สรุป 11 ประเด็นที่น่าสนใจ ที่ทำให้ห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ คว้ารางวัลด้านการออกแบบระดับโลก

รูปภาพประกอบจาก : thairath

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2562 มีการจัดงาน Best of Year Awards 2019 ที่จัดโดย Interior Design Magazine นิวยอร์ก ณ ศูนย์การประชุมเจคอบ เค. จาวิตส์ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อมอบรางวัลให้แก่นักออกแบบและผู้มีผลงานด้านการออกแบบที่มีความโดดเด่น โดยในปีนี้ ในหมวดห้องสมุด (Library)

ผลปรากฏว่าห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของโลกไปครอง รางวัลดังกล่าวถืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวงการออกแบบไทย อีกผลงานหนึ่ง โดยเฉือนเอาชนะ

- Yue Library จากประเทศจีน ที่ออกแบบโดย Beijing Fenghemuchen Space Design และ Columbus Metropolitan

- Library, Dublin Branch ที่ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกระดับโลกอย่าง NBBJ

- Chicago Public Library, West Loop Branch ที่ออกแบบโดย Skidmore, Owings & Merrill

 

วันนี้เราจะมา สรุป 11 ประเด็นที่น่าสนใจ ที่ทำให้ห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ คว้ารางวัลด้านการออกแบบระดับโลก

1.

แต่เดิมห้องสมุดแห่งนี้ เคยเป็นสตูดิโอทำงานของชาวคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ในยุคแรกเริ่ม ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นห้องสมุดมานานเกือบ 30 ปี จนเริ่มทรุดโทรม และได้ผ่านการปรับปรุงครั้งใหญ่ แล้วเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ด้วยงบลงทุนการปรับปรุง 90 ล้านบาท 

รูปภาพประกอบ : กิจกรรมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2.

ไอเดียการปรับปรุ่งห้องสมุดแห่งนี้เริ่มต้นจาก คุณเสริมสิน สมะลาภา, รศ. ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ และ ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข โดยมีคุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ศิษย์เก่าของคณะฯ เป็นผู้รับหน้าที่เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบหลัก ในนามบริษัท Department of Architecture 

3.

ห้องสมุดแห่งนี้มีพื้นที่การใช้งานทั้งหมด 3 ชั้น ตั้งแต่ชั้นที่ 2-4 ของอาคาร เริ่มที่ชั้น 2 ของอาคาร เป็นพื้นที่ ที่ค่อนข้างเป็นสาธารณะ เข้าถึงง่าย ผู้คนผ่านไปมาค่อนข้างมากเกือบตลอดทั้งวันที่เปิดทำการ  พื้นที่ส่วนนี้จึงถูกออกแบบให้เป็น Co-working and Thinking Space  ที่เต็มไปด้วยโต๊ะ และปลั๊กไฟ ซึ่งเตรียมพร้อมไว้สำหรับนักศึกษาที่อ่านหนังสือไปด้วย ทำงานไปด้วย ทั้งแบบเดี่ยวๆ หรือ Collaboration เป็นกลุ่ม

รูปภาพประกอบจาก : thairath

4.

การตกแต่งในพื้นที่ชั้น 2 มีการทำชั้นโครงเหล็กที่มีลักษณะขัดกันไปมา พร้อมมีช่องขนาดพอเหมาะจำนวนมาก นอกจากในแง่ความสวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว นักออกแบบตั้งใจให้ช่องว่างของชั้นโครงเหล็ก กลายเป็นที่โชว์ผลงานของนักศึกษาไปในตัว เพียงประยุกต์รูปแบบการใช้งานอีกนิด โดยสอดแผ่นไม้อัด หรือ แผ่นอะคริลิคเข้าไปแค่นี้ก็สามารถวางผลงานได้แล้ว   

และในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนพื้นที่เชิงทดลองสำหรับนิสิตสถาปัตย์ฯ ที่สามารถเอาของมาเสียบ มาเกี่ยว มาผูก มามัด มาทำอะไรได้หลายอย่าง เพื่อให้เกิดผลการทดลองบางอย่างขึ้น และอาจจะใช้จัดนิทรรศการ จัด Installation art (ศิลปะจัดวาง) หรือจะใช้นำเสนองานก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะการเรียนรู้ของนิสิตสถาปัตย์ฯ มักไม่ได้เกิดจากการรับข้อมูลเข้ามาเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะต้องได้ลงมือทดลองควบคู่กันไปด้วย จึงจะทำให้กระบวนการเรียนรู้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

รูปภาพประกอบจาก : thairath

5.

ในบริเวณชั้น 2 ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการศึกษาในโรงเรียนออกแบบอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดแม่เหล็กขนาดใหญ่ หรือ จอดิจิทัลสำหรับพรีเซนต์งาน พร้อมกับเสียงเพลงเบาๆที่จะช่วยกระตุ้นจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ได้ดี

6.

ชั้น 3 บันไดถูกออกแบบให้เป็น Landmark อยู่กลางห้อง โดยแสดงให้เห็นสัดส่วนของโครงสร้างของตัวบันได และชั้นวางที่ทำจากเหล็ก ที่มีการจัดวางนิตยสารใหม่ๆไว้อย่างเด่นชัด มีให้เลือกอ่านหลากหลายประเภท และพื้นที่รอบๆก็มีโต๊ะขนาดใหญ่ไว้ใช้สำหรับทำงาน รวมถึงมีมุมไว้จัดแสดงผลงานต่างๆ อีกด้วย

รูปภาพประกอบจาก : thairath

7.

ชั้นที่ 4 จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ Quiet Zone ห้องอ่านหนังสือแบบไม่ใช้เสียง ในโซนนี้จะมีส่วนเก็บเอกสารอ้างอิงต่างๆ จัดวางไว้ให้ค้นคว้าได้อย่างสะดวก

และอีกโซน คือ โซนฉายภาพยนตร์ด้วยจอโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีที่นั่งชมแบบไล่ระดับ โดยมีรูปแบบที่นั่งให้เลือกนั่งได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนั่งกับพื้นแบบโต๊ะญี่ปุ่น แบบบีนแบ็ก และโต๊ะเก้าอี้ตัวเตี้ยที่สามารถถอดเปลี่ยนกลายเป็นที่นั่งดูหนังได้

8.

อีกจุด Landmark สำคัญบนชั้น 4 ที่มีความพิเศษ และมีความน่าสนใจไม่น้อยเลย ก็คือ รายละเอียดของงานตกแต่งเพดานโซนฉายภาพยนตร์ ที่นำการวิจัยเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาแปรเปลี่ยนเป็นแผนที่กรุงเทพมหานคร โดยนำ 9 โครงการสำคัญมาซ่อนไว้ในแผนที่ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพทางด้านผังเมือง ด้านการคมนาคม ด้านการบริหารจัดการน้ำ และด้านสิ่งแวดล้อมของพระองค์ท่าน

รูปภาพประกอบจาก : thairath

9.

ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการออกแบบห้องสมุดจุฬาฯ ทำให้ทีมออกแบบพบความจริงอย่างหนึ่งว่า ห้องสมุดต้องเป็นพื้นที่ ที่เข้ามาแล้วได้แรงบันดาลใจ ได้ความคิดสร้างสรรค์ ได้สิ่งใหม่ๆ กลับออกไป ห้องสมุดจะไม่ทำหน้าที่เพียงการเป็นห้องสมุดแบบเพียวๆเหมือนยุคก่อนๆอีกต่อไป เพราะห้องสมุดยุค 4.0 สามารถทำได้มากกว่านั้น 

นิสิตทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ห้องสมุดต้องมีปลั๊กไฟ มี Wi-Fi มีมุมมิตติ้งได้เป็นกลุ่ม มีที่นั่งแบบสบายๆไม่จำเป็นต้องเป็นโต๊ะเก้าอี้แบบทางการก็ได้ มีสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิตอล หรือ มีมุมให้ได้ทดลอง และแสดงผลงาน ห้องสมุดยุคนี้มันได้เปลี่ยนตัวเอง ให้กลายเป็นพื้นที่ ที่คนมาคิดมาสร้างสรรค์งานกันจริงๆ มากกว่าการมานั่งอ่านหนังสือเฉยๆตามพฤติกรรมของของผู้ใช้งานรุ่นใหม่ๆที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ที่นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

10.

แต่เดิมห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือไม่น้อยกว่า 30,000 เล่ม แต่ในปัจจุบันโลกของการอ่าน และรูปแบบของการเรียนรู้มันมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปมากๆ จำนวนหนังสือจึงถูกปรับให้ลดเหลือ 26,000 เล่มเท่านั้น ซึ่งเอกสารอ้างอิง ตำรา แผนที่เก่า และวิทยานิพนธ์ที่ใช้อ้างอิงสำหรับงานวิจัย หลายตำราถูก Transform ให้กลายเป็นชุดข้อมูลแบบดิจิตอล โดยใช้วิธีการเข้าถึงข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์แทน ซึ่งให้ความสะดวกสบาย เหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น และช่วยลดจำนวนหนังสือ รวมถึงพื้นที่จัดเก็บหนังสือที่ไม่เคยถูกยืมเลยได้เป็นจำนวนมาก

รูปภาพประกอบจาก : thairath

11.

การส่งต่อความรู้ในคณะสถาปัตยกรรมนั้น อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปแบบของหนังสือที่วางเรียงบนชั้นเพียงเท่านั้น แต่ควรมีรูปแบบที่เป็นอิสระ ไม่มีกรอบมาจำกัด เป็นเสมือนสถานที่ ที่ให้แรงบันดาลใจ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และช่วยเติมเต็มความรู้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะจินตนาการ (Creative Incubator) ผ่านการใช้งานห้องสมุดรูปแบบใหม่ ที่มีความแตกต่าง และเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยฟังก์ชั่นสื่อรูปแบบต่างๆที่หลากหลายมิติมากขึ้น 

ข้อกำหนดในการให้บริการห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • เปิดให้บริการสำหรับนิสิตคณะสถาปัตย์ฯจุฬาฯในวันจันทร์-วันเสาร์
  • นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะอื่นๆสามารถใช้บริการได้ในวันพุธ
  • ประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ต่างสถาบัน สามารถใช้บริการได้ฟรีในวันเสาร์ โดยจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้าใช้บริการ​ และจะไม่สามารถยืมหนังสือได้

อ้างอิงโดย :

https://thestandard.co/chulalongkorn-architecture-library/

https://readthecloud.co/architecture-library-chulalongkorn-university/

กิจกรรมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ