การออกแบบผังเมืองที่เปลี่ยนไป หลังยุคโควิด-19
โรคระบาดโควิด-19 อาจเป็นอีกครั้งที่พลิกการใช้ชีวิตของผู้คน และวิธีออกแบบผังเมืองให้เปลี่ยนไปเพื่อรับกับวิถีชีวิตใหม่แบบ New-normal เพื่อช่วยให้ทุกพื้นที่สามารถปรับตัวและรับมือกับไวรัสได้ดีมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับในอดีต (ช่วงกลางศตวรรษที่ 19) ที่อยู่อาศัยแบบ “สลัม” ทำให้มีโรคระบาดเกิดขึ้น จนทำให้ประเทศหรือเมืองต่าง ๆ เช่น อังกฤษ นิวยอร์ก ต้องวางกฎหมายปรับปรุงผังเมืองและรูปแบบที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันการระบาด รวมถึงให้มีสวนสาธารณะและแหล่งนันทนาการในชุมชน
ตัวอย่างของการวางผังเมืองที่น่าสนใจคือย่าน Eixample ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่ได้แก้ปัญหาความแออัดของเมืองและการวางผังแบบเก่าด้วยระบบผังแบบ “grid” ที่ทำให้พลังงานธรรมชาติอย่างแสงแดดและลมพัดโปร่งสบายมากยิ่งขึ้น การขนส่งสาธารณะไม่ติดขัด ประชาชนเดินเข้าออกได้หลายทิศ ง่ายต่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงเรียน ตลาด ร้านค้า นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างตึกเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม เพื่อให้พื้นที่ตรงกลางของอาคารถูกนำไปใช้งานเป็นสวนเล็ก ๆ หรือสนามเด็กเล่น ฯลฯ ได้ด้วย
และในตอนนี้การระบาดของโควิด-19 อาจเป็นอีกครั้งที่การออกแบบ “ผังเมือง” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ พร้อมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีอย่างการ “Work from Home” ทำให้นี่คือ 3 ปัจจัยหลักที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อตอบโจทย์หลังผ่านการแพร่ระบาดของโควิด-19
1. เพิ่มทางจักรยานและทางเท้าที่ปลอดภัย
ผังเมืองต้องหันมาให้ความสำคัญกับทางจักรยานและทางเท้าอย่างจริงจังกว่าเดิม เพราะโรคระบาดชนิดนี้ติดเชื้อได้ผ่านละอองฝอย ยิ่งอยู่ในที่ปิดอย่างพาหนะขนส่งสาธารณะยิ่งมีความเสี่ยง ทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นการขี่จักรยานหรือเดินเท้า โดยออกแบบให้ “เป็นมิตร” กับจักรยานและการเดินมากขึ้นคือต้องปลอดภัย และมีพื้นที่มากเพียงพอสำหรับทุกคน
ตัวอย่างประเทศที่ปรับผังเมืองทันทีเพื่อรับมือโรคระบาดคือ อังกฤษ โดยมีเมืองที่ปรับตัวฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2020 เช่น เบอร์มิงแฮม เลสเตอร์ เชฟฟิลด์ บริสตอล พอร์ทสมัธ ไบรตัน ลอนดอน ฯลฯ โดยมีการใช้วิธีเพิ่มเลนจักรยานชั่วคราว เช่น นำม้านั่งสาธารณะและสิ่งกีดขวางทางอื่น ๆ ออก เพื่อเปลี่ยนเป็นเลนจักรยาน ขยายฟุตบาธลงมาบนถนนเพื่อให้มีที่เดินและทางจักรยานเพิ่ม ปิดถนนบางเส้นให้เป็นถนนคนเดินและจักรยานเท่านั้น ปรับบางพื้นที่เป็น “โซนจราจรเบาบาง” กำหนดให้มียานยนต์เข้าได้เป็นบางประเภทเท่านั้น
2. เปลี่ยนมุมมองการหาพื้นที่สาธารณะใหม่ ๆ
สวนสาธารณะคือพื้นฐานเมืองในการพักผ่อนที่คนทุกระดับเข้าถึงได้ เพื่อให้คนยังแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ที่บีบบังคับให้คน “เว้นระยะห่างทางสังคม” ข้อมูลจาก Bloomberg City Lab ได้เสนอว่าควรสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยใช้สถานที่เหล่านี้
สนามกอล์ฟ ในระหว่างที่เกิดโรคระบาด สนามกอล์ฟถูกสั่งปิดเพื่อควบคุมโรค ทั้งที่จริงเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ โปร่งโล่ง เหมาะที่จะเปิดให้สาธารณชนได้ใช้งาน
สุสาน อีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจโดยการเปลี่ยนสุสานในเมืองเป็นแหล่งนันทนาการ 1ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นได้จากสุสาน Green Wood ที่ใหญ่ถึง 1,200 ไร่ในย่านบรูกลิน เมืองนิวยอร์ก คนจำนวนมากหลั่งไหลไปพักผ่อนในสุสาน ขี่จักรยาน พาสัตว์เลี้ยงเดินเล่น เด็ก ๆ มีที่ให้ปีนต้นไม้ ซึ่งขัดกับกฎของสุสานทั้งสิ้น แต่เหตุการณ์นี้ทำให้นักวางผังเมืองได้ไอเดียใหม่ว่าเราหลงลืมพื้นที่สีเขียวในเมืองบางประเภทไป ซึ่งในประเทศไทยก็มีสุสานเยอะเช่นเดียวกัน...แต่บรรยากาศอาจจะไม่ชวนพักผ่อนซักเท่าไหร่
ลานจอดรถ ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ลานจอดรถจะว่างลง ลานคอนกรีตหรือพื้นที่ลาดยางเหล่านี้เหมาะมากที่จะเป็นลานนันทนาการ ออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานจัดอีเวนต์แบบไดรฟ์-อิน ตลาดนัด หรือกระทั่งเป็นลานตรวจโควิด-19 ส่วนในระยะยาวเมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติ ถ้าหากวิถีชีวิตคนเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น หันไปขี่จักรยาน เข้าเมืองน้อยลงเพราะทำงานจากบ้านได้ ลานจอดรถเหล่านี้ควรจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะได้อย่างถาวร
3. “Mini-CBD” กลางเมืองในชานเมือง
โควิด-19 ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ คนใช้ชีวิตในบ้านและละแวกบ้านสูงขึ้นเพราะการเชื่อมต่อกันทางออนไลน์ทำให้พนักงานออฟฟิศสามารถทำงานที่บ้านได้ และยังมีแนวโน้มจะเป็นวิถีการทำงานในระยะยาวอีกด้วยทำให้ “บ้าน” กลายเป็นศูนย์กลางชีวิตประจำวัน สิ่งที่จำเป็นในชีวิตจึงควรจะอยู่ใกล้บ้าน ทำให้การใช้อาคารแบบมิกซ์ยูสมีความสำคัญขึ้น เพราะในหนึ่งอาคารที่ก่อสร้างสามารถตอบสนองความต้องการของย่านได้ทุกอย่าง ในหนึ่งอาคารหรือพื้นที่โครงการอาจจะมีทั้งออฟฟิศ ร้านค้า ร้านอาหาร แหล่งทำกิจกรรมต่าง ๆ ครบครันเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน
“เมือง” เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะสังคมและรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ของมนุษย์ในแต่ละช่วงชีวิต ดังนั้น ผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะทำให้เมืองเปลี่ยนไป เราอาจจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และค่อยๆ ปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ที่ทำให้เราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในแบบเดิมได้แล้วอย่างแน่นอนนั่นเอง
อ้างอิงจาก
- https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=33132&lang=th
- https://www.salika.co/2020/11/16/barcelona-superblock-sustainable-city/
เรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia ซึ่งเป็นทีมวิจัย และพัฒนาความรู้ด้านการออกแบบ และวัสดุศาตร์ทางด้านสถาปัตย์ฯ
สำหรับท่านที่สนใจในนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อเพื่อโปรโมตผลงานของท่านเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการออกแบบ, เทคโนโลยี, วัสดุศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนได้แล้วที่ wazzadu .com. โดย inbox เข้ามาได้ที่ www.facebook.com/Wazzadu
ผู้เขียนบทความ
ด้วยการเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฯ ที่แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. Low Carbon CFO (Carbon Footprint for Organization) : การประเมิน carbon footprint ขององค์กร
2. Low Carbon CFP (Carbon Footprint of Product) : การประเมิน carbon footprint ของผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้พัฒนาวัสดุที่มีความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนจากวัสดุที่จำหน่าย มุ่งสู่เส้นทาง Low Carbon material ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางโครงการมีการแบ่งเฟสที่บอกระดับว่าแต่ละองค์กรอยู่ที่จุดไหนแล้วบ้าง ได้แก่
Phase 1 : Committed เข้าร่วมโครงการ Wazzadu Low Carbon Material Library สู่เส้นทาง Low Carbon
Phase 2 : On-Track ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
Phase 3 : Achieved สามารถปล่อยคาร์บอนฯ ต่ำได้แล้วเมื่อเทียบจากครั้งก่อนๆ
หวังว่าห้องสมุดที่รวมวัสดุคาร์บอนฯ ต่ำนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้พบกับวัสดุที่สามารถใช้ออกแบบให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมคาร์บอนต่ำได้จริง ... อ่านเพิ่มเติม