บ้านสีสดใสสไตล์ไทย...อะไรคือเหตุที่มา

ตอนนี้มาตรการ lockdown ในไทยได้ผ่อนปรนเข้าสู่ปกติแล้ว ทำให้เราเริ่มสามารถออกข้างนอกไปชมเมืองได้อีกครั้ง

แต่ถ้าสังเกตดีๆ ตอนที่ออกไปข้างนอกช่วงนี้ เราก็จะเห็นว่าหลายตึกในเมืองได้ถูกทาสีใหม่ จากการใช้เวลาช่วงที่ไม่มีคนวุ่นวายก่อนหน้า

ยกตัวอย่างแถวบ้านของตัวผู้เขียนเองเพิ่งมีการทาสีตึกแถวใหม่หลังหนึ่ง โดยทาสีของอาคารที่ในลักษณะที่ไล่สีเป็นชั้นๆ ขึ้นไปไปสามชั้น ชั้นแรกสีส้ม ชั้นสองสีเขียว ชั้นสามสีเหลือง โดยมีการเบรกสีด้วยสีขาวคาดตามแนวเส้นคาน

พอได้เห็นสีอาคารที่ฉูดฉาดแสบสันขนาดนี้ในช่วงนี้ จึงทำให้พบว่าจริงๆ การเลือกสีทาบ้านที่ฉูดฉาดนั้นเป็นเอกลักษณ์นึงของบ้านเราที่พบได้ทั้งในเมืองและบ้านตามชนบท อันเป็นสีที่ถูกเลือกขึ้นมาเองจากผู้คนที่ไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ ทำให้น่าคิดต่อไปว่า การใช้สีแบบไทยๆ แบบนี้มีเกิดขึ้นเพราะอะไร และมีความน่าสนใจอย่างไร

จากการได้ลองทำการศึกษาและสังเกตถึงเหตุในการเกิดขึ้นของการเลือกสีแบบไทยๆ สามารถแบ่งเป็น 3 เหตุผล ได้แก่

ภาพประกอบจาก Homenana.com

1. องค์ความรู้ในการเลือกสีของคนทั่วไป ที่อาจไม่ได้มีเทียบเท่าดีไซเนอร์ ทำให้ชุดความรู้ของสีนั้นจะไม่ได้มีความละเอียดนัก ถ้าพูดถึงสีฟ้า ก็จะไม่มีฟ้าอ่อน พูดถึงสีเขียว ก็จะไม่มีเขียวเข้ม ไม่ได้มีแผ่น Pantone ไว้คุยกับช่างทาสี ทำให้ไม่มีการเบรกสี 

ภาพประกอบจาก Homenayoo.com

2. เรื่องของสภาพอากาศที่ร้อนแรงของบ้านเรา แสงแดดอันโหดร้ายสามารถทำให้สีบ้านสีซีดได้ง่าย เพียงไม่กี่ปีก็ซีดเซียวเสียแล้ว การเลือกทาสีให้สดฉูดฉาดที่สุด น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ประหยัดงบเพื่อทาสีบ้านใหม่ ซึ่งก็มีแบรนด์สีทาบ้านหลายยี่ห้อก็ตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้สู้แดดประเทศไทยได้ แต่การทาสีสดไว้ก่อนก็เป็นวิธีการที่เมคชัวร์เรื่องสีซีดแน่นอน

รูปประกอบจาก Pantip.com

3. อิทธิพลความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้าน จากคำนิยมของคนโบราณที่ว่า “จะถูกจะแพงขอแดงไว้ก่อน” คือทฤษฎีการเอาฤกษ์เอาชัยเวลาจะเลือกซื้ออะไร ที่น่าจะถูกนำมาใช้เวลาเลือกสีทาบ้านเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราจะเจอบ้านทาสีแดงสดแบบแรงๆ ได้ในชุมชนแถวบ้าน

และถ้าเราขยับไปดูเรื่องสีที่ต่างประเทศ ก็จะพบว่าบางเมืองก็มีการคุมโทนสีบ้านไปทั้งหมด และมีข้อกำหนดควบคุมสีอาคารกันอย่างเอาจริงจัง เนื่องด้วยถ้าเลือกใช้สีไม่ถูกต้องอาจจะไปทำลายภูมิทัศน์โดยรวมของเมือง

รูปประกอบจาก pxhere.com

แม้ว่าการควบคุมสีของอาคารจะทำให้บ้านเรือนดูเป็นประเทศพัฒนา แต่ก็มีการตั้งคำถามหนึ่งจากสถาปนิกชาวอิตาลีชื่อว่า Carlo Bughi เกี่ยวกับกฏหมายควบคุมสีอาคารในประเทศอิตาลีเมื่อปี 2014 ไว้ว่า

“การมีกฏบังคับก็เพื่อขัดขวางสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่การจำกัดจำนวนสี เมื่อใดที่สีถูกบังคับกำหนดการเลือกใช้ อาจถือเป็นการทำร้ายเสรีทางความคิดของผู้คนเช่นกัน”

รูปประกอบจาก naibann.com

รูปประกอบจาก Thairath.com

เมื่อกลับมองเมืองไทย การเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมีการเลือกสีได้เองแบบไม่ต้องเขินใคร ที่แม้ว่าอาจจะดูฉูดฉาดไม่ถูกสายตาของใครหลายคน แต่ก็ช่วยสะท้อนถึงความเสรีทางการออกแบบของผู้อาศัยได้ดี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่อาจสามารถต่อยอดได้เช่นกัน อย่างสไตล์การใช้สีจัดจ้านแบบที่ Luis Barragán Morfin สถาปนิกแม็กซิโกชื่อดังได้นำมาใช้ออกแบบบ่อยๆ จนกลายเป็นภาพจำและโด่งดังระดับโลกนั่นเอง

ทั้งหมดทั้งมวลก็คือเรื่องที่อยากทิ้งไว้ให้ผู้อ่านได้ช่วยกันคบคิดต่อ ว่าเอกลักษณ์ไทยๆ แบบนี้จะสามารถนำไปต่อยอดเป็นแบบไหนได้บ้าง โดยหวังว่าบทความนี้จะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย

รูปประกอบจาก BKKmenu.com

รูปประกอบจาก unavidamoderna.tumblr.com

**เพิ่มเติม** ตอนนี้มีการคิดค้นชุดสี Thaitone ซึ่งเป็นชุดสีของไทยที่มาจากหลักฐานทางโบราณคดีและวรรณกรรม วิจัยโดย คุณไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบัน Thaitone มีสีที่มากกว่า 200 สี ซึ่งเป็นเฉดสีที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติของไทย

อ้างอิง :

https://pantip.com/topic/32859350

https://www.linkedin.com/pulse/20140713171445-59853600-colour-in-the-landscape-unveiled-identities

http://www.ihbc.org.uk/context_archive/75/urbancolour/colour.html

https://www.baanlaesuan.com/9213/design/lifestyle/thaitone

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
สถาปนิกและนักเขียน มีคอลัมน์ประจำในนิตยสารออนไลน์ The Cloud ชื่อ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ปัจจุบันกำลังทำสตูดิโอสถาปนิกชื่อว่า Everyday Architect & Design Studio สนใจการออกแบบที่สอดคล้องกับงานเขียนของตัวเองที่เรียกว่า Urban Vernacular Design ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
พื้นที่ความเชื่อของบ้านคนไทย

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ