เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้จริง และพื้นไม้เทียม (รวม 15 ประเภท)

" รวมข้อมูลเปรียบเทียบ ข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้จริง และพื้นไม้เทียม แต่ละประเภท " 

โดยแบ่งชุดข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

- เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย "พื้นไม้จริง" ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 11 ประเภท

- เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย "พื้นไม้เทียม" ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 4 ประเภท

ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย "พื้นไม้จริง" ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 11 ประเภท

พื้นไม้สัก (Teak Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อนถึงแข็งปานกลาง มีลวดลายสวยงาม และคุณภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับไม้หลายๆประเภท เนื้อไม้ละเอียดมีสีน้ำตาลทอง มีความนิ่ม ง่ายต่อการแปรรูป ไม้มีกำลัง และมีความแข็งแรง ไม้สักที่ดีจะต้องใช้เวลานานมากในการเจริญเติบโต ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าไม้สักไม่โดนปลวกกิน แท้จริงแล้วคือไม้สักที่มีอายุมากๆจะผลิตน้ำมันธรรมชาติของสัก ซึ่งมีกลิ่นที่ปลวก และแมลงต่างๆไม่ชอบนั่นเอง  

แต่หากเป็นสักปลูกที่โตเร็ว จะไม่มีน้ำมันชนิดนี้สะสมอยู่ในเนื้อไม้ ปลวกจึงเลือกกินไม้สักชนิดนี้ได้ ไม้สักที่ได้จากป่าปลูกมีระยะเวลาการปลูกยังไม่ยาวนานพอที่จะทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันตามธรรมชาติ จึงแก้ปัญหาด้วยการอาบน้ำยากันปลวกแทน ซึ่งก็สามารถช่วยป้องกันปลวกได้อีกทางหนึ่ง โดยไม้สักที่นิยมนำมาใช้ในงานปูพื้นอาคารกันอย่างแพร่หลาย คือ สักทอง ,สักขึ้ควาย หรือ สักป่าปลูก ฯลฯ โดยพื้นไม้สักจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปี ขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

- ไม้สักมีความแข็งแรงทนทาน แต่เนื้อไม้ก็ยังมีความนิ่มสามารถแปรรูปได้ง่าย

- ไม้สักเป็นวัสดุปูพื้นที่มีคุณภาพดี ให้ผิวสัมผัสที่ละเอียดสวยงาม 

- ไม้สัก ปลวกไม่ชอบกิน เพราะไม้สักที่มีอายุมากๆจะผลิตน้ำมันสักที่ปลวก และแมลงต่างๆไม่ชอบออกมา (นอกจากพื้นไม้สัก ที่ทำมาจากไม้สักป่าปลูกจึงจะไม่สามารถผลิตน้ำมันสักได้)

- ไม้สัก ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น

Disadvantage : ข้อเสีย

- พื้นผิวไม้สัก จะเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย

- ไม้สักที่มีอายุมาก ก็จะยิ่งมีราคาสูงตามไปด้วย 

- ไม้สักจะบิดตัว และงอตัวเล็กน้อยตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนแห้งมากๆ

- ช่างฝีมือที่มีความชำนาญในงานไม้ โดยเฉพาะงานไม้สักในปัจจุบันนั้นหายาก ถ้าหากได้ช่างไม่ดีอาจจะเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว

พื้นไม้เต็ง (Shorea​​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้เต็ง เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือน้ำตาลออกเทา (ถ้าตัดทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น) จัดเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานมาก เนื้อไม้มีความแข็งและเหนียว มีผิวหยาบ และเสี้ยนลายไม้ไม่ค่อยสวยงาม นิยมใช้กับงานโครงสร้างภายนอก อย่างเช่น คาน เสา และพื้น เพราะทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ 

ไม้เต็ง ถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีขนาด และคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปทำพื้นไม้ เพื่อช่วยลดอัตราที่พื้นไม้จะบิด หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ หรือ ความชื้น โดยไม้เต็งที่นำมาปูพื้น ควรจะเป็นไม้ที่ผ่านการอบแห้งให้มีความชื้นไม่เกิน 12% และจะต้องมีการทาสีรักษาเนื้อไม้ เพื่อให้พื้นไม้เต็งสามารถทนทานต่อการขูดขีด และลดการสูญเสียความชื้นจากในเนื้อไม้ ซึ่งจะช่วยให้พื้นไม้เต็งมีความเงางาม และยังช่วยป้องกันการรบกวนของปลวกที่จะเจาะพื้นไม้เต็งได้ด้วย แม้ว่าโดยธรรมชาติของไม้เต็งแล้ว ปลวกจะไม่ค่อยมารบกวนก็ตาม โดยพื้นไม้เต็งจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้เต็ง เป็นพื้นที่มีความคงทนแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี

- ไม้เต็ง ทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ จึงสามารถนำไปทำเป็นพื้นภายนอกอาคารได้

- ไม้เต็ง มีอัตราการบิดตัว หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ และความชื้นค่อนข้างต่ำ

- ไม้เต็ง มีปัญหาเรื่องปลวก และแมลงค่อนข้างน้อยกว่าไม้ชนิดอื่นๆ

Disadvantage : ข้อเสีย

- พื้นผิวของไม้เต็ง ค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ 

- ไม้เต็งเป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก

- ถ้าหากนำไปทำสี แล้วทำไม่ค่อยดี จะทำให้สีแตกลอกล่อนค่อนข้างเร็ว

พื้นไม้แดง​ (Iron Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น ทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี (เจาะตัดได้ยากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ)  เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง โดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม และมีจุดดำแทรกในเนื้อไม้ เมื่อใช้ไปนานๆจะมีสีแดงที่เข้มขึ้น ไม้แดงเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง และมีราคาไม่สูงมากนัก นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างทั้งภายใน และภายนอกอาคาร เช่น ไม้ปูพื้น ,เสา ,คาน ,ตง ฝาบ้าน ฝ้าชายคา และรั้วไม้

ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวสูง ดังนั้นการใช้งานไม้แดงจึงควรตีเว้นร่องเพื่อป้องกันการขยายตัวของไม้จนทำให้เกิดการปริแตกได้ อีกทั้งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลง และยังเป็นไม้ที่ต้านทานไฟในตัว โดยพื้นไม้เเดงจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 -15 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น มีความทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี

- ไม้แดง มีความโดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม ในโทนสีน้ำตาลอมแดง

- ไม้แดง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลงรบกวน

Disadvantage : ข้อเสีย

- ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวตามสภาพอากาศพอสมควร อีกทั้งยังเป็นไม้ที่มีอัตราการยืดหดตัวสูง

- ไม้แดง มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้

- ไม้แดง มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่นจึงทำให้มีน้ำหนักมากตามไปด้วย

พื้นไม้รัง​ (Sal​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้รัง เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้มีความหยาบ หรือ ละเอียดปานกลาง มีสีน้ำตาลอมเหลือง มีความแข็งแรงคงทนค่อนข้างมาก เมื่อเนื้อไม้แห้งจะมีความแข็งแรง และคุณสมบัติคล้ายไม้เต็ง แต่ความแข็งแรงนั้นมีน้อยกว่าไม้เต็ง แต่ก็ยังพอที่จะสามารถใช้ทดแทนไม้เต็งได้ 

โดยนิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างในส่วนที่จำเป็นต้องรับน้ำหนัก เช่น เสา พื้น และคาน แต่ในปัจจุบันไม้รังเริ่มหายาก และมีราคาแพงมาก นอกจากจะเป็นไม้รังที่มาจากป่าปลูกโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีค่อนข้างน้อย โดยพื้นไม้รังจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

- ไม้รัง มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ดี

- ไม้รัง เป็นไม้ที่ทนต่อสภาพอาอาศได้ดี จึงสามารถนำไปทำเป็นพื้นภายนอกอาคารได้ (คล้ายไม้เต็ง)

- ไม้รัง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก และแมลง (คล้ายไม้เต็ง)

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้รัง เป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก (คล้ายไม้เต็ง)

- พื้นผิวของไม้รังค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ

พื้นไม้ตะแบก​ (Tabek Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้ตะแบก เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง มีลายเสี้ยนค่อนข้างตรง เนื้อไม้สีเทา หรือ น้ำตาลอมเหลืองอ่อนๆ ความเข้มของสีไม้ค่อนข้างอ่อนจึงสามารถนำไม้ไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่าย นอกจากนี้เนื้อไม้ยังมีความละเอียดใส และขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน และให้ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก

เนื่องจากไม้ตะแบกเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงมีเนื้อไม้ที่ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไป ซึ่งช่วยให้การไสตกแต่งทำได้ง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน จึงนิยมนำมาใช้ในการตกแต่งที่อยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในมากกว่า) อาทิเช่น ไม้ปูพื้น ,บานประตู ,ไม้บันได ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากเนื้อไม้ตะแบกโดนความร้อน หรือ ความชื้น ก็สามารถบิด และโก่งตัวได้ง่ายด้วยเช่นกัน โดยพื้นไม้ตะแบกจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 12-15 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้ตะแบก มีโทนสีไม้ค่อนข้างอ่อน จึงสามารถนำไม้ไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่าย

- ไม้ตะแบก มีเนื้อไม้ที่ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไปจึงช่วยให้การไสตกแต่งสำหรับงานปูพื้นทำได้ง่าย

- ไม้ตะแบก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน

- เนื้อไม้ตะแบกมีความละเอียดใส และขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน และให้ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก

Disadvantage : ข้อเสีย

- ถ้าหากเนื้อไม้ตะแบกโดนน้ำ หรือ ความชื้น  อาจเกิดอาการบิดงอ และโก่งตัวได้ง่าย

- ไม้ตะแบกมีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก ไม่ควรนำไปใช้ปูพื้นในพื้นที่ ที่จะต้องรับน้ำหนักมากๆ เพราะจะทำให้แอ่นเมื่อใช้งานไปนานๆ

- ไม้ตะแบก เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงอาจมีการยืด-หดตามสภาพอากาศได้

พื้นไม้ประดู่​ (Rose​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้ประดู่ เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดปานกลาง มีความแข็งแรงทนทานสูงพอๆ กับไม้แดงแต่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่า เนื้อไม้มีหลายเฉดสีตั้งแต่สีชมพูอมส้ม สีแดงอมเหลือง ไปจนถึงสีอิฐแก่ ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้วสวยงาม อีกทั้งยังสามารถไสกบตกแต่ง และชักเงาได้ดี จึงนิยมนำไปใช้ในงานปูพื้น หรือ ใช้ทำเป็นวงกบประตูและหน้าต่าง โดยพื้นไม้ประดู่จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 15 ปีขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

- ไม้ประดู่มีความเเข็งแรง ทนทานต่อรอยขีดข่วน และสามารถรับน้ำหนักได้ดีมาก

- เนื้อไม้ประดู่ค่อนข้างละเอียด จึงสามารถนำไปไสกบตกแต่ง และขัดเงาได้ดี

- ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้ว มีลวดลายที่สวยงาม

- ไม้ประดู่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างน้อย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้ประดู่เป็นไม้ที่อมความร้อน 

- ไม้ประดู่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้

- ถึงไม้ประดู่จะมีอัตราการยืดหดตัวค่อนข้างน้อย แต่ก็มีโอกาสยืด-หดตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันได้ 

พื้นไม้มะค่า​ (Makha​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้มะค่า เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถรับน้ำหนักได้ดี เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ มีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน และสีเหลืองอมชมพู โดยสีจะเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน และถ้าหากไม้มะค่าโดนแดด หรือ โดนน้ำ ก็อาจจะทำให้สีเข้มขึ้นได้เช่นกัน ไม้มะค่าเป็นไม้ที่ทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก โดยพื้นไม้มะค่าจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 10 -15 ปี

ไม้มะค่าถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในงานตกแต่งทั้งภายใน และภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในอาคาร) อาทิเช่น ไม้พื้น ,ไม้บันได ,ไม้ฝ้า ,บัวไม้ ,วงกบ ,ประตู ,หน้าต่าง ,คานไม้ หรือ ส่วนโครงสร้างในบ้านที่ต้องการโชว์ให้เห็นผิวไม้ที่มีความสวยงาม เป็นต้น 

ในปัจจุบันไม้มะค่าหายาก และมีราคาแพง ไม้มะค่าบางส่วนจึงนำเข้ามาจากทางแอฟริกา ซึ่งภูมิอากาศแถบนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่สีของไม้จะไม่สวย และเข้มเท่าไม้มะค่าในประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม้มะค่าจะมีราคาแพงกว่าไม้แดง

Benefit : ข้อดี

- ไม้มะค่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานมาก จึงสามารถรับน้ำหนักได้ดี

- เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ

- ไม้มะค่ามีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก

- ไม้มะค่าทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้มะค่าเป็นไม้ที่หายาก และราคาสูง

- ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่หนักแน่น จึงทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก

- ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้

- ถึงแม้ไม้มะค่าจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ก้ยังมีโอกาสที่จะยืด-หดตัวตามสภาพอากาศได้เช่นกัน

พื้นไม้ยางพารา (Rubber Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้ยางพารา เป็นไม้เนื้ออ่อน เสี้ยนใหญ่ เนื้อหยาบ และมีความอ่อนตัวค่อนข้างมาก จึงทำให้การตัดแต่งสามารถทำได้ง่าย อีกทั้งยังมีราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด นอกจากนี้ไม้ยางพารายังมีโทนสีอ่อน จึงสามารถนำไปทำสีได้ง่ายตามที่ต้องการ จึงนิยมนำไปใช้ในงานตกแต่งภายใน เช่น ไม้พื้นบันได ,ประตู ,วงกบ ,ประตู หรือ เฟอร์นิเจอร์

แต่ในขณะเดียวกันไม้ยางพาราก็ยังเป็นไม้ที่มีอัตราการยือหดตัวสูง เมื่อหดตัวยางไม้จะปะทุออกจากเนื้อไม้ เมื่อตอกตะปูเนื้อไม้จะแตกได้ง่าย ภายในเนื้อไม้ยางพารานั้นจะมีสารอาหารของปลวก และเชื้อรา จึงทำให้บิดงอ และขึ้นราง่าย ดังนั้นจึงต้องอัดน้ำยากันปลวก และอบแห้งเพื่อให้เนื้อไม้คงทนแข็งแรง โดยพื้นไม้ยางพาราจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 7 -10 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้ยางพารา มีความอ่อนตัวค่อนข้างมากจึงทำให้การตัดแต่งทำได้ง่าย

- ไม้ยางพารา มีโทนสีอ่อน จึงสามารถนำไปทำสีได้ง่ายตามที่ต้องการ

- ไม้ยางพารา มีราคาที่ไม่แพง และสามารถหาซื้อได้ง่าย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้ยางพารา เป็นไม้ที่มีอัตราการยืดหดตัวสูง และบิดงอได้ง่าย

- เมื่อนำไม้ยางพาราไปแปรรูป ตัด-ซอยออกมาเป็นท่อน-แผ่น จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก

- ไม้ยางพารา มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก เพราะมีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างอ่อน

- ภายในเนื้อไม้จะมีสารอาหารของปลวก และเชื้อรา จึงทำให้ไม่ค่อยทนต่อปลวก ความชื้น และเชื้อรา

- เมื่อตอกตะปูเนื้อไม้จะแตกได้ง่าย

พื้นไม้คอร์ก (Cork Wood Flooring) คืออะไร

ไม้คอร์กที่นำมาทำเป็นวัสดุปูพื้นนั้น ทำมาจากเปลือกไม้ชั้นนอกของต้นโอ๊ก โดยชั้นเนื้อไม้ที่ลอกออกมาจะประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา พื้นผิวมีความยืดหยุ่น อีกทั้งยังสามารถกันความชื้น และดูดซับเสียงได้ดี พื้นประเภทนี้จึงมีคุณสมบัติพิเศษที่ค่อนข้างแตกต่างจากพื้นไม้ชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน

ในด้านความสวยงามของพื้นไม้คอร์กนั้น นอกจากจะดูนุ่มนวลด้วยสายตา ( Visualize ) แล้ว ยังให้ความนุ่มนวลถึงการสัมผัส ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ( Sensory ) ตั้งแต่ ตา, หู, จมูก ,รวมถึงการสัมผัสในรูปแบบต่างๆตั้งแต่เหยียบ, เดิน, นั่ง และนอน ซึ่งให้สัมผัสที่นุ่มนวลแตกต่างจากพื้นไม้ประเภทอื่นๆ จึงเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับปูพื้นห้องเด็กเล็ก ,ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในรูปแบบ Universal Design นอกจากนี้พื้นไม้คอร์กยังจัดเป็นวัสดุธรรมชาติ 100% และเป็น ECO Material ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

Benefit : ข้อดี

- ทำให้ห้องเงียบ เพราะมีการดูดซับเสียงที่ดีกว่าวัสดุพื้นประเภทอื่นๆ 

- ช่วยลดแรงกระแทก เนื่องจากพื้นที่มีความนุ่มนวล และยืดหยุ่นสูง ทำให้ลดแรงกระแทกในการเดิน นั่งนอน โดยเฉพาะลดการเกิดอันตรายต่อเด็ก และผู้สูงวัย

- สามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิ และความดันได้ดี จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายไม่เย็นจนเกินไป เพราะเนื่องจากพื้นไม้คอร์กจะรักษาอุณหภูมิภายในตัววัสดุให้มีความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา มือเท้าที่สัมผัสไม่เย็นจนเกินไป ทำให้เกิดสภาวะสบายในการอยู่อาศัย

- มีความทนทาน ของเหลว และก๊าซจึงไม่สามารถซึมผ่านได้ 

- จัดเป็นวัสดุธรรมชาติ 100% และเป็น ECO Material ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการตัดไม้จริงจากป่าธรรมชาติ

- ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน และรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่ตลอดเวลา

- ไม้คอร์กบางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันน้ำ และคราบสกปรกได้ จึงสามารถนำไปใช้กับห้องน้ำได้

- ตัดแต่งได้ง่าย ติดตั้งได้รวดเร็ว และสามารถรีไซเคิลนำกลับไปใช้ใหม่ได้

- ชั้นเนื้อไม้ประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการบีบอัด

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ในกรณีที่เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทั้งแผง

- การป้องกันความชื้นมีข้อจำกัด

- ราคาค่อนข้างสูง การดูแล ระมัดระวังจะมากกว่าพื้นทั่วไป

ผู้สนับสนุน

พื้นไม้จริงสำเร็จรูป (Solid Wood Flooring)​ คืออะไร

พื้นไม้สำเร็จ ถือเป็นวัสดุที่ให้ความสวยงามมากที่สุดประเภทหนึ่งในอุตสาหกรรมตกแต่งพื้น ไม้พื้นชนิดนี้ทำจากไม้จริงทั้งชิ้น โดยนำมาแปรรูปเป็นแผ่นๆแล้วทำรางลิ้นรอบตัว จากนั้นจึงชุปสารกันแมลง และเคลือบผิวหน้าเพื่อให้มีความคงทน ซึ่งลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ผ่านการตกแต่งลวดลายใดๆ จึงให้ความรู้สึกในการสัมผัสที่ดี และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ

สำหรับขนาดที่นิยมนำไปใช้งานนั้น จะมีความหนาประมาณ 18 มิลลิเมตร มีหน้ากว้างประมาณ 90 มิลลิเมตร ส่วนความยาวนั้นจะ Random ตามความเหมาะสม โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี 

Benefit : ข้อดี

- การติดตั้งรวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอขัดทำสี

- มีรางลิ้นรอบตัว จึ่งทำให้การปูพื้นมีความราบเรียบสม่ำเสมอ

- ลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามสีสันของธรรมชาติ โดยไม่ผ่านการตกแต่งลวดลายใดๆ ถึงแม้สีและลายเสี้ยนอาจจะไม่สม่ำเสมอ หรือ สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางด้านความงดงามในแบบที่ไม่เหมือนใคร

- เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง หากผิวหน้าไม้เป็นรอยเยอะ ไม่เงางาม ก็สามารถขัดหน้าผิวไม้เพื่อทำสีใหม่ได้หลายครั้ง เนื่องจากไม้มีความหนามากกว่าไม้พื้นในโครงสร้างแบบอื่นๆ

- ให้บรรยากาศที่อบอุ่น และสบายตา

Disadvantage : ข้อเสีย

-  มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไม้ปูพื้นแบบอื่นๆ

-  ไม่ทนไฟ ไม่สามารถป้องกันการลามไฟได้

-  ไม่ทนน้ำ และปลวก

- ในกรณีที่ไม้ได้รับความชื้นสูงเกินไป ไม้พื้นโครงสร้างแบบ Solid จะมีโอกาสยืด หด บิด หรือห่อตัวได้มากกว่าพื้นไม้ในโครงสร้างแบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นโครงสร้างของไม้ชิ้นเดียวทั้งแผ่น ที่ไม่มีการประกอบชั้นแบบขวางเสี้ยน เพื่อยึดแต่ละชั้นของไม้เข้าด้วยกัน

- ส่วนมากไม้ Solid หรือ ไม้พื้นรางลิ้นรอบตัว ใช้วิธีการปูแบบ knock down คือปูไม้อัดก่อน แล้วยิงตะปู ฉะนั้นเวลารื้อ ต้องรื้อทั้งแผง ต่างจากไม้ Engineered ที่ปูแบบลอยตัวหรือปูกาว เมื่อเสียหายสามารถรื้อเพื่อซ่อมแซมเป็นบางส่วนได้

พื้นไม้ปาร์เก้ต์​ (Parke Wood Flooring) คืออะไร

พื้นไม้ปาร์เกต์ ก็คือวัสดุปูพื้นชนิดหนึ่งที่ทำมาจากไม้จริงชิ้นเล็กๆ นำมาต่อกันเป็น Pattern ที่มีลวดลายหลากหลายคล้ายโมเสค ซึ่งได้จากการตัดท่อนไม้เป็นส่วนๆ โดยส่วนที่มีหน้ากว้างขนาดใหญ่จะใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือไม้พื้นแผ่นใหญ่ ส่วนปีก และเศษไม้ชิ้นเล็กจึงถูกนำมาทำเป็นไม้ปาร์เกต์ เพื่อเป็นการใช้ไม้ให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยปกติแล้วพื้นไม้ปาร์เกต์จะใช้กาวติดเข้ากับพื้นคอนกรีต หรือ จะมีลิ้นสำหรับยึดชิ้นปาร์เกต์เข้ากันด้วย แต่สำหรับปาร์เกต์ขนาดใหญ่ที่มีความยาวตั้งแต่ 60  ซม. ขึ้นไปอาจจะต้องตอกตะปูยึดกับตงเพื่อความแข็งแรงแน่นหนา

Benefit : ข้อดี

- พื้นไม้ปาร์เก้ต์มีสีสัน ลวดลาย และชนิดเนื้อไม้ให้เลือกอย่างหลากหลาย เช่น ปาร์เก้ต์ไม้แดง ปาร์เก้ต์ไม้สัก ปาร์เก้ต์ไม้ตะแบก หรือ ปาร์เกต์บางชนิดเป็นชิ้นไม้เกรดธรรมดาแต่ปิดผิวหน้าด้วยไม้เนื้อดี

- ให้บรรยากาศที่อบอุ่น เป็นธรรมชาติ สามารถสร้างลวดลาย Pattern ได้หลากหลายกว่าพื้นไม้ทั่วไป

- หากชำรุดเสียหาย ก็สามารถซ่อมแซมเฉพาะจุด โดยขัดผิวเคลือบเนื้อไม้ใหม่ได้

- ไม่เก็บฝุ่น ดูแลทำความสะอาดง่าย ทำให้ไม่เกิดการสะสมแหล่งของโรคภูมิแพ้

- ทนต่อแรงกระแทก และทนต่อรอยขูดขีดได้ดี ซึ่งจะทนได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผิวหน้าว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้ออ่อน

- ให้ผิวสัมผัสที่เรียบ สบายเท้า เดินแล้วรู้สึกแน่น ไม่มีเสียงแครก หรือ เสียงกลวง

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่สามารถปูทับวัสดุอื่นๆได้ทันที เช่น พื้นแกรนิต หรือ พื้นกระเบื้องเคลือบ เพราะจะไม่ได้ระดับที่แม่นยำ ทางที่ดีควรเคลียร์พื้นที่ให้เป็นพื้นปูนเรียบๆ แต่ถ้าหากไม่สามารถรื้อวัสดุเดิมได้จริงๆ ควรใช้แผ่นยางปูทับหน้าวัสดุเดิมเพื่อปรับระดับก่อนจะปูปาร์เกต์ทับอีกที

- ไม่ทนต่อน้ำ ความชื้น และปลวก ดังนั้นจึงต้องเคลือบน้ำยากันปลวก และพยายามเลี่ยงความชื้นให้มากที่สุด

- มีโอกาสยืด หด และบวมพองได้

- มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ

เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย "พื้นไม้เทียม" ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 4 ประเภท

พื้นไม้ลามิเนต (Laminate Wood Flooring​) คืออะไร

พื้นไม้ลามิเนต คือ พื้นไม้ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยมีไม้เป็นส่วนประกอบแค่บางส่วน ในปัจจุบันพื้นประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความทนทาน สวยงามเหมือนไม้จริง และติดตั้งง่าย อีกทั้งมีระบบล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ การเปลี่ยนจากการเชื่อมต่อด้วยกาวมาเป็นการเชื่อมโดยใช้กลไกเล็กๆน้อยๆก็ทำให้การติดตั้งเป็นไปได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว

สำหรับความหนาที่นิยมนำไปใช้งาน จะมีความหนาตั้งแต่ 6 -12 มิลลิเมตร โดยขนาดความกว้าง x ยาว ที่นิยมนำไปใช้งาน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 195 x 1200  มิลลิเมตร และในส่วนอายุการใช้งานนั้น เกรดธรรมดาจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี และเกรดพรีเมี่ยม มีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

- มีผิวสัมผัสที่สวยงามให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริง

- สามารถเลือกสี หรือลายไม้ตามแบบที่เราต้องการได้

- มีความทนทานต่อการรับน้ำหนัก และทนแรงกระแทกขีดข่วนได้ดีในระดับหนึ่ง 

- มีน้ำหนักเบา

- ติดตั้ง หรือ เปลี่ยนแผ่นแบบเฉพาะจุดโดยไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเวลาเเผ่นใดแผ่นนึงเกิดความเสียหาย ซึ่งทำได้ง่ายรวดเร็วด้วยระบบกลไกการล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ หรือที่เรียกว่า Click Lock

- สามารถปูทับ พื้นกระเบื้องได้เลย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่ทนน้ำ และความชื้นสูง ถ้าหากโดนน้ำขังนานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดการพองบวม และบิดตัว

- มีโอกาสโดนปลวกกินถ้าเลือกใช้เกรดไม่ดี

- มักจะเกิดความเสียหายเวลาที่รับน้ำหนักวัตถุที่มีลักษณะเป็นเดือยแหลมคม เช่น ส้นของรองเท้าส้นแหลม เป็นต้น

- ไม่สามารถทำความสะอาดด้วยการใช้แว๊กซ์ น้ำยาขัดเงา หรือ น้ำยาที่มีส่วนผสมของสบู่ เพราะจะทำให้พื้นลามิเนตเกิดความเสียหายได้

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite Flooring หรือ WPC) คืออะไร

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต คือ วัสดุปูพื้นที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกันนั่นเอง

ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเห็นพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตถูกนำไปใช้งานภายนอกอาคารเสียเป็นสวนใหญ่ เช่น พื้นรอบๆสะว่ายน้ำ พื้นทางเดินในสวน หรือ พื้นระเบียงภายนอก ฯลฯ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี 

Benefit : ข้อดี

- ไม่มีมอด และแมลงรบกวน

- มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน

- ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน)

- มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี

- ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง

- สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

- ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ

- มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้

Disadvantage : ข้อเสีย

-  เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว

- ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส

- พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก

พื้นไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Wood Fiber Cement Flooring​)​ คืออะไร

พื้นไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์  จัดเป็นวัสดุทดแทนไม้จริง ที่มีส่วนผสมของ ปูน,ทราย,ผงไม้ และนำมาผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน เช่น ไม้พื้น,ไม้ระแนง ,ไม้ฝา และไม้เอนกประสงค์ เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี 

Benefit : ข้อดี

- เป็นวัสดุที่หาซื้อง่าย ราคาถูกพบได้ตามร้านค้าวัสดุที่มีตามท้องตลาด

- ทนทานต่อแดด และฝน มีความเหนียว และทนต่อแรงกระแทกได้ดีในระดับหนึ่ง

- สามารถทำสี และเลือกสีให้เหมือนไม้จริงได้ บางทีมองไกลๆจนแยกไม่ออกว่าเป็นพื้นไม้เทียม

- สามารถตัดแต่ง เจาะสกรูได้เหมือนไม้จริง

- ปลวก และแมลงไม่กิน

- ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ไม่หด บิด งอ และไม่ผุเหมือนไม้จริง

Disadvantage : ข้อเสีย

- ความแข็งแรงของไม้ระแนงไฟเบอร์ซีเมนต์ขึ้นอยู่กับระยะโครงคร่าวและความหนาของหน้าตัดไม้ระแนง ถ้าคำนวนไม่ดีอาจทำให้เสี่ยงเกิดความเสียหายจากการใช้งาน เนื่องจากมีความแข็งแรงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

- มีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก เพราะมีส่วนผสมของปูน และทราย(ซิลิก้า)

- ถึงแม้ระแนงไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์จะทำสีเลียนแบบได้เหมือนไม้จริง แต่ต้องอาศัยฝีมือของช่างในการทาสีให้เหมือน ไม่อย่างงั้นงานจะออกมาเละเทะ

- เวลาสัมผัสพื้นผิวจะรู้สึกร้อน เนื่องจากตัววัสดุมีคุณสมบัติสะสมความร้อน เพราะมีส่วนผสมของซีเมนต์

- ในการทำสีจะมีโอกาสลอกได้ง่าย  ถ้าหากโดนขูดขีดก็จะเป็นรอยที่เห็นเป็นเนื้อปูนสีขาว  และไม่สามารถขัดผิวแก้ไขได้เหมือนไม้จริง   

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineered Wood Flooring) คืออะไร

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ คือ นวัตกรรมใหม่ของไม้พื้นที่มีโครงสร้างเลเยอร์มากกว่า 1 ชั้น ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการบิดงอ หรือ การขยายตัวของไม้จริง ด้วยวิธีการนำผิวหน้าไม้จริงที่ต้องการมาประกบเข้ากับไม้ชั้นอื่นๆที่มีความแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นไม้อัด ไม้สน หรือไม้ยางพารา โดยออกแบบให้การยืดหดตัวของไม้มีความสมดุลตามหลักการของวัสดุศาสตร์ เพื่อที่จะต้านทานการบิดตัว โก่งงอ หรือ การยืดขยายของไม้ผิวหน้า 

Benefit : ข้อดี

- มีสีสัน ลวดลาย และชนิดเนื้อไม้ ให้เลือกอย่างหลากหลาย 

- ให้บรรยากาศที่อบอุ่น เป็นธรรมชาติ

- หากชำรุดเสียหาย ก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่มีปัญหาได้ทันที 

- เนื่องจากพื้นไม้เอ็นจิเนียร์นั้นได้ผ่านการทำสี และเคลือบผิวหน้าไม้มาแล้ว ในส่วนของการติดตั้งจึงสามารถทำได้ง่าย และรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมีขั้นตอนของการขัดทำสี 

- ทนต่อแรงกระแทก และทนต่อรอยขูดขีดได้ดี ซึ่งจะทนได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผิวหน้าว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้ออ่อน

- ให้ผิวสัมผัสที่เรียบ สบายเท้า เพราะไม้ผิวหน้าเป็นไม้ธรรมชาติ 

- เดินแล้วรู้สึกแน่น ไม่มีเสียงแครก หรือ เสียงกลวง เพราะติดตั้งด้วยกาว

Disadvantage : ข้อเสีย

- ในกรณีที่ใช้งานไปนานๆ แล้วอยากจะขัดทำสีใหม่นั้น จะมีข้อจำกัดที่ว่าสามารถทำได้ไม่เกิน 2 ครั้ง เนื่องจากไม้ผิวหน้าค่อนข้างบาง ผู้ใช้งานส่วนมากจึงนิยมเปลี่ยนแผ่นใหม่ หรือเปลี่ยนสีพื้นไปเลย

 - ไม่ทนต่อน้ำ และความชื้น ถ้าแช่น้ำนานๆจะเกิดอาการบวม พอง

 - มีราคาค่อนข้างแพง

ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้พื้นไม้ประเภทใดๆนั้น เราควรพิจารณาดูว่าพื้นไม้ประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะนำไปตกแต่งมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นด้านราคา ,ความสวยงาม ความคงทน และการดูแลรักษาทำความสะอาด เป็นต้น

ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ wazzadu.com ด้วยนะครับ

Wazzadu Encyclopedia : ข้อมูลวัสดุศาสตร์ในหมวดอื่นๆที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ