หลักการจัดออฟฟิศ หรือพื้นที่สำนักงาน ให้เหมาะกับสรีระ และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน
เทรนด์การออกแบบสำนักงานยุคใหม่ เป็นอะไรที่ผู้คนให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมากในช่วงหนึ่ง จะเห็นได้จากการที่องค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Google ,Apple ,Youtube ,Starbuck หรือ Facebook ต่างตื่นตัว และตอบรับกับรูปแบบวิถีชีวิตการทำงานยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป
แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้การออกแบบออฟฟิศได้มีการปรับตัวในเรื่องการออกแบบหรือตกแต่งเพิ่มเข้ามาเล็กน้อย เช่น การใส่ใจในการเลือกวัสดุ หรือเฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่จะช่วยให้เกิดการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย
และในการออกแบบหรือจัดออฟฟิศสำนักงาน อีกสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับสรีระของผู้ใช้งาน และวันนี้เราได้ทำการรวบรวม เทคนิคการจัดออฟฟิศ หรือพื้นที่สำนักงาน ให้เหมาะกับสรีระ และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่การทำงานภายในบ้าน สำหรับผู้ที่ Work from home เป็นหลัก ส่วนจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ติดตามในบทความนี้ได้เลยครับ
ลักษณะท่านั่ง และระยะห่างระหว่างสายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสม
1. ตำแหน่งของจอภาพควรห่างจากดวงตาประมาณ 50-70 เซนติเมตร หรือประมาณช่วงแขนเอื้อม
2. ปรับให้ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 15-20 องศา หากระยะห่างระหว่างตากับจอภาพไม่สัมพันธ์กัน จะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าและปวดตาได้ง่าย
3. แขนและข้อศอกวางแนบชิดลำตัว หรือ วางบนที่พักแขนทำมุม 90 องศา ข้อมือ และศอกอยู่ในแนวเส้นตรง
4. ที่รองรับหลังต้องมีส่วนโค้งที่รองรับหลังส่วนล่างได้พอดี
การแบ่งโซนสำหรับพื้นที่การทำงาน ที่เข้ากับยุคสมัย
โซนที่ 1 พื้นที่ทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้
ทำให้พื้นที่สำนักงานมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของการใช้สอยและจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น ออกแบบให้พื้นที่นั้นให้สามารถใช้เป็นห้องทำงานและปรับเป็นห้องประชุมแบบสบายๆ ได้ ปรับให้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนหรือต้อนรับแขกได้ สถานที่ทำงานแบบเดิมๆ นั้นมักแยกพื้นที่ทำงานและห้องประชุมออกจากกัน เมื่อเวลาทำงานห้องประชุมก็โล่งไม่มีคนใช้งาน และหากมีการประชุมทุกคนก็ย่อมต้องมาใช้ประชุมและไม่มีใครอยู่ที่โต๊ะทำงาน จะดีกว่าหรือไม่หากเราใช้ Space ให้คุ้มค่ากว่าด้วยการออกแบบพื้นที่ให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ มีเก้าอี้สำนักงานล้อเลื่อนที่ขยับไปมาได้สะดวก และใช้ Space ที่เหลือเป็นพื้นที่สันทนาการหรือพักผ่อนแทน
โซนที่ 2 การจัดห้องประชุมแบบบอร์ดรูม
ลักษณะพื้นที่การทำงานสำหรับห้องประชุมแบบปิด คือ การจัดให้มีโต๊ะสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่กลางห้องแล้วนำเก้าอี้มาจัดวางล้อมรอบโต๊ะนั้น ห้องประชุมในรูปแบบนี้สามารถพบเห็นได้ตามบริษัททั่วไป การจัดพื้นที่การทำงานในลักษณะนี้ เหมาะสำหรับการประชุมที่ต้องระดมความคิด ปรึกษาหารือกัน ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้สามารถสื่อสารกันได้อย่างสะดวก ทำให้การจัดห้องประชุมลักษณะนี้ไม่ควรปิดผ้าม่านจนทึบหรือเลือกห้องที่แสงไม่เข้าเพราะอาจจะทำให้การบรรยายดูกดดันหรือตึงเครียดจนเกินไป ควรเลือกห้องที่มีแสงส่องผ่านเข้า
โซนที่ 3 พื้นที่การทำงานส่วนตัว สำหรับการโฟกัส
การออกแบบพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมหรือสัญชาติญาณธรรมชาติของมนุษย์ เช่น สัญชาติญาณชอบความท้าทาย ความลึกลับ ความเปิดเผย ความรักสงบ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึก ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบจะเป็นการออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานโดยแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบภายในอาคารให้ดูโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นบรรยากาศโดยรอบได้โดยง่าย แต่มีมุมทำงานส่วนตัวเป็นพื้นที่แสนสงบเพื่อหลบหลีกความวุ่นวาย สร้างมุมที่หลากหลายโดยตอบสนองจากพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหลัก เหมาะสำหรับการทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง
โซนที่ 4 พื้นที่การทำงานเพื่อสุขภาพและความปลอดภัย
การออกแบบพื้นที่การทำงาน ปลอดภัยจากเชื้อโรคในยุค โควิด -19
- เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
สิ่งสำคัญของการจัดวางโต๊ะทำงานให้ปลอดภัยจากการแพร่กระจายของเชื้อโรค คือการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่นั่งใกล้กัน 1-2 เมตร
- ใช้โต๊ะที่ว่างในการช่วยรักษาระยะห่าง
จัดวางที่นั่งสำหรับการทำงาน โดยเว้นว่างโต๊ะระหว่างบุคคลเอาไว้ เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน ลดความแออัดของพื้นที่และความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน ควรทำสัญลักษณ์ social distancing ในออฟฟิศ เช่น มาร์คตำแหน่งระยะห่างระหว่างที่นั่ง กำหนดที่นั่งที่ห้ามใช้
- ใช้ฉากกั้นพื้นที่เป็นตัวช่วยเสริม
หลายๆ ออฟฟิศที่เป็นออฟฟิศยุคใหม่ จะจัดวางโต๊ะหรือพื้นที่การทำงานต่างๆ แบบเปิดโล่ง หรือตั้งโต๊ะแบบเรียงต่อกัน โดยไม่ได้ใช้ฉากกั้นแบบออฟฟิศในหลายปีก่อน ดังนั้น การใช้ฉากกั้นกันเชื้อโรคจึงเป็นไอเทมเสริมที่สามารถนำมาใช้ได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง
หลักการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
หลักการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน (Office furniture) ให้เหมาะสมกับจำนวนบุคลากร พื้นที่ และปัจจัยต่างๆ มีข้อควรพิจารณาที่สำคัญ 5 ข้อ ดังนี้
1.Requirement ความต้องการในการใช้พื้นที่
ต้องการให้พื้นที่ใช้สอยมีอะไรบ้าง เช่น โถงพักคอยต้องการหรือไม่ มีพนักงานต้อนรับกี่คนห้องประชุมกี่ห้องขนาดนั่งได้กี่คน ห้องผู้บริหารจำนวนกี่ห้อง พื้นที่ทำงานของแต่ละแผนก พื้นที่ส่วนกลาง เช่นครัว ห้องสันทนาการ ห้องน้ำ ห้องถ่ายเอกสาร ห้องเก็บของ
การจัดวางผังของแต่ละพื้นที่ การจัดวางผังให้เหมาะสมมีผลกับประสิทธิภาพของการทำงาน แบ่งโซนตามความสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยในพื้นที่นั้น จะช่วยให้ระบบการทำงานภายในองค์กรดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
2. Design Conceptual รูปแบบ หรือลักษณะของการตกแต่ง
การออกแบบตกแต่งสำนักงานแสดงถึงภาพลักษณ์ และบุคลิกขององค์กรนั้นๆ การตกแต่งสำนักงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ลึกถึงสิ่งที่องค์กรต้องการสื่อให้ลูกค้าหรือผู้มาเยือนได้รับรู้ บางองค์กรแสดงออกให้ลูกค้าได้รับรู้ผ่านสัมผัสทั้ง 5 ทั้งการมองเห็น ได้กลิ่น ได้ยิน ได้รับรส และได้รู้สึกถึงการต้อนรับเป็นอย่างดี หรือความเชื่อมั่น ความทันสมัย ความมีเหตุผล ความรอบรู้ ความครีเอทีฟ และอื่นๆ
การกำหนดแนวทางการออกแบบเพื่อให้สื่อถึงบุคลิกภาพขององค์กรนั้นในปัจจุบันมีความสำคัญไม่เพียงแต่ให้ลูกค้าหรือผู้มาเยือนได้รับรู้ แต่พนักงาน เจ้าหน้าที่ยังรับรู้และซึมซับบุคคลิกขององค์กรเท่านั้น แต่ยังมีผลโดยตรงต่อการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ในสำนักงานประเภทต่างๆ ที่ให้ความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับลักษณะการตกแต่ง หรือ Design Conceptual และตอบโจทย์ฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต้องมีความเหมาะสมกับพฤติกรรมบุคลากรในสำนักงานนั้นๆอีกด้วย
3. Budget กำหนดงบประมาณ
ควรกำหนดงบประมาณเพื่อให้สามารถกำหนดขอบเขตของการพิจารณาได้อย่างเหมาะสม จะทำให้การตัดสินใจไม่สับสน และไม่เสียเวลา ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น
4. Design Element Type กำหนดรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ที่จะนำมาใช้งานตั้งแต่แรก
จะเกี่ยวข้องกับขนาด ฟังก์ชั่นการใช้งาน ชนิดของวัสดุที่ใช้ทำ และรูปลักษณ์เฉพาะของตัวเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก เช่น ต้องการขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป มีรูปแบบที่ทันสมัย ดูมีสีสันกระปรี้กระเปร่า หรือ ดูภูมิฐาน ให้ความแข็งแรงมั่นคง สามารถใช้งานได้หลากหลายในรูปแบบ Multifunction เป็นต้น
* สามารถดูรูปภาพประกอบ Design Element และ Office Furniture Equipment ที่นิยมใช้งานภายในสำนักงานได้ที่ด้านล่าง
5. Furniture Follow Business Type การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และรูปแบบการใช้งานเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับประเภทธุรกิจแต่ละแบบ
ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจบางประเภทเน้นการพบปะกับลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ มีการนำเสนองานบ่อยครั้ง มีหลายกลุ่ม และมีความพลุกพล่านสูง ซึ่งจะแตกต่างจากออฟฟิศที่เน้นการทำงานแบบ Private โดยจะต้องจัดพื้นที่พักคอยก่อนเข้าประชุม และควรแยกจุดพักคอยของลูกค้าออกจากจุดพักคอยของ พนักงานส่งเอกสาร บางบริษัทจะมีจุดพักของพนักงานส่งเอกสารแยกออกมาอีกส่วนนึง เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี และควรเลือกวัสดุที่มีความทนทาน เช่น สแตนเลส ไม้จริง ลามิเนต หรือการเลือกโซฟาก็ควรเลือกเป็นหนังมากกว่าผ้า เพราะเป็นพื้นที่ ที่มีการใช้งานบ่อยครั้ง
ข้อมูลผลิตภัณฑ์สำหรับตกแต่งออฟฟิศสำนักงาน
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- Baramizi Lab / TH
- Wurkon
- www.conceptdraw
ผู้เขียนบทความ