สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น Vernacular Architecture ลดโลกร้อน ลดฝุ่น ทำให้โลกดีขึ้นอย่างไร ?
ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อมคือ ความพยายามของมนุษย์ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ความต้องการความสบายของมนุษย์จึงมีน้อยมาก และไม่อาจเปรียบเทียบได้กับในปัจจุบัน และด้วยจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อยนิด นอกจากจะบริโภคน้อยแล้วยังปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าด้วย ซึ่งของเสียก็ล้วนเป็นของเสียที่สลายได้เองตามธรรมชาติ
ทางด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรมก็มีการออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ, ภูมิอากาศ ตัวอย่างการออกแบบอาคารเพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม จะเห็นชัดในเขตภูมิอากาศที่รุนแรง เช่น - เขตหนาว และเขตทะเลทราย - เขตร้อนชื้น - เขตที่ราบสูงที่มีความหนาวเย็น
ด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์จึงเกิดเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เรียกว่า Vernacular หรือ Bioclimatic Architecture ซึ่งหากทำการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทั่วโลกอย่างลึกซึ้งจะเห็นว่าเป็น นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของมนุษยชาติทั้งนั้น ทุกองค์ประกอบของการออกแบบสามารถอธิบายด้วยหลักทางฟิสิกส์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์
จวบจนหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป รูปแบบสังคมเมืองเริ่มเปลี่ยนไป เกิดชุมชนทำงานที่หนาแน่นในเมือง และการใช้พื้นที่ดินในเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมสาธารณะขนาดใหญ่ที่ปิดตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง เริ่มเกิดการคิดค้นงานระบบอาคารขึ้นมา โดยเฉพาะการปรับ และการระบายอากาศด้วยเครื่องจักรกล อาคารที่สร้างต้องอาศัยพลังงานจากแหล่งพลังงานที่มี ซึ่งมักจะมาจากถ่านหิน และน้ำมันดิบนั่นเอง
รูปแบบอาคารและเทคโนโลยีอาคารที่ถูกใช้เพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์ได้พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงใช้พลังงานจากแหล่งเดิม ๆ เหมือนภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ส่วนทางด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมในที่สุดก็เกิดปรากฏการณ์ของ “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่” หรือ Modern Architecture เกิดขึ้น (ซึ่งพัฒนากลายเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรนานาชาติInternational Styleในเวลาต่อมา)
นับเป็นการหันหลังให้แก่การออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศพื้นถิ่นหรือการออกแบบ Bioclimatic Design อย่างสิ้นเชิง เพราะอาคารต่างเลือกใช้ระบบเครื่องกลในการปรับสภาวะแวดล้อมภายในให้น่าสบาย โดยไม่สนใจต่อลักษณะอากาศภายนอกว่าจะเป็นเช่นใด รูปแบบ และองค์ประกอบอาคารไม่สามารถชี้ชัดได้เลยว่ามาจากสภาพภูมิอากาศแบบใด ซึ่งแตกต่างจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เคยมีมานาน แต่ถูกทอดทิ้งจากสถาปนิกพื้นถิ่นที่ได้รับการศึกษาจากต่างแดน
ที่มา และความหมาย
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular architecture) หรือ Bioclimatic Architecture หมายถึง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นในแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม เพื่อสนองความต้องการนั้น ๆ รูปแบบของสิ่งก่อสร้างอาจจะพัฒนาไปจากรูปแบบเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต โดยใช้วัสดุก่อสร้างที่หามาได้ตามท้องถิ่นนั้น ๆ การก่อสร้างเป็นการช่วยเหลือกันในชุมชน จากบุคคลทุกเพศทุกวัยทั้ง เด็กผู้หญิง คนหนุ่ม-สาว คนเฒ่า-คนแก่
อาจเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการก่อสร้างหรือไม่มีก็ได้ การทำงานร่วมกันในชุมชนเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต เรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติตามพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยของชุมชน
คุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
แต่ละพื้นที่บนโลกก็จะมีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นแตกต่างกันอย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ มันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสภาพของพื้นที่ สังคม และวัฒนธรรมของประชาชน
1. สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นสอดคล้องกลมกลืนเกื้อหนุนกับบริบทรอบข้างรวมถึงประเพณีวัฒนธรรมนั้นแสดงออกมาในตัวสถาปัตยกรรม โดยแฝงอยู่ในรูปทรง และแผนผังของอาคาร การศึกษาเรือนพื้นถิ่นในแต่ละภูมิภาคนั้นย่อมทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่พักอาศัยอยู่ภายในอาคาร
2. สะท้อนศูนย์รวมของชีวิตในทุกสังคม รูปทรงของเรือนพักอาศัยของชาวบ้านนั้นส่วนใหญ่มักมีรูปร่าง ขนาด วัสดุ และระเบียบวิธีการก่อสร้างเหมือนกันในแต่ละท้องถิ่น
เพราะไม่ได้เป็นงานที่ออกแบบมีลักษณะเฉพาะตัวของสถาปนิก แต่เป็นงานออกแบบที่เป็นลักษณะรวมของสังคม งานสถาปัตยกรรมเพื่อชีวิต เช่น ยุ้งข้าว โรงเก็บของ โรงสี โรงปั้นหม้อ ฯลฯ ทั้งอาคารสาธารณะ วัดวาอารามในชุมชน ศาลากลางบ้าน ศาลาท่าน้ำ ศาลาริมทาง ฯลฯ ที่เกิดขึ้นมาบนพื้นฐานการตอบสนองการใช้ชีวิตจริงๆ
3. สถาปัตยกรรมพื้นที่มักมีการใช้วัสดุพื้นถิ่นที่หาง่าย สะดวกในการก่อสร้าง และเกิดภูมิปัญญาในการก่อสร้างตามแต่ละท้องที่ ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้วัสดุที่สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น ทำให้ไม่ต้องสร้างมลพิษจากการผลิตในอุตสาหกรรมมากเกินไป รวมถึงการขนส่ง logistic ที่ใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่าทำให้ลดมลพิษการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากมาย
4. สถาปัตยกรรมพื้นที่มักมีการออกแบบให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศแบบอยู่ร่วมเกื้อกูล ไม่ทำลายซึ่งกันและกัน ทำให้การออกแบบพื้นที่ (Space) การแบ่งพื้นที่ (Zoning) การเจาะช่องแสง จนกระทั่งการประดับตกแต่งให้เกิดสภาวะอยู่สบายนั้นสามารถทำให้สอดคล้องกับธรรมชาติโดยรอบแบบอิงอาศัยกัน การออกแบบลักษณะนี้ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติพร้อมกับการดูแลรักษาไปในตัวนั่นเอง
5. สถาปัตยกรรมพื้นที่มักใช้เทคนิคการก่อสร้างที่เกิดจากภูมิปัญญาในชุมชนทำให้เกิดการสร้างงาน ช่างที่มีฝีมือเฉพาะทางในพื้นที่ เกิดการจ้างงานเกิดสังคมที่เกื้อหนุนกันสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นของคนในพื้นที่ ทั้งนี้งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นต้องปรับตัวตามกาลเวลาเช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งบนโลกแต่สิ่งที่สำคัญของงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้น คือหลักคิดที่ทำให้การออกแบบสถาปัตยกรรมต้องเกื้อหนุนกับธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมนุษย์วนกลับมาถามหาคุณค่าเหล่านี้อีกครั้งซึ่งเรียกว่า Wellness design
การลดโลกร้อนนั้นต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐบาล สังคม และสถาปนิก ให้มีหลักยึดเดียวกันถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบสอดคล้องกลมกลืนเราก็จะช่วยส่งต่อโลกที่ดีให้คนรุ่นหลังได้ต่อไป
เรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia ซึ่งเป็นทีมวิจัย และพัฒนาความรู้ด้านการออกแบบ และวัสดุศาตร์ทางด้านสถาปัตย์ฯ
สำหรับท่านที่สนใจในนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อเพื่อโปรโมตผลงานของท่านเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการออกแบบ, เทคโนโลยี, วัสดุศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนได้แล้วที่ wazzadu .com. โดย inbox เข้ามาได้ที่ www.facebook.com/Wazzadu
ผู้เขียนบทความ