 

ข้อดี :

- มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปกปิดรอยแตกร้าวได้ดีและไม่หดตัว

- ทนทานต่อแรงขีดข่วน

- ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิและรังสี UV

- ช่วยป้องกันได้ทั้งน้ำไหลซึมและน้ำขังได้ดี

- มีให้เลือกหลายสี ช่วยให้ตกแต่งหน้างานได้สวยงาม

 

ข้อเสีย :

- เนื้อวัสดุมีความเหนียวตัวกว่า จะใช้งานทาทับยากกว่า

- มีราคาสูงกว่าแบบอะคริลิค

การใช้งาน : เหมาะกับการทาป้องกันการรั่วซึมบริเวณหลังคา, ดาดฟ้า, ระเบียง, ผนังอาคาร, รางระบายน้ำและพื้นที่ที่โดนฝนอยู่ตลอดเวลา แต่ทว่าแม้จะป้องกันน้ำขังได้แต่ยังไม่เหมาะสำหรับจุดที่แช่น้ำหรือขังน้ำตลอดเวลา อย่าง บ่อปลาหรือสระว่ายน้ำ

 

ราคาเฉลี่ย :

- เริ่มต้นที่ 700 บาทขึ้นไป สำหรับโพลียูรีเทนที่บรรจุน้ำหนัก 4 กิโลกรัม

- เริ่มต้นที่ 3,500 บาทขึ้นไป สำหรับโพลียูรีเทนที่บรรจุน้ำหนัก 20 กิโลกรัม

*หมายเหตุ – ราคาขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเคมีภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย

สุดท้ายขอฝากไว้ว่าก่อนที่จะใช้เคมีภัณฑ์กันซึมหรือน้ำยากันซึม แนะนำให้เคลียร์และทำความสะอาดหน้างานให้เรียบร้อยก่อนใช้ผลิตภัณฑ์นะครับ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและใช้งานอย่างถูกวิธีครับ

 

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

- รายการช่างประจำบ้าน

- รายการบ้านสร้างดีซ่อมได้ By วิศวกร วิน

- รายการคุยกับลุงช่าง

- https://www.jorakay.co.th

- https://www.firstconservices.com

- https://www.thaiwatsadu.com

- https://www.homepro.co.th

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ