" The Bright " เรียบง่าย แต่ไม่ธรรมดา การออกแบบหอพักนักศึกษาภายใต้แนวคิด "ความคิดสร้างสรรค์ และ ชีวิตที่มีพลัง"
โปรเจค " The Bright " เป็นอาคารหอพักสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก โดยจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในการพักอาศัย และให้ความปลอดภัยแก่นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในละแวกมหาวิทยาลัย
" The Bright " เป็นผลงานการออกแบบโดยทีมสถาปนิกจาก Silp Architects โดยหอพักถูกออกแบบให้ตัวอาคารมีความสูงทั้งหมด 8 ชั้น แบ่งเป็น 2 อาคาร โดยใช้โครงสร้างแบบ Post-Tension Structure หรือพื้นไร้คาน เพื่อให้เกิดความคงทนแข็งแรง และได้พื้นที่การใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งในแต่ละอาคารจะมีทั้งหมด 77 ห้อง ประกอบด้วยห้องแบบ Studios 70 ห้อง และห้องแบบ One-Bedroom Dormitories 7 ห้อง
สถาปนิกได้รับโจทย์ในการออกแบบโปรเจคนี้จากทีมงานด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ โดยเป็นโจทย์ที่ต้องอยู่ภายใต้แนวคิด "ความคิดสร้างสรรค์ และ ชีวิตที่มีพลัง" นี่จึงเป็นความท้าทายในการออก ซึ่งทีมสถาปนิกจะต้องออกแบบ Space ที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน ช่วยกระตุ้นให้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการแก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นวัยรุ่น ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความเรียบง่ายสงบในการใช้งานเป็นที่พักอาศัยด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการเลือกใช้วัสดุ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย แต่มีรูปแบบที่ทันสมัย เหมาะกับผู้ใช้งานยุคใหม่
Silp Architects ได้ออกแบบห้องพักโดยจัดแนวแกนของทั้ง 2 อาคาร ให้ขนานไปกับแกนด้านทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก โดยหันฝั่งด้านในของอาคารทั้ง 2 เข้าหากัน เพื่อให้ร่มเงาซึ่งกันและกัน ซึ่งช่วยลดผลกระทบด้านความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้กับตัวอาคารได้ นอกจากนี้ในส่วนด้านหน้ามีพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้สีเขียวขจีเป็นแนวยาว ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
ในความพยายามที่จะทำลายกรอบแบบเดิมๆของอาคารหอพักนักศึกษาที่ซ้ำซาก และเข้มงวด สถาปนิกจึงต้องการที่จะนำเสนอรูปแบบที่แปลกใหม่ ด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันสามอย่าง คือราวกันตกบันได และระเบียง ,แผ่นพื้น และผนัง ซึ่งราวกันตกบันได และระเบียง ทำมาจากวัสดุเหล็ก โดยออกแบบให้มีลักษณะ Pattern ที่เป็นเส้นทแยงมุม ซึ่งถูกนำมาใช้ตกแต่งทั้งอาคารถือเป็นการนำวัสดุที่ใช้บ่อยๆอยู่แล้วอย่างเหล็ก มาออกแบบตกในรูปลักษณ์ที่แตกต่าง และแปลกใหม่กว่าอาคารหอพักทั่วๆไป
นอกจากนี้ยังหยิบนำอัตลักษณ์ความเป็นเส้นตรงแนวนอนของแผ่นพื้นในแต่ละชั้นมาสร้างเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรม ด้วยการออกแบบในเส้นพื้นแนวนอนแต่ละชั้นยื่นออกมาจากตัวผนัง ซึ่งก่อให้เกิดมิติเฉดเงาทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย แต่มีความน่าสนใจซ่อนอยู่ และยังช่วยบังแดดรวมถึงป้องกันฝนสาดให้กับพื้นที่ระเบียงภายนอกของแต่ละห้องได้อีกด้วย และเมื่อเรามองดูภาพรวมของอาคารจากภายนอกเราจะพบว่า เส้นพื้นแนวนอนในแต่ละชั้น รวมถึงพื้นที่ภายในของระเบียงถูกแต่งแต้มด้วยโทนสีเหลืองสดใส ที่ตัดกับโทนสีเทาเข้มของผนังอาคารได้อย่างชัดเจน สะดุดตา
Lobby ชั้นล่าง เป็นพื้นที่โถงลิฟท์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยในการสกรีนคนเข้าออก เมื่อเดินเข้ามาจะพบผนังกั้น และประตูทางเข้าโถงลิฟท์แบบกรงเหล็กโปร่ง โดยถูกออกแบบให้มีลักษณะ Pattern ที่เป็นเส้นทแยงมุม ซึ่งช่วยในการระบายอากาศตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ สำหรับจุดเด่นที่ทำได้ดีมากๆในการหยิบนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาตกแต่งเพื่อสร้างความแตกต่างไม่เหมือนใคร ก็คือการนำองค์ประกอบงานระบบอาคาร อย่าง ตู้ดับเพลิง และท่อเหล็ก มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งที่สร้างสรรค์ ด้วยการแต่งแต้มสีสันที่สดใสสะดุดตา อีกทั้งยังให้ความกลมกลืนเข้ากันได้ดีกับภาพวาดที่ช่วยกระตุ้นจินตนาการความคิดสร้างสรรค์บนผนัง และประตูลิฟท์ใน Mood Tone ที่สบายๆผ่อนคลาย
นอกจากนี้สถาปนิกยังได้นำแผ่น Metal Sheet ซึ่งถูกทาด้วยสีขาวที่ให้ความรู้สึกปลอดโปร่งสบายตามาใช้ตกแต่งปิดผิวผนัง และฝ้าเพดานเพื่อหุ้มบังระบบสายไฟ นอกจากนี้พื้นของอาคารในทุกๆชั้นล้วนถูกตกแต่งด้วยความเรียบง่ายที่สุดในรูปแบบของสัจจะวัสดุ ด้วยการใช้ปูนเปลือยขัดมันที่ให้ความรู้สึกแบบลอฟ์ทนิดๆได้อย่างมีเสน่ห์
สำหรับการตกแต่งห้องพักทั้งสองแบบนั้น พื้นไม้ และผนังหัวเตียงซึ่งทำจากไม้ลามิเนตที่มีการจัดเรียง Pattern แบบเส้นทแยงมุมสะดุดตา ถูกนำมาใช้ในการสร้างอัตลักษณ์เด่นให้กับห้องพัก ซึ่งให้บรรยากาศที่อบอุ่นเป็นธรรมชาติ โดยห้องนอนแบบ One-Bedroom Dormitories จะอยู่บริเวณห้องหัวมุมของอาคาร โดยสามารถมองเห็นทัศนียภาพภายนอกผ่านหน้าต่างบานใหญ่ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการแบ่ง Space พื้นที่การใช้งานให้เป็นสัดส่วน ซึ่งประกอบด้วยห้องนอน พื้นที่นั่งเล่น ห้องน้ำ และพื้นที่รับประทานอาหาร
เมื่อเปรียบเทียบกับห้องแบบ Studios จะมีพื้นที่นั่งเล่นขนาดใหญ่ และตู้เสื้อผ้าแบบ walk-in closet นอกจากนี้ประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ความเป็นส่วนตัว และการแบ่ง Space การใช้งานในพื้นที่แต่ละส่วน และเมื่อเปิดประตูบานเลื่อนออก เมื่อใช้สายตามองไปรอบๆ จะทำให้เห็นถึงการเชื่อมต่อ Space พื้นที่การใช้งานที่ความรู้สึกเป็นพื้นที่เดียวกันได้อย่างลื่นใหล
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu.com
รูปภาพประกอบโดย Silp Architects
Photographer : Jirayu Rattanawong
วัสดุตกแต่งเทียบเคียงในหมวด "พื้นไม้ลามิเนต"
สินค้าเทียบเคียงในหมวด"พื้นไม้ลามิเนต"
วัสดุตกแต่งเทียบเคียงในหมวด "ไม้ลามิเนตปิดผิวผนัง"
สินค้าเทียบเคียงในหมวด"ไม้ปิดผิว - วัสดุปิดผิวผนัง"
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม