Table Shield - งานออกแบบเล็กๆ ที่สร้างระยะห่างสังคมบนโต๊ะอาหาร
ในช่วงเวลาวิกฤต Covid-19 ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนต้องระมัดระวังการติดเชื้อในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง กิน จำต้องมี Social Distance ที่เว้นระยะห่างต่อกัน เกิดเป็นคำว่า New Normal ใช้ชีวิตแบบปกติใหม่
ด้วยความที่ต้องปรับตัวแบบนี้เอง ทำให้การออกแบบพื้นที่การใช้สอยในที่ต่างๆ ก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนใหม่ โดยเฉพาะลักษณะการนั่งกินข้าวนอกบ้าน ก็มีปรากฏการณ์ใหม่ของงานออกแบบบนโต๊ะเกิดขึ้นที่มีความน่าสนใจทีเดียว
ที่กั้นระหว่างกันบนโต๊ะ หรือที่คนทั่วไปใช้คำว่า ‘Table Shield’ (ซึ่งน่าจะยืมมาจากคำว่า Face Shield อีกที) ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากๆ ในตอนนี้ โดยที่เราจะเห็นได้ตามปากซอย หรือตามตลาดแถวบ้านที่มีที่นั่งกิน มักทำด้วยวัสดุง่ายๆ จากท่อน้ำ PVC ต่อเป็นกรอบโครง ห่อด้วยพลาสติกใสและติดเทปกาว หรืออาจจะทำด้วยแผ่นกระดานและยึดโครงด้วยไม้
แม้ว่าจะดูบ้านๆ แต่ก็เป็นการออกแบบจัดการพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อตรงหน้าและ Social Distance ที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากในช่วงเวลาแบบนี้ ที่ต้องประหยัดทั้งเงินและเวลา (ถ้ามีเงินหน่อยก็จะสั่งครอบใสอะคริลิคแทน)
ซึ่งในประเทศต่างๆ ก็ยังไม่ได้มีการคิดค้นรูปแบบ Table Shield แบบจริงจัง หรือมีผลวิจัยว่าเจ้าที่กั้นนี้มันสามารถป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้รูปแบบ Table Shield ยังเป็นงานออกแบบที่ค่อนข้างสดใหม่ และมักมีให้เห็นในประเทศฝั่งเอเชียบ้านเราที่มีไลฟ์สไตล์กินข้าวนอกบ้านตามร้านค้า เนื่องด้วยความจำเป็น โดยเฉพาะร้านสตรีทฟู้ดที่นั่งกินที่ร้านอร่อยกว่าที่บ้าน
ผู้สนับสนุน
กระทั่ง NBC NEWS ยังนำภาพ Table Shield ที่ทำจากท่อ PVC ของร้าน Penguin Eat Shabu พาดหัวในนิตยสาร และตั้งคำถามว่าบ้านเขาจะต้องทำแบบนี้ตามหรือไม่เมื่อคลายมาตรการ Lock Down
จึงเป็นที่น่าสนใจต่ออีกว่า นี่เป็นโอกาสอันดีสำหรับนักออกแบบบ้านเรา นี่อาจจะสามารถพัฒนาการออกแบบ Table Shield ให้มีวัสดุที่มีมาตรฐานและน่าใช้งานมากขึ้น ในราคาที่คบหา เป็นตัวอย่างการออกแบบที่ดีต่อคนทั้งโลกในช่วงเวลานี้
เพราะหากว่าความ New Normal จะอยู่กับเราไปอีกนาน คงจะไม่มีใครที่จะนั่งกินข้าวชิลล์ๆ นอกบ้านได้ ถ้าไม่มี Table Shield นั่นเอง
ผู้เขียนบทความ
สถาปนิกและนักเขียน มีคอลัมน์ประจำในนิตยสารออนไลน์ The Cloud ชื่อ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ปัจจุบันกำลังทำสตูดิโอสถาปนิกชื่อว่า Everyday Architect & Design Studio สนใจการออกแบบที่สอดคล้องกับงานเขียนของตัวเองที่เรียกว่า Urban Vernacular Design ... อ่านเพิ่มเติม