เปรียบเทียบคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้เทียมแต่ละประเภท

" เปรียบเทียบคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้เทียมแต่ละประเภท " ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้ลามิเนต ,พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต และพื้นไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

พื้นไม้ลามิเนต (Laminate Wood Flooring​) คืออะไร

พื้นไม้ลามิเนต คือ พื้นไม้ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยมีไม้เป็นส่วนประกอบแค่บางส่วน ในปัจจุบันพื้นประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความทนทาน สวยงามเหมือนไม้จริง และติดตั้งง่าย อีกทั้งมีระบบล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ การเปลี่ยนจากการเชื่อมต่อด้วยกาวมาเป็นการเชื่อมโดยใช้กลไกเล็กๆน้อยๆก็ทำให้การติดตั้งเป็นไปได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว

สำหรับความหนาที่นิยมนำไปใช้งาน จะมีความหนาตั้งแต่ 6 -12 มิลลิเมตร โดยขนาดความกว้าง x ยาว ที่นิยมนำไปใช้งาน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 195 x 1200  มิลลิเมตร และในส่วนอายุการใช้งานนั้น เกรดธรรมดาจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี และเกรดพรีเมี่ยม มีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

พื้นไม้ลามิเนต ผลิตมาจากผงไม้ หรือ ฝุ่นไม้ ที่ได้มาจากไม้เนื้อแข็ง โดยผ่านกระบวนการบีบอัด หรือบดอย่างละเอียดโดยผสมสารเคมีชนิดต่างๆ เช่น เมลามีน และสารป้องกันความชื้น เพื่อทำปฏิกิริยาให้ตัววัสดุมีประสิทธิภาพ และมีความคงทนเพิ่มมากขึ้น จนได้ออกมาเป็นแผ่นไม้ ที่มีการแบ่งเลเยอร์ส่วนประกอบได้ 4 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1. Overlay หรือ Wear Layer  

เป็นชั้นที่มีความทนทานสูง ทนต่อรอยขีดข่วนบนพื้นไม้ เพื่อให้ทนทานต่อการเกิดรอย นอกจากนี้ยังเคลือบด้วยเรซินที่ทนทานอีกด้วยค่ะ

ชั้นที่ 2. Decorative Paper หรือ Decorative Film 

เป็นลวดลายบนพื้นไม้ลามิเนตมีคุณสมบัติทนความร้อน และสามารถต้านทานรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ และสุดท้ายคือจะมีผลเรื่อง Fading คือสีไม่ซีดจางตามกาลเวลา ลวดลายนั้นมาจากการใช้ภาพถ่ายลายไม้เสมือนจริง หรือออกแบบโดยคอมพิวเตอร์ และนำไปเคลือบทับด้วย เมลามีน ,ลามิเนต และเคลือบด้วยเรซิน เพื่อให้ลวดลาย หรือ ผิวสัมผัสเหล่านี้ทนทานต่อรอยขีดข่วน 

ชั้นที่ 3. Core Board

จะเป็นชั้นที่หนาที่สุดในพื้นไม้แบบลามิเนต และทำจากไม้ที่ย่อยเป็นผงแล้วมาอัดเข้าแผ่นด้วยความดันสูง หรือที่เรียกกันว่า HDF Board มีการผสมกาว และสารเคมีอื่นๆ เข้าไปเพื่อให้มีความแข็งแรง อย่างไรก็ตามสารเคมี ที่ระเหยออกมาก็ไม่มากเกินไปจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค

ชั้นที่ 4. Backing or Stabilizing Film 

จะเป็นชั้นที่ป้องกันความชื้น โดยการเคลือบด้วยเมลามีน หรือ สารผสมอื่นๆ เพื่อให้เกิดความแข็งแรง และป้องกันความชื้นได้ดียิ่งขึ้น รักษาความสมดุลของแผ่นไม้ไม่ให้โก่งคดงอ พร้อมทั้งช่อยป้องกันความชื้นจากชั้นคอนกรีตด้วย

Benefit : ข้อดี

- มีผิวสัมผัสที่สวยงามให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริง

- สามารถเลือกสี หรือลายไม้ตามแบบที่เราต้องการได้

- มีความทนทานต่อการรับน้ำหนัก และทนแรงกระแทกขีดข่วนได้ดีในระดับหนึ่ง 

- มีน้ำหนักเบา

- ติดตั้ง หรือ เปลี่ยนแผ่นแบบเฉพาะจุดโดยไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเวลาเเผ่นใดแผ่นนึงเกิดความเสียหาย ซึ่งทำได้ง่ายรวดเร็วด้วยระบบกลไกการล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ หรือที่เรียกว่า Click Lock

- สามารถปูทับ พื้นกระเบื้องได้เลย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่ทนน้ำ และความชื้นสูง ถ้าหากโดนน้ำขังนานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดการพองบวม และบิดตัว

- มีโอกาสโดนปลวกกินถ้าเลือกใช้เกรดไม่ดี

- มักจะเกิดความเสียหายเวลาที่รับน้ำหนักวัตถุที่มีลักษณะเป็นเดือยแหลมคม เช่น ส้นของรองเท้าส้นแหลม เป็นต้น

- ไม่สามารถทำความสะอาดด้วยการใช้แว๊กซ์ น้ำยาขัดเงา หรือ น้ำยาที่มีส่วนผสมของสบู่ เพราะจะทำให้พื้นลามิเนตเกิดความเสียหายได้

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ เช่น ล๊อบบี้โรงแรม ,โถงสนามบิน ,ทางเดินในห้างสรรพสินค้า หรือ ทางเดินในโรงพยาบาล เป็นต้น)

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite Flooring หรือ WPC) คืออะไร

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต คือ วัสดุปูพื้นที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกันนั่นเอง

ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเห็นพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตถูกนำไปใช้งานภายนอกอาคารเสียเป็นสวนใหญ่ เช่น พื้นรอบๆสะว่ายน้ำ พื้นทางเดินในสวน หรือ พื้นระเบียงภายนอก ฯลฯ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนการผลิตพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต จะมี 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ

- การนำไม้ และเม็ด พลาสติกมาผสมกัน

- การขึ้นรูปพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต โดยใช้วิธีต่างๆกัน เช่น การอัด รีดขึ้นรูป (Extrusion) ,การฉีดขึ้นรูป (Injection) และการใช้เครื่องนาบหรือเครื่องกดความร้อนขึ้นรูป (Hot Press)

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังสามารถแบ่งประเภทของส่วนผสมต่างๆ ได้ดังนี้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polyethylene (PE based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polypropylene (PP based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Poly vinyl chrolide (PVC based ) ผสมกับผงไม้

Benefit : ข้อดี

- ไม่มีมอด และแมลงรบกวน

- มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน

- ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน)

- มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี

- ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง

- สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

- ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ

- มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้

Disadvantage : ข้อเสีย

-  เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว

- ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส

- พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก

Application : การนำไปใช้งาน

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตที่มีส่วนผสมของ PVC จะเหมาะกับการใช้งานภายในอาคารมากกว่า 

ส่วนพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตที่มีส่วนผสมของ PP และ PE  จะเหมาะกับการใช้งานภายนอกอาคารมากกว่า เนื่องจากทนแดด ทนฝนได้ดีกว่า (ส่วนใหญ่แล้วพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตมักนิยมนำไปใช้ภายนอกอาคารมากกว่าภายในอาคาร)

ผู้สนับสนุน

พื้นไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Wood Fiber Cement Flooring​)​ คืออะไร

พื้นไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์  จัดเป็นวัสดุทดแทนไม้จริง ที่มีส่วนผสมของ ปูน,ทราย,ผงไม้ และนำมาผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน เช่น ไม้พื้น,ไม้ระแนง ,ไม้ฝา และไม้เอนกประสงค์ เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

ไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่นิยมนำมาใช้ทำพื้นนั้น เป็นไม้เทียมที่มีส่วนผสมของ ปูน,ทราย,เกล็ดไม้,ชิ้นไม้ขนาดเล็ก,ผงไม้,เส้นใยไม้ แล้วนำมาผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในรูปแบบต่างๆตามประเภทการใช้งาน โดยวัสดุผสมข้างต้นที่ได้กล่าวไปจะเรียกว่า “วัสดุประกอบ” (Composite Materials) ซึ่งใช้ผลิตเป็นไม้สังเคราะห์ประเภทต่างๆตามชนิดของ Raw Material ได้ดังนี้

- เส้นใยเซลลูโลสผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เรียกว่า ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fibercement)

- ผงไม้ผสมกับพลาสติก เรียกว่า WPC หรือ Wood Plastic Composite

- ชิ้นไม้ขนาดเล็กผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เรียกว่า ไม้อัดซีเมนต์ หรือ แผ่นชิ้นไม้อัดซีเมนต์ความหนาแน่นสูง (Wood Cement Board หรือ Cement Bonded Particle Board)

- ผงไม้และเส้นใยผสมกับกาวสังเคราะห์ เรียกว่า แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (MDF หรือ Medium Density Fiber Board)

Benefit : ข้อดี

- เป็นวัสดุที่หาซื้อง่าย ราคาถูกพบได้ตามร้านค้าวัสดุที่มีตามท้องตลาด

- ทนทานต่อแดด และฝน มีความเหนียว และทนต่อแรงกระแทกได้ดีในระดับหนึ่ง

- สามารถทำสี และเลือกสีให้เหมือนไม้จริงได้ บางทีมองไกลๆจนแยกไม่ออกว่าเป็นพื้นไม้เทียม

- สามารถตัดแต่ง เจาะสกรูได้เหมือนไม้จริง

- ปลวก และแมลงไม่กิน

- ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ไม่หด บิด งอ และไม่ผุเหมือนไม้จริง

Disadvantage : ข้อเสีย

- ความแข็งแรงของไม้ระแนงไฟเบอร์ซีเมนต์ขึ้นอยู่กับระยะโครงคร่าวและความหนาของหน้าตัดไม้ระแนง ถ้าคำนวนไม่ดีอาจทำให้เสี่ยงเกิดความเสียหายจากการใช้งาน เนื่องจากมีความแข็งแรงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

- มีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก เพราะมีส่วนผสมของปูน และทราย(ซิลิก้า)

- ถึงแม้ระแนงไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์จะทำสีเลียนแบบได้เหมือนไม้จริง แต่ต้องอาศัยฝีมือของช่างในการทาสีให้เหมือน ไม่อย่างงั้นงานจะออกมาเละเทะ

- เวลาสัมผัสพื้นผิวจะรู้สึกร้อน เนื่องจากตัววัสดุมีคุณสมบัติสะสมความร้อน เพราะมีส่วนผสมของซีเมนต์

- ในการทำสีจะมีโอกาสลอกได้ง่าย  ถ้าหากโดนขูดขีดก็จะเป็นรอยที่เห็นเป็นเนื้อปูนสีขาว  และไม่สามารถขัดผิวแก้ไขได้เหมือนไม้จริง   

Application : การนำไปใช้งาน

พื้นไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร แต่ส่วนมากแล้วมักจะนำไปใช้งานภายนอกอาคารเสียมากกว่า เช่น พื้นระเบียง ,พื้นทางเดิน ,พื้นรอบๆสระว่ายน้ำ หรือ พื้นระแนง ฯลฯ

ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้พื้นไม้เทียมประเภทใดๆนั้น ควรไตร่ตรองดูอย่างละเอียดในทุกๆมิติ เนื่องจากมีองค์ประกอบในการตัดสินใจที่หลากหลาย นอกจากข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ของพื้นไม้เทียมแต่ละประเภท​ชุดนี้แล้ว 

เราควรพิจารณาดูว่าพื้นไม้เทียมประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับบริบทสภาพพื้นที่ ที่เราจะติดตั้งมากน้อยเพียงใด รวมถึงปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ความปลอดภัยในการใช้งาน ,ความสวยงาม ,การดูแลรักษา ,การทำความสะอาด ,การซ่อมบำรุง หรือ อายุการใช้งาน เพราะเมื่อตัดสินใจไปแล้วมันจะอยู่กับคุณไปอีกนาน และคงไม่มีใครอยากจะแก้ไข หรือ รื้อออกเพื่อปรับปรุงบ่อยๆแน่นอน

ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ wazzadu.com ด้วยนะครับ

Wazzadu Encyclopedia : ข้อมูลวัสดุศาสตร์ในหมวดอื่นๆที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ