ตกแต่งสถาปัตยกรรมไทย ด้วยวัสดุกระจกเกรียบจากซินโครตรอน

งานหุงกระจกเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของงานช่างสิบหมู่โบราณ มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 กระจกดังกล่าวรู้จักกันว่า “กระจกเกรียบ” ซึ่งเป็นวัสดุแวววาว ที่วิธีทำเกือบจะเสื่อมสลายไป แต่แสงซินโครตรอน แสงเล็กๆ ทางวิทยาศาสตร์สามารถนำกลับมาใช้งานทางด้านสถาปัตยกรรมได้ใหม่ โดยที่ตัววัสดุไม่เสียรูปทรงคงเดิมจากอดีต

ดั้งเดิมกระจกเกรียบเป็นกระจกสีที่ทำขึ้นมาโดยใช้แร่ดีบุกเป็นพื้นรองรับ และเคลือบด้วยตัวยาโบราณ อย่างเช่น ดินประสิว ปากกล้อง กากและแป้ง จึงทำให้ตัวผิวมีความมันวาว ส่วนที่เป็นสีบนผิวกระจกจะใช้ตัวยาซึ่งได้มาจากแร่ธาตุต่างๆ และมีดีบุกเป็นแผ่นบางๆ รองรับอยู่ข้างล่างทำให้คล้ายแผ่นข้าวเกรียบดิบ จึงเรียกกันต่อๆ มาว่ากระจกเกรียบ คุณสมบัติเด่นของกระจกชนิดนี้คือ สามารถใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นได้ง่ายเพื่อประยุกต์และดัดแปลงในการตกแต่ง นอกจากนี้ยังขับเน้นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยออกมาผ่านสีสันได้อย่างสวยงาม

จึงเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในงานที่ต้องการประดับลวดลายอันละเอียดอ่อน สวยงาม เช่นฝาผนัง บุษบก เครื่องราชภัณฑ์ เครื่องใช้ทางศาสนา วัดวาอาราม และวัตถุโบราณอันมีค่าอีกมากมาย

แต่ในทุกวันนี้วัสดุกระจกเกรียบโบราณได้มีการเสื่อมโทรม และเกือบจะสูญหายไปตามกาลเวลา คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจึงได้ศึกษาสมบัติของกระจกเกรียบโบราณ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะวิจัยนำตัวอย่างกระจกเกรียบโบราณจากวัดพระแก้วไปดำเนินการศึกษา

โดยใช้แสงซินโครตรอนตรวจสอบด้วยเทคนิคการ ‘การเรืองรังสีเอกซ์’ ศึกษาตั้งแต่ กระจกแต่ละสีประกอบด้วยธาตุชนิดใดบ้างและธาตุเหล่านั้นมีปริมาณเท่าไร เนื่องจากแก้วนั้นมีอยู่หลายชนิด เช่น แก้วโซดาไลม์ แก้วตะกั่วหรือแก้วคริสตัล  นอกจากนี้ยังใช้เทคนิค ‘การดูดกลืนรังสีเอกซ์’ เพื่อศึกษาโครงสร้างอะตอมของธาตุองค์ประกอบเหล่านั้นด้วยว่ามีการเรียงตัวกันแบบใด ซึ่งเหล่านี้ เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเกิดสีแต่ละสีในเนื้อแก้วของกระจก ข้อมูลดังกล่าวจึงมีความสำคัญสำหรับการคำนวณสูตรแก้วที่จะทดลองทำขึ้นมาใหม่ ให้มีสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมี เช่นเดียวกับแก้วโบราณดั้งเดิมที่เคยมีอยู่

การฟื้นฟูวัสดุโบราณเพื่อนำกลับมาตกแต่งให้สวยงามเช่นเคย ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เทคโนโลยี “แสงซินโครตรอน” สามารถวิจัยได้ลึกถึงระดับโครงสร้างอะตอม จนสามารถรู้สูตรหุงกระจกเกรียบโบราณที่มีอายุกว่า 200 ปีได้สำเร็จ และเหมือนของจริงดั้งเดิมทุกรายละเอียด ตั้งแต่ลักษณะที่มีความบางเหมือนแผ่นข้าวเกรียบดิบ และมีความแวววาวสูง เพื่องานโครงสร้างที่ต้องการประดับกระจกอันวิจิตร ซึ่งในเวลานี้ซินโครตรอนได้ทำสีเลียนแบบสีโบราณได้ครบถ้วนแล้ว และยังพัฒนาต่อยอดจนทำสีกระจกเกรียบใหม่ๆ อย่างเช่น สีชมพูพีชได้อีกด้วย

วัสดุกระจกเกรียบเป็นวัสดุที่ส่งผลต่อการรับรู้ของมนุษย์ ในแง่ของมรดกทางโบราณและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่แสงซินโครตรอนหาสูตรกระจกเกรียบได้ ทำให้มรดกชิ้นนี้มีอายุยืนยาวขึ้น แต่แสงซินโครตรอนไม่ได้วิจัยแค่สูตรกระจกเกรียบเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบเพื่อพัฒนาและปรับปรุงตัววัสดุอื่นๆ ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เหมือนกับหลากหลายธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลานี้

#Wazzadu #RealizeArchitecturalImagination #Slri #สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน #กระจกเกรียบ

“สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน” สถานที่สำคัญขนาดใหญ่ที่คนส่วนมากไม่เคยรู้จัก ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ในการกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งนับเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีวิศวกรรมอันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถตอบโจทย์ได้อย่างลึกซึ้งทางวัสดุถึงระดับอะตอมและโมเลกุล ซึ่งมีการนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายด้าน ทั้งทางด้านเกษตร ด้านการแพทย์ ด้านเภสัชกรรม และด้านอุตสาหกรรม


...

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ