9 ประเภทวัสดุปิดผิวยอดนิยมและคุณสมบัติที่น่าสนใจ
เมื่อกล่าวถึงวัสดุปิดผิว หลายๆ คนคงสงสัยว่าจริงๆ แล้ว วัสดุปิดผิวคืออะไรกันแน่ เพราะบางครั้งวัสดุปิดผิวก็มาในรูปของไม้จริง บางครั้งเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่เรียงรายต่อกัน และบางครั้งก็เป็นกระจกหรือ Crystal Board ที่มีดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ...
วัสดุปิดผิวทำหน้าที่แต่งแต้มสีสัน ลวดลาย และความสวยงามลงบนพื้น ผนัง ฝ้า และเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร อีกทั้งยังช่วยป้องกันและปิดผิวหน้าขององค์ประกอบอาคารด้วย ซึ่งวัสดุปิดผิวแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติ จุดเด่น และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติด้านความแข็งแรง การป้องกันรอยขูดขีด และป้องกันความชื้น ล้วนมีประสิทธิภาพไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับวัสดุและสารเคมีตั้งต้นในการผลิต
วัสดุปิดผิวแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่วัสดุปิดผิวจากธรรมชาติและวัสดุปิดผิวทดแทน วัสดุปิดผิวจากธรรมชาติจะมีความแข็งแรง ทนทานสูง และผิวสัมผัสยังสวยงามตามธรรมชาติอีกด้วย วัสดุปิดผิวธรรมชาติที่นิยมใช้แบ่งได้ดังนี้
1 ไม้จริง เป็นวัสดุปิดผิวที่สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เช่น งานปูพื้น กรุผนัง ฝ้า หรือประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ชนิดต่างๆ แต่ในปัจจุบันการใช้ไม้จริงกลับลดลงกว่าในอดีต เพราะไม้มีราคาสูง หายาก และทรัพยากรไม้เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ
ไม้จริงจะแข็งแรง คงทน มีผิวสัมผัสเป็นเอกลักษณ์ และหากดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ก็สามารถใช้งานได้ยาวนานหลาย 10 ปีเลยทีเดียว แต่ไม้ก็มีข้อจำกัดบางประการนั่นคือ ไม่ทนต่อสภาพอากาศภายนอก และหากดูแลรักษาไม่ดี ไม้จะผุกร่อน ปลวกกัดกินได้ง่าย
2 หินแกรนิต คือหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีความแข็งแรง ไม่ผุกร่อนเมื่อโดนแสงแดดและน้ำ มีสีสันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการทับถมของดินเป็นระยะเวลานาน หินแกรนิตมอบความรู้สึกหรูหรา มั่นคง แข็งแกร่งให้กับผู้ใช้งาน
วัสดุชนิดนี้ส่วนมากจะนำมาแปรรูปก่อนใช้งาน เช่น ใช้เป็นวัสดุปิดผิวสำหรับเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร อย่างเคาน์เตอร์ครัว และอ่างล้างหน้าที่ต้องการกันน้ำและความชื้นเป็นพิเศษ เพราะหินแกรนิตกันน้ำได้มากถึง 90% อย่างไรก็ตามหินแกรนิตนั้นไม่ทนกรด-สารเคมี อาจทำให้เกิดรอยด่างได้ง่าย และใช้ปิดผิวได้เฉพาะบางพื้นผิวเท่านั้น
3 หินอ่อน เป็นหินธรรมชาติที่มีลวดลายหลากหลายคล้ายหินแกรนิต เพียงแต่มีความทนทานน้อยกว่า หินอ่อนนิยมนำเข้าจากประเทศอิตาลี เพราะสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาของประเทศอิตาลีมีความหลากหลาย ส่งผลให้เนื้อหินมีผลึกและลวดลายแตกต่างจากประเทศอื่นๆ
หินอ่อนมักใช้ในงานกรุผนัง ปูขั้นขั้นบันได และแกะทำรูปสลักต่างๆ หรือถ้าทำเป็น Top โต๊ะ เคาน์เตอร์ก็จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับเฟอร์นิเจอร์นั้นได้ เพราะหินอ่อนแสดงถึงความหรูหรา เงางาม แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก ไม่ทนกรด-สารเคมี รอยขีดข่วน และถ้าหากเจอความร้อนจากแสงแดดมากๆ ก็จะทำให้สีซีดจางลงได้
วัสดุปิดผิวอีกประเภทหลักๆ คือวัสดุปิดผิวทดแทน หรือวัสดุที่สังเคราะห์ขึ้นมา โดยวัสดุบางชนิดจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่สามารถทดแทนวัสดุธรรมชาติได้ เช่น ทนต่อสภาพแวดล้อม ความร้อน ความชื้นได้ดีกว่า หรือไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัด ทั้งนี้จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบัน วัสดุปิดผิวทดแทนมีมากกว่า 100 ชนิด วัสดุปิดผิวที่ยกมาในบทความนี้ จะเป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ ซึ่งประกอบด้วย
4 วัสดุปิดผิวจากกระดาษ (Paper Film Foil) คือกระดาษพิมพ์ลวดลายต่างๆ ปิดหน้าด้วยกาว เคลือบเรซินแบบใสทับ ซึ่งมักเคลือบโดยใช้โพลียูริเทนเพราะมีความแข็งแรงมากกว่าสารเคลือบชนิดอื่น สามารถกันความร้อน และความชื้นได้ในระดับนึง โดยความแข็งแรงของวัสดุจะขึ้นอยู่กับความหนาและวัสดุที่ใช้เคลือบ
วัสดุปิดผิวกระดาษจะมีสีสันสวยงาม หาซื้อง่าย ราคาถูก แต่ก็มีอายุการใช้งานน้อย และเป็นรอยขีดข่วนง่ายเช่นกัน ส่วนใหญ่จะนำผิวกระดาษมาใช้เป็นวัสดุปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ราคาถูก-ปานกลาง เช่น ตู้เสื้อผ้า เตียงนอน และชั้นวางของ
5 วัสดุปิดผิวเมลามีน (Melamine Paper Films Foil) ผลิตจากกระดาษหลายๆ ชั้น อัดแน่นทับกัน จากนั้นจึงนำมาเคลือบเงา พิมพ์ลายเลียนแบบไม้ธรรมชาติ มีความหนาประมาณ 0.3-0.4 มม. แผ่นเมลามีนจะนำมาปิดผิวทับบนแผ่นไม้ Particle และไม้ MDF ซึ่งใช้ความร้อนเป็นตัวเชื่อมวัสดุ เมลามีนมีคุณสมบัติทนความร้อน ความชื้น กันรอยขีดข่วน และมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยปกติจะนำเมลามีนมาเคลือบผิวโต๊ะทำงาน โต๊ะประชุม และชุดครัว เป็นต้น
6 วัสดุปิดผิวพีวีซี (Polyvinyl Chloride) ทำจากพลาสติกและพิมพ์ลายเลียนแบบสีไม้ธรรมชาติ มีความหนาประมาณ 0.15 มม. ปิดผิวโดยใช้กาวและความร้อนสูงเป็นตัวเชื่อม มีคุณสมบัติและการใช้งานคล้ายกับผิวเมลามีนเพียงแต่สามารถป้องกันรอยขูดขีดหรือการซึมน้ำได้ดีกว่า
7 วัสดุปิดผิวลามิเนตแรงอัดดันสูง (Formica หรือ High Pressure Laminate) อีกหนึ่งวัสดุที่ถูกพัฒนาให้มีลักษณะคล้ายกับไม้จริง หากมองเผินๆ อาจจะแยกไม่ออกว่าเป็นลามิเนตหรือไม้จริงก็เป็นได้ ลามิเนตมีความหนาประมาณ 0.6-1.0 มม. ซึ่งมาพร้อมกับคุณสมบัติแข็งแรง ทนทานสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน ทำความสะอาดได้ง่าย ทนความร้อนได้ดีกว่าวัสดุปิดผิวชนิดอื่นๆ แต่ก็มีราคาสูงกว่าเช่นกัน
ลามิเนตเหมาะสำหรับงานภายในอาคาร เช่น ผนัง ฝ้า เพดาน และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ นอกจากลามิเนตลายไม้แล้ว ยังมีลามิเนตลายหิน ลายโลหะ ลายผ้า และลายอื่นๆ ด้วย
ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ทำให้ในปัจจุบันมีการพัฒนาแผ่นลามิเนตกระจก (Mirror Laminate) ที่ผู้ใช้งานออกแบบลวดลายได้เอง และมีน้ำหนักน้อยกว่ากระจกทั่วไป และแผ่นลามิเนตตัดต่อลาย (Patchwork Laminate) ด้วยการนำลามิเนตมาทำการตัดต่อให้เกิดลวดลายตามดีไซน์ที่ผู้ใช้งานออกแบบ
8 วีเนียร์ไม้ (Wood Veneer) ไม้แผ่นบางที่มีความหนาน้อยกว่า 3 มม. ทำจากเยื่อไม้แผ่นบาง นอกจากวีเนียร์ไม้จะ สวยงาม มีแพทเทิร์นหลากหลายเข้ากับงานออกแบบได้หลายรูปแบบแล้ว ยังมีสัมผัสคล้ายกับไม้จริงมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนั้นอายุการใช้งานยังยาวนาน ดูแลรักษาง่าย แต่ทั้งนี้วีเนียร์ไม้ก็มีราคาสูงกว่าวัสดุปิดผิวชนิดอื่น และใช้ได้เฉพาะงานตกแต่งภายในเท่านั้น
นอกจากวีเนียร์ไม้แล้ว ยังมีวีเนียร์หิน(Stone Veneer) เป็นวัสดุจากหินธรรมชาตินำมาตัด โดยมีความหนาไม่เกิน 3 มม. จุดเด่นของวีเนียร์หินคือมีน้ำหนักเบา นำมาดัดโค้งหรือปิดผิวผนังโค้งได้ และมีคุณสมบัติคล้ายกับหินธรรมชาติทุกประการ
9 หินสังเคราะห์ หรือหินเทียม ซึ่งมีข้อดีมากกว่าหินธรรมชาติ เพราะนอกจากจะแข็งแรง ทนความร้อน ความชื้น สารเคมีแล้ว ยังน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายอีกด้วย และหินเทียมสามารถใช้ได้ทั้งงานตกแต่งภายใน ภายนอกอาคาร โดยเฉพาะการนำมาปิดผิวผนัง เสา และนำไปทำเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินต่างๆ ก็เป็นที่แพร่หลายอย่างมาก
ส่วนมากในท้องตลาดนิยมใช้หินเทียมอะคริลิค 100% หินเทียมอะคริลิคผสมโพลีเอสเตอร์ และหินเทียมโปร่งแสง โดยมีความหนาตั้งแต่ 6 – 25 มม ทั้งนี้หินเทียมจะมีราคาแพงกว่าหินธรรมชาติ และหินเทียมที่มีส่วนผสมโพลีเอสเตอร์จะไม่สามารถดัดโค้งได้
นอกจากวัสดุปิดผิวที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีวัสดุปิดผิวอีกหลายชนิด เช่น Liquid Wallpaper วอลเปเปอร์ชนิดใหม่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ 100% Crystal Board ซึ่งนำมาใช้ตกแต่งแทนกระจกพ่นสี และไม้คอร์ก ที่ถูกพัฒนาจนนำมาใช้กรุผนัง พื้น และเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างสวยงาม
จะเห็นได้ว่านวัตกรรมของวัสดุปิดผิวนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งสำคัญในการออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องสเปซ หรือฟังก์ชัน หากองค์ประกอบเล็กๆ อย่างการเลือกใช้วัสดุปิดผิวก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเลือกพื้นผิว ลวดลาย และสีสันของวัสดุปิดผิวที่เข้ากับการออกแบบ ก็จะยิ่งส่งผลต่อการบรรยากาศโดยรวมของสเปซให้น่าใช้งานมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก encyclopedia2, researchgate, วัสดุปิดผิวยอดนิยม, รวมข้อมูลวัสดุปิดผิวแต่ละประเภท
ผู้เขียนบทความ