“Red Sea Project” โครงการท่องเที่ยวใหม่โดยพลังงานหมุนเวียนของซาอุดิอาระเบีย
โครงการ Red Sea Project ถือเป็นหนึ่ง ในโครงการ giga project ของซาอุดีอาระเบีย ที่จะพัฒนาหมู่เกาะริมชายฝั่งทะเลแดงในมณฑล Tabouk ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองมรดกโลก Alula ให้กลายเป็น “Luxury resort destination” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ
หมู่เกาะดังกล่าวมีแนวชายฝั่งความยาวกว่า 200 กิโลเมตร ประกอบด้วย เกาะน้อยใหญ่กว่า 90 แห่ง มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อน ประกอบด้วยป่าโกงกาง ภูเขาไฟ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลทรายหายากหลายชนิด ด้วยเหตุนี้โครงการ Red Sea Project จึงได้เน้นจุดขายของธรรมชาติใต้ท้องทะเลและบนฝั่ง ซึ่งจะรวมกับกิจกรรมต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว เช่น การดําน้ำ การปีนเขา กีฬาผาดโผนประเภทต่าง ๆ
Red Sea Project มีวัตถุประสงค์สูงสุดเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลายมาเป็นเครื่องยนต์สําคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีมูลค่ากว่าร้อยละ 10 ของ DGP ให้สามารถลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญการก่อสร้างโครงการจะก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 70,000 ตําแหน่ง และเพิ่ม GDP ให้แก่ประเทศกว่า 1 แสนล้านริยาล ขณะที่เป้าหมายระยะยาวจะเพิ่ม GDP ให้แก่ประเทศปีละกว่า 1.5 หมื่นล้านริยาล และจะเกิดการจ้างงานกว่า 35,000 ตําแหน่ง
ด้านโครงสร้างพื้นฐานได้มีการทําสัญญากับ ACWA Power บริษัทพลังงานสัญชาติซาอุดิอาระเบีย ที่ผลิตไฟฟ้าและกลั่นน้ำจืดจากทะเล เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อผลิตไฟฟ้า 6.5 แสน MWh (1 MWh เพียงพอสําหรับบ้าน 300 หลัง ใน 1 ชั่วโมง) โดยจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
นอกจากนี้พื้นที่ทั้งหมดของโครงการจะใช้กฎหมายพิเศษที่เป็นสากลในการปกครอง ซึ่งทําให้เชื่อได้ว่านโยบายดังกล่าวนี้จะเป็นรากฐานสําคัญที่จะทําให้เมืองใหม่นี้ สามารถอยู่นอกเหนือกฎระเบียบทางสังคมที่เคร่งครัดของซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะเรื่องของการขายเครื่องดื่มมึนเมา การแต่งกายแบบตะวันตก และการปะปนกันระหว่างชายหญิง ซึ่งเป็นส่วนสําคัญที่จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว ในโครงการนี้
หากโครงการนี้สามารถดําเนินการได้สําเร็จในอนาคต จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆได้ และจะผลิกโฉมภาพลักษณ์ของภาคตะวันตกของซาอุดิอาระเบียไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยอย่างมหาศาลในหลายสาขา ทั้งภาคการก่อสร้าง ภาคการบริการ ความร่วมมือทางธุรกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว การอนุรักษ์วัฒนธรรม และการส่งออกสินค้าไปยังซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะ สินค้าอาหารฮาลาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์และประดับยนต์ และข้าว ที่กำลังเป็นที่นิยมในการนำเข้าจากไทย โดยจะสามารถเติมเต็มความต้องการของนักท่องเที่ยวจากหลากเชื้อชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ
โครงการนี้ตั้งเป้าเปิดตัวเฟสแรกภายในปลายปี 2022 ซึ่งจะประกอบด้วยรีสอร์ทและที่อยู่อาศัย 14 แห่งบน 5 เกาะ และ 2 เขตบนฝั่ง พร้อมด้วยสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ และมีกําหนดก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2030 ซึ่งจะประกอบด้วยโรงแรม 50 แห่ง จํานวน 8,000 ห้อง และที่อยู่อาศัย 1,300 ยูนิต กระจายตัวอยู่ใน 22 เกาะ และ 6 เขตบนฝั่ง ซึ่งจะพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวสูงสุด 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะเป็นจํานวนสูงสุดที่จะให้การต้อนรับเพื่อมิให้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในโครงการด้วย
อ้างอิงโดย : https://globthailand.com/saudiarabia-250621/
เรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia ซึ่งเป็นทีมวิจัย และพัฒนาความรู้ด้านการออกแบบ และวัสดุศาตร์ทางด้านสถาปัตย์ฯ
สำหรับท่านที่สนใจในนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อเพื่อโปรโมตผลงานของท่านเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการออกแบบ, เทคโนโลยี, วัสดุศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนได้แล้วที่ wazzadu .com. โดย inbox เข้ามาได้ที่ www.facebook.com/Wazzadu
ผู้เขียนบทความ