i c e . su house บ้านสะท้อนตัวตนที่เรียบง่ายเป็นพิเศษของไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์

ในเวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จักกับ ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ ที่มีผลงานการแสดงในภาพยนต์เรื่อง One for the Road ซึ่งจะเห็นได้ว่าเขาเป็นคนเอาจริงเอาจังกับการแสดงในบทบาทของตัวละครในเรื่อง และพยายามถ่ายทอดคาแร็กเตอร์ออกมาให้เรามีอารมณ์ร่วมไปด้วยตลอดทั้งเรื่อง 

แต่ในครั้งนี้เขาพยายามถ่ายทอดตัวตนที่แท้จริงลงมาสู่บ้านของเขาเอง ซึ่งไอซ์ซึได้ติดตามผลงานของ Junsekino Architect and Design มาโดยตลอด ก่อนที่จะให้สถาปนิกมากฝีมือผู้นี้มาช่วยทำให้ตัวตน พฤติกรรม และการอยู่อาศัยของเขาได้สื่อสารออกมาผ่านความเรียบง่าย ผสมผสานไปกับรายละเอียดและความเนี้ยบที่เหมือนกับอุปนิสัยของเขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บ้านหลังนี้จะมีชื่อว่า i c e . su house

ความเรียบง่ายนำไปสู่ความไม่ธรรมดา

จากโจทย์ของคุณไอซ์ซึ ที่ต้องการให้บ้านพักอาศัยหลังนี้เรียบง่ายเกิดความเป็นส่วนตัว สามารถทำงาน พักผ่อน และที่สำคัญต้องมีพื้นที่ให้กับแมว ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญของไอซ์ซึ โดยพื้นที่ของบ้านหลังนี้ มีขนาดพื้นที่กว่า 70 ตารางวา ทางสถาปนิก จูน- เซกิโน่ จึงออกแบบบ้านให้ดูง่ายที่สุดเพื่อให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการให้มากที่สุด

“ช่วงแรกที่ไอซ์ซึเข้ามาพูดคุย เขาต้องการให้เราออกแบบบ้าน 300 กว่าตารางเมตร ให้เป็นพื้นที่ส่วนตัว มีความปลอดภัยเพราะเขาเป็นนักแสดง รูปแบบอาคารไม่ต้องโฉ่งฉ่างอลังการมาก เราเลยเสนอว่าถ้าสมมุติเราเป็นเด็ก เราจะวาดภาพที่มีบ้านกล่องหลังคาจั่ว มีพระอาทิตย์ ความหมายก็คือตัวบ้านออกมาเรียบง่ายที่สุด ดูถ่อมตน และเข้ากับสภาพแวดล้อมเขตร้อนชื้น เราเลยตั้งใจให้ภาพภายนอกของบ้านเป็นหลังคายกสูง มีกระจก และสามารถระบายอากาศได้ แล้วค่อยใส่ความเป็นตัวของไอซ์ซึเข้าไปยังภายในของตัวบ้าน”

เริ่มคิดจากกำแพงบ้านก่อน

ด้วยความต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอกอาคาร การเลือกใช้บล็อกแก้ว แล้วนำมาจัดวางให้เป็นลักษณะเหมือนพิกเซลแนวตั้งก็ช่วยทำให้บ้านรู้สึกดูเบาขึ้น และความใสกึ่งขุ่นมัวของวัสดุก็ช่วยบดบังสายตาจากภายนอก แต่ก็ยังดึงสภาพแวดล้อมของบริบทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่ภายในตัวบ้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“จริงๆ กำแพงเป็นส่วนแรกสุดที่เราได้พบเห็นเลย ซึ่งกำแพงมันให้ความรู้สึกปิดกั้น แข็งแรงสร้างความปลอดภัย เป็นตัวบ่งบอกขอบเขตของตัวบ้าน ถ้าเราสามารถดึงเอาแสงและสภาพแวดจากภายนอกด้วยบล็อกแก้วเข้ามาได้ พื้นที่ภายในบ้านช่วงกลางวันก็จะลดจุดอับ เพราะแสงเข้ามาได้ทุกทิศทาง แต่ก็ยังให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว พอตกช่วงกลางคืนก็เป็นตัวช่วยในการกระจายแสง กำแพงตัวนี้จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของเขา และไอซ์ซึก็ชอบกำแพงตัวนี้เอามากๆ”

ฟังก์ชันที่สะท้อนผู้อยู่อาศัย

ภายในบ้านถูกแบ่งพื้นที่ให้ชั้น 1 เป็นส่วนต้อนรับแขก และสำหรับเล่นโยคะ ในส่วนของพื้นที่ชั้น 2 จะถูกแบ่งให้พื้นบางส่วนเช่นครัว สวน ที่แมวสามารถเดินเข้าออกได้ นอกจากนั้นจะเป็นของห้องนอน และห้องทำงาน จะถูกจัดวางให้สำหรับทำกิจกรรมส่วนตัวเพียงเท่านั้น

“สิ่งสำคัญในบ้านหลังนี้ก็คือไอซ์ซึ และ แมวของเขา ซึ่งเราออกแบบให้แมวสามารถเดินได้ในบริเวณพื้นที่ชั้น 2 เว้นเฉพาะห้องนอน และห้องทำงาน ทางเดินของแมวจะสามารถเดินได้ทั่วบริเวณ จนไปถึงบริเวณสวนกระถางขนาดใหญ่กึ่งนอกกึ่งใน ที่ภูมิสถาปนิกได้เลือกชนิดพืชพันธุ์ที่สามารถให้แมวกัดได้ และมีต้นไม้ใหญ่เพียงแค่ต้นเดียว ในส่วนของวัสดุปูพื้นของสวนทั้งหมดใช้วิธีการเข้าลิ้นไม้ แบบไม่มีตะปู เพราะไอซ์ซึอยากให้เท้าของเขาได้สัมผัสกับวัสดุจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหิน ไม้ ทราย ซึ่งทำให้เขารู้สึกอบอุ่น เป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ไม้ยังเป็นส่วนประกอบของระแนงที่สามารถเปิด-ปิดได้เพื่อรับแสง หรือลมเข้ามาให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายได้อีกด้วย”

“เมื่อเดินลงมายังบริเวณชั้น 1 ชั้นนี้จะออกแบบไว้ให้กับคนโดยเฉพาะ พื้นที่ถูกจัดวางให้เป็นสวนหิน และมีโต๊ะไม้ขนาดยาว ที่นอกจากจะไว้สำหรับรองรับเพื่อนๆ ในการจัดงานปาร์ตี้แล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับเล่นโยคะสร้างสมาธิให้กับไอซซึได้อย่างสบายๆ”

“สำหรับเฟอร์นิเจอร์เราให้ไอซ์เป็นคนเลือกเพราะเขาค่อนข้างมีความรู้และเข้าใจในงานศิลปะอยู่แล้ว เราเป็นเพียงแค่คอยไกด์ในเรื่องการจัดวาง หรือวัการเลือกวัสดุเท่านั้นเอง”

หลังคาทรงปั้นหยาที่ดูไม่เหมือนใคร

จากสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย การระบายอากาศได้ดี ให้มีแสงส่องได้ตลอดทั้งวันนับเป็นเรื่องคู่กับบ้านไทยมาอย่างยาวนาน สถาปนิกจึงออกแบบหลังคาทรงปั้นหยาใหม่ให้มีองศาความชันที่สูงกว่าปกติ และเจาะช่องแสงให้เป็นสกายไลท์ส่องลงมายังพื้นที่ภายในบ้าน โดยติดตั้งไฟเสริมที่ราวบันไดเพียงเล็กน้อยสำหรับตอนกลางคืน ซึ่งช่วยให้ประหยัดพลังงาน และตอบโจทย์ต่อการอยู่อาศัยให้สบายได้ทุกสภาพอากาศบ้านเรา

“เราเสนอแบบของหลังคาให้ดูสูงชันซึ่งระบายอากาศได้ดี และดูน่าสนใจ ตัวหลังคานี้ใช้วัสดุเหล็กที่ดูทนทาน ติดตั้งง่าย เสริมด้วยชายคาแบบลอนใสติดตั้งบนไม้จันทันสำหรับกันฝนเหมือนบ้านไทย และให้แสงผ่านเข้ามาช่วยให้บ้านดูเบาลงเพิ่มเติมให้บ้านดูมีรายละเอียดมากขึ้น เราเพิ่มแสงให้มากยิ่งขึ้นด้วยการเจาะช่องไปบนหลังคา เพราะทั้งต้นไม้ แมว รวมไปถึงคนก็ต้องการแสงในตอนกลางวันอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดปริมาณของแสงตรงที่ไอซ์ซึชื่นชอบเก็บสะสมผลงานศิลปะที่มีมูลค่าเราเลยต้อง ทดลอง เช็คการตกลงของแสงระหว่าง 7 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม เพื่อไม่ให้กระทบลงไปสู่ผลงานที่อาจจะเกิดความเสียหายได้ และเพื่อให้เป็นแกลเลอรี่ส่วนตัวมากที่สุดจึงใช้สีขาวขับเน้นให้ผลงานเด่นออกมา ซึ่งไอซ์ซึสามารถเดินดูผลงานเหล่านี้ได้ตลอดเวลา”

“การที่ใช้ช่องแสงสกายไลท์มาติดไว้ที่หลังคาของบ้าน เราต้องคิดดีเทลในการก่อสร้างใหม่ พอทำออกมาแล้วจึงทำให้บ้านมีช่วงเวลาเช้า กลางวัน และเย็น พอเราวางฟังก์ชั่นเข้าไปก็จะเกิดสเปซ เราสามารถทำชั้นลอยได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของแมว พื้นที่เก็บของ หรือไว้สำหรับทำงานได้ สเปซมันก็จะแปลกดีเหมือนอยู่ใต้หลังคาที่สูงๆ”

การก่อสร้างที่ใช้เวลาถึง 3 ปี

การใช้ระยะเวลาที่นานก็เพื่อให้ได้บ้านที่ออกมาเนี้ยบ สอดคล้องไปความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยให้เป็นไปตามจินตนาการให้มากที่สุด จึงต้องใช้เวลาในการปรับแบบ และหน้างานอยู่ตลอด เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อไอซ์ซึได้ทุกๆ อิริยาบถ ซึ่งถ้าเราจะพูดว่าบ้านหลังนี้คือไอซ์ซึอีกคนก็คงจะไม่ผิดอะไร

“เราต้องปรับแบบทุกอาทิตย์ ในระยะเวลา 3 ปี ไอซ์ซึเป็นคนที่จำรายละเอียดของแบบนำเสนอได้แม่น คือเขาจะรู้ทันทีเมื่อมีจุดไหนผิดพลาดในตอนก่อสร้างที่ไม่เหมือนในในโมเดล ด้วยความที่เขาเป็นคนเนี้ยบเลยต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงแบบมากที่สุด เช่น เรื่องแสงหลังคาที่มากเกินไปก็ต้องมาแก้กัน ซึ่งรื้อไปประมาณ 2 รอบ (หัวเราะ) ต้องบินโดรนขึ้นดูว่าตรงตามแบบของโมเดลหรือยัง หรืออย่างไม้บิ่นไม่โก่ง ก็ต้องนั่งแกะทีละชิ้นเหมือนเป็นงานฝีมือ เพื่อให้ออกมาตรงตามภาพ และความรู้สึกของเขาให้ได้มากที่สุด โชคดีที่ผู้รับเหมาทำงานมากับเรานานพอสมควร เลยรู้มือกันเพราะบางอย่างเราเข้าใจว่ามันเร่งไม่ได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร งานถึงจะออกมาได้ดีที่สุด”

ระยะเวลาสร้างประสบการณ์ใหม่

“ไอซ์ซึเขาค่อนข้างเป็นคนตรงไปตรงมา และเนี้ยบมากๆ บ้านหลังนี้จึงออกมาได้ตรง 100 เปอร์เซ็นต์กับแบบที่นำเสนอไป ไอซ์ซึบอกกับเราว่าความสวยเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านกับสถาปนิกต้องเห็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งเขาค่อนข้างไว้ใจเราในเรื่องความงามอยู่แล้ว แต่พอช่วงก่อสร้างมันไม่ตรงตามรายละเอียด ซึ่งก็ต้องปรับกัน ทำให้เรากดดันพอสมควรในช่วงหน้างาน เพราะมีเรื่องให้แก้ไขอยู่ตลอด แต่เขาก็ยังเชื่อใจเรา ถ้าเราทำบ้านหลังนี้ตอนช่วงวัย 30 ก็คงไม่สำเร็จแน่ๆ แต่ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดทำให้เรารู้วิธีแก้ปัญหา และทุกฝ่ายก็เป็นมืออาชีพมากๆ เหมือนเราเป็นผู้กำกับที่จะทำให้งานออกมาเป็นบ้านที่ครบทุกองค์ประกอบ ซึ่งรายละเอียดพวกนี้จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นความเบสิคแต่ก็มีความเฉพาะตัวสูง ด้วยระยะเวลาของมันทำให้ที่อารมณ์เกิดขึ้นที่ไปมันทำให้รู้สึกว่าเป็นบ้านที่สะท้อนตัวตนของไอซ์ซึออกมาได้สมบูรณ์มากจริงๆ”

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ