สี Color กับคุณสมบัติที่น่ารู้ก่อนจะนำเอาไปใช้งาน

เรื่องของสี ในงานตกแต่งภายในในที่นี้จะพูดถึงการใช้สีกับวัสดุ 3 ประเภท คือ งานปูน งานเหล็ก และงานไม้

สีสำหรับงานปูน

 

ก่อนที่เราจะเริ่มทาสี เราควรรู้จักขั้นตอนการทาก่อน

ขั้นแรก การเตรียมพื้นผิว

ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากที่สุด เพราะการเตรียมพื้นผิวอย่างถูกต้อง จะทำให้สีที่ทาลงไปมีความสวยงาม     กลมกลืนเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนทาสีทุกครั้งต้องทำความสะอาดคราบฝุ่นคราบไขมันบนพื้นผิวก่อนด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง หากมีราหรือตะไคร่น้ำต้องกำจัดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หากเป็นผนังปูนเก่าและสีเดิมอยู่ในสภาพหลุดล่อนชำรุด ต้องขัดล้างสีเก่าออกก่อนให้หมด
เมื่อเตรียมพื้นผิวเสร็จแล้ว ต้องทิ้งให้แห้งสนิทก่อนที่จะทาสีใหม่ และหากมีรอยแตกร้าว ควรซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อน

ขั้นที่สอง สีรองพื้น แบ่งออกเป็นรองพื้นปูนเก่า และรองพื้นปูนใหม่

สีรองพื้นปูนใหม่ สามารถช่วยกันรอยด่างในผิวคอนกรีตที่มีอายุเกิน 28วัน  คุณภาพสีทับหน้าจะไม่เพี้ยน นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยยึดเกาะระหว่างเนื้อสีจริงกับพื้นผิวคอนกรีตด้วย  สีรองพื้นปูนใหม่เหมาะสำหรับใช้ทาผนังฉาบปูนใหม่เท่านั้น เพื่อป้องกันรอยด่างที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากการทาสีทับหน้าตามขั้นตอน เนื่อง จากในช่วงแรกหลังจากการฉาบผนัง ปูนฉาบจะมีการคายความชื้นออกมา ส่วนผสมของสีรองพื้นปูนใหม่จะมีคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดรอยด่างเหล่านั้น และช่วยเรื่องการยึดเกาะที่ดีสำหรับผนังฉาบปูนและสีทับหน้า ดังนั้นหากเลือกใช้สีทับหน้าคุณภาพสูง ควรเลือกสีรองพื้นคุณภาพสูงตามไปด้วย จะได้ไม่เกิดปัญหาสีลอกร่อนก่อนเวลาอันควร ทั้งที่สีทับหน้ายังคงความสดและคุณภาพดีอยู่ ซึ่งโดยทั่วไปสีรองพื้นปูนใหม่จะมีลักษณะเป็นสีขาวรองพื้น สูตรน้ำ กลิ่นจึงไม่ฉุน และราคาถูกกว่าสี/น้ำยารองพื้นปูนเก่า

สีรองพื้นปูนเก่า ส่วนใหญ่จะมีด้วยกัน 2 สูตร คือ สีรองพื้นปูนเก่าจะมีลักษณะเป็นสีขาวรองพื้น สูตรน้ำ และน้ำยารองพื้นปูนเก่า ซึ่งมีลักษณะสีใสๆ สูตรน้ำมัน  เวลาทารองพื้นพวกสูตรน้ำมันจึงมีกลิ่นที่ฉุนกว่าแต่มีคุณภาพสูงกว่าสูตรน้ำ

ซึ่งพื้นผิวเก่าที่เคยทาสีมาแล้ว หรือมีการลอกร่อน เนื่องจากสภาพปูนเก่าและความชื้น รวมทั้งมีเชื้อราและตะไคร่น้ำจับ การใช้น้ำยารองพื้นปูนเก่าสูตรน้ำมัน จะผสานการยึดเกาะระหว่างผิวเก่า และสีทับหน้าใหม่ได้ดีกว่าน้ำยารองพื้นปูนเก่าสูตรน้ำ  แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูง แต่ในระยะยาวนั้นคุ้มค่าและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับการทาสีทับหน้า ทำให้สีทับหน้าสวยสดใส มีอายุยืนยาว และให้คุณสมบัติของสีทับหน้าได้ 100%

นอกจากนี้ สีรองพื้นปูนเก่ายังใช้กับพื้นผิวผนังโครงเบาทั้งหลายด้วย เช่น แผ่นผนังยิปซั่ม แผ่นผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ แผ่นผนังไม้อัดซีเมนต์ ฯลฯ และถ้าหากทาทับด้วยสีซีเมนต์ หรือฉาบทับด้วยปูนฉาบตกแต่งอย่างสกิมโค้ท ไม่ว่าจะเป็นผนังฉาบปูนเก่าหรือ ผนังฉาบปูนใหม่ ควรรองพื้นด้วยสีรองพื้นปูนเก่าเท่านั้น เพื่อการยึดเกาะที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ขั้นที่สาม การทาสีทับหน้า สีทับหน้าหรือสีชั้นนอก มีเฉดสีต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย ควรทาทับหน้า 2-3 ครั้ง โดยทิ้งระยะให้สีที่ทาครั้งแรกแห้งสนิทเสียก่อนจึงทาทับครั้งต่อไป

สีที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดมีอยู่มากมายหลายชนิด ยิ่งถ้าจะแบ่งแยกกันอย่างละเอียดรวมถึงน้ำมันเคลือบผิวต่างๆด้วยแล้วก็มีนับร้อยชนิดเลยทีเดียว แต่ละชนิดจะมีองค์ประกอบของเนื้อสีและคุณสมบัติที่ต่างกัน อีกทั้งวัตถุประสงค์และประเภทของการใช้งานก็แตกต่างกันออกไป

ซึ่งถ้าจะนำมากล่าวถึงทั้งหมดก็คงจะเป็นรายละเอียดที่เกินความจำเป็น ในที่นี้จึงจะกล่าวถึงสีเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานทาสีบ้านเท่านั้น สีที่ใช้ในการทาบ้านที่นิยมใช้กันทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆตามวัสดุที่ใช้ทำสีและลักษณะของการใช้งาน อันได้แก่สีพลาสติกและสีน้ำมันดังนี้

สีพลาสติก

       สีพลาสติกหรือที่เรียกกันคุ้นหูอีกชื่อหนึ่งว่าสีอะคริลิก (acrylic emulsion paint) เป็นสีน้ำพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากลาเท็กซ์ พีวีเอซี โคพอลิเมอร์ (latex PVAc copolymer) ผสมกับแม่สี เป็นสีที่สามารถใช้น้ำเป็นตัวทำละลายหรือผสมสีให้เจือจาง แต่เมื่อสีแห้งได้ที่แล้วจะไม่ละลายน้ำหรือหลุดออกไปตามน้ำใช้สำหรับงานทาผิวพื้นปูนหรือคอนกรีตทั่วไป รวมทั้งอิฐและกระเบื้องแผ่นเรียบ

    สีพลาสติกดังกล่าวยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ สีสำหรับทาภายในและสีสำหรับทาภายนอก   สีพลาสติกสำหรับทาภายนอกนั้นจะมีคุณสมบัติในการทนต่อแดดและฝนได้ดีกว่าสีชนิดทาภายใน นอกจากนี้ สีพลาสติกที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมากมายหลายยี่ห้อนั้นก็ยังมีคุณสมบัติและความคงทนของสีที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับส่วนผสมและปริมาณของเนื้อสีที่มีอยู่ ทั้งนี้ ระดับราคาก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย 

    สีน้ำพลาสติกยังมีให้เลือกอีกทั้งแบบกึ่งเงา กึ่งด้าน หรือแบบเนียน หรือแบบด้าน โดยความเงาจะเรียงลำดับ คือ แบบกึ่งเงาจะมีความเงาสูงสุดในตระกูลสีน้ำ แบบด้าน คือ ไม่สะท้อนแสงเลยและแบบเนียนจะอยู่ตรงกลางระหว่างทั้ง 2 แบบ ซึ่งต่างก็มีข้อดี ข้อเสีย คือ แบบกึ่งเงาจะเช็ดล้างง่าย ฝุ่นเกาะยาก แลดูเป็นประกายเงา (หากท่านชอบ) เล่นกับแสงไฟ แต่มีข้อเสีย คือหากผนังทำไม่เรียบจะทำให้เห็นความไม่เรียบชัดเจน ซึ่งอาจแก้ได้โดย ใช้ผลิตภัณฑ์ฉาบเรียบลงก่อน หรือ เปลี่ยนไปใช้สีแบบด้าน ซึ่งไม่ฟ้องพื้นผิว แต่เรื่องการเช็ดล้างทำความสะอาดก็จะด้อยลง หรือ เช็ดล้างไม่ได้เลยก็มี

สีน้ำมัน

           สีน้ำมันหรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสีเคลือบเงา (full gloss enamel) เป็นสีน้ำมันที่ผลิตขึ้นจากแอลคิดเรซิน (alkyd resin) ผสมกับแม่สี ใช้น้ำมันหรือทินเนอร์เป็นตัวทำละลายหรือผสมสีให้เจือจาง ใช้สำหรับงานทาไม้และโลหะหรือแม้แต่ทาผิวปูนและคอนกรีต เพื่อให้เกิดความเงางาม ทำความสะอาดได้ง่าย สีน้ำมันที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่มากมายหลายประเภท ผลิตขึ้นเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในงานประเภทต่างๆได้อย่างกว้างขวาง เช่น งานอุตสาหกรรม งานโครงสร้างรวมทั้งงานซ่อมแซมต่างๆ ซึ่งสีน้ำมันแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการใช้งาน เช่น สีบางประเภทอาจจะต้องมีคุณสมบัติที่ทนต่อน้ำเค็ม สารเคมี หรือความร้อน เป็นต้น

แต่สำหรับสีน้ำมันที่ใช้ทาบ้านซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ทาวงกบ ประตู หน้าต่าง หรือบางส่วนที่เป็นเหล็กนั้นจะเป็นสีน้ำมันชนิดทั่วไป การเลือกใช้สีมักจะพิจารณาเลือกใช้ตามยี่ห้อของสีเท่านั้น เพราะสีต่างยี่ห้อกันอาจมีคุณสมบัติในด้านความคงทนและราคาที่แตกต่างกัน

งานทาสีแม้มองดูเผินๆจะไม่ใช่ของยาก แต่ถ้าจะทำให้ได้ผลงานที่ดีก็ไม่ใช่ของง่ายเช่นกัน ขั้นตอนการทาสีที่ถูกต้องเหมาะสมก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าตัวสีที่ใช้เลยทีเดียว เพราะมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ผลงานของสีที่ทานั้นมีความสวยงามเรียบร้อย และคงทน เริ่มต้นจากการเตรียมพื้นผิวของบริเวณที่จะทำการทาสี เช่น ถ้าเป็นพื้นผิวที่เป็นปูนพื้นผิวจะต้องแห้ง สะอาด ปราศจากคราบไขมัน สีเก่า หรือเศษปูนฉาบที่หลุดล่อน ถ้าเป็นพื้นผิวที่เป็นเหล็กพื้นผิวจะต้องแห้ง สะอาดปราศจากสนิม ฝุ่น ไขมัน และวัสดุที่หลุดล่อน เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้สีที่มีสภาพใหม่รวมทั้งอุปกรณ์ทาสีที่สะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนก็จะช่วยให้ได้ผลงานทาสีที่มีคุณภาพดี

สีสำหรับงานเหล็ก

การเลือกใช้สีกันสนิมอย่างถูกต้องและคุ้มค่า ส่วนประกอบสำคัญในการเลือกใช้สีกันสนิมสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบควรเลือกให้เหมาะสมกับงานเช่น

- สีรองพื้นกันสนิมจำพวก อีพ๊อกซี่ จะมีคุณภาพสูงความทนทานมากและทนต่อแรงเสียดทนทานขูดขีด

แต่จะยุ่งยากต่อเมื่อจะทำสีทับหน้าจะต้องใช้สีพวกมีสารประกอบใกล้เคียงกันทำ ให้ต้องเพิ่มงบประมาณและยุ่งยาก  เพราะ สีอีพ๊อกซี่มีราคาสูงและมีส่วนผสมมาก มีขั้นตอนที่ต้องมาผสมเอง ห้ามใช้ต่างยี่ห้อผสมกันและต้องผสมให้ตามอัตราส่วนเท่านั้นห้ามปรับเปลี่ยน เด็ดขาด ถ้าไม่ชำนาญจะทำให้สีเสียได้หรือด้อยคุณภาพ กันสนิมได้ไม่ดีเท่าที่ควร การใช้งาน ควรใช้งานที่ต้องการความคงทนของสี ไม่ต้องทำสีทับหน้าใหม่บ่อยๆเช่น เสาเหล็กสูงๆ สิ่งก่อสร้างใกล้ทะเล เครื่องบิน งานเหล็กที่มีราคาสูง

- สีรองพื้นกันสนิมจำพวก อัลขีดเรซิ่น นิยมใช้กันมาก กันสนิมได้พอใช้ มีความยืดหยุ่นของสีดี เนื่องจากเป็นผงสีจำพวกเรดออกไซด์ ทนต่อแรงเสียดทานและขูดขีดปานกลาง (บางยี่ห้อผสมสารเพิ่มความแข็งแรงของฟิล์มสีใกล้เคียงสีอีพ๊อกซี่เลยทีเดียว).ใช้งานก็ง่าย ราคา ก็มีทั้งถูกและปานกลาง 

ข้อสำคัญที่ควรระวังในการใช้สีประเภทนี้คือไม่ควรผสมน้ำมันมากเกินไป จนสีไม่มีสารกันสนิมคงเหลืออยู่คือ ผสมจางเกินไป และถ้ายี่ห้อไหนให้ใช้น้ำมันสนผสม ก็ให้ใช้น้ำมันสน ถ้าให้ใช้ทินเนอร์ควรใช้ทินเนอร์เท่านั้นผสมตามอัตราส่วน ไม่ควรผสมหลายๆอย่างจะทำให้สีเสื่อมคุณภาพป้องกันสนิมได้ไม่ดีทั้งที่สีเป็น สีใหม่ การใช้งาน ใช้ได้ตั้งแต่  งานทั่วไป จนถึงงานคุณภาพปานกลาง ควรทาสีจริงทับหน้าด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเกิดสนิมให้ดียิ่งขึ้น

- สีรองพื้นกันสนิมเรดเลด สีประเภทนี้สนิมประเภทนี้มีการผสมสารกันสนิมประเภท ตะกั่วและดีบุกบางเกรดในรูปของสารละลายทำให้มีความคงทนต่อสนิมได้มากขึ้น  ในขณะที่มีการผสมของสารเพิ่มคุณภาพอื่นอีกด้วย เช่นสาร ต่อต้านการเกิดสนิม ผงสีชนิดเรดเลดสีส้ม สารเพิ่มความแข็งแรงของฟิล์มสี สารเพิ่มการยึดเกาะของสี ทำให้สีรองพื้นกันสนิมชนิดนี้ มีประสิทธิภาพที่ดี นิยมใช้ในงานอุตสาหกรรม งานทางจักรกล งานโครงสร้างขนาดใหญ่ สารผสมไม่ยุ่งยากมากไปนัก สามารถป้องกันการเกิดสนิม ได้ดีเยี่ยม และมีราคาปานกลางจนถึงสูงในบางยี่ห้อ

ยังมีสีรองพื้นกันสนิมอีกมากตามประเภทของงาน แต่จะแนะนำแต่ที่นิยมใช้กันเท่านั้น  เนื่องจากเหล็กมีราคาค่อนข้างสูง หลังจากทำสีกันสนิมแล้ว ควรทำให้สีรองพื้นกันสนิมมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถป้องกันสนิมได้อย่างแท้จริง จึงควรเลือกสีกันสนิมให้ถูกและเหมาะสมกับงาน งบประมาณ ค่าแรงงาน เวลาที่ใช้ ควรทำสีตามวิธีที่ฉลากที่ผู้ผลิตกำหนด ข้อสังเกตุที่สำคัญ มีดั้งนี้

1 . พื้นผิวต้องเตรียมให้แห้งปราศจากสนิมหรือสีเก่าคราบน้ำมัน การทาสีหรือพ่นชั้นแรกต้องบางๆ และทาสีทับหน้าด้วย แต่ละชั้นสี ควรเว้นระยะเวลาทาทับตามที่ฉลากกำหนด ทาแห้งแล้วเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันหมด

2 . ห้ามใช้สีต่างยี่ห้อผสมกัน เฉพาะสีรองพื้นกันสนิม ส่วนสีจริงที่ทาทับไม่ค่อยมีปัญหาต่างยี่ห้อทาทับได้ แต่อย่าผสมกันเด็ดขาด หลังจากผสมแล้วควรใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรผสมแล้วเก็บไว้ใช้นานๆ

3 . ห้ามใช้สีที่หมดอายุแล้วเพราะเคมีจะเสื่อมสภาพ ห้ามผสมสีกับส่วนผสมหรือน้ำยาผสมแตกต่าง จากผู้ผลิตกำหนด ทินเนอร์ก็มีหลายเบอร์เลือกผสมเบอร์ให้ถูกต้อง

4 .กรณี สีทับหน้าเป็นสีอ่อน เช่น สีขาว ชมพู หรือครีม ควรเลือกใช้สีรองพื้นกันสนิม-สีอ่อนด้วยเช่น สีรองพื้นกันสนิมสีเทาอ่อน เพราะสีกันสนิมสีเข้มจะทำให้สีทับหน้าสีจริง สีอ่อนสีหมองหรือสีผิดเพี้ยนได้มาก

5 .สังเกตุว่าสีรองพื้นกันสนิมจะต้องไม่ตกตะกอนนอนก้นกระป๋องมากหรือแข็ง หลังจากผสมน้ำมันจะผสมง่ายผสมเข้ากันได้เร็ว

 

สำหรับสีทับหน้าของงานเหล็กนั้น มีด้วยกันหลายชนิดและหลายยี่ห้อ อยู่ที่เราจะเลือกใช้ ยกตัวอย่าง

- สีทับหน้าโพลียูริเทน ( Toa ) เป็นสีอะครีลิคโพลียูริเทน ใช้ทาเคลือบงานเหล็ก เหมาะกับงานที่ต้องการความทนทานสูง เช่น ทาเคลือบถังน้ำมัน  งานโครงสร้างโรงงาน  หรืออาคารภายนอกที่ต้องรับแสงแดด และสภาพอากาศที่รุนแรง ทนการขีดข่วน ทนแสงUV ทนสารเคมี ทนกรดด่าง ทนน้ำฝน ไอทะเล ยึดเกาะดีเยี่ยม

 

- สีทับหน้าอีพ๊อกซี่ (Jotan,Jbp) นอกจากจะใช้ป้องกันสนิมจากงานเหล็กแล้ว ยังเป็นสีสำหรับงานปูน งานคอนกรีต หรือจะใช้กับงานไฟเบอร์กราสและเหล็กชุบสังกะสี อลูมิเนียม สามารถใช้ได้กับงานใต้น้ำ ทนต่อการขูดขีด ทนกรดด่าง ทนต่อสารเคมีต่างๆ

 

- สีอุตสาหกรรม (Sinclair) เป็นสีทนความร้อนสูง เป็นสีซิลิโคนทนความร้อน มีส่วนประกอบของเรซิ่นพิเศษและผงอลูมิเนียม ใช้ทาเคลือบผิวเหล็กบอยเล่อร์ งานท่อปล่อง หรือเตาเผา ทนต่ออุณหภูมิความร้อนได้ 600 องศาเซียลเซียส

 

สีเคลือบเงา ( Toa ) เป็นสีน้ำมัน ผลิตจากอัลจาขีดเรซิ่น ทนแดดทนฝน ปราศจากสารปรอทและสารตะกั่ว ปลอดภัยกับผู้ใช้ ทาได้ทั้งนอกทั้งในอาคาร เหมาะสำหรับทาบนพื้นผิวเหล็ก โลหะมัน โลหะผสม ใช้ได้ดีกับเครื่องจักร สะพาน หอคอย รถบรรทุก รถประจำทางหรืองานที่ต้องการความคงทนเป็นพิเศษ

ไม้ฝาเชอร่า ,สมาร์ทบอร์ด ,กระเบื้องแผ่นเรียบ

 หลายๆ ท่านสับสนว่าไม้ฝาใช้สีประเภทใด จะใช้สีเหมือนงานไม้ได้หรือไม่ คำตอบก็คือตระกูลไม้ฝาต้องใช้สีน้ำแบบเดียวกับทาปูน เพราะไม้ฝา ,สมาร์ทบอร์ด ,กระเบื้องแผ่นเรียบนั้นส่วนผสมเป็นซีเมนต์เป็นหลัก จึงต้องใช้สีน้ำ ไม่ควรใช้สีน้ำมันและจะต้องใช้สีรองพื้นปูนเก่าเท่านั้น  เพราะไม้ฝามีความเป็นด่างสูงต้องใช้สีรองพื้นปูนเก่าจะช่วยป้องกันด่างได้ดีกว่า

งานไม้ตระกูลวงกบ ประตูหน้าต่าง

ท่านจะต้องเลือกก่อนว่าจะทาสีแบบโชว์ลายไม้ หรือไม่โชว์ลายไม้ แบบโชว์ลายจะเห็นไม้จริง เหมาะสำหรับไม้สวย มีราคา แบบไม่โชว์ลายก็จะเป็นสีทึบ ทาสีทับไม้ไปเลย
          งานไม้แบบโชว์ลายไม้ ใช้สีย้อมไม้ ทาได้โดยไม่ต้องทาสีรองพื้น ซึ่งมีทั้งแบบใสและมีสี
          งานไม้แบบไม่โชว์ลายไม้ สามารถเลือกใช้สีน้ำมันซึ่งมีทั้งแบบด้านและแบบเงาหรือจะเลือกใช้สีน้ำทาไม้ ซึ่งเป็นแบบเนียนก็ใช้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามก่อนทาสีทั้ง 2 ประเภท จะต้องทาสีรองพื้นโดยชั้นแรกจะต้องใช้รองพื้นไม่อลูมิเนียม (กรณีไม้ท่านมียาง) และจะต้องทาสีรองพื้นไม้กันเชื้อราอีกเที่ยวหนึ่งก่อนทาสีทับหน้า 2 เที่ยวต่อไป

 

งานพื้นไม้
 พื้นไม้ ภายใน เช่น ปาร์เก้ ใช้ยูรีเทนทาพื้นไม้ซึ่งมีทั้งแบบ 1 ส่วนผสมและแบบ 2 ส่วนผสม
          วิธีการใช้งานสามารถศึกษาได้จากข้อมูลเฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์ พื้นไม้ภายนอก เช่น ระเบียง ใช้สีย้อมพื้นไม้ทา ไม่ควรใช้ยูรีเทนภายนอกมาทาเพราะอาจทำให้ลอกล่อนได้ เนื่องจากการยืดหดตัวของไม้เมื่อโดนแดด

 

งานเฟอร์นิเจอร์
      ในหลายๆปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสี ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบการปกป้องพื้นผิว และเพิ่มรูปแบบสีสัน เพื่อช่วยแสดงออกถึงความรู้สึกทางอารมณ์ ทำให้มีการพัฒนาสีประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอดีตถึงปัจจุบัน มีการพัฒนาสีที่ใช้สำหรับการให้สีวัสดุต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เดิมสีที่ใช้จะอิงสีย้อมสีทอเป็นหลัก ต่อมา จึงได้มีการพัฒนาสีกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม สำหรับการให้สีวัสดุเฉพาะอย่างขึ้น ทำให้ขอบข่ายของสีมีให้เลือกขยายกว้างขวางออกไปมาก และสีที่ใช้มีสมบัติตรงกับความต้องการมากขึ้น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพสูงตามไปด้วย กล่าวได้ว่าปัจจุบัน เรามีสีที่มีคุณภาพ และมีความคงทนดีกว่าสีที่ใช้ในสมัยก่อนมาก รวมถึงมีการพัฒนาสี ให้ใส่ใจด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยลดสารตั้งต้นที่เป็นพิษ (Toxic) ในเนื้อสีลดลง เพื่อให้มีสารระเหยที่จะส่งผลกระทบที่เป็นอันตราย ต่อร่างกายมนุษย์ลงด้วย ในอนาคตอันใกล้ เป็นที่เชื่อถือได้ว่า น่าจะมีการพัฒนาสีรุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณภาพสูง และไม่มีสารพิษประกอบ ให้ใช้เพิ่มมากขึ้นอีกต่อไป

     วัตถุประสงค์ของการเคลือบสีผิว คือ การเพิ่มความสวยงามตามธรรมชาติของไม้ให้ดูดีขึ้น กระบวนการนี้ทำให้ได้ไม้ที่มีสีตามต้องการ และช่วยป้องกันเนื้อไม้จากการใช้งานประจำวัน ตลอดจนสารละลายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้กันทั่วไป กระบวนการเคลือบสีผิวนี้ จะเน้นที่ลักษณะของแบบ เทคนิคการเคลือบสีผิวสมัยใหม่ ที่ช่วยทำให้ความงามที่แท้จริงของเนื้อไม้ปรากฏชัด นอกจากนี้ ยังช่วยให้งานแบบเดียวกัน แต่มีสีต่าง ๆ กันอีกด้วย 

      นอกจากนี้ การเคลือบสีผิว ยังมีประโยชน์ต่อการใช้ไม้ที่มีราคาถูก โดยเคลือบสีผิว ให้ดูคล้ายไม้ที่มีราคาแพง สารที่ใช้ในการเคลือบสีผิว จะต้องทนทานต่อรอยขีดข่วน การขัดถู และสารปกป้องเนื้อไม้จากการเปลี่ยนแปลงความชื้นอย่างรวดเร็ว  

องค์ประกอบของสี

สี คือ สารเคมีผสม (Mixture) สำหรับนำมาใช้เคลือบ (ด้วยกรรมวิธีหนึ่งวิธีใด) เพื่อประโยชน์ในการตกแต่ง หรือคุ้มครองป้องกัน หรือเพื่อทั้งตกแต่งและป้องกันวัตถุ หรือพื้นผิวที่ถูกเคลือบ โดยปกติแล้ว จะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง และจะเกิดฟิล์มที่ผิวหน้า เมื่อแห้งโดยสัมผัสกับอากาศ หรือโดยการอบ
 

 

ชนิดและคุณสมบัติของสีที่ใช้เคลือบผิว

1. ชแลค มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ 

-  ชแลคผง  มีลักษณะเป็นผง เม็ดกลม สีเหลืองอ่อนๆ โดยทั่วไป นิยมเรียกว่า ชแลคขาว

- ชแลคเกล็ด  มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ คล้ายกระดาษแก้ว เป็นแผ่นเล็กๆ ขนาดประมาณ 1” บางทีเรียกว่า ชแลคสีส้ม เพราะเกล็ดมีสีออกแดงส้ม

ชแลค ทั้ง 2 ชนิด จะนำมาหมักกับ เมทิลแอลกอฮอล์ 100% โดยแช่ชแลคกับแอลกอฮอล์

      ปัจจุบัน นิยมใช้ขวดไนล่อนแทน เพราะหาง่าย น้ำหนักเบา มีฝาปิดมิดชิด เคลื่อนย้ายไปมาสะดวก ผิวเรียบ ขนาดพอเหมาะ สามารถยกเทได้ (ห้ามใช้ภาชนะเป็นโลหะในการหมักชแลคกับแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ทำปฏิกิริยากับโลหะ ทำให้ชแลคเสียได้) 

      ปัจจุบัน ชแลค จะมีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมน้อยมาก เนื่องจาก เม็ดสีขุ่น ไม่ใส แต่ยังพบได้บ่อย ในตลาดทั่วไป เนื่องจาก มีราคาถูก โดยใช้เป็นสีรองพื้นก่อน ทำสีจริง

 2. สารกันซึม (Sealer) 

ใช้เคลือบผิวหน้าวัสดุที่มีรูพรุนสูง หรือใช้เคลือบวัสดุที่ปล่อยสารบางประเภทออกมา ซึ่งจะทำให้ฟิล์มของสีเสียหายได้ สารกันซึมมีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้ความชื้นซึมผ่านผิวไม้ เสริมการยึดเกาะระหว่างสีชั้นถัดไปกับพื้นผิววัสดุ ป้องกันไม่ให้เกิดรอยด่าง หรือรอยตำหนิ ที่จะเกิดหลังจากเคลือบสีชั้นถัดไป ในโรงงานอุตสาหกรรม นิยมใช้ เป็นตัวรองพื้น ซึ่งสารกันซึมนี้ ต่อมาในภายหลัง เริ่มมีการพัฒนาควบคู่ไป กับสี ที่เราเรียกกันว่า ไฮกรอส ในลักษณะสีพ่น ผู้บริโภค หลายท่าน คงพอทราบปัญหากันอยู่ว่า เฟอร์นิเจอร์พ่นสีขาว เมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดเปลี่ยนสี กลายเป็นสีเหลืองแทน จริงๆ แล้ว ไม่เฉพาะสีขาว สีทุกสี มีการเปลี่ยนสีตัวเองทั้งสิ้น เพียงแค่เราไม่ได้มีตัวอย่างสีต้นแบบ เปรียบเทียบภายหลัง ซึ่งถ้ามาเปรียบเทียบอีกที เราจะพบได้ว่า สีทุกสี มีการเปลี่ยนแปลง ปัญหานี้ สมัยก่อน ก่อให้เกิดปัญหากับโรงงาน ที่ต้องมีการรับประกันสินค้า เป็นระยะเวลามาก-น้อยแล้วแต่ตกลง แต่ทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งสินค้าสีพ่นเหล่านั้น เมื่อถูกจัดวางโชว์ ต้องมีการใช้ไฟช่วยให้โดดเด่น เจอความร้อนเร่งเร้านานๆ สีที่พ่นไว้ จะเริ่มมีรอยด่างเหลือง หรือไม่ก็สี จะเริ่มเพี้ยนจากตัวอย่างสีต้นแบบ ในเวลารวดเร็ว ที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าแผ่นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำมาใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ ไม่ว่าจะเป็น ไม้อัด, PB, MDF (ตอนนั้น แผ่น HDF ยังไม่ถูกผลิตออก จัดจำหน่าย) วัตถุดิบพื้นฐาน ที่ใช้ผลิตแผ่นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้น มาจากไม้ทั้งสิ้น ซึ่งโดยธรรมชาติของไม้ จะมียางอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อนำแผ่นผลิตภัณฑ์ หรือว่าไม้จริง มาใช้งาน โดยปกติ จะมียางไม้ซึมขึ้นมา เมื่อนำสีไปพ่นทับไว้ ยางเหล่านั้น ก็จะทำปฏิกริยากับสี ทำให้เห็นเป็นรอยด่างเหลืองเป็นจุด หรือขึ้นทั่วทั้งแผ่น จนสีเพี้ยนไปจากเดิม ยิ่งโดนไฟ, ความร้อน หรือแสง ยิ่งเป็นตัวเร่ง ให้ยางไม้ซึมขึ้นมาได้เร็วขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีการพัฒนาสารกันซึม ที่มีคุณสมบัติบล็อคยางไม้ ไม่ให้ซึมขึ้นมาได้ โดยส่วนใหญ่ จะเรียกว่า สารกันยาง ซึ่งสารตัวนี้ ภายหลังมีการพัฒนาปรับปรุง ให้กลายเป็น สีรองพื้นกันยาง โดยใส่เนื้อสีขาวลงไปด้วย เพื่อปรับสภาพสีแผ่นผลิตภัณฑ์ ให้กลายเป็นสีขาวก่อน ที่จะพ่นสีจริงลงไป เพื่อให้ได้โทนสี ที่แท้จริง หลังพ่นสีจริงเสร็จ  

3. น้ำมันวานิช (VANISH) 

เป็นเรซิ่นสังเคราะห์ ที่ใช้เคลือบไม้เพื่อรักษาเนื้อไม้ และป้องกันน้ำได้ วานิชชนิดนี้ ถูกเรียกว่า แอลกฮอล์วานิช หรือวานิชระเหย ซึ่งเป็นวัสดุเคลือบผิวราคาถูกที่ทำมาจากการละลายยางธรรมชาติ ปัจจุบันในวงการสีอุตสาหกรรม ไม่นิยมใช้ เนื่องจาก แห้งช้า, ไม่ทนต่อการขูดขีด, ไม่ทนต่อสารเคมี แต่ปัจจุบัน มีบริษัทสี หลายแห่ง นำน้ำมันวานิช มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยผสมผงสีลง ปรับแต่งโทนเนื้อสี ให้เป็นโทนสี ที่นิยมใช้ในตลาดทั่วไป รวมถึงปรับปรุงสารละลาย และสารเคลือบผิว นำออกจำหน่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และสะดวกต่อการใช้งาน

 

4. สีอะมิโน

อะมิโนยูเรียเรซิน เป็นสารเคลือบผิว ซึ่งเป็นปฏิกิริยาระหว่างกรดกับอมิโนอัลคิด ราคาไม่แพงนัก เมื่อเทียบกันค่า % Solid ที่สูง,ค่า Hardness การทนต่อการขูดขีด และทนต่อตัวทำละลาย แต่จะมีกลิ่นของ Formalin ค่อนข้างแรง และจะเกิดการกระเทาะ (รอยร้าว) ได้เมื่อนำมาอบหรือใส่ในตู้อบ ซึ่งสารเคลือบผิวชนิดนี้ ยังคงมีใช้กันอยู่ ในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ร้านกรอบรูป  

5. ทีค ออยล์ (TEAK OIL)

เป็นน้ำมันที่ช่วยรักษาเนื้อไม้ ซึ่งซึมเข้าไปบนเนื้อไม้ได้ดี เพื่อช่วยให้สภาพผิวไม้สวยงามและ มีความคงทน จะไม่มีเนื้อฟิลม์ปิดผิว เหมือนสีประเภทอื่นๆ ปัจจุบัน นิยมใช้กับงานไม้สัก ที่ชอบเนื้องานแบบดิบๆ หลายๆ ท่าน ยังแนะนำให้ใช้สีประเภทนี้ สำหรับการรักษาเนื้อไม้อยู่ แต่สำหรับการเลือกใช้ ต้องเลือกใช้ให้ถูกลักษณะงานด้วย อย่างที่บอกไว้ว่า สารประเภทนี้ จะเป็นลักษณะน้ำยารักษาเนื้อไม้ ไม่ใช่สารเคลือบผิว เหมือนสีต่างๆ เพราะฉนั้น การที่จะใช้สารตัวนี้ ให้เกิดผลดีมากที่สุด ควรใช้กับชิ้นงาน ที่มีความหนาไม่มาก, ความชื้นในเนื้อไม้ไม่สูง หรือความชื้นคงที่แล้ว เวลาใช้งานอย่าเสียดาย เพราะสารตัวนี้ จะต้องซึมลงไปในชั้นไม้ ยิ่งซึมลงไปได้เยอะมากเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น ชิ้นงานหนา, ความชื้นมาก จะเป็นอุปสรรคของการซึมเข้าของสารชนิดนี้ครับ

6. สีแลคเกอร์

ทำจากไนโตรเซลลูโลส และ เรซิ่นสังเคราะห์ มีคุณสมบัติแห้งเร็ว วิธีการใช้งานง่าย ทนต่อสภาพภูมิอากาศ ทนต่อสารเคมีบางชนิด มีความแข็งแรงทนต่อการขีดข่วนได้พอสมควร ไม่เหมาะสำหรับใช้ภายนอก เพราะสีจะเหลืองง่าย และมักติดไฟได้ง่าย

สีแลคเกอร์ เป็นสีที่นิยมอย่างแพร่หลาย ในงานเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจาก เนื้อสีมีน้ำหนักเบา, หาซื้อได้ง่าย และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างต่อเนื่อง

7. สีอคิลิค แลคเกอร์

ทำจากอคิลิคเรซิ่น มีคุณสมบัติแห้งเร็ว ใช้ง่าย ทนต่อสภาพภูมิอากาศ กันขูดขีดได้ดีกว่าแลคเกอร์ นอกจากนี้ ยังทนต่อแสงแดดได้ดี ทำให้ฟิลม์ไม่เปลี่ยนสี หรือเหลืองขึ้น จึงนิยมใช้กับชิ้นงานพวกไม้มะปิน,ไม้ยางพารา หรือไม้เนื้อขาวทุกชนิด แต่ราคาค่อนข้างสูงกว่าแลคเกอร์ จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน จะหลีกเลี่ยง ไปใช้สีประเภท PU หรือ PE แทน  

8. สีโพลียูรีเทน

โพลียูเรเทน เกิดจากปฏิกิริยาระหว่าง โพลีไอโซไซยากับโพลีออล มีความแข็งแรงมาก ทนต่อการขูดขีดทนต่อสารเคมีได้ดี และมีเนื้อมาก สามารถเคลือบได้ครั้งละหนา ๆ ฟิล์มที่ได้มีความแข็งและเหนียว,ทนต่อการขัดสีสูง มีการยึดเกาะผิวหน้าดี,ทนต่อตัวทำลาย และทนต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี มักนิยมใช้กับงานพื้นปาร์เก้, พื้นไม้จริง, ชิ้นส่วนงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออกบางแห่ง ที่ต้องสัมผัสบ่อยครั้ง เช่น พื้นโต๊ะทานข้าว, พื้นบนตู้วางทีวี  

9. สีโพลีเอสเตอร์

เป็นสี ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากสารโพลีเอสเตอร์เรซิ่น มีความทนทานของพื้นผิว อยู่ในระดับสูง เนื้อสี มีความหนักมาก ขั้นตอนการพ่นแต่ละขั้น จะต้องทิ้งไว้ให้แห้ง อย่างน้อย 4 ชม. ถึงจะสามารถดำเนินการผลิต ในขั้นตอนต่อไปได้ แต่โดยส่วนใหญ่ จะถูกกำหนดให้ใช้เฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจาก ภายในส่วนประกอบของเนื้อสี เมื่อสัมผัสกัน สามารถเกิดปฏิกริยาสันดาบความร้อน เกิดเป็นเพลิงลุกไหม้ได้ 

10. สีวอเตอร์เบส

สีชนิดนี้ เป็นสีไร้สารพิษจะถูกใช้งาน ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตของเล่นเด็ก ซึ่งเป็นสีที่ใช้น้ำ เป็นตัวทำละลายแทน สารเคมี กระบวนการขัด, ทำสี จะใช้เครื่องจักร แตกต่างจากการทำสีทั่วไป

 

11. สีแลคเกอร์ NTX และสีโพลียูรีเทน NTX

เป็นสีที่ถูกพัฒนาขึ้นมา จากกระแส Think Earth ซึ่งจะลดสัดส่วนของส่วนผสมสารมีพิษต่างๆ ลง เพื่อให้เกิดสารระเหยน้อยที่สุด เช่น โทลูอีน, ฟอร์มาดีไฮด์, ตะกั่ว ฯลฯ

       ปัจจุบัน โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ที่ต้องส่งออกไปยังต่างประเทศ จะมีการใช้งานสีประเภทนี้ เกือบทั้งหมด ณ.ตอนนี้ ยังขาดเพียง สี PE ที่โรงงานต้องการ ซึ่งยังไม่สามารถพัฒนา เป็นสี ประเภท NTX ได้ เนื่องจาก คุณสมบัติบางตัว ของสารเคลือบแข็ง ยังต้องมีสารฟอร์มาดีไฮด์ผสมอยู่

 

สำหรับคำเรียกขาน สีอีกประเภท ที่ผู้บริโภค พูดถึงกันบ่อยๆ จนไม่อาจละเลย ที่จะเขียนถึงได้ ก็คือ ไฮกรอส จริงๆแล้ว คำว่า “ไฮกรอส” เป็นคำเรียกลักษณะสี ที่มีความเงา 100 % และเนื้อสีใสเหมือนกระจก เท่านั้น  เริ่มแรก มาจาก ในวงการโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เริ่มมีความต้องการสินค้า ที่มีความเงา 100% เนื้อสีใส และสามารถทนรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดี (ความเงา 100 % สามารถทำได้นานแล้ว ติดแค่กระบวนการทำให้เนื้อสีใส) สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้ภายในโรงแรมต่างประเทศ (ขณะนั้น เป็นพิมพ์นิยม) จึงเริ่มพัฒนา สี PE ที่มีคุณสมบัติปกป้องรอยขีดข่วน ปรับขั้นตอนแต่ละขบวนการ ให้เนื้อสี มีความใส (ไม่ขุ่น) จนได้มา เป็นสีไฮกรอส (ซึ่งต่อมาอีก 10 ปี ถ้าพูดถึงไฮกรอส ในโรงงานจะหมายถึงสี PE เท่านั้น) หลังจากนั้น ไม่นาน ก็มีผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์น็อคดาวน์ (โมเดิร์นฟอร์ม) ได้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ ระดับบริหาร โดยใช้ สี PE Hi Gloss เป็นวัสดุเคลือบผิว ออกวางจำหน่าย จึงทำให้กระแสความต้องการใช้งาน มีเพิ่มมากขึ้น จนกระจายไปในส่วนงานผู้รับเหมา แต่เนื่องจาก ขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน สีชนิดนี้ จึงควรจะผลิตออกมาจากโรงงาน โดยตรงมากกว่า  

         ขั้นตอนการผลิตสีไฮกรอสทั่วไป ต้องมีการพ่นสีประเภทต่างๆ ทั้งหมดรวมแล้ว ไม่น่าต่ำกว่า 6 ขั้นตอน (ขั้นตอนงานที่ผลิตในต่างประเทศ จะต้องพ่นประมาณ 10-12 ขั้นตอน) ดังนั้น สีที่ใช้ในงานรับเหมาทั่วไป ส่วนใหญ่ จึงเป็นสีพ่นรถยนต์ ที่นำมาประยุกต์ใช้แทนสี PE Hi Gloss ซึ่งข้อแตกต่าง ที่น่าจะเห็นได้ชัดเจน คือ ในส่วนของสี PE Hi Gloss จะมีขั้นตอนการพ่นสีรองพื้นกันยาง และสี PE Hi Gloss เมื่อทำสีสำเร็จ จะมีคุณสมบัติปกป้องความร้อนได้ระดับที่ สามารถนำบุหรี่ หรือธูป ที่ติดไฟ มาดับบนพื้นผิว โดยไม่เกิดความเสียหายได้ สำหรับ ปัจจุบัน ด้วยเรื่องราคาต้นทุนต่างๆ ที่มีการแข่งขันกันอยู่รุนแรง จึงทำให้ได้มีการพัฒนา สีแลคเกอร์ และ สี PU ให้เป็นสีลักษณะ Hi Gloss เพื่อลดต้นทุนในการผลิตลง จะได้นำไปแข่งขันกับจีน และเวียดนามได้ 

 

 

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ