รวม 6 วัสดุรีไซเคิลจากธรรมชาติ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับงานตกแต่ง ตอบรับเทรนด์รักษ์โลก

ในปัจจุบันนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสารพิษ และปัญหาของระบบนิเวศ ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ หรือวัสดุรีไซเคิลกันมากขึ้น จนเกิดเป็นเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งเทรนด์นี้ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มผู้บริโภคเท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่บริษัทผู้ผลิตไปจนถึงนักออกแบบก็หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

วันนี้ Wazzadu จึงได้ทำการรวบรวม "วัสดุรีไซเคิลจากธรรมชาติ" ตอบรับเทรนด์รักษ์โลก เป็นวัสดุที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับงานตกแต่ง ไปจนถึงผลิตเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน จะมีวัสดุที่น่าสนใจอะไรบ้าง ตามมาชมกันได้เลยครับ...

Beleaf Chair เก้าอี้จากใบไม้แห้ง

หากลองมองไปรอบๆ ตัว คุณจะพบว่าของใช้ต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันในโลกนี้ มักจะมีวัสดุที่ใช้เวลาในการย่อยสลายเป็นเวลานานอยู่เสมอ เช่น พลาสติก ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายเป็นเวลาหลายร้อยปี ตัวอย่างเช่น ถุงพลาสติก ที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี

จะดีแค่ไหนหากมีวัสดุที่สามารถย่อยสลายและนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกหลายๆ ครั้ง หรือเรียกได้ว่าเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่เราเคยมองข้ามไปอย่าง "ใบไม้แห้ง"

Beleaf Chair โดย Simon Kern 

ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก : dezeen.com

Beleaf Chair เก้าอี้จากใบไม้แห้ง

ออกแบบโดย : Simon Kern 

วัสดุที่ใช้ : ใบไม้แห้ง

แนวคิดการออกแบบหรือเลือกใช้วัสดุ

Simon Kern นักออกแบบชาวสโลวาเกีย ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบผลงาน Beleaf Chair มาจากวงจรการเติบโตและย่อยสลายของต้นไม้ แนวคิดของเขาเกิดจากการสังเกตุว่าต้นไม้จะเติบโตขึ้น ออกใบ และร่วงโรยกลายเป็นใบไม้แห้งตกลงสู่ใต้ต้นไม้ เพื่อย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้อีกครั้ง และนั่นก็เป็นการจุดประกายไอเดียว่า เฟอร์นิเจอร์ก็สามารถมีวงจรแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน

หลังจากได้ไอเดียแล้ว เขาจึงนำเอาแรงบันดาลใจจากวงจรการเจริญเติบโตไปจนถึงการย่อยสลายของต้นไม้ มาออกแบบเป็น "เก้าอี้จากใบไม้แห้ง" โดยนำเอาวัสดุหลักอย่างใบไม้แห้งที่มีจำนวนเยอะมากในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ไบโอ-เรซินจากน้ำมันพืชที่ไม่ใช้แล้ว และทราย มายึดติดด้วยกาวหลอม จากนั้นจึงนำไปใส่แม่พิมพ์ และสุดท้ายเขาเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อนำไปเป็นโครงสร้างของเก้าอี้ เพื่อให้แข็งแรง ทนทาน 

ความตั้งใจของคุณ Simon Kern คือต้องการให้เก้าอี้ตัวนี้มีอายุการใช้งานไปอีกหลายปี และสามารถย่อยสลาย หรือใช้ใหม่ได้ซ้ำๆ โดยเขากล่าวว่า

“ถ้าหากเก้าอี้ตัวนี้เกิดการเสียหาย เราก็เพียงแค่นำไปวางไปใต้ต้นไม้เพื่อให้เกิดการย่อยสลายไปตามธรรมชาติ หลังจากนั้นก็เพียงแค่เก็บใบไม้แห้งที่ร่วงหล่น แล้วนำมาทำที่นั่งใหม่ได้อีกครั้ง”

Beleaf Chair โดย Simon Kern 

ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก : simonkern.sk

Beleaf Chair โดย Simon Kern 

ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก : simonkern.sk

รีไซเคิลวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปปาล์มน้ำมัน เป็นคอลเลคชั่นของตกแต่งบ้าน

กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มนั้นค่อนข้างที่จะเป็นแหล่งกำเนิดของเสียจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมา เช่น มลพิษทางน้ำและกลิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นใยปาล์ม ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตจำนวนมาก และถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

รีไซเคิลวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปปาล์มน้ำมัน เป็นของตกแต่งบ้าน

ออกแบบโดย : Nataša Perković

วัสดุที่ใช้ : เส้นใยเหลือทิ้งจากการผลิตปาล์มน้ำมัน

แนวคิดการออกแบบหรือเลือกใช้วัสดุ

คอลเลคชั่นของตกแต่งบ้าน โดยนักออกแบบ  Nataša Perković จากประเทศบอสเนีย ได้นำเอาวัสดุที่ถูกทิ้งจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่าง "เส้นใยปาล์ม" มาออกแบบเป็นคอลเลคชั่นของตกแต่งบ้านซึ่งประกอบไปด้วย เก้าอี้ จาน 3 ใบ และโคมไฟระย้า

โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบและเลือกใช้วัสดุนี้ เกิดจากความตื่นตัวในเรื่องของปัญหาของเสีย หรือกากใยที่ถูกทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำปาล์ม ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นักออกแบบท่านนี้มีความคิดว่า ถึงแม้เส้นใยจำนวนมากเหล่านี้ จะนำไปเผาทำลาย หรือนำไปทิ้งบนดินเพื่อทำเป็นปุ๋ยได้ มันก็คงจะดีมากกว่า หากนำไปรีไซเคิล ให้วัสดุเหลือใช้นี้กลายเป็นของตกแต่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริง อีกทั้งยังได้เรื่องดีไซน์ที่มีความสวยงามระดับ high-end  เสริมการตกแต่งภายในที่หลากหลายด้วยสไตล์ที่แตกต่างกัน

ผลิตภัณฑ์หนังเทียมที่ทำมาจากใยของ ‘ใบสับปะรด’

จากปัญหาเรื่องการใช้หนังสัตว์ในการนำไปผลิตเป็นของตกแต่ง กระเป๋า รองเท้า หรือของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะต้องใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต ไปจนถึงปัญหาเรื่องการทารุณสัตว์ จนนำการรณรงค์ไม่ใช้หนังสัตว์ เพื่อมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่แนวความคิดสุดเจ๋งในการผลิตของใช้จาก ใยของ ‘ใบสับปะรด’

ผลิตภัณฑ์หนังเทียมที่ทำมาจากใยของ ‘ใบสับปะรด’

นักออกแบบ : Carmen Hijosa

วัสดุที่ใช้ : เส้นใยของ ‘ใบสับปะรด’

แนวคิดการออกแบบหรือเลือกใช้วัสดุ

แนวคิดการและแรงบันดาลใจในการออกแบบของคุณ Carmen Hijosa ชาวสเปน ผู้เป็นนักออกแบบและผู้ผลิตเครื่องหนัง ที่มีบริษัทของตนเองใน Ireland (1978 – 1995)  แรงบันดาลใจเกิดจากในช่วงที่เธอไปช่วยงานเป็นที่ปรึกษาที่ฟิลิปปินส์ในช่วงปี 90 ทำให้เธอได้พบว่า ประเทศฟิลิปปินส์ ปลูกสับปะรดเป็นจำนวนเยอะมาก และขณะเดียวกันเธอก็พบว่ามีใบสับปะรดที่เหลือทิ้งมากเช่นกัน 

คุณ Carmen Hijosa รู้ดีว่าเส้นใยของสับปะรด มีคุณสมบัติเหนียวแน่นและยืดหยุ่น สามารถนำมาผลิตเป็นหนังได้ ลดการใช้หนังสัตว์ที่ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง เส้นใยจากใบสัปรดยังเป็นวัสดุทดแทนแบบใหม่ที่มีความแข็งแรงยืดหยุ่นโดยไม่ต้องทอหรือสานขึ้นมา มีเส้นใยยาวและแข็งแรง นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างรายได้พิเศษให้กับเกษตรกร ที่สำคัญคือ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ทิ้งสารพิษตกค้างอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยของ ‘ใบสน’

พื้นที่บริเวณตอนเหนือของอินเดียหลายพื้นที่ เป็นที่ตั้งของป่าต้นสนจำนวนมาก ป่าเหล่านี้ครอบคลุมดินแดนส่วนใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่น่ากลัวทางสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต เนื่องจากใบต้นสนแห้งมากเกินไป จนทำให้เกิดไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยพื้นที่ป่าปกคลุมประมาณ 40,000 ตารางกิโลเมตร ความเสียหายจึงไม่สามารถคำนวณได้และยังไม่มีวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น

ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยของ ‘ใบสน’

นักออกแบบ :  Gaurav mk wali

วัสดุที่ใช้ : เส้นใยของ ‘ใบสนเข็ม'

แนวคิดการออกแบบหรือเลือกใช้วัสดุ

จากปัญหาเรื่องใบสนเข็มแห้งในประเทศอินเดีย ที่มีอยู่มากจนนำไปสู่ปัญหาไฟป่า ทำให้คุณ Gaurav mk wali นักออกแบบชาวอินเดีย ทำการวิจัยวัสดุอย่าง ใบสนอินเดีย เพื่อนำกากใยมาผ่านกระบวนการผลิตให้มีความแข็งแรง มีการย้อมสีธรรมชาติ ที่ทำจากผักหรือเครื่องเทศในท้องถิ่น จนกลายเป็นของใช้ หรือของตกแต่งที่มีประโยชน์และมีดีไซน์ที่น่าใช้ 

ซึ่งกระบวนการผลิตทั้งหมด ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เป็นงานฝีมือที่มีความยั่งยืนสำหรับสร้างรายได้ในพื้นที่ชนบท เป็นการทดลองเพื่อทำความเข้าใจแก่นแท้ของวัสดุในท้องถิ่น รวมไปถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ในการผลิตวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์จากวัสดุรีไซเคิลใหม่ๆ ที่มีอยู่มากมายตามธรรมชาติได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด

Sunflower Enterprise

ผลผลิตจากดอกทานตะวัน ที่ถูกเปลี่ยนเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้

Sunflower Enterprise

นักออกแบบ : Studio Thomas Vailly 

วัสดุที่ใช้ : ผลผลิตจากดอกทานตะวัน ที่ถูกเปลี่ยนเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้

แนวคิดการออกแบบหรือเลือกใช้วัสดุ

สำหรับแรงบันดาลใจในการเลือกใช้วัสดุของ Studio Thomas Vailly เกิดจากการที่พวกเขาได้สังเกตว่า ต้นทานตะวันมักถูกปลูกเพื่อผลิตน้ำมัน เมล็ด หรือ เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) โดยหลังจากที่ทำการรีดน้ำมันออกแล้ว ผลผลิตส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเลี้ยงสัตว์ แต่ยังมีอีกมากที่ยังไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ทาง Studio Thomas Vailly จึงได้ทำการทดลอง ร่วมกับห้องทดลอง ENSIACET ในการค้นคว้าและทำการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการนำเอาผลผลิตจากดอกทานตะวันที่ยังไม่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ หรือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ พวกเขายังพบว่า มีหลายส่วนของดอกทานตะวันที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจ เช่น ส่วนของก้านดอก ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยที่แข็งแรงและสามารถนำมาดัดแปลงเป็นวัสดุใหม่ๆ ได้ โดยทำการแยกส่วนของเส้นใยบนเปลือกออกจากส่วนแกนกลาง จากนั้น นำเอาเส้นใยที่แยกออกมาไปบีบภายใต้ความดันให้เป็นแผ่นกระดาน ซึ่งแผ่นนี้ก็สามารถนำไปเคลือบน้ำยาเคลือบ ซึ่งผลิตจากทานตะวันได้เช่นกัน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติเรื่องของการกันน้ำเข้าไปด้วย

ซึ่งการทดลองนี้ พวกเขากล่าวว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นของใช้ได้หลายอย่าง เช่น แผ่นกันความร้อน น๊อต หรือกระทั่งเคสโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

 

 

HyO-Cup แก้วกาแฟจากน้ำเต้า

HyO-Cup แก้วกาแฟจากน้ำเต้า

นักออกแบบ : Studio Crème

วัสดุที่ใช้ : ผลน้ำเต้า

แนวคิดการออกแบบหรือเลือกใช้วัสดุ

น้ำเต้า เป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว ออกผลตลอดปี เมื่อผลแห้ง เปลือกจะแข็งจนสามารถนำไปทำเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำได้ เรียกได้ว่าเป็นภาชนะบรรจุน้ำที่มนุษย์เคยใช้กันมานับหมื่นปีแล้ว

ไอเดียการออกแบบแก้วกาแฟจากน้ำเต้า ของสตูดิโอ Crème สตูดิโอด้านการออกแบบในนิวยอร์ค มาจากชาวญี่ปุ่นที่ได้เพาะพันธุ์ "แตงโมสี่เหลี่ยม" ซึ่งเป็นการจุดประกายให้เกิดไอเดีการออกแบบแก้วกาแฟจากน้ำเต้า ที่ช่วยลดการใช้แก้วพลาสติก เป็นภาชนะที่ย่อยสลายได้ 100% และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างอีกด้วย 

โดยทางทีมของสตูดิโอ Crème ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการทำให้ได้รูปทรงของแก้วกาแฟ และกระบอกใส่กาแฟในแบบที่ต้องการ จากนั้นนำไปประกบกับผลของน้ำเต้า เพื่อให้น้ำเต้าเจริญเติบโตเป็นรูปทรงตามที่กำหนดไว้ 

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆที่น่าสนใจ

อ้างอิงโดย :

https://www.gauravmkwali.com/

http://simonkern.sk/

https://www.dezeen.com/

https://www.bareo-isyss.com/

http://siweb.dss.go.th/

https://www.designboom.com/

http://plastic.oie.go.th/

https://www.creativecitizen.com/ | คุณแป้ง Nungruethai Katuszkewski

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ