หลังคา มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณลักษณะอย่างไร (Type of Roof in Architectural)
หลังคา (Roof) ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอาคาร ที่มีส่วนช่วยให้อาคารเย็นสบาย ปกป้องอาคารจากแสงแดด ลม และฝน รวมถึงสภาพอากาศต่าง ๆ โดยหลังคาแต่ละประเภทนั้นมีรูปทรงที่แตกต่างกัน และตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้ และรูปแบบอาคารที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้หลังคายังถือเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้อาคารแต่ละหลังมีสไตล์ที่โดดเด่น หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับการพิจารณาเลือกใช้งานนั้นควรเลือกประเภทหลังคาให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ลักษณะการใช้งาน สไตล์ และประเภทของอาคาร เป็นหลัก
วันนี้ Wazzadu Encyclopedia ได้นำองค์ความรู้ในหัวข้อเรื่อง หลังคา มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณลักษณะอย่างไร (Type of Roof in architectural design) มาให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามชมกัน ซึ่งจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น ตามมาชมกันได้เลยครับ
หลังคาแต่ละประเภท มีคุณสมบัติในการใช้งานอย่างไร (Type of Roof in Architectural)
1.หลังคาทรงจั่ว (Gable Roof)
เป็นเหลังคาที่ได้รับความนิยม โดยมาพร้อมรูปทรงมาตรฐานใช้ได้กับทุกภูมิภาค มีลักษณะเป็นหน้าจั่วสามเหลี่ยมทอดยาวลงมาตลอดตัวหลังคา โดยหลังคาทั้งสองด้านจะลาดเอียงทั้งสองด้านชนกันที่ปลายสุดด้านบนหลังคา
ข้อดี : ลดปัญหาการรั่วซึมได้ดีเนื่องจากมีมุมองศาที่ลาดเอียงพิเศษ หากติดตั้งช่องระบายอากาศเสริม ก็จะช่วยให้ระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
ข้อเสีย : หากฝนตกในทิศทางลมที่หันเข้าสู่จั่วบ้าน อาจทำให้น้ำฝนกระเด็นเข้ามาภายในอาคาร
ดีเทลหลังคาทรงจั่ว (Gable Roof)
2.หลังคาทรงจั่วตัด (Jerkinhead Roof)
มีการฝานตัดเอาส่วนมุมแหลมด้านบนสุดออก และมีผืนหลังคาเล็ก ๆ ลาดเอียงลงมา ให้ความรู้สึกมนมากกว่าหลังคาทรงจั่วปกติ เป็นหลังคาที่มีเอกลักษณ์ นิยมแบบที่มีชายคาเพื่อให้อาคารดูมีมิติ
ข้อดี : สามารถกันแดดกันฝนได้ในลักษณะเดียวกับหลังคาจั่ว
ข้อเสีย : หากฝนตกในทิศทางลมที่หันเข้าสู่จั่วบ้าน อาจทำให้น้ำฝนกระเด็นเข้ามาภายในอาคาร ควรมีชายคายื่นออกมา
ดีเทลหลังคาทรงจั่วตัด (Jerkinhead Roof)
3.หลังคาปั้นหยา (Hip Roof)
ทรงหลังคาที่ดูเรียบง่าย มีผืนหลังคาทั้งสี่ด้านลาดเอียง ขึ้นไปชนกันจรดสันหลังคา สามารถออกแบบให้มีระยะชายคาเล็กน้อย หรือระยะชายคาที่ยื่นยาวได้
ข้อดี : กันแดดกันฝนได้ดี ทนต่อการปะทะจากแรงลมได้ดี
ข้อเสีย : ไม่มีหน้าจั่วที่จะช่วยเรื่องการระบายความร้อน ซึ่งสามารถปรับได้โดยการเลือกใช้ฝ้าชายคาแบบที่มีรูระบายอากาศ หรือการทำหลังคาสองชั้น
ดีเทลหลังคาปั้นหยา (Hip Roof)
4.หลังคาทรงมะนิลา (Manila Roof)
เป็นประเภทหลังคาที่ผสมผสานระหว่างหลังคาปั้นหยาและหน้าจั่วเข้าด้วยกัน โดยนำข้อดีของหลังคาทั้งสองประเภทมา คือ ความแข็งแรง รับลมฝนได้ทุกด้านของปั้นหยา และการระบายความร้อนได้ดีของหน้าจั่ว หลังคาทรงมะนิลาเป็นหลังคาที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อน และฝนตกชุก
ข้อดี : แข็งแรง กันแดด และลมฝน ได้ทุกทิศทางหากติดตั้งระแนงระบายอากาศร่วมด้วย จะช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคาร
ข้อเสีย : เกิดการรั่วซึมได้ง่าย เนื่องจากโครงสร้างหลังคามีความซับซ้อน
ดีเทลหลังคาทรงมะนิลา (Manila Roof)
5.หลังคาทรงเพิงหมาแหงน (Lean-to Roof)
เป็นหลังคาที่ปรับให้เรียบเอียงไปเพียงด้านเดียว มักมีชายคายื่นออกมาช่วยบังแดดบังฝน เปรียบเสมือนหมาที่นั่งแหงนหน้าขึ้น หลังคาเพิงหมาแหงนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะทำให้อาคารดูโดดเด่น นอกจากสไตล์โมเดิร์นยังสามารถนำไปปรับใช้กับอาคารสไตล์เนเชอรัลได้อีกด้วย
ข้อดี : ติดตั้งง่าย และรวดเร็วช่วยประหยัด ค่าแรง และค่าวัสดุ ช่วยทำให้อาคารโดดเด่น และสวยงาม
ข้อเสีย : ป้องกันความร้อนจากภายนอกได้น้อย ต้องออกแบบความลาดเอียงให้เหมาะสม เพราะอาจเกิดการรั่วซึมได้
ดีเทลหลังคาทรงเพิงหมาแหงน (Lean-to Roof)
6.หลังคาทรงแบน (Flat Roof)
หรือหลังคาเปลือย มีลักษณะเป็นพื้น ที่แบนราบอยู่ในระนาบเดียวกัน นิยมใช้กับอาคารสไตล์โมเดิร์น และทรอปิคอลโมเดิร์น หลังคาประเภทนี้สามารถดูดซับความร้อน และรับน้ำฝนโดยตรงจึงต้องสร้างให้มีความลาดเอียงเล็กน้อย เทไปยังช่องเจาะระบายน้ำฝน หรือท่อระบายบนหลังคา และมีการป้องกันการรั่วซึมที่ดี
ข้อดี : สามารถใบริเวณพื้นหลังคาด้านบนเป็นดาดฟ้า เพิ่มมุมพักผ่อน หรือทำกิจกรรม แบบส่วนตัวได้ และเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในตัวบ้านให้มากยิ่งขึ้น
ข้อเสีย : ต้องมีการทำระบบกันซึมเป็นอย่างดี พื้นหลังคาต้องมีความลาดเอียงเล็กน้อย หากทำได้ไม่ดี อาจเกิดการรั่วซึม
ดีเทลหลังคาทรงแบน (Flat Roof)
7.หลังคาทรงปีกผีเสื้อ (Butterfly Roof)
เป็นการนำหลังคาทรงเพิงหมาแหงนมาประกบกัน มีลักษณะแหงนออกทั้ง 2 ด้าน ลักษณะทรงหลังคาคล้ายๆ กับผีเสื้อกำลังกระพือปีกเพื่อบิน
ข้อดี : รองรับน้ำฝนได้ดีกว่าหลังคา ประเภทอื่นๆ ดีไซน์สะดุดตา ทำให้อาคารโดดเด่น มีเอกลักษณ์มากขึ้นขึ้น
ข้อเสีย : ต้องทำการติดตั้งรางระบายน้ำ เพราะอาจมีน้ำฝนไหลรวมกันตรงกลางหากไม่ทำการติดตั้งระบบระบายน้ำให้ดี มีโอกาสรั่วซึมได้
ดีเทลหลังคาทรงปีกผีเสื้อ (Butterfly Roof)
8.หลังคาทรงโค้งกลม (Curved Roof)
เป็นหลังคาที่มีลักษณะโค้งมน ช่วยสร้างความโดดเด่นให้อาคาร ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการรั่วซึม ใช้วัสดุมุงหลังคาประเภทเมทัลชีท อลูมิเนียมขึ้นรูป หรือโลหะรีดลอนที่รองรับการโค้งงอ หรือใช้แผ่นทองแดงที่ดัดโค้งได้
ข้อดี : สามารถเลือกวัสดุมุงหลังคาได้หลากหลาย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการรั่วซึม
ข้อเสีย : ต้องมีการคำนวณ และออกแบบโครงสร้างเป็นอย่างดี ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ดีเทลหลังคาทรงโค้งกลม (Curved Roof)
9.หลังคาหลายเหลี่ยม (Hexagonal and Octagonal Roof)
ความคล้ายคลึงกับหลังคาทรงปั้นหยา หลังคาหลายเหลี่ยมจะมีผืนหลังคามากกว่าหลังคาปั้นหยาสี่ด้าน เช่น แบบหกเหลี่ยม และแบบแปดเหลี่ยม นิยมใช้กับพื้นที่เฉพาะส่วนภายในบ้าน เช่น ห้องโถง ศาลา หรือสวนกระจก
ข้อดี : สามารถบังแดดฝนให้กับ ผนังอาคารได้ทุกด้าน
ข้อเสีย : ต้องมีออกแบบโครงสร้างให้ดี เพื่อให้รับน้ำหนักหลังคาได้อย่างปลอดภัย
ดีเทลหลังคาหลายเหลี่ยม (Hexagonal and Octagonal Roof)
10.หลังคาทรงโดม (Dome Roof)
เป็นหลังคาที่มีลักษณะโค้งมน สามารถเลือกใช้วัสดุมุงหลังคา ได้หลายประเภท เช่น กระเบื้องโมเสค เหมาะสำหรับสไตล์คลาสสิค หรือสไตล์ยุโรปเพื่อเพิ่มความหรูหรา
ข้อดี : มีความสวยงาม เพิ่มความหรูหราให้ตัวอาคาร
ข้อเสีย : มีโอกาสรั่วซึมตามรอยต่อโครงสร้างได้ง่าย
ดีเทลหลังคาทรงโดม (Dome Roof)
11.หลังคารูปทรงอิสระ (Free Form Roof)
หลังคารูปทรงอิสระ เป็นทรงหลังคา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละอาคารอาจมีรูปทรงโค้งเป็นคลื่น หรือมุมเหลี่ยมแบบเพชร ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของอาคาร ต้องมีการใช้โปรแกรม คอมพิวเตอร์ในการคำนวณการออกแบบ
ข้อดี : ทำให้อาคารโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และความสวยงาม
ข้อเสีย : ต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวณ และต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการก่อสร้างเป็นอย่างมาก
ดีเทลหลังคารูปทรงอิสระ (Free Form Roof)
องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระเบื้องมุงหลังคา และฉนวนกันความร้อน
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก
www.cupapizarras.com/
www.owenscorning.com/
www.scghome.com/living-ideas/
www.jorakay.co.th/
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Line@ : @wazzadu.com
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม