5 โปรเจกต์เมืองลอยน้ำจากทั่วโลก จินตนาการที่กำลังจะเป็นจริง! (Futuristic Floating City)

สืบเนื่องจากปัญหาโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายและทำให้ระดับน้ำทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาเรื่องจำนวนประชากรที่มากขึ้น มนุษย์จึงเริ่มขยับขยายพื้นที่ในการอยู่อาศัยจากบนแผ่นดินไปยังมหาสมุทรซึ่งเป็นพื้นส่วนใหญ่ของโลกใบนี้โดยมีสัดส่วนมากถึง 70% และอีก 30% ที่เหลือคือผืนแผ่นดินที่มนุษย์ใช้อยู่อาศัย

 

หากเราสามารถจัดการกับข้อจำกัดต่างๆ ในการมีชีวิตอยู่บนผิวน้ำได้ โลกเราคงจะเปลี่ยนไปไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคม สังคม และเศรษฐกิจ ราคาที่ดินอาจจะตกต่ำลงจนแทบไม่เหลือค่า เพราะผู้คนสามารถเลือกที่จะอยู่อาศัยบนผิวน้ำได้

 

หากพูดถึงแนวคิดเรื่องเมืองลอยน้ำเมื่อราว 10 กว่าปีก่อนอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ (Sci fi: Science fiction) แต่ปัจจุบันมันกำลังจะกลายเป็นจริงแล้ว ด้วยความร่วมมือกันของหลายๆ องค์กร ทั้งสถาบันการศึกษา บริษัทออกแบบ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรหลายๆ แห่ง ก็ต่างทุ่มเทศึกษา วิจัย พัฒนาความเป็นไปได้ในการสร้างเมืองลอยน้ำเหล่านี้ 

 

วันนี้ WAZZADU.COM จะพาไปชม 5 โปรเจกต์เมืองลอยน้ำที่มีความโดดเด่นทั้งด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม มีความเป็นได้ในเชิงวิศกรรมและการใช้งาน รวมถึงมีหลักการและแนวคิดที่สะท้อนถึงความยั่งยืนกันครับ   

French Polynesia

French Polynesia

French Polynesia

French Polynesia

Project: French Polynesia 

Designer: Koen Olthuis, Dutch

Engineer: Blue21​, Dutch

 

เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสถาบัน Seasteading ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรตั้งอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก และรัฐบาลเฟรนช์พอลินีเซียเพื่อเริ่มทดสอบการสร้างเมืองในน้ำ แนวคิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรเมื่อปี 2008 และคาดว่าโครงการนี้จะเปิดใช้งานได้ภายในปี 2020 นี้!

 

จุดประสงค์หลักของแนวคิดนี้คือ “การให้อิสระมนุษยชาติจากบรรดานักการเมือง” และ “เพื่อบัญญัติกฎที่จะปกครองสังคมขึ้นมาใหม่” เนื่องจาก French Polynesia (เฟรนซ์ โพลีนีเซีย) คือเขตรัฐบาลกลางโพ้นทะเล ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส จึงเป็นการสะดวกที่จะสร้างเมืองใหม่โดยปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมายแบบเดิม โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสังคม และเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยว 

 

เหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการคือ เมือง French Polynesia (เฟรนซ์ โพลีนีเซีย) นี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึงได้ง่ายทำให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง การลงทุนในการสร้างเมืองลอยน้ำจึเป็นทางออกที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาเรื่องการย้ายออกของคนในประเทศอันมีสาเหตุมาจากพื้นที่ในการอยู่อาศัยไม่เพียงพอ

 

ชุมชนแห่งนี้จะประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปาการกำจัดของเสีย องค์ประกอบของเมืองซึ่งคือ บ้านเรือน โรงแรม สำนักงาน และร้านอาหารเมืองลอยน้ำในอุดมคตินี้เฟสแรกมีมูลค่ามหาศาลราว 167 ล้านเหรียญ สำหรับเฟสต่อไปโครงการนี้จะได้รับเงินทุนสำหรับการก่อสร้างจาก ปีเตอร์ ธีล หรือผู้ก่อตั้ง PayPal นั่นเอง

Next Tokyo District

Next Tokyo District

Next Tokyo District

Next Tokyo District

Project: Next Tokyo 2045 (A Mile-High Tower Rooted in Intersecting Ecologies​)

Designer: Kohn Pedersen Fox Associates 

Engineer: Leslie E. Robertson Associates​

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองโตเกียวนั้นมีความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงอยู่บ่อยครั้ง เช่น พายุไต้ฝุ่น ทางรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีแผนสำหรับป้องกันพื้นที่ราบต่ำรอบๆ อ่าวโตเกียว นั่นคือการสร้างเมืองใหม่ในอ่าวโตเกียวที่มีความยาวกว่า 14 กิโลเมตร ระหว่างเมืองคาวาซากิและคิระซะรุ เพื่อทำหน้าที่เป็นกำแพงป้องกันพื้นที่รอบๆ อ่าว นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเส้นทางใหม่ในการเดินทางระหว่างสองเมืองซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรในจุดที่เป็นคอขวดอีกด้วย โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2045 นี้ 

 

พื้นที่สร้างเมืองใหม่นี้จะมีหลักษณะเป็นเกาะหกเหลี่ยม มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 150 - 1500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ราว 12.5 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ส่วนที่เป็นพื้นดินประมาณ 25% การวางตำแหน่งแบบกระจายตัวเป็นชั้นๆ จะช่วยลดความแรงของคลื่น รวมถึงเพื่อไม่ให้ขวางเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้า เมืองใหม่นี่นี้คาดว่าน่าจะรองรับคนได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

 

จุดเด่นของพื้นที่ใหม่นี้คือตึก Sky Mile Tower ซึ่งมีความสูงถึง 1,609 เมตร ประกอบด้วยอาคารย่อย 6 ตึกเรียงตัวแบบสลับกันบนฐานรูปหกเหลี่ยม เป็นอาคารสูงสมัยใหม่ที่เน้นความยั่งยืน มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย อาคารหลังนี้สามารถรองรับผู้อาศัยได้ 55,000 คน ภายในก็จะแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และโรงแรม เป็นต้น

Oceanix City

Oceanix City

Oceanix City

Oceanix City

Project: Oceanix​ City​

Designer: Bjarke Ingels, Studio Other Spaces, Center for Zero Waste Design, Mobility in Chain

Engineer: Sheerwood Design Engineers, Transsolar Klima Engineering, 

 

คอนเซปต์หลักของโครงการคือ Ocean farming นั่นคือโครงการสามารถผลิตอาหารได้เอง จุดเด่นอยู่ที่ฐานโครงสร้างที่มีชื่อว่า Biorock เป็นวัสดุที่พัฒนามาจากแร่ธาตุใต้น้ำนำมาประกอบเป็นฐานรูปหกเหลี่ยมเคลือบด้วยหิน limestone 3 ครั้ง ทำให้แข็งกว่าคอนกรีตมีคุณสมบัติลอยน้ำได้ ทนทานต่อกระแสน้ำ และสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ Biorock สามารถใช้เลี้ยงหอยสแกลลอบ หรือสัตว์ทะเลชนิดอื่นได้ มูลของสัตว์น้ำเหล่านี้จะเป็นอาหารให้กับพืชใต้น้ำอื่นๆ เช่น สาหร่ายได้ เกิดเป็นระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ ในส่วนของพื้นที่ด้านบนบางส่วนใช้ทำการปลูกพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี   

 

Oceanix City ไม่อนุญาตให้ใช้รถยนต์หรือรถบรรทุกที่ปล่อยควันไม่ว่าจะเพื่อการสัญจรหรือการเก็บขยะ ในการสัญจรให้ใช้จักรยานและการเดินทางทางน้ำเป็นหลัก ส่วนการกำจัดของเสียจะใช้ท่อที่อัดลมในการส่งขยะไปยังสถานีเพื่อทำการกำจัดต่อไป นอกจากนี้ยังมีศูนย์ที่คอยควบคุมดูแลคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ เมืองลอยน้ำแห่งนี้จะตั้งอยู่เฉพาะในจุดที่มีน้ำลึกเพียงพอที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ และแท่นต่าง ๆ จะถูกลากไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยได้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น เฮอร์ริเคน 

 

ตัวอาคารที่อยู่ในโครงการประกอบไปด้วยสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย ห้องสมุด แลอื่นๆ โดยแต่ละอาคารจะมีความสูงประมาณ 4- 7 ชั้น จะไม่มีอาคารที่สูงกว่านี้เพื่อความเสถียรของตัวฐาน อาคารแต่ละหลังจะใช้วัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติในการก่อสร้าง เช่น ไม้ไผ่ ไม้สัก

 

โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง UN-Habitat ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืนจะร่วมมือกับบริษัทเอกชน Oceanix, สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology-MIT) และ The Explorers Club ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพที่สนับสนุนการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อผลักดันแนวคิดนี้

Aequorea City

Aequorea City

Aequorea City

Aequorea City

Project: Aequorea​ Victoria​

Designer: Vicent Callebaut ​

 

เมืองลอยน้ำแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นมาจากสาหร่ายทะเล และพลาสติกหรือขยะในทะเลนำมาฉีดขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Print และจะตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งเมือง ริโอ เดอจาเนโร ชื่อโครงการนั้นมาจากชื่อของแมงกะพรุนสายพันธุ์ Aequorea​ Victoriaนั่นเอง จุดประสงค์ของโครงการคือเพื่อจำกัดขยะและคราบน้ำมันที่มีอยู่อย่างมหาศาลในท้องทะเล และช่วยให้แต่ละพื้นที่มีแหล่งพลังงานทางเลือกแบบพึ่งพาตัวเองได้

 

เมืองนี้สามารถบรรจุคนได้ถึง 20,000 คน ภายในประกอบไปด้วยพื้นที่ส่วนกลาง ห้องทดลองปฏิบัติการ ห้องวิทยาศาสตร์ โรงงานรีไซเคิล โรงแรมเพื่อการศึกษา สนามกีฬา และฟาร์มเกษตรแบบผสมผสาน ในแต่ละโดมจะมีความสูงประมาณ 250 ชั้นหรือ 1,000 เมตร เลยทีเดียว 

 

โครงสร้างใต้น้ำมีฟังก์ชั่นสำหรับบำบัดและบรรเทามลพิษในสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีอันชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นทั้งรีไซเคิลขยะในทะเลให้เกิดประโยชน์ และเติมแคลเซียมคาร์บอเนตให้เป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล นอกจากนี้ยังมีกระบวนการบำบัดน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดเพื่อใช้อุปโภคบริโภคได้ แนวคิดนี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นโรงแรมใต้น้ำที่เมืองดูไบเร็วๆ นี้ด้วย

Lilypad: The Smart Floating City

Lilypad: The Smart Floating City

Lilypad: The Smart Floating City

Lilypad: The Smart Floating City

Project: Lilypad (The Smart Floating City​)

Designer: Vicent Callebaut ​

 

Lilypad ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของใบบัวขนาดใหญ่ อะมาโซเนีย วิคตอเรีย เรเจีย ลิลี่แพด ที่มีลักษณะเป็นใบกว้างลอยอยู่เหนือน้ำคอยรองรับน้ำฝนและฟอกน้ำให้สะอาด มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการอยู่อาศัยของมนุษย์เนื่องจากะดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มที่จะทำให้เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกเช่น โตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน หรือแม้แต่กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองบาดาลภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

เมืองนี้จะสามารถจุประชากรได้ถึง 50,000 คน บ้านแต่ละหลังสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เอง มีทะเลสาบอยู่ตรงกลางเพื่อเก็บน้ำฝนสะอาดไว้ใช้งาน และช่วยให้ตัวโครงสร้างทั้งหมดมีการถ่วงน้ำหนักที่ดีและเสถียรขึ้น ที่สำคัญคือเมืองนี้จะสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าปริมาณการใช้งาน โดยสามารถผลิตพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานจากคลื่น พลังงานลม และอื่นๆ 

 

ตัวโครงการมีฐานเป็นวงกลมโดยมีรูปด้านเป็นแนวตั้งทรงภูเขาอีก 3 ลูกที่สูงไม่เท่ากัน สำหรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ร้านค้าต่างๆ และสำหรับการรับชมทิวทิศน์ของผู้คนในเมือง สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปจะถูกปกคลุมไปด้วยพืชพรรณต่างๆ ทั้งที่ใช้เเป็นอาหารและแหล่งพลังงาน มีทางการเข้า-ออกได้ด้วยท่าเรือ 3 ท่า 

เมืองลอยน้ำเหล่านี้ที่นับว่าเป็นความท้าทายที่สุดในศตวรรษในการสร้างนิยามและความหมายใหม่ให้กับคำว่าที่อยู่อาศัยเลยทีเดียว คุณคิดว่าจากวันนี้จนถึงปี 2045 นั้นเป็นระยะเวลานานแค่ไหน บางท่านอาจจะรู้สึกว่าเป็นอนาคตที่ยาวไกลและยังมาไม่ถึงง่ายๆ แต่ถ้าลองคิดว่ามันใช้เวลาเท่ากันกับที่เราย้อนไปในปี 1995 ล่ะ ไม่นานเลยใช่มั้ยครับ เรื่องนวัตกรรมต่างๆ นับวันจะพัฒนารวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราควรติดตามและอัพเดทข่าวสารต่างๆ ให้ทันท่วงที ติดตามทุกความเคลื่อนไหวได้ที่นี่ครับ WAZZADU.COM

ที่มาและรูปภาพ

https://www.sciencealert.com/french-polynesia-just-revealed-plans-to-build-the-world-s-first-floating-city

- http://www.spoon-tamago.com/2016/01/30/could-tokyo-bay-host-a-floating-eco-city-in-30-years/

- https://www.businessinsider.com/un-floating-city-housing-hurricanes-2019-4

- https://www.dezeen.com/2015/12/24/aequorea-vincent-callebaut-underwater-oceanscrapers-made-from-3d-printed-rubbish-ocean-plastic/ 

- http://thisbigcity.net/two-very-different-visions-for-floating-cities/

 

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ