นวัตกรรมม่านกันควันอัตโนมัติ และม่านกันเปลวไฟอัตโนมัติ สำหรับนำไปใช้งานภายในอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดความสูญเสียจากเหตุการณ์อัคคีภัยภายในอาคาร

ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆที่ผู้ออกแบบและเจ้าของอาคารควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ เพราะระบบป้องกันอัคคีภัยที่มีประสิทธิภาพจะช่วยหยุดเหตุการณ์เพลิงไหม้ให้สงบลงได้ (ในกรณีเพลิงไหม้ในระดับความรุนแรงเล็กน้อย-ปานกลาง) หรือ ช่วยทุเลาความรุนแรง ลดการสูญเสีย (ในกรณีเพลิงไหม้ระดับรุนแรงสูงสุด) พร้อมประวิงเวลาเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ที่ติดอยู่ภายในอาคารได้ 

นอกจากระบบดับเพลิงแบบต่างๆ ที่ใช้ในงานป้องกันอัคคีภัยภายในอาคาร เช่นประตูทนไฟ ผนังทนไฟแล้ว นวัตกรรมระบบม่านกันควันอัตโนมัติ และกันเปลวไฟอัตโนมัติ (Automatic Smoke & Fire Protection Curtain) ก็เป็นหนึ่งในระบบป้องกันความสูญเสียจากอัคคีภัยที่ผู้ออกแบบอาคารให้ความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสามารถประวิงเวลาการแพร่กระจายของควันและเปลวไฟ ให้ผู้อยู่อาศัยมีเวลาหลบหนีได้ทัน ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมากในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ หรือ อาคารสูง 

ระบบม่านกันไฟและม่านกันควันอัตโนมัติจะมีคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว และมีวิธีการนำไปใช้งานที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น ตามมาชมกันได้เลยครับ

รู้หรือไม่!!! จากสถิติอัตราการเสียชีวิตของผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ในอาคารกว่าครึ่ง ไม่ได้มาจากการถูกเปลวไฟคลอกแต่มาจากการสูดดมเอาควันไฟและก๊าซพิษเข้าไป

เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นภายในอาคาร ด้านในของอาคารจะถูกปกคลุมไปด้วยควันอย่างรวดเร็ว สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้อยู่ในอาคารและบดบังทัศนวิสัยจนทำให้ผู้ประสบภัยมองหาทางหนีได้ยากยิ่งขึ้น หรือ ไม่สามารถมองหาทางหนีออกจากอาคารได้เลย เนื่องจากควันที่มืดและหนาทึบ จนทำให้สูดดมเอาควันไฟและก๊าซพิษเข้าไปในที่สุด

ระบบม่านกันควันอัตโนมัติ และม่านกันเปลวไฟอัตโนมัติ (Automatic Smoke & Fire Protection Curtain) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

ระบบม่านกันไฟ และม่านกันควันและเปลวไฟอัตโนมัติ "แบรนด์ KENT โดย Wattana" คือ ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมทิศทางของไฟ ควัน และเปลวไฟภายในอาคารเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยทั้งสองระบบจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่วัตถุประสงค์ของการใช้งานหลัก

ระบบม่านกันควันอัตโนมัติจะมีหน้าที่จำกัดการแพร่กระจายของควันไฟไม่ให้ไหลไปทั่วอาคาร แต่จะปิดกั้นให้ควันไฟไหลไปเฉพาะบริเวณที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นที่พักควัน ทำให้ควันกระจายไปยังจุดอื่นๆ ในอาคารได้ช้าลงก่อนที่จะระบายควันออกจากอาคาร โดยอาศัยช่องลมที่เปิดออกสู่ภายนอก หรืออาจมีการติดตั้งพัดลมดูดควัน

ส่วนระบบม่านกันไฟอัตโนมัติ มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เปลวไฟทะลุผ่านพื้นที่อพยพหรือเส้นทางหนีไฟของอาคาร เช่น บริเวณทางออกบันไดหนีไฟ หรือปิดกั้นจุดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ เช่น ร้านอาหาร ห้องครัว ห้องติดตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยการออกแบบจุดติดตั้งม่านกันไฟจะต้องสอดคล้องกับแผนผังทางหนีไฟของอาคาร

ซึ่งทั้งสองระบบนี้ แม้จะมีวัตถุประสงค์หลักในการใช้งานต่างกันเล็กน้อย แต่เป็นระบบที่มีความสำคัญ สามารถประวิงเวลาและช่วยชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมากในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคาร

ในสถานการณ์ปกติตัวม่านจะถูกเก็บไว้ในกล่องเหนือฝ้าเพดานอย่างแนบเนียนไปกับการตกแต่ง แต่เมื่อใดที่เกิดเหตุอัคคีภัยในอาคาร สัญญาณระบบเตือนอัคคีภัยอาคารจะถูกส่งไปยังกล่องควบคุมของระบบม่าน เพื่อปล่อยตัวม่านให้ค่อยๆ ตกลงมาอย่างอัตโนมัติจากฝ้าเพดานโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งระบบการทำงานของตัวม่านนี้จะไม่ใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เนื่องจากโดยทั่วไปในยามที่อาคารเกิดเพลิงไหม้ ระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารจะถูกออกแบบมาให้ตัดกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในอาคารทันที 

ระดับที่ม่านกันควันที่ตกลงมา เมื่อเวลาที่ใช้งานจริง ม่านจะลงมาไม่สุดพื้น ม่านจะถูกปล่อยลงมาแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้ผู้คนที่กำลังหลบหนีออกจากพื้นที่สามารถก้มลอดใต้ม่านไปยังบริเวณที่ปลอดภัยได้ โดยหน้าที่หลักของการกันควันคือการกักเก็บควันเอาไว้ไม่ให้แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นของอาคาร ซึ่งตามธรรมชาติควันไฟจะมีความร้อนในระดับหนึ่งทำให้ควันจะลอยขึ้นสู่ที่สูงตามหลักการอากาศร้อนลอยขึ้นที่สูงกว่าอากาศเย็น และควันจะลอยปกคลุมด้านบนไปทั่วบริเวณ ทว่าเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง ควันจะเริ่มเย็นตัวลงและจะตกลงสู่พื้น ช่วงเวลานี้คือช่วงที่คนจะสูดดมเอาควันไฟเข้าไปได้และเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

ดังนั้นแล้วม่านกันควันที่ดีต้องมีคุณสมบัติในการอมความร้อนเอาไว้ด้วย เพื่อให้ควันเกิดการเย็นตัวและตกลงสู้พื้นได้ช้าลง ซึ่งผู้ออกแบบระบบป้องกันอัคคีภัยจะคำนวณความสูงของผ้าม่านให้สอดคล้องกับปริมาตรของพื้นที่กักเก็บควันไฟและความสามารถในการระบายควันไฟออกจากอาคารของระบบดูดควัน

รูปแบบการติดตั้งระบบม่านกันควันอัตโนมัติ และม่านกันเปลวไฟอัตโนมัติ

มี 2 รูปแบบ หลักๆ คือ

  1. ติดตั้งแบบมีเสาข้าง
  2. ติดตั้งแบบ Accordion เข้ามุมตามรูปทรงพื้นที่ โดยที่ไม่มีเสาตรงกลาง

คุณสมบัติเด่นของระบบม่านกันควันอัตโนมัติ และกันเปลวไฟอัตโนมัติ

  • ติดตั้งอยู่เหนือฝ้าเพดานอย่างแนบเนียนกลมกลืนไปกับการตกแต่งภายใน ช่วยให้ผู้คนทั่วไปมองไม่เห็นในสถานการณ์ปกติ
  • กล่องเก็บม่านมีขนาดกะทัดรัด ไม่กินเนื้อที่ในการติดตั้ง
  • ตัวม่านทำจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส มีความทนทานแข็งแรง
  • มีน้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่าย ไม่ต้องการโครงสร้างรับน้ำหนักขนาดใหญ่
  • สามารถเลือกติดตั้งเสาด้านข้างได้ เสาด้านข้างมีน้ำหนักเบา
  • สามารถติดตั้งภายในอาคารได้ทั้งพื้นที่ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่
  • สามารถติดตั้งเป็นทรงโค้ง หรือ เข้ามุมตามลักษณะของพื้นที่ภายในอาคารได้
  • สามารถนำผืนผ้ามาต่อกันได้ โดยติดตั้งได้ไม่จำกัดความยาวของพื้นที่
  • มีผ้าม่านหลายรุ่นให้เลือก ซึ่งมีค่าการกันไฟที่แตกต่างกัน
  • ม่านขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับ 1 ผืน คือขนาด กว้าง 8.5 เมตร x สูง 7 เมตร

มาตรฐานรับรองตามเกณฑ์การทดสอบตามมาตรฐานสากล

  • BS EN 12101-1 Annex B (ความน่าเชื่อถือ ความเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์ และความทนทานของวัสดุ)
  • BS EN 12101-1 Annex C (การอุดรอยรั่วของอากาศ)
  • BS EN 12101-1 Annex D (การกันไฟ)
  • CE Labelled D120
  • ตัวผ้าม่านทดสอบตามมาตรฐาน BS 476 Pt 6 and Pt 7, EN 13501-1

มาตรฐานการกันไฟ

  • BS EN 1634-1:2014 (การกันไฟ)
  • BS EN 1634-3:2014 (การป้องกันควัน)
  • ตัวผ้าม่านผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน BS 476 Pt 6 and Pt 7, EN 13501-1
  • ระบบม่านทั้งระบบผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน UL 10D
  • มีค่าการกันไฟอยู่ที่ E180 and E240 นาที
  • มีค่าการกันไฟนาน 120 นาที ที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส

ตัวอย่างโครงการ หรือ สถานที่ ที่นิยมติดตั้งระบบม่านกันควันอัตโนมัติ และกันเปลวไฟอัตโนมัติ

  • โซนร้านอาหารในอาคารสาธารณะ

ห้องครัวภายในร้านอาหาร ถือเป็นแหล่งที่เกิดเพลิงไหม้ได้บ่อยครั้ง การติดตั้งระบบม่านกันไฟอัตโนมัติจะช่วยจำกัดการลุกลามของไฟที่เกิดขึ้นจากภายในห้องครัวได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ชะลอการลุกลามของควันและเปลวไฟไปยังส่วนอื่นของอาคารได้ช้าลง เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในอาคารหนีออกไปได้ทันท่วงที

  • โถงเปิดโล่งตรงกลางอาคาร

อาคารสมัยใหม่นิยมทำโถงเปิดโล่ง เพื่อสร้างบรรยากาศที่โอ่อ่าเมื่อเดินเข้าอาคาร และรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ แต่พื้นที่โล่งที่เชื่อมชั้นทุกชั้นเข้าด้วยกันในลักษณะนี้ เมื่อมีการเกิดเพลิงไหม้ที่ชั้นใดชั้นหนึ่งของอาคาร เปลวไฟจะสามารถลุกลามไปยังชั้นอื่นๆทุกชั้นได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านพื้นที่โล่งดังกล่าว

ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบให้มีระบบม่านกันไฟที่จะเลื่อนลงมาปิดกั้นทางผ่านของไฟในแต่ละชั้น โดยในภาพตัวอย่างนี้ ผู้ออกแบบได้ออกแบบให้มีการติดตั้งระบบม่านกันไฟที่บริเวณปล่องโล่งตรงกลางภายพื้นที่อาคาร ด้วยระบบม่านกันไฟแบบหีบเพลง หรือ Accordion ซึ่งเป็นระบบม่านที่ออกแบบมาให้ติดตั้งในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดหรือมีเหลี่ยมมุมและไม่ต้องการให้มีเสาตั้งรับบริเวณมุมตรงกลาง

  • ประตูทางเข้า-ออก หรือ ประตูลิฟต์

เมื่อเกิดเพลิงไหม้ภายห้องหนึ่งหรือส่วนหนึ่งของอาคาร เปลวไฟสามารถลอดผ่านช่องว่างของประตูหรือทำลายประตูที่ไม่ใช่ประตูกันไฟได้ การติดตั้งม่านกันไฟที่บริเวณประตูทางเข้า-ออก จะช่วยให้สามารถสกัดการลุกลามของเปลวไฟได้แม้ว่าประตูจะไหม้ไปแล้วก็ตาม โดยนอกจากประตูทางเข้า-ออกแล้ว เปลวไฟยังสามารถลุกลามผ่านทางช่องลิฟต์ได้อีกด้วย

โดยช่องลิฟต์เป็นหนึ่งในเส้นทางที่ควันและเปลวไฟสามารถลุกลามจากชั้นที่เป็นต้นกำเนิดเพลิงไฟยังชั้นอื่นๆได้นั่นเอง โดยเปลวไฟจะพุ่งผ่านทางช่องลิฟต์และลอดผ่านรอยต่อระหว่างประตูลิฟต์ออกมาได้ การติดตั้งระบบม่านกันไฟที่บริเวณหน้าทางเข้า-ออกลิฟต์จะช่วยสกัดควันและเปลวไฟได้ระยะเวลาหนึ่งนั่นเอง

  • ร้านอาหารแบบมีชั้นลอย

การติดตั้งม่านกันควันในบริเวณชั้นลอยภายในอาคารส่วนที่ใกล้กับร้านอาหาร จากภาพจะเห็นได้ว่าด้านล่างมีร้านอาหารและครัวอยู่ ซึ่งบริเวณชั้นสองจัดทำเป็นส่วนที่ให้ผู้คนเดินผ่านไปมาพร้อมกับมีโต๊ะนั่งรับประทานอาหาร ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้จากร้านอาหาร ควันจะลอยตัวขึ้นมายังบริเวณชั้นสองและปกคลุมบริเวณดังกล่าวอย่างรวดเร็วมากเนื่องจากอาคารเป็นสถานที่ปิดมิดชิด ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนที่อยู่บริเวณชั้นสองสูดดมควันเข้าไป จึงมีการติดตั้งม่านกันควันด้านบนของร้านอาหารตามภาพ

  • สนามบิน หรือ อาคารขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่

ม่านกันควันยังนิยมนำไปติดตั้งที่สนามบินอีกด้วย เนื่องจากสนามบินมักเป็นอาคารที่มีขนาดกว้างและใหญ่ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ควันจึงสามารถแพร่กระจายไปได้เป็นวงกว้าง ในภาพเป็นการติดตั้งม่านกันควันที่บริเวณบันไดเลื่อนเนื่องจากบันไดเลื่อนและบันไดเป็นจุดที่เชื่อมต่อระหว่างชั้น ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้ควันไฟที่เกิดขึ้นที่บริเวณชั้นล่างลอยขึ้นไปสู่ชั้นบนจึงต้องมีการติดตั้งม่านกันควันนั่นเอง

  • คลังสินค้า หรือ โรงงานอุตสาหกรรม

การติดตั้งม่านกันควันภายในโกดังเก็บสินค้า จากภาพจะเห็นว่ามีการติดตั้งม่านกันควันชนิดตายตัว ( static ) อยู่ที่บริเวณเพดานของอาคาร ม่านกันควันดังกล่าวมีหน้าที่เก็บรวมกลุ่มควันให้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อให้ควันถูกพัดลมดูดอากาศหรือปล่องระบายอากาศด้านบนดูดเอาควันไฟออกไปนอกอาคาร ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวอาคาร หลังคา และสินค้าหรือวัตถุดิบที่เก็บอยู่ในคลัง

ทั้งนี้นอกเหนือจากข้อดีด้านน้ำหนักที่เบาแล้ว ม่านกันควันมีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนที่ดี ช่วยให้อุณหภูมิของควันยังคงสูง ไม่เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วและตกลงสู่พื้นด้านล่าง ดังนั้นการติดตั้งม่านกันควันที่ได้รับมาตรฐานจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการติดตั้งม่านกันควันโดยใช้แผ่นยิปซั่มที่มีน้ำหนักมากนั่นเอง

การนำระบบม่านกันควันอัตโนมัติ และม่านกันเปลวไฟอัตโนมัติไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม

เหมาะกับการใช้งานภายในอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ หรือ อาคารสูง เช่น

  • โรงแรม
  • อาคารสำนักงานขนาดใหญ่
  • สนามบิน
  • โรงงาน/คลังสินค้า
  • ห้างสรรพสินค้า

รายละเอียดผลิตภัณฑ์ระบบม่านกันควันอัตโนมัติ และม่านกันเปลวไฟอัตโนมัติ "แบรนด์ KENT โดย Wattana"

  • ม่านกันควันอัตโนมัติ

    ผ้าบุ, ผ้าม่าน, เครื่องนอน ผ้าม่าน

    Online
  • ม่านกันไฟอัตโนมัติ

    ผ้าบุ, ผ้าม่าน, เครื่องนอน ผ้าม่าน

    Online

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติทนไฟ

ถ้าหากท่านใดที่สนใจระบบม่านกันควันและม่านกันไฟอัตโนมัติ

สามารถสอบถามข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ Line@ : @wazzadu.com

หรือส่งความต้องการมาที่ www.wazzadu.com/page/wattana/contact

บริษัท วรรธนะ จำกัด ก่อตั้งมาแล้วกว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ซึ่งทางเราจัดจำหน่ายและติดตั้งผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด โดยเน้นหลัก ๆ อยู่สองประเภท ประเภทแรกคือ ห้องซาวน่า และห้องสตีม ประเภทที่สองคือผลิตภัณฑ์ที่เน้นทางด้านการกันเสียง เช่น ประตูกันเสียง ผนังเลื่อนกั้นห้องกันเสียง โดยทางเรา มีการให้คำแนะนำเรื่องสินค้าให้ได้ตามความต้องการของลูกค้าพร้อมทั้งการบริการหลังการขาย นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ อย่าง ประเทศลาว กัมพูชา ภูฏาน และมัลดีฟส์ ...

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ