ส่วนประกอบอาคาร มีอะไรบ้าง ?

รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์เกี่ยวกับส่วนประกอบของอาคาร ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ...

โครงสร้าง

1. จันทัน (Rafter) 

ส่วนที่วางเอียงลาดไปตามลักษณะของหลังคา ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงสร้างหลังคา มีหน้าที่รองรับและถ่ายเทน้ำหนักจากแปไปสู่อกไก่ อเส และหัวเสาตามลำดับ โดยแบ่งออกเป็น จันทันเอก คือ จันทันที่พาดอยู่บนหัวเสา และอกไก่ และจันทันพราง คือ จันทันที่พาดอยู่บนอเส และอกไก่ โดยทั่วไปจันทันจะวางเป็นระยะทุกๆ 1 เมตร โดยระยะห่างของจันทันจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา และระยะแป

2. สะพานรับจันทัน (Bridge Rafter) 

ส่วนที่วางอยู่บนขื่อคัด โดยทำหน้าที่รองรับจันทันพรางเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนตัวที่จุดกึ่งกลาง และป้องกันไม่ให้จันทันพรางบิด หรือ แอ่นตัว โดยสะพานรับจันทันมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว

3. อกไก่ (Ridge) 

ส่วนโครงสร้างหลังคาที่ทำจากไม้เนื้อแกร่ง หรือ ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยอกไก่จะวางอยู่บนดั้งบริเวณสันหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนักจันทันส่วนบนยอดจั่วตามแนวสันหลังคา โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว และ 2 x 8 นิ้ว

4. อเส (Stud Beam) 

ส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลังคาที่พาดอยู่บนหัวเสา มีลักษณะคล้ายคานทำหน้าที่ยึดและรัดหัวเสา โดยตำแหน่งการวางมักจะวางอยู่บริเวณริมด้านนอกของเสา ถือเป็นส่วนโครงสร้างที่ช่วยรับแรงจากกระเบื้องหลังคา แปหลังคา และจันทัน โดยถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาตามลำดับ อเสทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว และ 2 x 8 นิ้ว

5. ขื่อ (Tie Beam​) 

ส่วนของโครงสร้างที่วางอยู่บนหัวเสาในทิศทางเดียวกับจันทัน ทำหน้าที่รับแรงดึงและยึดหัวเสาในแนวคานทางด้านจั่วหลังคา แล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่เสา อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยยึดโครงผนังอีกด้วย ขื่อทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว และ 2 x 8 นิ้ว

6. ขื่อคัด (Collar Beam) 

ส่วนโครงสร้างซึ่งทำหน้าที่ยึดจันทันเอก เพื่อรับน้ำหนักของอกไก่ถ่ายเทไปที่จันทันเอก โดยขื่อคัดจะวางอยู่ในตำแหน่งใต้อกไก่ ขื่อคัดทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 3 นิ้ว

7. แป (Purlin) 

ส่วนประกอบของโครงหลังคาที่อยู่ตำแหน่งบนสุดของโครงสร้าง ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้แดง มีลักษณะหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำหน้าที่รับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคาประเภทต่างๆ โดยวางขนานกับแนวอกไก่ เริ่มต้นพาดยาวผ่านจันทันเอก และจันทันพราง แล้วไปสุดจันทันเอกที่อีกด้านหนึ่งของโครงหลังคา ซึ่งจะเว้นระยะวางห่างกันตามขนาดของวัสดุมุงหลังคาที่ใช้ โดยไม้แปมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 3 นิ้ว 

8. ดั้งเอก (King Post) 

ส่วนโครงสร้างที่ถูกยึดอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของขื่อตั้งฉากตรงขึ้นไปต่อรับกับอกไก่ที่วางพาดตามแนวสันหลังคา ดั้งเอกทำหน้าที่รับน้ำหนักที่ถ่ายมาจากวัสดุมุงหลังคา แป และอกไก่

ดั้งเอกนิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว

9. ตุ๊กตา หรือ ดั้งรอง (Queen Post) 

ชิ้นส่วนโครงสร้างที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งระหว่างดั้งเอกกับปลายขื่อทั้งสองข้าง  ดั้งรองจะถูกใช้ในกรณีที่หลังคามีขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยจันทันเอกรับน้ำหนักโครงหลังคาที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้จันทันเอกอ่อนตัว และบิดตัวถล่มลงมา  (ทำหน้าที่คล้ายดั้งเอก) ดั้งรองทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ,ไม้เต็ง หรือไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 3 นิ้ว

10. ค้ำยัน (Roof Bracing) 

ส่วนโครงสร้างเสริมในกรณีที่โครงสร้างหลังคามีขนาดใหญ่ ไม้ค้ำยันมีตำแหน่งอยู่ระหว่างดั้งเอก และตุ๊กตา ทำหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงด้วยการช่วยค้ำยันรับน้ำหนักจันทันเอก ดั้งเอก และตุ๊กตาเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนตัว หรือ บิดตัว ไม้ค้ำยันทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 4 นิ้ว

11. ปิดลอน (Fascia) 

ส่วนประกอบโครงสร้างหลังคา ทำหน้าที่ปิดช่องว่างของลอนกระเบื้องที่อยู่ปลายหลังคาเพื่อไม่ให้สัตว์ และแมลงต่างๆลอดเข้าไปทำรังหรืออาศัยอยู่ข้างในได้ ไม้ปิดลอนทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแข็งปานกลาง โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 x 6 นิ้ว

12. เสา (Column) 

เสาอาคารที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่ ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักของตัวอาคารทั้งหมด โดยมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 4 x 4 นิ้ว ,6 x 6 นิ้ว และ 8 x 8 นิ้ว โดยมีลักษณะหน้าตัดอยู่ 2 รูปแบบ คือ เสาสี่เหลี่ยมจตุรัส และเสาทรงกลม

13. คาน (Beams) 

ส่วนโครงสร้างที่พาดอยู่ระหว่างหัวเสาสองต้น ทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักวัสดุปูพื้น และตงโดยถ่ายน้ำหนักลงมาที่คานตามลำดับ ไม้คานที่ใช้ในอาคารโครงสร้างไม้ทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่  โดยไม้คานมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 2 x 6 นิ้ว ,2 x 8 นิ้ว และ 2 x 10 นิ้ว

14. ตง (Joists) 

ส่วนโครงสร้างที่วางพาดอยู่บนไม้คาน ทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักวัสดุปูพื้นประเภทต่างๆ ไม้ตงทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า และไม้ประดู่  ไม้ตงมีขนาดที่ใช้กันทั่วไป คือ 1 1/2 x 6 นิ้ว และ 2 x 6 นิ้ว โดยติดตั้งเว้นระยะห่างทุกๆ 50 เซนติเมตร

15. ไม้เคร่า (Stud) 

โครงไม้เนื้ออ่อนที่ใช้สำหรับเป็นฉากรองรับน้ำหนักวัสดุผนังเบา หรือ วัสดุฝ้าเพดาน เมื่อเราต้องการที่จะต่อเติมกั้นห้อง หรือทำฝ้าเพดาน สิ่งที่ต้องใช้เป็นส่วนขึ้นโครงฉากสำหรับยึด และพยุงรับน้ำหนักแผ่นผนัง และฝ้าเพดานก็คือไม้เคร่านั่นเอง โดยขนาดของไม้เคร่าที่นิยมใช้ทั่วไป คือ 1 1/2 x 3 นิ้ว

16. เชิงชาย (Eaves)

ไม้ที่ปิดทับปลายของจันทัน ทำหน้าที่ปิดช่องว่างระหว่างจันทันและรับปลายกระเบื้องมุงหลังคา  ส่วนใหญ่แล้วทำจากไม้เนื้อแข็ง โดยขนาดของไม้เชิงชายที่นิยมใช้ทั่วไป คือ 1 x 4 นิ้ว ,1 x 6 นิ้ว ,1 x 8 นิ้ว และยาวท่อนละ 3 – 4 เมตร

17. ปั้นลม  (Gable Board or Eave) 

ไม้ที่ใช้ปิดหัวท้ายริมโครงสร้างหลังคาจั่วด้านสกัด โดยพาดอยู่บนหัวแปและด้านล่างของครอบข้างหลังคา มีหน้าที่กันน้ำ และลมไม่ให้ปะทะกับกระเบื้องหลังคาโดยตรง และช่วยเป็นที่ยึดเกาะของครอบข้างเพิ่มช่วยเพิ่มความสวยงาม โดยขนาดของไม้ปั้นลมที่นิยมใช้ทั่วไป คือ 3/4 x 6 นิ้ว และ 3/4 x 8 นิ้ว

หลังคา

หลังคา (Roof) เป็นส่วนประกอบด้านบนของบ้านหรืออาคาร เพื่อกันแดด กันฝน มีรูปทรง สีสัน หรือวัสดุที่ใช้แตกต่างออกไปตามความนิยมและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ ซึ่งหลังคาจะประกอบไปด้วย โครงหลังคา วัสดุมุงหลังคา (เช่น กระเบื้องหลังคา) และอุปกรณ์ประกอบหลังคาที่ช่วยเรื่องการระบายน้ำฝน การป้องกันความร้อน รวมถึงป้องกันหลังคารั่วซึม

รูปทรงหลังคา ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 6 รูปทรง ประกอบด้วย

  • หลังคาทรงหน้าจั่ว (Gable Roof)
  • หลังคาทรงปั้นหยา (Hip Roof)
  • หลังคาแบน (Flat Slab Roof)
  • หลังคาเพิงหมาแหงน (Lean To Roof)
  • หลังคาแบบผีเสื้อ (Butterfly Roof)
  • หลังคาแบบร่วมสมัย (Modern& Contemporary Roof) 

บันได

บ้านไดบ้าน ถือเป็นองค์ประกอบของพี่พักอาศัยหรืออาคารต่างๆ เพราะบันไดทำหน้าที่เชื่อมต่อทางเดินระหว่างแต่ละชั้นภายในบ้านหรืออาคาร และถึงแม้อาคารนั้นๆ จะมีลิฟต์หรือบันไดเลื่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงต้องมีบันไดอยู่ดี เพื่อเป็นทางสัญจรกรณีฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากความสำคัญในเรื่องของฟังก็ชั่นการใช้งาน บันไดยังถูกจัดเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับที่พักอาศัยได้

โครงสร้างบันได

  • บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • บันไดโครงสร้างไม้
  • บันไดโครงสร้างเหล็ก

ประตู-หน้าต่าง

ประตู คือองค์ประกอบหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ช่องทางเข้า-ออกและการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่ประตูยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงศิลปกรรม ความเชื่อทางศาสนาทั้งเรื่องการวางผังตามทิศมงคล และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และความเจริญรุ่งเรืองในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย เรามาดูกันครับว่า 5 ประเภทประตูยอดนิยม จะมีคุณสมบัติ และมีลักษณะอย่างไรบ้าง

หน้าต่าง เกิดจากการเจาะช่องเปิดบนผนังและมีบานเพื่อเปิด-ปิดช่องเปิดนั้น ประโยชน์ใช้สอยหลักของหน้าต่าง ได้แก่ เปิดรับแสงธรรมชาติ และเปิดรับลม เพื่อการระบายอากาศภายในอาคาร นอกจากประโยชน์ใช้สอยแล้ว การเลือกประเภทของหน้าต่างให้สอดคล้องกับสไตล์การออกแบบยังเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรมให้สวยงามอีกด้วย

ตัวอย่างประเภทของประตู/หน้าต่าง

  • บานเปิด (Swing Door/Window)
  • บานสวิง (Swing Bi-fold Door/Window)
  • บานเฟี๊ยม (Accordian Door/Window)
  • บานหมุน (Pivot Door/Window)
  • บานเลื่อน (Sliding Door/Window)

 

ฝ้าเพดาน

การออกแบบฝ้าเพดาน (Ceiling Design) เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมาเกือบพันปี ซึ่งการเกิดขึ้นของงานออกแบบตกแต่งฝ้าเพดานยุคแรกๆ ต้องย้อนเวลาไปถึงต้นปี 1300 กันเลยทีเดียว จุดแรกเริ่มในอดีตอาจไม่สามารถเรียกว่าฝ้าเพดานได้อย่างเต็มปากนัก แต่มันคือการตกแต่งเพดานให้มีความสวยงามตามความเชื่อ และการใช้งานของคนในอดีตเท่านั้น แต่มันก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนถูกพัฒนาให้กลายเป็นระบบฝ้าเพดานในปัจจุบัน ฝ้าเพดานมีหน้าที่ปกปิดความไม่เรียบร้อยของท่อร้อยสายไฟและงานระบบต่างๆ รวมถึงช่วยลดความร้อนที่จะส่งผ่านลงมาจากทางหลังคาโดยตรง (หากติดตั้งคู่กับฉนวนกันความร้อน จะช่วยลดความร้อนได้ดียิ่งขึ้น) ตลอดจนช่วยลดฝุ่นละอองตามสายไฟและงานระบบที่อาจจะตกลงมาได้ ฝ้าเพดานแบ่งออกเป็นฝ้าภายในและฝ้าภายนอก ซึ่งฝ้าภายในจะมีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น

  • ฝ้าเพดานฉาบเรียบ 
  • ฝ้าเพดานแขวน หรือ ฝ้าที-บาร์
  • ฝ้าเพดานแบบเล่นระดับ หรือ ฝ้าหลุม
  • ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ หรือ ไฟหลืบ ไฟซ่อนฝ้า
  • ฝ้าเพดานดูดซับเสียง หรือ ฝ้าอะคูสติก
  • ฝ้าเพดานโปร่ง หรือ ฝ้าระแนง
  • ฝ้าชายคา หรือ ฝ้าเพดานภายนอก

ฉนวน

ฉนวน เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการสกัดกั้น ซึ่งสำหรับงานบ้านพักอาศัยจะมีทั้งฉนวนกันความร้อนและฉนวนกันเสียง ฉนวนกันความร้อน คือ วัตถุหรือวัสดุที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนที่เกิดขึ้นจากการแผ่รังสีความร้อน การนำความร้อน หรือการพาความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างวัตถุสองชิ้น หรือบริเวณสองบริเวณที่มีอุณหภูมิต่างกัน ซึ่งสามารถนำฉนวนกันความร้อนไปติดตั้งได้ทั้งในส่วนของหลังคา ฝ้าเพดาน และงานผนัง เพื่อลดความร้อนที่จะส่งผ่านเข้ามาภายในบ้าน ส่วนฉนวนกันเสียง จะเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ช่วยให้เสียงเดินทางผ่านยาก เพื่อกั้นเสียงไม่ให้ทะลุจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้เสียงจากภายนอกบ้านไม่เข้ามารบกวนและป้องกันเสียงจากภายในบ้านไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้าน

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ