ในฐานะผู้ออกแบบ เราจะช่วย "โลก" ได้อย่างไร
ข่าวของน้องมาเรียม พะยูนน้อยที่เสียชีวิตเนื่องจากได้กินถุงพลาสติกเข้าไป ทำให้เราเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ก็มีคำถามว่าเรามีความจริงจังกับการแก้ปัญานี้มากน้อยเพียงใด หรือความถูกต้องในเชิงปฏิบัติการนั้นคืออะไร เช่น การใช้โฟมในการสร้างอนุสาวรีย์มาเรียม ซึ่ง ณ วันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายในเรื่องดังกล่าว
หรือ กรณีนิตยสารสารคดีชื่อดังระดับโลกฉบับหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาในเล่มนั้นเกี่ยวกับ Global Warming โดยใช้รูปปกที่คล้ายกันกับรูปของคอนเทนต์นี้ (เราจะข้ามเรื่องดราม่าของรูปปกไปนะครับ) แต่ตัวนิตยสารยังคงใช้ถุงพลาสติกใสในการห่อ ซึ่งเกิดเป็นความย้อนแย้งและประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก
ไม่กี่วันก่อนมีการดีเบตระหว่าง แจ็ก หม่า และ อีลอน มัสก์ ในงานประชุม World AI ในคำถามเรื่องความยั่งยืน
อีลอน มัสก์ ตอบโดยสรุปใจความได้ว่า การที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่เพียงแค่บนดาวโลกนั้น มันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากเกินไป เขาจึงมุ่งหน้าสำรวจอวกาศเพื่อหาดาวสำรองสำหรับมนุษยชาติ
ในขณะที่ แจ็ก หม่า เขาอยากให้โฟกัสที่โลก และคิดว่าการที่เราจะเอาขยะออกจากมหาสมุทรนั้นยากกว่าการไปดาวอังคาร เราควรรับผิดชอบกับปัจจุบัน และจัดการกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่มากกว่า
คนเราต่างมีวิธีคิดและแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสามารถและความถนัด ไม่มีใครผิดใครถูกครับ เพราะแค่คิดอยากช่วยโลกก็นับว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
วันนี้ Wazzadu.com จะพาไปชมแนวคิดที่ไม่ธรรมดาของนักออกแบบท่านหนึ่ง ที่ไม่เพียงแค่คิด แต่ลงมือทำมาแล้วเป็นเวลายาวนานกว่าศตวรรษ และเป็นผู้จุดประกายไอเดียให้กับคนอื่นๆ อีกมากมายให้หันมาใส่ใจและร่วมกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
“เราไม่จำเป็นต้องรอมหาอำนาจ หรือหวังพึ่งพาหน่วยงานใด เพียงแค่เริ่มที่ตัวเองก่อน จากการแยกขยะ แยกเศษอาหารก่อนทิ้ง ใช้ซ้ำให้มากขึ้น สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้หากทุกคนช่วยกัน ผลที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก”
รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต
อาจารย์สิงห์ สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำงานและเดินทางมาแล้วรอบโลก เห็นบ้านเมืองที่หนาแน่นในทุกประเทศ จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่าอาชีพสถาปนิกต้องเป็นคนออกแบบอาคารเท่านั้นหรือ ในเมื่อพื้นที่มีจำกัด การสร้างตึกคือความยั่งยืนที่โลกใบเล็กนี้ต้องการจริงๆ หรือ
จนเมื่อมีโอกาสกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คำถามนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ อาจารย์เริ่มต้นด้วยการนำเอาเศษขยะจากการเกษตร เช่น เปลือกทุเรียน กีบหมู และอื่นๆ มาทดลองอัดเป็นวัสดุปิดผิวในงานก่อสร้างเพื่อหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะได้ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านมากมายจากคนรอบตัวก็ตาม "จบ MIT ทำไมไม่ทำอะไรที่สำคัญกว่านี้" "ออกแบบตึกที่ประหยัดพลังงานสิ" "เสียเวลา" "จะมีใครซื้อ"
เส้นทางสายนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอนครับ โดยเฉพาะในช่วงปี 2003-2004 ในยุคที่กระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังไม่เกิด ผลคือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นขายไม่ได้เลยตามที่คนรอบกายได้พูดไว้ ไม่มีใครต้องการใช้ของที่ผลิตจาก "ขยะ"
เป็นคุณจะหยุดหรือไปต่อครับ?
อ.สิงห์ไปต่อครับ หลังจากที่ได้ทบทวนถึงผลลัพธ์อย่างถี่ถ้วนแล้วก็พบว่า การเน้นเฉพาะคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของวัสดุนั้นคงไม่เพียงพอ แต่จะต้องใช้ดีไซน์มาเป็นตัวช่วยด้วย จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ เก้าอี้ที่ทำจากเศษไม้ปาร์เก้ที่เก็บมาจากไซต์ก่อสร้าง เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์มาช่วยจึงทำให้สินค้าเริ่มขายได้
แต่การจะผลิตให้เป็นเรื่องเป็นราวนั้น เงินทุนในการดำเนินการเป็นสิ่งสำคัญ อ.สิงห์ จึงนำเสนอ Proposal ไปยังสถาบันต่างๆ แต่ทว่าไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่อาจารย์ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่กำลังช่วยโลกใบนี้ กำลังช่วยทุกคนอยู่
เป็นคุณจะหยุดหรือไปต่อครับ?
คุณอาจจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการอ่านบทความนี้ แต่ความอุตสาหะในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของอ.สิงห์ ใช้เวลานานกว่านั้นมาก ไม่ง่ายนะครับกับการสู้เพื่อศรัทธา
แต่สิ่งที่มีคุณค่าวันหนึ่งก็ย่อมมีคนเห็นค่า เมื่อคุณจ๋า วีรนุช ตันชูเกียรติ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้และได้ร่วมมือกันสร้าง บริษัท โอซิสุ จำกัด ขึ้นมา และดำเนินการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากเศษวัสดุโดยใส่ไอเดียทางศิลปะเข้าไปในชิ้นงาน ซึ่งมีผลตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในและต่างประเทศ
การกำจัดขยะตั้งแต่จุดเริ่มต้นนั้นสะดวกและมีประสิทธิภาพกว่าเก็บขยะจากที่ทิ้งขยะมาก อ.สิงห์และทีมงานจึงได้ขยายขอบเขตงานด้วยการเริ่มต้นจัดการขยะประเภทอื่น เช่น เศษวัสดุจากโรงงานต่างๆ เช่นโรงงานกระดุม โรงงานเหล็ก รวมไปถึงเศษขยะสะอาดจากโรงพยาบาลด้วย
ตัวอย่างผลงาน ได้แก่
- เก้าอี้เหล็กที่ทำจากเศษกันชนรถยนต์ นอกจากจะช่วยให้ไม่เหลือเป็นเศษขยะแล้ว ยังช่วยลดราคากันชนลงได้อีกด้วยเพราะไม่ต้องเผื่อราคาค่าเศษเหลือ
- เฟอร์นิเจอร์ไม้สักที่เป็นรู โดยปกติป่าสักจะต้องถูกเผาเพื่อกำจัดแมลงและมอด ป่าสักที่ไม่ถูกเผานั้น ไม้ที่ได้จะมีรูและขายไม่ได้ต้องนำไปใช้เป็นฟืนเท่านั้น แต่เมื่อนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์โดยการผสานด้วยดีไซน์ รูเหล่านั้นกลับเป็นตัวช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน
- พื้นเทอราซโซ่จากเศษพลาสติกในการผลิตกระดุม ได้พื้นที่มีสีสันหลากหลาย สวยงาม และยังช่วยลดการใช้หินธรรมชาติได้อีกด้วย
- พื้นเทอราซโซ่จากเปลือกไข่ เปลือกไข่จำนวน 15,000 ล้านฟองต่อปีต้องถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ แต่เมื่อนำมาแปรรูปเป็นเทอราซโซ่หรือเฟอร์นิเจอร์ กลับมีมูลค่าสูงถึง 9,000 บาทต่อตารางเมตร
- กระเป๋าจากขยะพลาสติกสะอาดของโรงพยาบาล วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์นั้นจะต้องสะอาด และทนทานมาก ซึ่งขยะจากโรงพยาบาลจะมีทั้งขยะสะอาดเช่น หีบห่อที่ใช้บรรจุเข็ม และขยะสกปรกที่สัมผัสร่างกายผู้ป่วย แต่เมื่อนำมาทิ้งรวมกัน ทุกชิ้นจะกลายเป็นขยะสกปรกทั้งหมด
การสร้างผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุดูเหมือนจะมีโอกาสขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่ผลิตชิ้นงานแล้วนั่งรอให้มีคนมาซื้อนั้นยังไม่เป็นทางออกที่ดีพอ
การหาพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้าโดยตรงจะช่วยสร้างความยั่งยืนและต่อยอดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้มากกว่า และพาร์ทเนอร์คนสำคัญรายแรกก็คือ สตาร์บัค ใช่แล้วครับ ร้านกาแฟที่เราคุ้นเคยนี่แหละ อาจารย์ใช้กากกาแฟมาอัดเป็นแผ่นแข็ง สำหรับใช้ในการตกแต่งพื้นที่ ใช้เป็นเก้าอี้ เป็นท้อปโต๊ะและเคาน์เตอร์ ตัววัสดุมีความแข็งแรงทนทาน และสามารถทำเฉดสี ตาม CI ของแบรนด์อีกด้วย
แต่ขอบเขตความคิดของอาจารย์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นครับ การทำเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวเองนั้นไม่เพียงพอ อาจารย์ต้องการเป็นพับบลิคเซอร์วิสเพื่อสนับสนุนคนอื่นๆ ต่อไป แต่การจะจัดตั้งศูนย์ที่ว่านี้ต้องใช้เงินทุนอีกแล้วครับ อ่านมาถึงตรงแล้วคงทราบคำตอบกันดี ใช่ครับ อาจารย์ไปต่อครับ ถึงแม้ว่าจะโดนปฏิเสธอีกกี่ครั้งก็ตาม
จนในที่สุดได้รับความร่วมมือจากบจก. แมกโนเลีย ที่ให้การสนับสนุนในการจัดตั้ง RISC : Research and Innovation for Sustainability Center เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่อง Sustainability หรือสตาร์ทอัพที่กำลังทำเกี่ยวกับเรื่อง Well-being ให้สามารถเข้ามาใช้สถานที่หรือเรียนรู้เกี่ยวกับงานวิจัยได้ เพราะอาจารย์เคยผ่านช่วงเริ่มต้นเหล่านั้นมาแล้วและรู้ดีว่ามันยากเย็นขนาดไหน ใครก็ตามที่ต้องการช่วยโลกของเราให้ยั่งยืนสามารถขอคำปรึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
RISC หรือศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด, ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน, กรุงเทพมหานคร 10330
เรื่องสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบไปทั้งโลก การที่จะแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อท่านได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้แล้ว จะสามารถเกิดแรงบันดาลใจ หรือมีแนวคิดในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงแม้ว่าบางท่านอาจจะไม่ถนัดในการสร้างนวัตกรรม แต่ก็สามารถเริ่มปรับกิจวัตรประจำวันได้ง่ายๆ เพียงแค่ Reuse Reduce และ Recycle
การเลือกใช้ Wazzadu.com ห้องวัสดุผู้ช่วยสเปคงานสำหรับสถาปนิก ,อินทีเรีย และผู้รับเหมา นอกจากจะได้อัพเดทข้อมูลวัสดุใหม่ๆ อย่างทันท่วงที ทุกที่ ทุกเวลาแล้ว ท่านก็ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการผลิตแผ่นพับ โบรชัวร์ หรือสื่อการขายในรูปแบบอื่นๆ ที่ใช้เพียงไม่กี่ครั้งแล้วต้องกลายเป็นขยะได้ มาช่วยกันเถอะครับเพื่อโลกของเรา Let's make a world a better place
รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง
- อาจารย์ทางด้านนวัตกรรมอาคารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผู้ก่อตั้งศูนย์ค้นคว้าและออกแบบจากวัสดุ (Scrap Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายออกแบบ บริษัท โอซิซุ จำกัด (Osisu) ซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุที่นำมาสร้างมูลค่าใหม่
- ตัวแทนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)ในฐานะทูตนวัตกรรมด้านการออกแบบและเป็นหัวหน้าคณะกรรมการด้านเทคนิคระดับประเทศในการสร้างฉลากอัพไซเคิล คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Upcycle Carbon Footprint)
- ผู้ก่อตั้ง RISC สถานที่แห่งการแบ่งปันองค์ความรู้ ที่ซึ่งนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบอุตสาหกรรม และศิลปกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ระบบนิเวศที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคม
..............................................................................................
ขอขอบคุณรูปภาพจาก:
- รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต
- RISC : Reserch and Innovation for Sustainability Center
- Osisu
- สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
- Starbuck Thailand
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม