WAST IS MORE EXHIBITION นิทรรศการที่เชื่อว่า "ไม่มีของเสีย มีเพียงทรัพยากร" / Bangkok Design Week 2023
Bangkok Design Week 2023 หรือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ในปีนี้มีจุดแสดงที่น่าสนใจมากหมาย หนึ่งในจุดแสดงงานที่น่าสนใจของปีนี้คือ WAST IS MORE EXHIBITION นิทรรศการที่เชื่อว่า "ไม่มีของเสีย มีเพียงทรัพยากร" ที่จัดขึ้นที่ TCDC BANGKOK 1ST FLOOR (FRONT BUILDING) ในวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้
วันนี้ Wazzadu ได้ทำการเก็บภาพผลงานที่ได้ไปเยี่ยมชมจากงาน และรวบรวมข้อมูลแนวคิดเกี่ยวกับวัสดุที่น่าสนใจบางส่วน มาฝากผู้อ่านทุกท่าน ติดตามในบทความนี้ได้เลยครับ...
Waste : เศษใบอ้อย (Sugarcane Tops)
Designer : MORE - Waste is More
จากของเหลือจำนวนมากในภาคเกษตรกรรมอย่าง “เศษใบอ้อย” ที่โดนเผาทำลาย หรือฝังกลบจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้สร้างปัญหามลพิษทางอากาศที่กระทบกับคุณภาพชีวิตของเราโดยตรง และ MORE เห็นถึงความโดดเด่นจากเส้นใยของใบอ้อย ที่นำมาผนวกเข้ากับความท้าทายในมิติของการพัฒนาและการออกแบบวัสดุทดแทนจากของเหลือที่ยังคงความน่าสนใจของต้นทางวัสดุอยู่
ด้วยความพิเศษของใบอ้อยที่มีลักษณะเป็นเส้นแนวยาว มีขนาดใหญ่ และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทาง MORE จึงเริ่มทดสอบความเป็นไปได้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ยังคงบอกเล่าที่มาของวัสดุทางเลือกจาก “เศษใบอ้อย” ผสานกับตัวตนของแบรนด์ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน ถาด ตะกร้า และแผงกั้น ที่ใช้กระบวนการผลิตแบบเดียวกัน ทำให้เราสามารถใช้ส่วนประกอบทดแทนหรือปรับเปลี่ยนการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงความใส่ใจต่อการวิจัยวัสดุควบคู่ไปกับการออกแบบทั้งเฉดสี ลวดลาย และดึงคุณสมบัติของวัสดุ สู่แนวทางการสร้างความเป็นไปได้ในรูปแบบใหม่ ๆ ต่อไป
Waste : เปลือกเยื่อกาแฟ (Coffee Chaff)
Designer : Kitt.Ta.Khon Pete Teerapoj Teeropas
“มากกว่าตัวแทนวัสดุธรรมชาติ คือ การต่อยอดองค์ความรู้ของงานสานเดิมให้พัฒนาไปพร้อมกับปัจจุบัน” ร่วมเดินทางผ่านมุมมอง “waste is more” ของ KITT.TA.KHON จาก นวัตกรรมวัสดุ เส้นหวายจากเยื่อกาแฟที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการใช้วัสดุใหม่ ๆ ผ่านงานสานและงานออกแบบที่เป็นเหมือนตัวแทนที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวเบื้องหลังของวัสดุกับผู้คน
ฆิด-ตา-โขน ออกแบบเก้าอี้นั่งเดี่ยวหลังทรงสูงด้วยหวายจากเยื่อกาแฟควบคู่กับการรีดีไซน์ “Photography Chair” ที่โด่งดังและอยู่ในวัฒนธรรมประชานิยม (popular culture) เก้าอี้ “มุกมุก” ที่ออกแบบด้านหลังให้มีความกว้างจากเล็กไปใหญ่ แสดงเทคนิคการขดของเส้นหวาย ที่มีคุณสมบัติ การสปริงตัว และสีสันที่โดดเด่นของวัสดุทดแทนจากเยื่อกาแฟที่ยากจะเลียนแบบด้วยวัสดุอื่น
Waste : เศษแผ่น PVC (PVC Edge Banding)
Designer : Designerd
Waste Owner : Harvbrand
ด้วยความพิเศษของวัสดุทางเลือกจาก“เศษแผ่น PVC” ที่ถูกเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์พาร์ติเกิลบอร์ด จากเศษแผ่น pvc เมื่อถูกแปลงให้กลายเป็นวัสดุทางเลือก ทำให้วัสดุเกิดสีสันและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ Designerd จึงเลือกใช้ความพิเศษนี้เป็นแนวคิดหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน รร่วมกับเทคนิคภาพ Glitch ที่ช่วยส่งเสริมพื้นผิวที่มีลวดลายของวัสดุอย่างสมบูรณ์
Waste : ฝุ่นผ้า (Fabric Dust)
Designer : Takorn Tavornchotivong / Takorn Textile Studio
โจทย์การออกแบบผลงานของวัสดุทางเลือก “ฝุ่นผ้า” ที่ทาง Takorn Textile Studio ดัดแปลงวัสดุสำเร็จรูปที่พร้อมใช้งานจากของเหลือในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นำเสนอคุณสมบัติของวัสดุโดยไม่พยายามฝืนธรรมชาติ ที่นำเสนอคุณค่าและจุดเด่นของวัสดุให้ชัดเจนมากที่สุด แม้วัสดุทดแทนนี้มีความท้าทายในการถักทอด้วยเทคนิคลวดลายได้ไม่มากนักด้วยความแข็งและคงรูปของตัววัสดุเอง ที่ไม่ได้อ่อนนุ่มเหมือนกับเส้นใยผ้าปกติ แต่สามารถจัดการด้วยกระบวนการทางสิ่งทอเหมือนกับผ้าจริงได้ จึงได้เริ่มนำวัสดุไปทดลองด้วยกระบวนการต่าง ๆ ที่สรรค์สร้างรูปฟอร์มออกมา
เกิดเป็นแนวคิดที่ต้องการนำเสนอผลงานให้เป็นไปในรูปแบบ organic form ลดการบังคับให้วัสดุ หรือทำให้ผลงานเสียรูป และตอกย้ำแก่นของผลงานที่เป็นผลลัพธ์จากการทดลองวัสดุ การออกแบบ และพัฒนาให้แปลง “ฝุ่นผ้า” สู่ผลงานที่เป็นไปได้
Waste ฝุ่นไม้ (Saw dust)
Designer : Jutamas Buranajade / Piti Dui
Waste Owner : Hoog
อนาคตและความเป็นไปได้ของการทำงานออกแบบจาก “ไม้” ที่สร้างความท้าทายให้กับ o-d-a ผ่านการศึกษาและพิจารณาถึงจุดเด่นและจุดด้อยในการดึงศักยภาพของวัสดุทดแทนจาก เศษเหลือทิ้งจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ อย่าง ฝุ่นไม้ เสมือนการค้นหาวิธีการปรุงวัตถุดิบเพื่อดึงความโดดเด่นและความพิเศษของวัสดุในฐานะตัวเอกของผลงาน เชิญเชื้อให้ผู้ชมตระหนักและสัมผัสความสำคัญในเชิงโครงสร้างและหน้าตาของผลงาน
Timber Bench : บอกเล่าเรื่องราวผ่านม้านั่งยาวรูปทรงของไม้ ที่มุ่งหวังสะกิดใจให้ผู้ชมนึกถึงที่มาของวัสดุจากของเหลือใช้อย่าง “ฝุ่นไม้” ผ่านการเดินทางจากต้นไม้อายุเยอะที่ปลดระวางจากการกรีดน้ำยางพารา มาสู่การเป็นไม้แปรรูปในอุตสาหกรรม และผสมผสานกับการใช้แผ่นวัสดุจากฝุ่นไม้ที่ถูกนำมาให้คุณค่าและใช้งานใหม่อีกครั้ง
Lounge Chair: ดึงศักยภาพของแผ่นวัสดุด้วยนวัตกรรมที่แปรรูปฝุ่นไม้สู่ทางเลือกในการสร้างชิ้นงานด้วยเทคนิคใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้น เราจึงมองหาวิธีการที่จะท้าทายความยืดหยุ่นของตัววัสดุผ่านรูปทรงที่พิสูจน์ความเป็นไปได้ต่อการใช้ประโยชน์จาก “ฝุ่นไม้” ในอนาคต
Waste : อะลูมิเนียมฟอยล์จากกล่องยูเอชที (aluminium foil from UHT boxes)
Designer : Mitr.
Waste Developer : ADVANCED MAT CO.,LTD. (https://ciro.asia/)
“อะลูมิเนียมฟอยล์จากกล่องยูเอชที” มีต้นทางมาจากกล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ที่เราใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ภายนอกเป็นกระดาษภายในเราจะพบกับวัสดุจากอะลูมิเนียมฟอยล์ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวในเรื่องการสะท้อนแสงและเงาของวัสดุ สร้างจุดสนใจ ยกระดับเป็นแรงบันดาลใจให้กับ mitr. ได้ทดลองกับวัสดุทดแทนจากอะลูมิเนียมฟอยล์ ผ่านการขุด เจาะ เซาะร่อง ทั้งด้วยมือและเครื่องจักร เพื่อแสดงมิติความแวววาวในของตัววัสดุ นำไป สร้างสรรค์เป็นผลงานที่สามารถนำเสนอเรื่องราววัสดุได้อย่างแข็งแรง
SHIMMER เกิดจากการทดลองกับวัสดุทดแทนที่ได้จาก “อะลูมิเนียมฟอยล์จากกล่องยูเอชที” ผ่านการขุด เจาะ เซาะร่อง ทั้งด้วยมือและเครื่องจักร เพื่อแสดงมิติความแวววาวในของตัววัสดุ เราจึงอยากนำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ที่ได้จากการทดลอง จนออกมาเป็นตัวครอบกระถางต้นไม้ ที่อยู่ภายใต้แนวคิด การออกแบบชิ้นงานให้สามารถปรับเปลี่ยนชิ้นส่วน ถอดแยกประกอบเพื่อซ่อมแซม หรือแม้กระทั่งนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อไปได้ไม่รู้จบ
Waste : ฝาขวดน้ำ (Bottle Cap)
Designer : Nutre Jeweller Studio / Nutre Arayavanish Chenyavanij
ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติกประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีเพียง 21% ของขยะพลาสติกเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลต่อ จากข้อจำกัดในการคัดแยกประเภท สีสัน และการปนเปื้อนทำให้มี “ฝาขวด” มากมายที่ไม่เข้าเกณฑ์แต่ด้วยความพิเศษของพลาสติก HDPE และ PP ที่ทนทาน ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ที่ทำให้เราเห็นโอกาสและคุณค่าที่จะเปลี่ยนรูปลักษณ์ของ “ฝาขวด” หลากสีสันที่ถูกมองข้ามเป็นวัสดุทางเลือกเป็นแผ่นวัสดุที่มีความทนทาน สีสันสดใส และช่วยนำเสนอความโดดเด่นของวัสดุตั้งต้นเดิมอยู่
สัมผัสความตั้งใจของ NUTRE JEWELLER โดยคุณนุตร์ อารยะวานิชย์ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดึงคุณสมบัติ และงามของวัสดุทางเลือกในรูปแบบของชุดเครื่องประดับจาก “ฝาขวด” วัสดุตั้งต้นที่เหลือทิ้งจากการบริโภค ด้วยแนวคิด “การเดินทางของวัสดุ” ที่สอดคล้องกับขั้นตอนการแปรรูปวัสดุทางเลือก 4 ขั้นตอน คือ “ตั้งต้น - ย่อยสลาย - ละลาย – และเกิดใหม่” นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ยังชวนผู้สวมใส่ ย้อนนึกถึงกระบวนการระหว่างทางในการพัฒนาจนเกิดเป็นวัสดุทางเลือกจากฝาขวดน้ำที่น่าสนใจไม่แพ้กับปลายทางสำเร็จในตอนจบ
Waste : เปลือกไข่ (Eggshell)
Designer : Spirulina Society
ไข่ วัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารทั่วโลก ที่เราทุกคนพูดได้อย่างเต็มปากว่าเราคุ้นเคยกับ “เปลือกไข่” เป็นอย่างดี แต่น้อยคนที่รู้ว่าปริมาณ “เปลือกไข่” เหลือทิ้งทั้งหมดต่อปีเทียบเท่ากับขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่มหาสมุทร ด้วยมุมมองของ “Spirulina Society” และนวัตกรรมการพัฒนาเส้นวัสดุทางเลือกจาก “เปลือกไข่” ที่สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ 3 มิติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ เพื่อตอกย้ำสถานะของพลเมืองโลก ไปพร้อมกับพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อสังคมของเราอย่างยั่งยืน
"Eggsperiment" คือ ชุดผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหาร ประกอบด้วย ภาชนะอเนกประสงค์ เชิงเทียน ที่วางไข่ ชาม และห่วงผ้าเช็ดปาก/ที่วางมีด/ที่วางตะเกียบ รูปทรงของชิ้นงานเกิดจากการสำรวจโครงสร้างรูปทรงภายในและภายนอกของไข่ ผ่านการผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และนำมาจัดรูปทรงใหม่ด้วยเทคนิคเป่าลมร้อนและจัดรูปทรงใหม่ด้วยมือ จากความตั้งใจในการเสาะหาความเป็นไปได้ของวัสดุจาก “เปลือกไข่” ผ่านการชุบชีวิตใหม่จากของเหลือใช้ และเป็นแรงกระเพื่อมในการจัดการเศษอาหารให้กลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาแต่น่าสนใจ
ผู้เขียนบทความ