ผ้าและผ้าม่าน (Curtain) กับคุณสมบัติที่น่ารู้ก่อนจะนำเอาไปใช้งาน

ผ้าม่าน นอกเหนือจากหน้าที่หลักของม่านที่ช่วยปกป้องแสงแดด และช่วยให้ความเป็นส่วนตัวแก่เราแล้ว ผ้าม่านยังช่วยสร้างบรรยากาศแบบต่างๆได้ เช่น บรรยากาศแบบอ่อนโยน แบบเคร่งขรึม แบบสดใส แบบโมเดิร์น ฯ ที่สำคัญคือ ช่วยสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้บ้าน

การเลือกผ้าม่านเนือ้ต่างๆมาทาผ้าม่าน

ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ

1. ผ้าจากเส้นใยพืชเช่นผ้าฝ้าย, ผ้าลินิน, ผ้าปอป่าน และอื่น ๆ

·  ผ้าชนิดนี้มีการดูดซึมความชื้นที่ดีและความต้านทานความร้อนดี 

·  ช่วยให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อน

·  มักเก็บฝุ่น  

·  มีความยืดหยุ่นดี 

· เกิดริ้วรอยได้อย่างง่ายดาย ยับง่าย

2.  ผ้าจากเส้นใยสัตว์อาทิเช่นผ้าไหม, ขนสัตว์ ฯลฯ 

·  เนื้อผ้าความยืดหยุ่น

·  ทนน้ำไม่ดีโดนน้ำจะเป็นรอยด่าง

·  เก็บความร้อน

·  เก็บฝุ่น

3. ผ้าจากเส้นใยสังเคราะห์   เป็นผ้าทอจากเส้นใยที่สร้างขึ้นจากกระบวนการทางเคมีเช่น ไนลอน โพลีเอสเตอร์ และอะคริลิค  ผ้าชนิดนี้เหมาะที่จะทำจีบถาวร

·   ไม่ค่อยจับฝุ่น 

·   เนื้อผ้ามีความคงทน แต่ควรระวังเรื่องความร้อนและไฟ  ถ้าโดนความร้อนมากผ้าจะกรอบ หดตัว หรือมีรอยคล้ายรอยไหม้

**ผ้าโพลีเอสเตอร์    ผลิตจากเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ ที่มีความแข็งแรงทนทาน มีความมันวาวดูแล้วสวยงาม แตกต่างจากผ้าประเภทอื่นๆ  มีเอกลักษณ์ เฉพาะตัวกับสีสันต่างๆ บนเนื้อผ้าที่สดใส ที่ดูแล้วเหมือนผ้าเปลี่ยนสีเองได้แล้วแต่มุมแสง

ผ้าโปร่ง Sheer

 

ผ้าโปร่ง (เชียร์) เป็นผ้าใสบางและนุ่มให้ความรู้สึกนุ่มและเบา  เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการความรู้สึกโปร่งสบาย และความต้องการแสงมากขึ้น เนื่องจากผ้ามีน้ำหนักเบา จะพริ้วปลิวลม เวลาทำผ้าม่านจะต้องมีการถ่วงด้วยโซ่ให้ผ้าทิ้งตัว

ผ้ากันแสง Blackout 

ผ้ากันแสง (แบล็คเอ้าท์) เป็นผ้าหนาทึบแสง มีหลายเนื้อผ้า เนื้อมันวาว  เนื้อนุ่มแบบโฟม เนื้อแบบผ้าหนา มีหลายสี  เช่น สีดำ สีเงิน (สีตะกั่ว) สีเทา สีน้ำเงิน  ส่วนมากทำจาก Polyester Polymer มักใช้เย็บซับด้านหลังผ้าม่าน เพื่อกันความร้อนและกันแสง  กรณีที่ต้องการให้ห้องมืดสนิท มักใช้กับห้องนอน  สามารถเย็บแยกเป็นผ้าม่านอีกชั้นก็ได้  ใช้เย็บซับด้านหลังผ้าม่านที่มีเนื้อบาง  ปัจจุบันผ้าแบล็คเอ้าท์มีแบบที่เป็นผ้าม่านมีแบล็คเอ้าท์ในตัว  ใช้เย็บเป็นม่านจีบ ม่านพับ ม่านแบบอื่นๆได้ ชั้นเดียวไม่ต้องเย็บซับหลัง  คือเป็นแบบทูอินวัน เป็นม่านกันแสงในตัว ประหยัดดี

ผ้าแบล็กเอ้าท์  มีคุณสมบัติ พิเศษในการบดบังแสงแดด  หรือแสงสว่างที่สาดส่องเข้ามาภายในห้องยามกลางวัน มากถึง 99%  เนื้อผ้าที่มีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์และสารป้องกันแสงแดด  และความร้อนอย่างดี จึงสามารถป้องกันสีพื้นไม้ปาเก้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ  รวมทั้ง พรมปูพื้นไม่ให้ซีดจางก่อนอายุการใช้งานอันควร

ผ้าซับหลัง Backing

เป็นผ้าเนื้อบางใช้เย็บซับหลังผ้าม่าน เพื่อเพิ่มความหนาให้กับผ้าม่านที่มีเนื้อบาง หรือต้องการเพิ่มความทึบ กันแสง แต่จุดประสงค์หลักคือช่วยป้องกันเนื้อผ้าให้คงทน สวยงามสีไม่ซืดจาง กรณีที่โดนแสงแดดจัดๆ

สีและลายของผ้า

 ผ้าแต่ละเนื้อผ้ามีทั้งแบบสีพื้น มีลาย ลายดอก ลายทาง ลายกราฟฟิค ลายผ้าแบบต่างๆก็ยังมีทั้งแบบ ทอให้เกิดลาย หรือใช้พิมพ์ลายลงบนผ้า

การใช้ผ้าม่านควบคุมแสง

 

การควบคุมแสงโดยผ้าม่าน จุดประสงค์ก็คือ

1. จะเข้ากับบรรยากาศห้องของท่านหรือไม่ โดยเลือกแบบผ้าม่าน ม่านจีบ ม่านพับ ซึ่งม่านแต่ละแบบสามารถเลือกเปิดปิดรับแสงได้ต่างกัน

2. สิ่งที่จะบอกได้คือความเป็นส่วนตัวของห้อง  โดยเลือกจากเนื้อผ้า ผ้าหนาดูมิดชิด ผ้าบางมองเห็นบ้าง

3. ปริมาณแสงที่เพียงพอกับความต้องการ  โดยเลือกจากเนื้อผ้า ผ้าทึบแสงดูมืด กันแสงแดด บ้านสว่างน้อย  ผ้าเนื้อโปร่งหรือเนื้อบาง กันแสงแดดได้ แต่บ้านจะดูสว่าง

แบบผ้าม่านที่นิยมมี 2 แบบ คือ

1. ม่านที่ทำงานโดยการยกขึ้นลงได้แก่ ม่านพับ

ผ้าลายทาง หรือผ้าสีพื้น ทำม่านแบบนี้สวย ถ้าเป็นผ้าลายดอกทำม่านชนิดนี้จะไม่ค่อยสวย   จุดเด่นของม่านชนิดนี้ คือผ้าจะไม่ไปกองอยู่ข้างๆ   เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการความเรียบออกสไตล์โมเดิร์น การควบคุมแสงของม่านชนิดนี้จะสามารถความคุมแสง เมื่อเปิด - ปิด (การยกขึ้น-ลง) แสงที่ได้จะเป็นแสงที่ค่อนข้างมีความเข้มขึ้นอยู่กับผ้าที่ใช้ด้วย แต่ความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก แต่ม่านชนิดนี้มีข้อเสียคือมีแสงลอดออกมา ระหว่างรอยต่อของม่าน กรณีที่ทำ 2 ชุดต่อกัน และถ้าทำชุดใหญ่มากๆ จะไม่สวย

2. ม่านที่ทำงานเปิด-ปิดแบบแยกกลาง เปิดซ้ายหรือเปิดขวา

ม่านชนิดนี้เป็นม่านที่สามารถบังแสง และเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ดี สามารถควบคุมแสง จัดการกับระดับแสงได้ โดยเลือกเปิดกว้าง  ห้องจะสว่างมาก เปิดน้อยหรือเปิดแคบห้องจะสว่างน้อย จุดเสียของม่านแบบนี้คือเวลาเปิดม่าน จะมีม่านมากองรวมกันด้านข้าง ทำให้ดูรกหรือเกะกะ ผนังด้านช้างห้องที่เป็นประตูหรือหน้าต่าง ถ้ามีพื้นที่น้อยเวลาเปิดม่าน จะบังประตู-หน้าต่างบางส่วน  ควรเลือกใช้รางม่านให้เหมาะสมกับเนื้อผ้าและแบบม่าน

การเลือกใช้โทนสีผ้าม่าน

 

สีโทนร้อน

สีโทนร้อนและสดใส เช่นสีแดง, สีส้ม, สีเหลืองและสีแดงสีม่วง สีโทนนี้จะมีพลังกระตุ้น ให้เกิดอารมณ์สดชื่น เบิกบาน ตื่นเต้น เร้าใจ

สีโทนเย็น

สีโทนเย็น เช่นสีเขียว, สีฟ้า, สีเขียวและสีฟ้าสีม่วง สีโทนเย็นจะช่วยให้อารมณ์สงบ ผ่อนคลาย สบายๆ

สีตัดกัน คู่สีตรงข้าม

การใช้สีตัดกัน โดยใช้โทนสีสด สีตรงข้ามกันมาทำผ้าม่าน โดยใช้การตัดขอบ กุ้นขอบ ทำแถบ เพื่อเพิ่มสีสันความสวยงาม ช่วยสร้างบรรยากาศสดใส คึกคัก น่าตื้นเต้น

รางม่าน

การเลือกซื้อเลือกใช้รางผ้าม่านนั้นจะต้องมีการวัดขนาดที่เหมาะสมกับขอบหน้าต่างที่ต้องการเสียก่อน ในปัจจุบันตามร้านขายผ้าม่านจะเริ่มเน้นไปที่การออกแบบรางผ้าม่านมากขึ้น ให้ความใส่ใจกับรูปลักษณ์ของรางผ้าม่านเพื่อให้สามารถเข้ากับลักษณะหน้างานอย่างเช่น หน้าต่างที่มีลักษณะเข้ามุมหรือเป็นหน้าต่างแบบเบย์วิวต้องใช้รางแบบดัดโค้งตามรูปหน้าต่างได้ และยังช่วยในการตกแต่งบ้านให้สวยงามเพิ่มมากขึ้น ลักษณะของรางผ้าม่านสามารถแบ่งออกตามรูปแบบการใช้งานได้ดังนี้

รางผ้าม่านระบบลูกล้อ(รางตัวยู, รางตัวซี)

รางประเภทนี้หากทำการติดตั้งแล้ว เมื่อใช้งานผ้าม่านตัวผ้าม่านจะปิดรางม่านทั้งหมดไม่สามารถมองเห็นได้ ใช้ได้เฉพาะผ้าม่านแบบจีบหรือม่านลอนเหมาะสำหรับตำแหน่งของหน้าต่างหรือประตูที่มีการเปิดปิดใช้งานบ่อยๆต้องการความคล่องตัวหรือหน้างานที่เตรียมหลุมฝ้าไว้สำหรับติดตั้งผ้าม่านไม่เน้นความสวยงามของรางผ้าม่านมากนัก ข้อดีของรางแบบนี้คือมีความไหลลื่นในการเลื่อนผ้าม่าน ทำให้การใช้งานสะดวก เหมาะกับผ้าม่านที่ต้องการใช้ในการเปิดปิดบ่อยๆ

การใช้งานรางผ้าม่านแบบลูกล้อนี้ ทำได้โดย ใช้ด้ามจูงผ้าม่าน ใช้มือในการเปิดปิด หรือจะใช้เป็นระบบเชือกในการดึงเปิดปิดก็ได้(แต่ปัจจุบันไม่นิยมเนื่องจากเชือกเมื่อใช้ในระยะยาวมีโอกาสเสื่อมและไม่เหมาะกับผ้าที่มีน้ำหนักมาก)

รางตัวซี

ใช้ได้กับม่านแบบม่านจีบอย่างเดียวลักษณะคล้ายรางไมโครแต่ตัวรางจะบางกว่าราคาถูกกว่ารางไมโคร เวลาปิดเปิดจะไม่คล่องตัวเหมือนรางไมโคร ส่วนใหญ่ใช้เชือกดึงเวลาปิดเปิดม่าน เหมาะสำหรับคนที่มีงบทำม่านน้อยหรือมีงบจำกัด

รางไมรโคร (รางตัวยู)

ใช้ได้กับม่านแบบม่านจีบอย่างเดียว ความสวยงามของรางสู้รางโชว์ไม่ได้ ไม่ต้องการโชว์ราง บางครั้งอาจทำม่านระบาย หรือทำกล่องม่าน เพื่อบังไม่ให้เห็นราง

มี 2 แบบ คือแบบมีเชือกดึง ใช้เชือกดึงเวลาปิดเปิดม่านและแบบไม่ใช้เชือกดึง แต่มักใช้ด้ามจูงม่านดึงเวลาปิดเปิดม่าน
ตัวราง ขาจับทำจากอลูมิเนียม ห่วงเป็นพลาสติกแบบลูกล้อมีหลายเกรดให้เลือกใช้ ตัวรางแข็งแรง ปิดเปิดม่านคล่องตัวดี

รางโค้งดัดมือ

ใช้ได้กับม่านแบบม่านจีบอย่างเดียว  คล้ายรางไมโครแต่บางกว่า ตัวรางทำจากอลูมิเนียม
สามารถดัดโค้งได้เวลาทำผ้าม่านแบบที่ต้องเข้ามุม

รางผ้าม่านแบบรางโชว์ รางประเภทเมื่อติดตั้งไปแล้วจะมีลักษณะตามชื่อคือจะเป็นการโชว์ตัวรางให้เห็นไม่ว่าจะเปิดหรือปิดผ้าม่านนี้มีให้เลือกหลายรูปแบบได้แก่

- รางโชว์ที่ทำจากไม้ รางประเภทนี้จะเป็นรางไม้จริงมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 26มม. ใช้ไม้เป็นวัสดุตั้งแต่รางห่วงสำหรับใช้แขวนผ้าม่านไปจนถึงขาจับราง สีของตัวรางจะเป็นสีในโทนน้ำตาลหรือสีธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของหัวรางจะมีให้เลือกไม่มากนักเนื่องจากทำจากไม้จริง เหมาะสำหรับบ้านที่ต้องการบรรยากาศธรรมชาติ คลาสสิค มีข้อเสียคือหากหน้าต่างหรือประตูมีความกว้างมากๆและตัวผ้าม่านมีน้ำหนักมากตัวรางไม้มีโอกาสแอ่นตัวได้ และการใช้งานในการดึงเปิดปิดอาจทำได้ไม่ดีนัก

รางโชว์อลูมิเนียมลายไม้ รางโชว์ประเภทนี้ทำจากอลูมิเนียมเคลือบด้วยลายไม้โดยทั่วไปมีขนาดให้เลือกใช้2ขนาดคือ 26มม.และ35มม. หัวรางมีให้เลือกหลายรูปแบบเนื่องจากทำจากพลาสติกรวมถึงห่วงที่ใช้แขวนตัวผ้าม่าน ส่วนขายึดตัวรางทำจากเหล็ก มีข้อดีคือหาซื้อได้ง่ายมีสีและลายให้เลือกมากมาย ข้อเสียเหมือนรางไม้คือความคล่องตัวในการดึงผ้าม่านเปิดปิดทำได้ไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับรางระบบลูกล้อ

- รางโชว์เหล็ก รางชนิดนี้ทำจากเหล็กทั้งหมดมีให้เลือกหลายสีเช่นสีสีบอร์น สีเงิน สีเงินรมดำสีทอง สีทองรมดำ สีดำ หัวรางจะมีให้เลือกหลายแบบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของราง19มม. เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการบรรยากาศในแบบเรโทร หรือสไตล์โอเรียนทอล(แนวร่วมสมัยระหว่างตะวันตกและตะวันออก) รางโชว์ประเภทนี้ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เหมาะสำหรับผ้าม่านจีบทั่วไปหรือม่านแบบห่วงตาไก่มีความคล่องตัวมากกว่ารางโชว์ขนาด26มม.

- รางโชว์สแตนเลส รางโชว์ประเภทนี้จะทำจากสแตนเลสเฉพาะส่วนที่เป็นราวผ้าม่านเท่านั้น ส่วนหัวราง ห่วง รวมถึงขาจับจะทำจากเหล็กมีสีให้เลือกสีเดียวคือสีเงิน(สีของตัวสแตนเลส) มีข้อดีคือไม่เป็นสนิม
รางผ้าม่านแบบโชว์ราวนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสวยงามของตัวรางม่านด้วย เมื่อติดตั้งแล้วตัวผ้าม่านจะอยู่ใต้รางผ้าม่าน สามารถมองเห็นส่วนของรางได้ชัดเจน รางม่านประเภทนี้เหมาะสำหรับผ้าม่านที่เป็นจีบหรือม่านตอกตาไก่ ไม่เหมาะสำหรับบ้านที่เตรียมหลุมฝ้าไว้สำหรับติดตั้งผ้าม่าน

รางผ้าม่านแบบพับ

ใช้สำหรับผ้าม่านแบบพับ วัสดุทำจากอลูมิเนียม และอุปกรณ์ส่วนอื่นๆทำจากพลาสติก มีโซ่ในการดึงตัวม่านขึ้นลงอยู่ด้านข้าง

ม่านที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์

เช่น มู่ลี่หรือม่านปรับแสง ม่านแบบนี้มีรูปแบบการทำงานที่มากกว่าม่านที่เป็นผ้า คือนอกจากจะเปิด-ปิดได้แบบม่านอื่นๆได้แล้วนั้น ยังสามารถปรับระดับความเฉียงของใบม่านได้เพื่อกำหนดระดับของแสงที่ลอดเข้ามาในห้องได้

มู่ลี่ มีวัสดุให้เลือกอยู่ด้วยกัน 2 ตัว คือเป็น อลูมิเนียมและเป็นไม้ และนอกจากม่านแบบมู่ลี่แล้วยังมีม่านที่ให้ความเรียบง่าย  คือ ม่านม้วน ม่านชนิดนี้โดดเด่นที่ความเรียบหรูและยังดูสวยงามอีกด้วย ใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน มีการทำงานเพียงฟังก์ชันเดียวคือเปิดกับปิด นิยมใช้กันมากตามอาคารสำนักงานหรือโรงแรมบางโรงแรมก็ยังใช้ และในปัจจุบันนี้ความนิยมมาใช้ในบ้านก็มีมากขึ้นเหมือนกัน

มู่ลี่อลูมิเนียม

 

ม่านปรับแสง

ใบ มีชนิดที่ทำจาก ไฟเบอร์ และอลูมิเนียม ซึ่งจะมีข้อแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน คือ

ใบไฟเบอร์จะดูนิ่มนวลกว่าใบอลูมิเนียม และเวลาปิด – เปิด จะไม่มีเสียงเหมือนกับใบอลูมิเนียม

ทั้งนี้ม่านอลูมิเนียมนั้นก็มีประโยชน์ตรงที่กันแสงได้ดีกว่า และสีไม่ลอก เหมาะสำหรับห้อง
ที่ไม่ต้องการให้แสงเข้ามาได้เลย

โดยแต่ละประเภท จะมีลวดลายและสีสันที่สวยงาม ให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม
ของห้อง ยิ่งกว่านั้นยังมีใบชนิดกันแสงแดด ซึ่งสามารถลดความร้อนที่เข้ามาภายในห้องได้อีกด้วย

ใบม่านปรับแสง

1.Sun Screen สามารถกรองแสงและรังสียูวี ได้ประมาญ 5-10% อีกทั้งยังสามารถมองเห็นวิวภายนอกได้
2.dim out กันแสงแดดได้ถึง80% มีให้เลือกทั้ง  fabric และ polyester
3.Black out สามารภป้องกันแสงสว่างและรังสียูวีได้ ถึง100%
4.Aluminium ผลิตจากอลูมิเนียมอย่างดีความหนา 0.27มม.เคลือบด้วยสีคุณภาพสูง สามารถป้องกันแสงได้100%

รางม่านปรับแสง มี2 แบบ

1. รุ่นเชือกปรับ เป็นรุ่นที่นิยมใช้กันมากโดยการใช้เชือกดึงดึงปิด-เปิดและใช้ในการปรับใบ

2. รุ่นแกนปรับ เรียบง่าย ใช้งานสะดวกด้วยการดึงเปิด-ปิด และหมุนแกนในการปรับใบ

ชนิดของม่านม้วน

ตัวม่านโดยมากจะผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ สามารถแบ่งได้เป็น3ชนิดได้แก่
ชนิดที่แสงสามารถผ่านได้(ดิมเอาท์) ม่านม้วนชนิดนี้สามารถป้องกันแดดได้โดยภายในตัวอาคารยังไม่มืด เหมาะกับบริเวณที่แดดไม่แรงหรือห้องที่ต้องการแสงสว่างจากภายนอกโดยที่ยังปิดม่านอยู่

ชนิดทึบแสง (แบล็กเอ้าท์) ม่านม้วนชนิดนี้สามารถกันแสงแดดได้กว่า95% มีส่วนช่วยป้องกันความร้อนที่มากับแสงแดดได้อีกด้วย ม่านม้วนชนิดนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น  ด้วยสภาพอากาศในประเทศไทยที่ร้อนขึ้นทุกวัน บวกกับเนื้อวัสดุของม่านชนิดนี้มีผิวมันการทำความสะอาดทำได้ง่าย เหมาะกับบริเวณที่แสงแดดส่องเข้ามาโดยตรงหรือห้องที่ไม่ต้องการแสงในยามเช้าเช่นห้องนอน

ชนิดซันสกรีน ลักษณะเด่นของม่านม้วนชนิดนี้คือสามารถมองเห็นบรรยากาศภายนอกตัวอาคารได้ โดยที่ภายในอาคารยังคงความเป็นส่วนตัวได้อยู่(เฉพาะสภาวะที่แสงภายนอกมีมากว่าภายใน) ม่านชนิดนี้สามารถป้องกันแสงแดดได้ระดับหนึ่ง เหมาะสำหรับ ห้องที่เน้นความโล่งสบายต้องการเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอก

ข้อดีของม่านม้วนซันสกรีน(Sunscreen)

- มองเห็นบรรยากาศภายนอกห้องได้ในขณะที่ปิดม่านอยู่

- ดึงม่านปิดแล้วไม่รู้สึกปิดทึบ

- ให้ความเป็นส่วนตัวได้ถ้าหากว่าแสงจากภายนอกสว่างกว่าภายในเช่นในช่วงเช้า

ข้อด้อยของม่านม้วนชนิดซันสกรีน

- ป้องกันแสงแดดไม่ได้100% เมื่อปิดม่านลงแล้วหากมีแดดส่อง แสงแดดจะผ่านทะลุตัวม่านไปได้บ้าง

- อาจไม่เป็นส่วนตัวนักในสภาวะที่แสงจากภายในสว่างกว่าภายนอกเช่นตอนกลางคืน (หากมองเข้ามาจะเห็นเป็นภาพมัวๆ)

อุปกรณ์ม่านอื่น

สายรวบม่าน มีทั้งแบบตุ้มเดี่ยว และแบบตุ้มคู่

 

ตะขอเกี่ยวสายรวบ

ด้ามจูงม่าน

ห่วงตาไก่ สำหรับตอกทำม่านตาไก่ มีหลายสี

ห่วงม่าน สอดในรางสำหรับเกี่ยวขอแขวนผ้าม่าน

ไอเดียการเย็บม่านแบบต่างๆ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)
...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ