สถาปนิกอาเจนติน่าใช้ AI นำเสนอแผนการสร้าง "Polimeropolis" เมืองลอยน้ำแห่งอนาคต ที่ทำจากขยะพลาสติกรีไซเคิล

รูปภาพประกอบจาก : Juan Manuel Prieto

ในขณะที่อุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้หลายๆ ประเทศเริ่มมีไอเดียและแนวคิดที่จะทำเมืองลอยน้ำกลางทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองจมอยู่ใต้น้ำเหมือน "แอตแลนติส" เช่น Busan Project ของเกาหลีใต้ และ Oxagon Project ของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้นำเสนอแนวคิดการสร้างเมืองลอยน้ำไปเมื่อปี 2022

ล่าสุด Estudio Focaccia Prieto สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมจากประเทศอาเจนติน่า ได้ใช้ AI นำเสนอแผนการสร้าง "Polimeropolis" เมืองลอยน้ำแห่งอนาคต ที่ทำจากขยะพลาสติกรีไซเคิล เพื่อนำเสนอระบบนิเวศใหม่ของการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน

รูปภาพประกอบจาก : Juan Manuel Prieto

โปรเจคการสร้างเมืองใหญ่ในจุดที่ลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีแผนที่จะชำระล้างขยะที่มีมลพิษในทะเลด้วยการนำพลาสติกรีไซเคิลที่ดักจับได้จากท้องทะเลมาแปรรูป และใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างเมืองที่ยั่งยืน 

นอกจากนี้ Polimeropolis ยังถูกออกแบบให้สามารถผลิตไฟฟ้าและน้ำสะอาดได้ด้วยระบบพลังงานหมุนเวียน หัวหน้าสถาปนิก Juan Manuel Prieto และสถาปนิกด้านสิ่งแวดล้อม (Lead Architect) Clara Focaccia ได้ร่วมมือกับ Maxi Araya ศิลปิน AI ในการนำเสนอภาพแบบจำลองในมุมมองจากโดรนที่สร้างโดย Midjourney ซึ่งเป็น Platform AI Visual Generate ที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกในขณะนี้

รูปภาพประกอบจาก : Juan Manuel Prieto

Polimeropolis ถูกนำเสนอภายใต้แนวคิด Great Pacific Garbage Patch โดยออกแบบให้เป็นเกาะวงแหวนลอยน้ำขนาดยักษ์ ที่สามารถทำความสะอาดมหาสมุทรได้ ด้วยการดักจับขยะและของเสียจากท้องทะเล โดยวงแหวนลอยน้ำขนาดยักษ์แต่ละวงจะถูกออกแบบให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • เกาะวงแหวนสำหรับใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
  • เกาะวงแหวนสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย
  • เกาะวงแหวนสำหรับใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และสิ่งอำนวนความสะดวก
  • เกาะวงแหวนสำหรับใช้เป็นพื้นที่การขนส่ง เช่น สนามบินน้ำ และท่าเรือ
  • เกาะวงแหวนสำหรับใช้เป็นสถานพยาบาล
  • เกาะวงแหวนสำหรับใช้เป็นโรงงานแปรรูปรีไซเคิลขยะ และผลิตวัสดุสำหรับการก่อสร้างเกาะใหม่

สำหรับรูปแบบการดักจับขยะ และของเสียจากท้องทะเล ทีมงานของ Estudio Focaccia Prieto ได้สร้างขอบเขตการเก็บขยะที่ทำจากตาข่าย ซึ่งตาข่ายจะช่วยจำกัดการเล็ดลอดผ่านของพลาสติกเล็กๆ และในขณะเดียวกันกระบวนการบำบัดของเสียด้วยพืชจะทำให้น้ำบริสุทธิ์ขึ้น จากองค์ประกอบ และวิธีเหล่านี้จะทำให้ได้สภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย เกาะวงแหวนลอยน้ำขนาดยักษ์จะช่วยทำความสะอาดมหาสมุทร และป้องกันไม่ให้เราจมอยู่ในทะเลขยะของเราเอง

Polimeropolis จะสร้างจากขยะพลาสติกรีไซเคิลที่พบในทะเลเป็นหลัก ขยะจะถูกบดอัดแปรสภาพในโรงงานลอยน้ำ ที่คอยทำหน้าที่รีไซเคิลขยะทั้งหมด เพื่อแปรรูปให้เป็นส่วนประกอบ และวัสดุสำหรับนำไปใช้ในการก่อสร้าง ยิ่งไปกว่านั้น Polimeropolis จะพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์ เมืองที่ล้อมรอบจะสร้างทรัพยากรของตนเอง การเคลื่อนไหวของน้ำขึ้นน้ำลงจะช่วยสร้างพลังงานไฟฟ้า ในขณะที่ระบบรีเวอร์สออสโมซิสจะสร้างน้ำดื่มที่สะอาด การผลิตอาหารจะขึ้นอยู่กับการเพาะปลูกพืช และสัตว์ทะเลที่หาได้ในบริเวณพื้นที่ทะเลสาบที่อยู่ใจกลางเกาะวงแหวนลอยน้ำแต่ละวง

รูปภาพประกอบจาก : Juan Manuel Prieto

เกาะวงแหวนลอยน้ำขนาดยักษ์แต่ละวง จะเป็นเขตเมืองลอยน้ำที่มีการใช้งานแบบผสมผสาน (Hybrid Floating City) ซึ่งจะรองรับผู้อยู่อาศัยได้ประมาณ 4,000 คน เมื่อการขยายตัวของเมืองลอยน้ำพัฒนามากขึ้น จะมีเกาะใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะ, พื้นที่นันทนาการ, พื้นที่เชิงพาณิชย์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ, สนามบินน้ำ, ท่าจอดเรือ, สถานพยาบาล และโรงแรมรีสอร์ทสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งผู้คนจะสามารถเยี่ยมชมและเรียนรู้เกี่ยวกับระบบที่ใช้สำหรับสุขอนามัยของเกาะแห่งนี้ได้อย่างใกล้ชิด

Polimeropolis เป็นโครงการที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะชนเพื่อกระตุ้น และผลักดันให้เกิดแนวความคิดใหม่ เกี่ยวกับกระบวนการผลิต การบริโภค และกำจัดขยะต่าง ๆ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และความสำคัญของการใช้ซ้ำที่เกิดจากกระบวนการรีไซเคิลทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้ว 

เมืองลอยน้ำแห่งนี้ จะเป็นเมืองที่ถูกพัฒนาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ ที่มีความมุ่งหวังให้กลายเป็นเมืองที่พยายามปรับความต้องการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์และเคารพต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่เพียงแก้ปัญหาที่เกิดจากการผลิตขยะมากเกินไปเท่านั้น แต่ยังสร้างระบบนิเวศ และวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ในอนาคตอีกด้วย "Juan Manuel Prieto" กล่าว

รูปภาพประกอบจาก : Juan Manuel Prieto

Project info

  • Architecture : Estudio Focaccia Prieto
  • Lead Architects : Juan Manuel Prieto & Clara Focaccia 
  • AI Artist : Maxi Araya

แหล่งอ้างอิง

  • https://www.designboom.com/architecture/floating-polimeropolis-city-recycled-plastic-waste-cleanses-ocean-estudio-focaccia-prieto-01-10-2023/
  • https://www.the-sun.com/tech/7120243/floating-home-inside-ocean-garbage-patch/

ดูเนื้อหาการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่

Wazzadu.com
วัสดุคือแพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางฟีเจอร์ต่างๆดังนี้

Search - ค้นหา และจัดเก็บ ทั้งไอเดีย และสินค้า และบริการสำหรับการออกแบบตกแต่ง
Sourcing - จัดหาสินค้า และเปรียบเทียบราคาโดยการติดต่อ ผ่านแบรนด์ต่างๆ หรือบริการในแพลตฟอร์ม
Spec - เครื่องมือสเปคข้อมูลวัสดุ โดยแสดงข้อมูลเพื่อการออกแบบ เปรียบเทียบคุณสมบัติเชิงลึก ทั้งการติดตั้ง ขนาด ราคา และรีวิวการใช้งาน
แบรนด์ / ผู้จัดจำหน่ายสามารถเปิดโปรไฟล์ และอัพโหลดสินค้าได้ฟรี

ติดต่อเราที่ 02-714-0454
Email: contact@wazzadu.com ...

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ