พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ กุศโลบายอันแนบเนียนไปกับศิลปะแบบไทย

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ คือ กุศโลบายในการเรียนรู้ศิลปะและศาสนา ที่ส่งเสริมให้คนในสังคม สมัยใหม่ได้รู้จักหลักแห่งศาสนาทั้ง ๔ ด้วยเจตนารมณ์และอุดมคติของ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ซึ่งต้องการถ่ายทอดและปลูกฝังด้วยจิตวิญญาณของนักปราชญ์ เพื่อให้มนุษย์ร่วมโลกได้ มีโอกาสเข้าถึงศิลปะและศาสนา อันเป็นรากฐานของอารยธรรม

ช้างเอราวัณ สัตว์ในตำนาน ช้างทรงของพระอินทร์

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณจึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีจุดประสงค์ ๔ ประการ คือ

๑. เพื่อให้คนในปัจจุบันได้เรียนรู้เรื่องราวของอดีต เพราะอดีตเปรียบเสมือนเข็มทิศและหางเสือ ที่มีไว้สำหรับเดินเรืออย่างมีสวัสดิภาพ

๒. เพื่อให้ศิลปะที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ซึ่งสั่งสมมานาน และมีคุณค่าไม่เสื่อมคลาย เป็นประจักษ์ พยานแห่งความเจริญด้านจิตใจของสังคมตะวันออกที่มีศาสนาเป็นเครื่องค้ำชูสันติภาพของโลก

๓. เพื่อให้มนุษย์ร่วมโลกรู้จักประเพณีและวัฒนธรรมของไทย  และใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาผู้ที่กำลัง หลงทางอยู่ในสังคมที่มีวิทยาศาสตร์เจริญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้คนนับถือลัทธิวัตถุนิยม ที่มุ่ง แสวงหาแต่ความสุขในทางโลก

๔. เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของผู้สร้างว่า พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ คือมรดกของมนุษยชาติที่จะคงอยู่ คู่ฟ้าดินตลอดไป

ภาพภายนอกพิพิธภัณฑ์

สัตว์ป่าหิมมพาน จำลองการมีอยู่ของป่าหิมมพาน

ทางขึ้นสู่สรวงสวรรค์

 โครงสร้างลำตัวช้างเป็นโครงถักเหล็กทรงพาราโบลา  10  วง ส่วนลำตัวช้าง  กับหัวช้างใช้โครงเหล็กรูปตัว H และ I โยงยึดติดกันระหว่างโครงหัวช้างและตัวช้าง คล้ายกับการสานตะกร้อ เพื่อถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงมาที่ขาช้างทั้งสี่ ซึ่งมีอาคารทรงโดมเป็นฐานรองรับน้ำหนักหัวช้างเป็นส่วนที่ก่อสร้างยากที่สุด เพราะแต่ละหัวมีน้ำหนักถึง 100 ตัน และยื่นออกไปโดยไม่มีโครงสร้างรองรับน้ำหนัก สถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบใช้คานโครงเหล็กที่เรียกว่า “ Truss” คอยค้ำและดึงน้ำหนักของหัวช้างให้   ถ่ายน้ำหนักลงมาที่ขาช้างทั้งสี่ เมื่อโครงสร้างเหล็กตัวช้างเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือการหุ้มโครงเหล็กด้วยทองแดงเป็นรูปช้าง คุณพากเพียรได้ติดต่อประติมากร คุณรักชาติ ศรีจันทร์เคณ มาดำเนินงานโดยใช้เทคนิคใหม่ในการสร้างประติมากรรมทองแดง ต่างจากเดิมที่ใช้วิธีการหล่อทั้งตัว  เช่น เทพีเสรีภาพแห่งสหรัฐอเมริกา คือการเคาะแผ่นทองแดงเป็นลวดลายต่างๆ แล้วนำขึ้นไปเชื่อมกันกลางอากาศ การหุ้มทองแดงเป็นรูปหัวช้างค่อนข้างยาก โดยตั้งโครงเหล็กหัวช้างทั้ง 3 หัวที่พื้นราบก่อน แล้วช่างจะเคาะแผ่นทองแดงขึ้นรูปหัวกลางของช้างก่อน เมื่อได้หัวช้างทองแดงเป็นที่เรียบร้อย ช่างใช้หัวกลางนั้นเป็นต้นแบบของหัวช้างอีก 2 หัว โดยใช้วิธีดัดเหล็กเส้นตามโครงสร้างภายในหัวช้างต้นแบบแล้วตัดเหล็กเส้นที่ได้พร้อมทำหมายเลขทุกชิ้นเพื่อนำขึ้นไปติดกับโครงสร้างหัวช้างที่ยกขึ้นไปส่วนหัวกลางผ่าออกเป็น 3 ชิ้นแล้วนำขึ้นประกอบกับโครงสร้างหัวช้างที่ยกไปติดกับตัวช้างด้านบน สำหรับหัวช้างที่เหลือ ช่างจะเคาะแผ่นทองแดงประกอบเป็นหัวช้างโดยใช้นั่งร้านผิวหนังลำตัวช้างและเครื่องทรงหุ้มด้วยทองแดงทั้งหมด   ช่างใช้ทองแดงแผ่นหนาประมาณ  1.2  มิลลิเมตร  ตั้งแต่ขนาด  4 x 8  ฟุต จนถึงแผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ  ใช้ช่างเคาะจำนวนประมาณ  270  คน

จำลองเป็นโลกทั้งสาม สวรรค์ โลก เมืองบาดาล

 เสาแต่ละต้นถ่ายทอดเรื่องราวศาสนาสำคัญของโลกประกอบด้วยศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายาน(ประวัติเจ้าแม่กวนอิม)

ทวีปทั้งห้าอยู่ตรงกลางมีดวงอาทิตย์ส่องแสงและให้พลังงานแก่สรรพชีวิต ทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยจักรราศี 12 ราศี

ธรรม - เสา - โลก
   มนุษย์ต่างมีศรัทธาและยึดมั่นในศาสนาที่ต่างกัน แต่แก่นแท้ของศาสนานั้นมี ธรรม เป็น หลักเดียว ข้อปฏิบัติของแต่ละศาสนาจึงเป็นแนวทางที่ช่วยชี้แนะให้มนุษย์เข้าถึงธรรม แต่เพราะสิ่งที่มนุษย์ต้องการบรรลุนั้นไม่เหมือนกัน วิถีแห่งการปฏิบัติตนบนความเชื่อและยึดถือจึงต่างกัน

(เสาคริสต์) มอบความรักเพื่อปลดเปลื้องบาปของมนุษย์
   การก่อเกิดของมวลมนุษย์ การเชื่อฟังในพระเจ้า สู่การไถ่บาปของพระเยซูให้กับมนุษย์ ด้วยฐานะบุตรแห่งพระเจ้า ผู้มีความรักอันบริสุทธิ์ รักที่ไม่มีข้อแม้ และยอมสละชีวิตเพื่อปลดเปลื้องบาปให้กับมนุษย์ สอนให้มนุษย์รู้จักรักและการจะได้มาซึ่งความรัก ต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง

(เสาพราหมณ์ – ฮินดู) ชี้ทางด้วยภาวนา และบูชาเพื่อพ้นทุกข์
   พระตรีมูรติมหาเทพผู้เป็นศูนย์รวมความเชื่อ และศรัทธาจากศาสนิกชนทั่วโลก โดยเฉพาะองค์พระนารายณ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ได้อวตารลงมาถึง ๑๐ ปาง เพื่อช่วยเหลือทั้งมนุษย์และเทพยดา จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากหมู่มาร และจากมนุษย์ด้วยกัน

(เสาพุทธมหายาน) สร้างสันติสุขด้วยกรุณา
   ถ่ายทอดเรื่องราวของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์จนบรรลุเป็น พระโพธิสัตว์ ผู้มากด้วยความกรุณาที่มีต่อทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ โดยระงับการนิพพานไว้จนกว่าจะช่วยเหลือมวลมนุษย์และเหล่าสัตว์ทั้งหมดจนพ้น จากความทุกข์

(เสาพุทธเถรวาท) หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดด้วยปัญญาและความเพียร
   การบำเพ็ญเพียรของพระโพธิสัตว์ทั้งสิบชาติ ด้วยคุณธรรมสิบประการ ได้แก่ เนกขัมบารมี วิริยะบารมี เมตตาบารมี อธิษฐานบารมี ปัญญาบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี อุเบกขาบารมี สัจจะบารมี และทานบารมี เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ถูกร้อยเรียงไว้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการบำเพ็ญเพียรอย่างอุตสาหะของมหาบุรุษ ก่อนที่จะได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ชี้หนทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์แก่มวลมนุษยชาติ

ลวดลายจำหลักดีบุกที่เสาทั้งสี่ต้นนั้น จึงสื่อความหมายถึงความงดงาม และง่ายในการมองเห็นศาสนา แต่แฝงไว้ซึ่งกุศโลบาย ให้เกิดการศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงแก่นของศาสนาอย่างแท้จริง

กระจกสี เปรียบดั่งความดีงามที่ส่งมายังโลกมนุษย์

ปูนปั้นประดับเบญจรงค์ ฝีมือช่างเพชรบุรี

งานกระจกสีชิ้นนี้เป็นงานศิลปะในแนวทางกึ่งนามธรรมแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโลกมนุษย์ ประกอบด้วยทวีปทั้งห้าอยู่ตรงกลางมีดวงอาทิตย์ส่องแสงและให้พลังงานแก่สรรพชีวิต ทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยจักรราศี 12 ราศีและบริเวณขอบนอกสุดเป็นภาพมนุษย์ที่แสดงอากัปกิริยาต่างนานา ศิลปินใช้สีเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 4ได้แก่ สีเหลืองคือดิน สีแดงคือไฟ สีขาวคือลม และสีฟ้าคือน้ำ เมื่อการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ ทำให้ภายในอาคารทรงโดมหรือชั้นโลกมนุษย์มีแสงสว่างสอดส่องเข้ามาผ่านเพดานกระจกสีประดุจดั่งความดีงามที่ส่งมายังโลกมนุษย์

ปูนปั้นประดับเบญจรงค์ แบบโบราณ ฝีมือช่างเพชรบุรี 

การเดินทาง: ใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ผ่านแยกบางพลี ก่อนถึงแยกปากน้ำ จะพบพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณอยู่ทางซ้ายมือ หรือใช้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ขสมก. สาย 102, 507, 511 และ 536 รถโดยสารประจำทางธรรมดาสาย 25, 142 และ 365

วันและเวลาทำการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

ค่าเข้าชม: บุคคลทั่วไป ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท, ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 371 3135 – 6      http://www.ancientcitygroup.net/erawan/th/home

จิตรกรรมสุริยจักรวาลเป็นภาพขอบฟ้าอันเวิ้งว้าง

ขอขอบคุณข้อมูลและรุ)ภาพจาก พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ