Sangdong-eup อาคารที่นำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ภายในผ่านหลังคากระจกที่ให้ความโปร่งเบา และช่วยลดทอนความกระด้างของวัสดุ และรูปทรงทางสถาปัตยกรรม
Sangdong-eup เคยเป็นเหมืองผลิตทังสเตนแหล่งสำคัญของประเทศเกาหลีใต้ จำนวนที่ผลิตได้คิดเป็นปริมาณ 10% จากทั้งโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1970 แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 24,000 คน รวมทั้งคนงานที่อาจอยู่โดยรอบพื้นที่เขตนั้นด้วย ต่อมาหลังจากที่เหมืองแห่งนี้ถูกทิ้งร้างจำนวนผู้อยู่อาศัยได้ลดลงเหลือเพียง 1,200 คน จนกลายเป็นพื้นที่ ที่มีประชากรน้อยที่สุดในเกาหลีใต้ และถ้าหากไม่ทำอะไรสักอย่างผู้คนก็จะย้ายออกไปเรื่อยๆ จนพื้นที่เหมืองเก่าแห่งนี้ ร้างสาบสูญไปตามกาลเวลา ต่อมาได้มีแนวคิดในการฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ไม่ให้ร้างสาบสูญ ซึ่งแนวคิดนี้ต้องมีความยั่งยืนที่จะทำให้พื้นที่แห่งนี้ยืดหยัดได้ด้วยตัวเอง หน่วยงานท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน โดยเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้เป็นอาคารซาวน่า และใช้สำหรับอบถ่านซึ่งเป็นสินค้าหลักของท้องถิ่น และได้ออกแบบอาคารให้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวในรูปฟอร์มแบบ Deconstruction สำหรับรองรับการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องที่อีกด้วย
อาคารแห่งนี้ยังมีความน่าสนใจในเรื่องการนำพื้นที่มาใช้ในการสร้างกิจกรรมในด้านอื่นๆอีก โดยเฉพาะการออกแบบวางผังที่สามารถทำให้ผู้เยี่ยมชมอาคารสามารถใช้พื้นที่แห่งนี้ในการทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างยืดหยุ่น โดยอ้างอิงจากผังการออกแบบอาคารที่ก่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายภายในอาคาร
ส่วนที่น่าสนใจ และโดดเด่นที่สุดของอาคารแห่งนี้คือการนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ภายในอาคารเป็นส่วนใหญ่ เป็นการนำพลังงานธรรมชาติเข้ามาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานอาคาร อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยหลังคาของอาคารเกือบทั้งหมดเป็น Skylight Glass วัสดุหลักจึงเป็นกระจกที่มีความแข็งแรงทนทานสูง
หลังคากระจก Skylight นอกจากจะให้ประโยชน์ในการนำแสงธรรมชาติมาใช้ภายในอาคารแล้ว ยังช่วยลดความแข็ง หรือความหยาบกระด้าง ของรูปทรงอาคารที่วัสดุหลักเป็นคอนกรีตเปลือย กระจกจึงช่วยทำให้อาคารมีความโปร่ง และเบามากขึ้น
หมู่บ้านแห่งนี้ในปัจจุบันสามารถใช้สถาปัตยกรรมเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ และบริบทได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ที่สำคัญคือสอดคล้องกับนโยบายและงบประมาณจากทางภาครัฐ ถือว่าเป็นอาคารตัวอย่างที่ดี ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวคิดในการพัฒนาชุมชนอื่นๆได้อีกมากมาย
รูปภาพประกอบโดย www.archdaily.com
ผู้เขียนบทความ