รายละเอียดการออกแบบ และติดตั้งสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ Luum Temple : CO-LAB Design Office
อาคารหลังนี้มีชื่อว่า Luum Temple เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกโยคะ การนั่งสมาธิ และใช้ทำกิจกรรมบำบัดอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท The Luum Zama development ประเทศเม็กซิโก โดยปกติแล้วโครงการทั่วไปจะเน้นไปที่การก่อสร้างตัวอาคารและโฟกัสไปยังพื้นที่ขายเพียงอย่างเดียว แต่ทว่าโครงการนี้กลับสร้างขึ้นเพื่อช่วยอนุรักษ์ผืนป่าและพันธ์ุไม้ท้องถิ่น เก็บรักษาพื้นที่สีเขียวโดยมีเรื่องของความยั่งยืน (Sustainable) เป็นตัวชูโรง ซึ่งนับว่าเป็นคอนเซปต์ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว
ผู้ออกแบบคือ Co-Lab Design Office เป็นผู้เชี่ยวชาญในงานแนวอนุรักษ์ (Conservative) นอกเหนือจากตัว Luum Temple ที่ออกแบบโครงสร้างร่วมกับทีมวิศวกรและช่างฝีมือท้องถิ่นผู้เชี่ยวชาญแล้ว Co-Lab Design Office ยังเป็นผู้ออกแบบผังแม่บทของทั้งโครงการอีกด้วย
Luum Temple ตั้งอยู่บริเวณส่วนกลางของโครงการพัฒนาที่ดินดังกล่าว รายล้อมด้วยผืนป่าที่ร่มรื่น การเข้าถึงนั้นจะต้องเดินเท้าเข้าไปเท่านั้น รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่สงบอย่างแท้จริง
รูปทรงของ Luum Temple นั้นได้แรงบันดาลมาจากโครงการ Los Manantiales ออกแบบโดย Felix Candela สถาปนิกชาวสเปนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเม็กซิโกโดยเฉพาะในด้านการออกแบบอาคารด้วยคอนกรีตหล่อโค้ง (Hyperbolic Paraboloid Groin Vault)
Los Manantiales เป็นร้านอาหารที่สร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตหล่อโค้ง 8 ด้านแล้วมาชนกันตรงกลาง แต่ Luum Temple เป็นทรงโค้ง 5 ด้าน และสร้างขึ้นด้วยวัสดุไม้ไผ่ที่สานกันเป็นตาข่ายและซ้อนกันหลายชั้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับแรง ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับตะแกรงเหล็กในคอนกรีตเสริมเหล็กนั่นเอง
ในส่วนของโครงสร้าง เริ่มจากติดตั้งเสาโค้งไม้ไผ่ที่เป็นแกนหลักในการรับแรงจากหลังคาโค้งทั้ง 5 ชิ้นก่อน เสาไม้ไผ่นี้ทำจากไม้ไผ่ชิ้นยาวที่ถูกผ่าให้เป็นเส้นยาวเล็กๆ มัดรวมกันหลายชั้นและนำมาดัดโค้งที่หน้าไซต์งานให้ได้องศาตามที่วิศวกรคำนวณไว้ ยึดติดกันตรงกลางด้วยเพลทเหล็กรูปวงกลมกลวงสีดำ ปลายอีกด้านหนึ่งของไม้ไผ่ทั้ง 5 ชิ้น ถูกยึดติดกับเพลทเหล็กสีดำที่ฝังไว้ไในตอม่อคอนกรีตที่พื้นทั้ง 5 จุด
จากนั้นจึงติดตั้งเสาโค้งด้านที่เป็น Arch ทั้ง 5 ด้าน ซึ่งทำจากไม้ไผ่ชิ้นเส้นยาวเล็กๆ เช่นเดียวกัน ปลายด้านล่างของเสาโค้งทั้งหมดถูกยึดเข้ากับเพลทเหล็กทำสีดำที่ฝังไว้ในแท่นปูนเช่นเดียวกับเสาหลัก เพราะฉะนั้นบนตอม่อหนึ่งจุดจะมีเสาไม้ไผ่ทั้งหมด 3 ชิ้นด้วยกัน
(Sponsored Ads)
เมื่อติดตั้งโครงทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว จึงทำการติดตั้งไม้ไผ่ที่สานกันเป็นตารางรูปสามเหลี่ยมคอนเซปต์เดียวกับตะแกรงเหล็กใน reinforce concrete โดยไม้ไผ่ชั้นนี้ทำหน้าที่คล้ายคานที่เชื่อมเสาโค้งทั้งหมดเข้าด้วยกัน และช่วยกระจายการถ่ายแรงให้มีความสมดุล ซึ่งมีทั้งแรงกดจากวัสดุมุงหลังคา (หญ้าแฝก) ด้านบนและแรงลมที่มากระทำทางด้านข้างด้วย
เช่นเดียวกันกับการมุงหลังคาทั่วไปเมื่อเรามีโครงหลังคาแล้ว เราต้องมี subroof เพื่อใช้ในการติดตั้งวัสดุมุงหลังคาและเพื่อช่วยกันแดดกันฝนเบื้องต้นอีกด้วย ในชั้นนี้จึงต้องวางไม้ไผ่แบบถี่ทับโครงไม้ไผ่ที่สานกันเป็นตารางรูปสามเหลี่ยม อีกชั้นหนึ่ง เพราะตัวโครงไม้ไผ่ชั้นแรกนั้นยังมีระยะห่างกันเกินกว่าที่หญ้าแฝกจะติดตั้งได้ การวางแนวไม้ไผ่ต้องวางคนและแนวกับโครงไม้ไผ่ชั้นแรกเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับแรงและทำให้โครงไม้ไผ่ทั้งหมดแข็งแรงมากที่สุด
ปูทับชั้นบนสุดด้วยหลังคาหญ้าแฝกซึ่งวัสดุที่นิยมใช้มุงหลังคามาตั้งแต่ยุคโบราณ เพราะสามารถช่วยกันแดด กันฝน ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังยังแห้งเร็วไม่อับชื้นและไม่ผุพังง่ายอีกด้วย
ปกติแล้วไม้ไผ่จะมี Strenght หรือความแข็งแรงค่อนข้างสูง หากนำมาสานกันหรือขัดกันเป็นตารางก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแรงได้ดียิ่งขึ้น และ Luum Temple แห่งนี้ก็ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี สามารถต้านทานแรงลมจากพายุเฮอริเคนได้เลยทีเดียว
โครงการ Luum Temple ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในแง่ที่สามารถสร้าง awareness ทำให้การรับรู้ในวงกว้างด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น จดจำง่าย ทั้งยังสามารถบอกเล่าถึงคอนเซปต์ของตัวงานเกี่ยวกับร่วมมือร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย ทั้งผู้ออกแบบ วิศวกร ช่างฝีมือท้องถิ่น และเจ้าของโครงการ ผ่านทางรูปทรงของโครงสร้างไม้ไผ่ที่สอดประสานกัน และยังมีนัยยะ หมายถึงความร่วมมือของชุมชนเพียงคนเล็กละน้อยก็สามารถรวมกันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้
นอกจากนี้ไม้ไผ่ทั้งหมดที่นำมาใช้ในโครงการเป็นไม้ไผ่จากป่าปลูกและรอจนมีอายุพอสมควรที่สามารถนำมาใช้ก่อสร้างได้ จึงนับว่าเป็นโครงการตัวอย่างในแง่ของการออกแบบ วางผัง และการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นแบบอย่างของการออกแบบในเชิง Sustainable ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
รูปภาพประกอบ และอ้างอิงโดย :
https://www.archdaily.com/919129/luum-temple-co-lab-design-office?ad_source=search&ad_medium=search_result_all
https://www.archdaily.com/496202/ad-classics-los-manantiales-felix-candela
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม