เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว คืออะไร มีคุณสมบัติที่ควรรู้ก่อนจะนำไปใช้งานอย่างไร (Loose furniture)
เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว (Loose Furniture หรือ Movable Furniture)
คือ ลักษณะของเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ สามารถจัดรูปแบบในการวางได้หลากหลายตามความต้องการของผู้ใช้งาน เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวจะผลิตสำเร็จที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์แล้วนำมาจัดวาง ผู้ใช้งานสามารถเลือกรูปแบบ และประโยชน์ใช้สอยได้จากตัวอย่างที่มีอยู่จริงในร้านค้าที่วางจำหน่ายได้ ตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่น โต๊ะ, เตียงนอน, เก้าอี้, โซฟา หรือ ตู้ เป็นต้น ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวส่วนใหญ่เกิน 70% มักนิยมผลิตโดยใช้ไม้เป็นส่วนประกอบหลัก
คุณสมบัติเด่นของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
- สามารถเลือกรูปแบบ และประโยชน์ใช้สอยได้ จากตัวอย่างที่มีอยู่จริง สามารถทดลองการใช้งานได้จริง และสอบถามรายละเอียดได้จากผู้จัดจำหน่ายตามห้างร้านต่างๆ
- ราคาของเฟอร์นิเจอร์จะมีราคาถูกกว่าเฟอร์นิเจอร์ติดตั้งกับที่ (Built-in)
- สามารถเคลื่อนย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก มีอิสระในการตกแต่งได้อย่างเต็มที่ เพราะเราสามารถโยกย้ายเปลี่ยนแปลงตำแหน่งการจัดวางได้ตามความต้องการตลอดเวลา ซึ่งตรงข้ามกับการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบติดตั้งกับที่ (Built-in) ที่ต้องรื้อสถานเดียวถ้าหากต้องการย้ายตำแหน่ง
ข้อมูลที่ควรรู้ ก่อนเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวส่วนใหญ่เกิน 70% มักนิยมผลิตโดยใช้ไม้เป็นส่วนประกอบหลัก โดยจำแนกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ประเภทโซฟา และเก้าอี้
- ประเภทตู้ และโต๊ะ
ซึ่งในท้องตลาดก็มีอยู่หลากหลายแบรนด์ หลากหลายราคา การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแต่ละประเภทที่ผลิตจากไม้เป็นหลักต้องคำนึงถึงอะไร จะมีหลักในการพิจารณาเลือกซื้อ หรือเลือกใช้งานอย่างไรบ้างนั้น ตามมาชมกันได้เลยครับ
ข้อมูลที่ควรรู้ก่อนเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ประเภทโซฟา และเก้าอี้
มีข้อพิจารณาโดยจำแนกตามคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ผลิต คือ วัสดุสำหรับทำโครงสร้าง, วัสดุสำหรับใช้บุ และวัสดุสำหรับใช้หุ้ม
วัสดุสำหรับทำโครงสร้างโซฟา และเก้าอี้
โครงสร้างของโซฟา เก้าอี้ รวมถึงเตียงบางรูปแบบ ส่วนใหญ่มักนิยมทำมาจากไม้ค่อนข้างมาก ทั้งไม้เนื้อแข็ง และไม้เนื้ออ่อน ซึ่งไม้เนื้อแข็งจะมีน้ำหนักมาก แต่มีความแข็งแรงทนทานสูง เช่น ไม้สัก, ไม้ตะแบก, ไม้ประดู่ หรือไม้มะเกลือ เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ที่เหมาะสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ และงานก่อสร้างบ้าน โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป
แต่ด้วยปัจจุบันที่ไม้เนื้อแข็งค่อนข้างหายากมากขึ้น และมีราคาสูง จึงทำให้มีการใช้ไม้เนื้ออ่อนในการทำโครงโซฟา หรือเก้าอี้มากขึ้น ซึ่งการนำไม้เนื้ออ่อนมาทำโครงจะเหมาะกับงานในที่ร่ม หรืองานตกแต่งเสียมากกว่า โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 5-10 ปี
นอกจากนี้ในส่วนสปริงที่ใช้สำหรับโซฟา จะนิยมใช้สปริงซิกแซก เพื่อรับน้ำหนักจากการกดทับ หรือการนั่งได้ดี
วัสดุสำหรับใช้บุโซฟา และทำเบาะรองนั่งเก้าอี้
วัสดุที่ใช้บุโซฟา และทำเบาะรองนั่งเก้าอี้ นิยมใช้ฟองน้ำในการบุ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายเกรด แต่ในปัจจุบันฟองน้ำที่นิยมใช้มีชื่อเรียกว่า Polyurethane Flexible Foams ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถฉีดขึ้นรูปให้เป็นลักษณะต่างๆได้ มีแรงอัดแน่นสูง ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ทนความร้อน ทนปฏิกิริยาเคมีได้ดี ไม่อ่อนตัว คืนตัวได้ดี และเปลี่ยนรูปร่างไม่ได้
สำหรับการใช้ฟองน้ำที่มีเกรดต่ำกว่ามาตรฐาน มักจะเจอปัญหาเบาะฟีบ หรือฟองน้ำยุบเป็นแอ่งลงไป ซึ่งเกิดจากตัววัสดุไม่สามารถรับแรงอัดได้ ซึ่งฟองน้ำที่มีเกรดต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อใช้งานได้ไม่นานจะเกิดปัญหาแบบนี้
นอกจากนี้วัสดุยางพารา ก็เป็นอีกทางเลือกที่ผู้ผลิตมักนิยมใช้ เพราะเป็นวัสดุที่คืนรูปได้ง่าย ไม่แข็งเสียรูป และมีการระบายอากาศที่ดี
วัสดุสำหรับใช้หุ้มโซฟา และเก้าอี้
สามารถแบ่งประเภทออกได้ดังนี้
ผ้า โดยทั่วไปแล้วผ้าที่นำมาใช้หุ้มโซฟา และเก้าอี้นั้น จะมีส่วนผสมของผ้าธรรมชาติ และผ้าสังเคราะห์อยู่ร่วมกัน ถือเป็นวัสดุพื้นฐานที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาช้านาน
คุณสมบัติของผ้าสังเคราะห์ และผ้าธรรมชาติ
- ผ้าที่สังเคราะห์ขึ้นตามกระบวนการวิทยาศาสตร์จะมีผิวสัมผัสที่นุ่มลื่น สู้ผ้าธรรมชาติไม่ได้
- ผ้าที่สังเคราะห์ขึ้นตามกระบวนการวิทยาศาสตร์จะมีความร้อนสูง เนื่องจากระบายอากาศได้ไม่ดีเท่าผ้าธรรมชาติที่จะเย็นสบายกว่า
- ผ้าที่สังเคราะห์ขึ้นตามกระบวนการวิทยาศาสตร์มีความแข็งแกร่ง และยืดหยุ่นสูง เวลาช่างมาดึงให้เข้ารูป หรือดึงดุมตามแบบต่างๆ จะยืดตัวสวยแน่น และกระชับมากกว่า ในขณะที่ผ้าธรรมชาติจะมีความเบาบางกว่า
หนังแท้ เป็นวัสดุที่ให้ความรู้สึกสวยงามหรูหรา จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง พื้นผิวมีความนุ่ม มีกลิ่นหนังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรูพรุนตามพื้นผิวในแบบธรรมชาติ สำหรับการดูแลรักษาจะต้องพิถีพิถันมากกว่าวัสดุอื่นๆ ถือเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะงานตกแต่งที่เน้นความหรูหรา
คุณสมบัติของหนังแท้
- ไม่อมความร้อน หากอากาศเย็นเมื่อสัมผัสจะรู้สึกอุ่น ในขณะที่อากาศร้อนเมื่อสัมผัสจะรู้สึกเย็น
- มีผิวสัมผัส และลวดลายที่เป็นธรรมชาติ จึงให้ความรู้สึกดีกว่าวัสดุชนิดอื่น
- มีความนุ่ม และมีความยืดหยุ่นมากกว่าหนังเทียม
- ดูหรูหรา ภูมิฐาน มีกลิ่นหนังเป็นเอกลักษณ์
- มีความคงทนสูง (ถ้าใช้ และดูแลอย่างถูกวิธี)
- อาจเกิดเสียงดัง จากการเสียดสีของผิวสัมผัส
- เก็บความชื้นได้ดีกว่าหนังเทียม
หนังเทียม PU และ PVC วัสดุหนังเทียมที่นิยมใช้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือทำจาก PU และ PVC ซึ่งมีคุณลักษณะที่ไม่ต่างกันมากนัก
คุณสมบัติของหนังเทียม
- อมความร้อน
- ผิวสัมผัสไม่สบาย อบอ้าว
- รักษาง่ายกว่าวัสดุตัวอื่น
- ไม่เก็บความชื้น
- ไม่ทนทานเท่าวัสดุตัวอื่น ๆ
ข้อมูลที่ควรรู้ก่อนเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ประเภทตู้ และโต๊ะ
มีข้อพิจารณาโดยจำแนกตามคุณสมบัติประเภทวัสดุที่ใช้ผลิต คือ ไม้ Particle Board, ไม้ MDF, ไม้อัด Plywood, ไม้จริง Natural Wood และวัสดุปิดผิว
ไม้ Particle Board
คือ แผ่นไม้ที่ผลิตจากการนำไม้ตามธรรมชาติมาบดย่อยเป็นชิ้นขนาดเล็กๆและนำมาอัดเข้ารูปเป็นแผ่นด้วยความร้อน กาวพิเศษ และแรงอัด และผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อให้สามารถป้องกันปลวกได้ แต่ความทนทานต่ำ และไม่ทนต่อน้ำ และความชื้น
ไม้ MDF (Medium Density Fiberboard)
คือ ไม้อัดที่ผลิตมาจากฝุ่นไม้ที่บดจนละเอียด ผสมกาวแล้วอัดออกมาเป็นแผ่น นิยมนำมาใช้เป็นโครงสร้างส่วนที่ต้องการความแข็งแรง เพราะมีความหนาแน่นสูงกว่าไม้ Particle Board รวมถึงใช้ในงานสีพ่น Hi-Gloss เพราะพื้นผิวที่เรียบเกลี้ยง แต่ก็เป็นวัสดุที่ไม่ค่อยทนต่อความชื้น และมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก
ไม้อัด Plywood
คือ ไม้อัดที่ผลิตมาจากการรวมไม้หลายๆ ชนิด แล้วอัดประสานเข้าด้วยกัน มีความทนทานสูง คงตัวไม่ยืดหด ทนความชื้นได้ดีในระดับหนึ่ง โดยรวมเป็นวัสดุที่มีความทนทานมากกว่าไม้ MDF และไม้ Particle Board
ไม้จริง Natural Wood
เป็นวัสดุที่ดีที่สุดในบรรดาไม้ที่นำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ มีลวดลายที่เป็นธรรมชาติที่สุด ทนความชื้นได้ดี แข็งแรงทนทาน และมีอายุการใช้งานมากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ เหมาะกับการขึ้นงานกลึง งานเฟรม และงานลูกฟัก
วัสดุปิดผิว
สามารถแบ่งประเภทออกได้ดังนี้
- กระดาษ หรือฟอยล์
วัสดุ ประเภทนี้มักนิยมนำมาใช้เป็นวัสดุปิดผิวไม้ Particle Board เพื่อสร้างลวดลาย เพราะปกติแล้วไม้ Particle Board จะไม่มีสี และลายเหมือนธรรมชาติ
- พลาสติก หรือพีวีซี
วัสดุ ประเภทนี้มีให้เลือกใช้หลายเกรด ตั้งแต่บางมากๆ ถึงหนามาก เป็นวัสดุที่ทนต่อการขีดข่วน และกันน้ำได้ แต่สี และความสวยงามจะสู้ฟอยล์ไม่ได้ ส่วนใหญ่มักนำมาใช้กับโต๊ะทำงาน โต๊ะอาหาร และตู้เสื้อผ้า
- เมลามีน
วัสดุ ประเภทนี้จะคล้ายคลึงกับพลาสติก แต่มีคุณสมบัติในการทนทานต่อความร้อน และรอยขูดขีดได้ดีกว่า ซึ่งมักนิยมนำไปพิมพ์เป็นลวดลายต่างๆ เพื่อนำมาใช้ปิดผิวบนวัสดุแผ่นต่างๆ โดยมีข้อจำกัด คือ ผิวที่เคลือบมีความบาง และมักเกิดรอยบิ่นตรงขอบเวลาตัด
- ลามิเนต
วัสดุประเภทนี้จะเป็นแผ่นบางๆ มีให้เลือกหลากหลายเกรด หลากหลายลวดลาย มีคุณสมบัติทนต่อน้ำ และรอยขีดข่วนได้ดี แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถดัดงอตัวมากๆได้ เพราะมีความเปราะ และอาจร่อนเป็นแผ่นๆ
- วีเนียร์
วัสดุประเภทนี้จะเป็นแผ่นไม้ฝานบางๆ จนถึงบางมากๆ ให้ลวดลายสวยงามแบบไม้ธรรมชาติ เพราะทำมาจากไม้จริง มีให้เลือกหลากหลายลวดลาย แต่มีข้อจำกัดคือไม่ทนต่อรอยขีดข่วน ไม่ทนต่อการรับแรงกด และเปราะหักได้ง่ายโดยเฉพาะบริเวณขอบ
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกใช้งานเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่กล่าวไปทั้งหมด มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์สำหรับการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ ทั้งในด้านความสวยงาม ความทนทานของวัสดุ ฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดี และอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ จุดประสงค์การใช้งาน และความพึงพอใจของผู้ใช้งานประกอบร่วมด้วยในการตัดสินใจ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม