กษัตริย์ นักพัฒนาเพื่อปวงชน ตอนที่ 1 : โครงการแกล้งดิน

กษัตริย์ นักพัฒนาเพื่อปวงชน ที่ทรงคิด และลงมือทำด้วยความทุ่มเท การที่พระองค์ทรงเสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในประเทศทั่วทุกถิ่นแดนไทย แม้จะอ่อนล้าพระวรกายเพียงใด แต่พระองค์ท่านก็มิเคยตรัสว่าเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย จึงทำให้มีผู้ที่สงสัยอยู่ไม่น้อยว่าพระองค์ท่านจะทรงเหนื่อยหรือไม่

....ครั้งหนึ่ง เมื่อม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ทรงกราบบังคมทูลถามพระองค์ถึงข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้น โดยพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสตอบข้อสงสัยดังกล่าวเอาไว้ว่า “ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเราคือประเทศชาติ และความสุขของคนไทยทั้งประเทศ”

ข้อมูลจาก ไทยรัฐ ฉบับ 5 ธ.ค.32

และในวาระที่สำคัญนี้ wazzadu.com ขอเป็นตัวแทนทำหน้าที่ถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพของ"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" ที่ได้ทรงคิดค้น และประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งล้วนมีประโยชน์อันใหญ่หลวงต่อประเทศ และปวงประชา โดยนำเสนอเพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชน เป็นจำนวน 9 ตอน ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559

ตอนที่ 1 : โครงการแกล้งดิน

แกล้งดิน คือ กระบวนการเร่งปฏิกิริยาเคมีในดินซึ่งมีศักย์หรือความพร้อมจะเป็นดินเปรี้ยว ให้เปรี้ยวรุนแรงมีกรดจัด จากนั้นจึงปรับปรุงโดยเติมปูนขาวหรือด่าง ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานนำน้ำมาเจือจางดินเปรี้ยวจนสามารถเพาะปลูกได้ เป็นแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเมื่อพุทธศักราช 2527 เพื่อการทดลองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อได้ผลแล้วจึงนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยว เช่น พรุในจังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก เป็นต้น การแกล้งดิน คือการเร่งปฏิกิริยาเคมีของดินที่มีแร่กำมะถัน หรือสารประกอบไพไรต์ (Pyrite) โดยทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน เมื่อดินแห้งสัมผัสกับอากาศ ทำให้แร่กำมะถันกลายเป็นออกไซด์ของเหล็กและซัลเฟต เมื่อทำให้ดินเปียกซัลเฟตผสมกับน้ำกลายเป็นกรดอีกครั้ง เมื่อดินถูกแกล้งสลับไปมาจนกลายเป็นดินที่เปรี้ยวรุนแรงหรือเป็นกรดจัด จากนั้นจึงปรับปรุงดินโดยเติมฝุ่นปูนซึ่งเป็นด่าง ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานควบคุมระดับน้ำใต้ดินและนำน้ำมาเจือจางดินเปรี้ยวจนสามารถเพาะปลูกข้าว พืชไร่เช่น ข้าวโพด ผลไม้เช่นเสาวรสและเลี้ยงปลาเช่นปลานิลได้

แนวพระราชดำริแกล้งดินมาจากการเลียนแบบสภาพธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีฤดูแล้ง 4 เดือน ฤดูฝน 8 เดือน การทดลองใช้วิธีร่นระยเวลาช่วงแล้งและช่วงฝนในรอบปีให้สิ้นลง ปล่อยให้ดินแห้ง 1 เดือน และขังน้ำให้ดินเปียกนาน 2 เดือน ปีหนึ่งจึงมีภาวะดินแห้งและดินเปียก 4 รอบ เหมือนมีฤดูแล้งสลับฤดูฝนปีละ 4 ครั้ง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ศึกษาวิจัยและปรับปรุงดินโดยวิธีการแกล้งดินจนประสบผลสามารถแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุให้เพาะปลูกได้ และขยายผลไปยังพื้นที่พรุบ้านโคกอิฐ-โคกโพธิ์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ละ 5-10 ถัง เป็น 40-50 ถัง เมื่อพุทธศักราช 2535นอกจากนี้ยังนำแนวพระราชดำริแกล้งดินไปใช้ในพื้นที่พรุแฆแฆ จังหวัดปัตตานี มีการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท ข้าวพันธุ์แก่นจันทร์ ข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุง ข้าวพันธุ์หอมสุพรรณบุรี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

พุทธศักราช 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ดำเนินการขอจดสิทธิบัตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เลขที่ 22637 วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2550 สำหรับการประดิษฐ์คือ กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)

ข้อมูลจาก http://dit.dru.ac.th/ka/a33.php

#พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ #รัชการที่9 #พระราชกรณียกิจ #ในหลวง #กษัตริย์นักพัฒนาเพื่อปวงชน #ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ