รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ 12 วัสดุปิดผิวยอดนิยม สำหรับงานตกแต่งภายใน พร้อมรายละเอียดการออกแบบ และติดตั้ง
ในการออกแบบตกตแต่งนั้น นอกเหนือจากการดีไซน์ฟอร์มและฟังก์ชั่น (Form & Function) แล้ว การเลือกใช้วัสดุปิดผิวก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสีสัน ลวดลาย และผิวสัมผัส (Texture) ของวัสดุปิดผิวจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บรรยากาศของห้องนั้นๆ เป็นไปอย่างที่ต้องการได้
วันนี้ WAZZADU.COM มีวัสดุปิดผิวเท่ๆ ที่ทั้งแปลกใหม่และสวยงามไม่ซ้ำใครมาฝากกันครับ
Magic Liquid Wall (วอลเปเปอร์เส้นใยธรรมชาติ) ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ 100 % ผสมน้ำแล้วฉาบได้เลย สามารถติดตั้งได้บนพื้นผิวทุกชนิด เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ หรือกระจกเงา ใช้ปิดผิวผนังและฝ้าได้ ไม่มีสารเคมีและสารที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ สาร Volatile Organic Compounds (VOCs) ที่มีกลิ่นฉุนและเป็นพิษต่อร่างกาย สามารถใช้ได้กับทั้งผนังปูนเก่าและปูนใหม่ หากมีการขูดขีดหรือเสียหาย เจ้าของบ้านสามารถซ่อมได้ด้วยตนเองเป็นจุดๆ ไป ที่สำคัญยังสามารถลอกแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย
วิธีการติดตั้ง
- นำผลิตภัณฑ์วอลเปเปอร์เส้นใยธรรมชาติผสมกับน้ำเปล่าผสมให้เข้ากัน สัดส่วนตามที่ผู้ผลิตกำหนด
- นำวอลเปเปอร์เส้นใยธรรมชาติไปฉาบลงบนผนังหรือพื้นผิวที่ต้องการตกแต่ง หรือซ่อมแซม ทิ้งไว้ให้เช็ตตัวประมาณ 12 - 24 ชม.
Copper Sheet (แผ่นทองแดง) แผ่นทองแดงแท้ปัจจุบันนอกเหนือจากสีทองแดงแบบปกติ ยังสามารถเลือกสั่งทำสนิมปริมาณมากน้อยตามที่ต้องการได้ และสามารถสั่งซื้อแบบเป็นม้วน สั่งผลิตตามแพทเทิร์นที่ต้องการ หรือสั่งผลิตแบบพับขึ้นรูปเป็นทรงสามมิติ เพื่อใช้เป็นโคมไฟหรือวัสดุตกแต่งอื่นๆ ได้อีกด้วย
โดยปกติแผ่นทองแดงนั้นเมื่อใช้งานไปนานๆ จะเกิดสนิมสีเขียวขึ้นยิ่งเวลานานสียิ่งเขียวเต็มแผ่นมากขึ้น โดยจะเกิดกับแผ่นทองแดงที่ใช้ภายนอกอาคารมากกว่าภายในอาคาร ซึ่งสีสนิมเขียวนี้เป็นเอฟเฟกต์ที่ผู้ออกแบบหลายๆ ท่านโปรดปราน ปัจจุบันเราสามารถสั่งทำผิวสนิมได้ด้วยโดยตัวแผ่นทองแดงจะถูกทำสนิมผ่านกระบวนการทางเคมีซึ่งสามารถเร่งปฏิกิริยาได้ให้เกิดสนิมได้ตามที่ต้องการ
วิธีการติดตั้ง
- ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานหากต้องการใช้แผ่นทองแดงปิดผิวตกแต่งแบแผ่นเรียบ สามารถใช้กาวติดแผ่นทองแดงเข้ากับผนัง หรือพื้นผิวที่ต้องการได้เลย
- หากต้องการติดตั้งแผ่นทองแดงแบบเป็นแพทเทริร์น เช่น ชิงเกิ้ลรูป (Shingle roof) ให้ติดตั้งตามมาตรฐานผู้ผลิต และใช้อุปกรณ์ติดยึดตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้
- ควรทาน้ำยารักษาผิวแผ่นทองแดง
หมายเหตุ แผ่นทองแดงนั้นเป็นวัสดุธรรมชาตเมื่อติดตั้งไปแล้วอาจเกิดเอฟฟเกต์ที่ไม่เรียบ หรือรอยคราบน้ำมัน (Cunning) ซึ่งดีไซน์เนอร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นความสวยงามของสัจจะวัสดุ
Stone Veneer (วีเนียร์หิน) ผลิตจากหินธรรมชาติที่ฝานบางๆ มีความหนาไม่เกิน 3 มม. จึงลดปริมาณการใช้หินจริงลงไปได้มาก จุดเด่นของวีเนียร์หินอยู่ที่ความบาง น้ำหนักเบา สามารถใช้ปิดผิวผนังโค้ง หรือเสากลมได้ มีให้เลือกทั้งแบบโปร่งแสงและแบบทึบ มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับหินแท้ทุกประการ คือทนทาน ไม่ผุ ไม่บวม ไม่ขึ้นสนิม ไม่เป็นเชื้อรา
วิธีการติดตั้ง
- ช่างควรสวมถุงมือขณะทำงานเพื่อป้องกันคราบน้ำมันที่อาจเปื้อนมากับมือผู้ตัด
- ต้องมีการเคลือบเพื่อป้องกันคราบที่เกิดจากสัมผัสน้ำมันหรือสารเคมี และเพื่อป้องกันตะไคร่น้ำที่จะเกิดขึ้นภายหลัง โดยสามารถเลือกสารเคลือบได้ว่าต้องการใช้เป็นชนิดด้าน หรือชนิดเงา ใช้วิธีพ่นหรือทาก็ได้เช่นเดียวกันกับหินจริง
- ใช้อุปกรณ์ในการตัดได้หลายชนิด เช่น ใบเลื่อยใบทึบแบบ Diamond Blade กรรไกรตัดสังกะสี เลื่อยมือ หรือเลเซอร์ ตัดเป็นรูปทรงตามแบบที่ต้องการ
- ติดหินลงบนพื้นผิวที่ต้องการด้วยกาว
- สามารถติดตั้งโดยโชว์ขอบให้เห็นความหนาของวีเนียร์หิน หรือหากต้องการเข้ามุมแบบ 45 องศา ให้ใช้กระดาษทรายปั่นเจียรเป็น 45 องศาแล้วจึงนำวีเนียร์หินมาประกบกัน
- ใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดลูบเพื่อแต่งขนาดได้
Decorative Finish Corten Effect (สีสนิม) เป็นวัสดุที่ค่อนข้างต้องพึ่งพาฝีมือช่างเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการผสมผสานระว่างตัวเนื้อที่เป็นเท็กซ์เจอร์และตัวสีที่เป็นสีสัน สีที่ใช้จะมี 3 เฉดสี คือสีน้ำตาล สีน้ำตาลแดง และสีเขียว
เอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้เป็นสนิมประเภทใดและมีอายุเท่าใด โดยธรรมชาติแล้วสนิมแดงเกิดกับเหล็กที่อยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนและน้ำสูง ส่วนสนิมที่เกิดกับทองแดงจะมีสีเขียวโดยเริ่มจากเขียวเป็นจุดๆ ก่อนเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ จะมีเขียวมากขึ้น
วิธีการติดตั้ง
- ลงสีที่เป็นชั้นรองพื้นด้วยเกรียงให้ทั่วก่อน ความหนาตามที่ผู้ผลิตกำหนด
- ลงสีชั้นที่เป็นเท็กซ์เจอร์อีกครั้งด้วยเกรียงให้มีพื้นผิวขรุขระเหมือนผิวสนิมที่ลอกล่อน
- ลงสีสนิมด้วยฟองน้ำโดยการกดสีน้ำตาลให้ทั่วก่อน จากนั้นให้กดสีสนิมสีอื่นๆ ย้ำลงไปในแต่ละจุด ขั้นตอนเหล่านี้ต้องอาศัยฝีมือช่างพอสมควรเพื่อให้สีสนิมที่ติดตั้งนั้นตรงตามประเภทของสนิมและอายุเวลาที่ต้องการ
Decorative Paint (สีเท็กซ์เจอร์) มีหลายรุ่นซึ่งแต่ละรุ่นจะให้เอฟเฟกต์ที่แตกต่างกันไป เช่น Glitter Effect, Velvet Effect และอื่นๆ มีทั้งสีเท็กซ์เจอร์สำหรับทาภายใน และภายนอก สามารถสั่งผลิตสีได้ตาม Pantone แต่เนื่องจากผิวของวัสดุมีเท็กซ์เจอร์ เฉดสีที่ได้อาจดูแตกต่างไปจากตัวอย่างเล็กน้อย เพื่อให้สีแสดงประสิทธิภาพความงามได้สูงสุดควรใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้ง ข้อควรระวังคือหากมีช่างติดตั้งหลายคนควรมีแบ่งพื้นที่เป็นระนาบๆ แยกกัน เนื่องจากเอฟเฟกต์ของสีนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการทางของช่างด้วยหากช่างหลายคนติดตั้งสีชนิดเดียวกันในบริเวณเดียวกันสีเท็กซ์เจอร์อาจดูไม่สม่ำเสมอได้
วิธีการติดตั้ง
- เตรียมผนังให้เรียบและแห้งสะอาดเหมือนกับผนังก่อนการทาสีทั่วไป
- สีเท็กซ์เจอร์รุ่นที่เป็นเม็ดทราย(Glitter Effect)ให้ใช้แปรงทาสีทั่วไปทาสีได้เลย เอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเส้นริ้วตามรอยแปรง สามารถทาแบบทางเดียวหรือสลับไปมาได้ หรือจะใช้เกรียงเพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวงานก็ได้ เนื้อสีสามารถใช้ได้เลยไม่ต้องผสมน้ำหรือสารละลายอื่นๆ เพิ่มเติม กระป๋องสีเมื่อเปิดใช้งานแล้วควรปิดให้สนิท
- สีเท็กซ์เจอร์รุ่นที่ผิวกำมะหยี่(Velvet Effect)ให้ใช้เกรียงปาดไปมาให้เกิดเงาที่สลับไปมากำหนดความละเอียด หรือรูปแบบของการปาดเกรียงให้มีความสม่ำเสมอ
- การซ่อมแซมหากเป็นพื้นที่เล็กใช้การแต้มสีซ่อมได้ แต่หากเป็นพื้นที่ใหญ่ควรใช้ช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการ สีเท็กซ์เจอร์ที่ซ่อมภายหลังอาจมีความแตกต่างกับสีเท็กซ์เจอร์ที่ทาไว้ก่อนแล้ว
Chalk Board & Magnetic Laminate (แผ่นลามิเนตชอล์คบอร์ด และกระดานแม่เหล็ก) มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับแผ่นลามิเนตทั่วไป เพียงแต่ผิวด้านหน้านั้นสามารถเขียนด้วยชอล์คได้เหมือนกระดานดำ และยังมีคุณสมบัติเป็นการะดานแม่เหล็ก สามารถใช้ติดแม่เหล็กเพื่อแปะกระดาษโน๊ตได้ แผ่นลามิเนตชอล์คบอร์ด และกระดานแม่เหล็กมีความหนาประมาณ 2-10 มม. ขึ้นอยู่กับวัสดุรองด้านหลัง (Backing) นิยมใช้กับร้านอาหารหรือร้านกาแฟ และสำนักงาน และใช้ปิดผิวผนังและปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ได้
วิธีการติดตั้ง
- เตรียมผิวที่ต้องการปิดวัสดุลามิเนตให้เรียบ สะอาด หากระยะไม่ลงตัวกับขนาดแผ่นให้เฉลี่ยเศษ 2 ข้างเท่าๆ กัน
- ทากาวยางที่ผิวผนังและแผ่นลามิเนต จากนั้นจึงติดแผ่นลามิเนตลงบนพื้นผิวที่ต้องการ ตะไบขอบให้เรียบร้อย
- แผ่นลามิเนตชอล์คบอร์ด และกระดานแม่เหล็ก สามารถเจาะ ดัด ตัด ได้เหมือนแผ่นลามิเนตทั่วไป
Patchwork Laminate (แผ่นลามิเนตตัดต่อลาย) ควรกำหนดลายและขนาดของแผ่นให้แน่นอนก่อนสั่งผลิต สามารถตัดแต่งแก้ไขภายหลังได้แต่จะสิ้นเปลือง แผ่นลามิเนตตัดต่อลายคือการนำวัสดุปิดผิวลามิเนตมาทำการตัดต่อให้เกิดเป็นลวดลายโดยใช้เครื่องจักรคุณภาพสูงในการตัดแผ่นลามิเนตแล้วนำมาต่อกันบนแผ่นไม้ MDF ดังนั้นความหนารวมของแผ่นลามิเนตตัดต่อลายจะมากกว่าแผ่นไฮเพรสเชอร์ลามิเนตทั่วไป
วิธีการติดตั้ง
- ควรมีการวัดพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงค่อยสั่งทำลวดลาย ไม่แนะนำให้ตัดแต่งแผ่นลามิเนตตัดต่อลายภายหลัง เนื่องจากจะเสียเศษโดยไม่จำเป็น
- ติดตั้งเหมือนแผ่นลามิเนตทั่วไป
- เก็บขอบให้เรียบร้อยด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียด
Mirror Laminate (แผ่นลามิเนตกระจก) คุณสมบัติคล้ายกับวัสดุปิดผิวลามิเนตทั่วไป เพียงแต่ผิวหน้ามีลักษณะเหมือนกระจก สามารถตัดแต่งเป็นลวดลายต่างๆ ได้โดยใช้เครื่องจักรคุณภาพสูง เหมาะกับการใช้ปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หรือปิดผิวผนัง แผ่นลามิเนตกระจกมีสีสันมีให้เลือกหลากหลาย เช่น กระจกสีทอง กระจกสี Light Pink
ข้อดีของแผ่นลามิเนตกระจกคือเบากว่ากระจกทั่วไปมาก วัสดุผลิตจากอะคริลิคชนิดพิเศษจึงปลอดภัยและใช้งานได้หลากหลายพื้นที่กว่ากระจกโดยเฉพาะบริเวณที่อาจเกิดการกระแทกไก้ง่าย เช่น โต๊ะเคาน์เตอร์ ฝ้าเพดาน ความหนารวมประมาณ 4-6 มม. ซึ่งจะมากกว่าแผ่นลามิเนตทั่วไปที่หนาประมาณ 0.8 มม. เนื่องจากต้องมีการเสริมวัสดุรองด้านหลัง (Backing) เพื่อป้องกันการขูดขีดจากด้านหลัง
วิธีการติดตั้ง
- ติดตั้งเหมือนแผ่นลามิเนตทั่วไป
- แผ่นลามิเนตกระจกสามารถตัดแต่งภายหลังได้เหมือนแผ่นลามิเนตทั่วไป หรือสั่งตัดเป็นรูปทรงต่างๆ จากโรงงานก็ได้
Crystal Board (แผ่นคริสตัลบอร์ด) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ตกแต่งแทนกระจกพ่นสี (Glass Coat) ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการหลุดล่อนของสีเนื่องจากผลิตโดยการพ่นสีลงบนกระจก แผ่นคริสตัลบอร์ดทนทานกว่าเนื่องจากตัววัสดุมีอะคลิลิค 2 ชั้นแบ่งเป็นชั้นของอะคลิลิคที่เป็นชั้นเนื้อสี และอะคลิลิคที่เป็นผิวหน้ามันวาวสำหรับป้องกันรอยขูดขีด
น้ำหนักของแผ่นคริสตัลบอร์ดเบากว่ากระจกทั่วไปประมาณครึ่งหนึ่ง สามารถทนอุณภูมิได้ตั้งแต่ 77 - 95 องศาเซลเซียส ใช้ตกแต่งเคาน์เตอร์ครัว หน้าบานตู้บิ้วท์อิน (Built-in) ผนังบริเวณเตากระทะ ผนังห้องทั่วไป รวมถึงผนังห้องน้ำก้สามารถใช้ได้
วิธีการติดตั้ง
- ติดตั้งเหมือนแผ่นลามิเนตทั่วไป แต่ควรใช้กาวกาวซิลิโคน แบบไม่มีกรด
- สามารถ ตัด เจาะ แผ่นคริสตัลบอร์ดได้
Cork Finishing (แผ่นไม้คอร์ก) นับเป็นวัสดุรักษ์โลกอย่างแท้จริง เนื่องจากการผลิตนั้นจะใช้วิธีการลอกเปลือกของต้นไม้ชั้นนอกออกมาผลิตเป็นแผ่นไม้คอร์กสำเร็จรูป ต้นไม้ที่ถูกลอกเปลือกนั้นจะไม่ตายและมีการเจริญเติบโตต่อไป เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 20 ปี ก็สามารถลอกเปลือกออกมาใช้งานได้อีก
คุณสมบัติที่โดดเด่นของแผ่นไม้คอร์กคือ เป็นวัสดุดูดซับเสียงสามารถใช้กรุผนังห้องซ้อมดนตรี หรือห้องนอนได้ ผิวสัมผัสสวยงาม มีกลิ่นอายสไตล์ลอฟท์
วิธีการติดตั้ง
- วัดขนาดพื้นที่เรียบร้อยแล้วจึงปิดผิวผนังไม้คอร์กลงบนผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์
- แผ่นไม้คอร์กไม่เหมาะในการใช้งานกับพื้นที่ที่มีการขีดข่วนมากนัก
3D Wall (แผ่นตกแต่งผนัง 3 มิติ หรือวอลเปเปอร์ 3 มิติ) วัสดุผลิตจากโฟม กระดาษ หรือพลาสติกซึ่งผิวสัมผัสจะค่อนข้างเรียบ หากผลิตจากเส้นใยไม้ (Wood Wool) หรือเซลโลกรีต ผิวสัมผัสจะเห็นเป็นเส้นใยที่ชัดเจน และมีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงมากกว่าแบบแรก
โดยปกติจะมีสีขาวหรือสีของเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งสามารถสั่งทำสีอื่นๆ ได้หรือทาสีทับได้ ลักษณะนูนต่ำของผิววัสดุช่วยในเรื่องมิติของการสะท้อนแสงให้มีลูกเล่นที่น่าสนใจได้ หากใช้ร่วมกับสีพิเศษ เช่น สีที่มีเทกซ์เจอร์ หรือมีลักษณะมันวาวก็จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น ตัวแผ่นมีขนาด 30x30 ซม. ถึง 60x60 ซม.
วิธีการติดตั้ง
- ให้วัดระยะพื้นที่หน้างานหากบริเวณที่ต้องการติดตั้งนั้นขนาดไม่ลงตัวกับชิ้นงาน สามารถตัดแต่งแผ่นตกแต่งผนัง 3 มิติมาเสริมบริเวณขอบได้แนะนำให้เสริมซ้ายขวาเท่าๆ กันเพื่อความสวยงาม
- หากต้องการเจาะช่องแผ่นตกแต่งผนัง 3 มิติ เช่น บริเวณปลั๊ก ให้วัดระยะ ทำการตัดแต่ง และเก็บขอบด้านในที่ถูกเจาะด้วยกระดาษทรายให้เรียบร้อย
- หากต้องการพ่นสีแผ่นตกแต่งผนัง 3 มิติ ให้ทำการป้องกันขอบโดยรอบ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อป้องกันการเลอะเทอะ
- ทากาวที่ผนังเป็นตารางขนาดเท่ากับแผ่นวัสดุ จากนั้นจึงทากาวที่วัสดุเน้นเฉพาะส่วนที่นูนขึ้นมาด้านหลัง (ชนิดของกาวขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่นำมาผลิตแผ่นตกแต่งผนัง 3 มิติ)
- ติดแผ่นตกแต่งผนัง 3 มิติเข้ากับผนังโดยเว้นระยะ ระหว่างแผ่น 1-2 มม. เผื่อการยืดหดตัวของวัสดุ แล้วใช้ลูกกลิ้งสะอาดรีดตัวแผ่นให้แนบติดกับผนัง
- พ่นสีรองพื้น รอให้แห้ง แล้วขัดด้วยกระดาษทรายเบาๆ
- ยาแนวร่องด้วยอะคริลิคเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย
- พ่นสีทับหน้ารอบที่ 1 รอให้แห้งประมาณ 20 นาที แล้วจึงพ่นสีทับหน้าครั้งที่ 2
Vertical Garden (สวนแนวตั้งสำเร็จรูป) สวนแนวตั้งสำเร็จรูปนี้ไม่นับว่าเป็นวัสดุปิดผิวซะทีเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นวัสดุตกแต่งที่ช่วยให้ผิวผนังเรียบๆ โดดเด่นและน่าสนใจขึ้นมาได้ ตัวกระถางผลิตจากวัสดุพลาสติก เกรด Out door ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร แต่ละชิ้นจะแยกจากกันเป็น mudule ขนาดประมาณ 15x30 ซม. สามารถเลือกติดได้บางส่วนโดยเน้นการจัดวางที่สวยงามไม่จำเป็นต้องติดทั้งผนังซึ่งทำให้ลดต้นทุนลงไปได้มาก
สามารถเลือกใช้ต้นไม้เทียมในการตกแต่งหรือใช้ต้นไม้จริงโดยใช้ตัวแผ่นพลาสติกพับขึ้นรูปเป็นกระถางได้เลย แนะนำให้ปลูกไม้ประดับขนาดเล็ก เช่น สับปะรดสี เฟิร์น พลูด่าง เหมาะสำหรับใช้สร้างบรรยากาศในบริเวณที่ต้องการให้มีความเป็นธรรมชาติ สวนแนวตั้งสำเร็จรูปสวยงามและสะอาดเรียบร้อยและดูแลได้ง่ายกว่ากว่าสวนแนวตั้งแบบเปียกมาก ข้อควรระวังคือพื้นที่นั้นควรมีปริมาณแสงแดดที่พอเหมาะตามชนิดของต้นไม้ที่ได้กำหนดไว้
วิธีการติดตั้ง
- เริ่มต้นด้วยดีไซน์การจัดวางของสวนแนวตั้งสำเร็จรูปว่าต้องการให้มีเส้นสาย หรือองค์ประกอบอย่างไร ในขั้นตอนนี้ควรคำนึงถึงรูปฟอร์มและสีสันของต้นไม้ที่จะนำมาใส่ในแต่ละจุดด้วยนอกเหนือจากการวางแนวติดตั้งของแผ่นพลาสติก
- พับแผ่นพลาสติกเป็นรูปทรงตามรอยที่กำหนดไว้ เจาะรูช่องระบายน้ำ แล้วทำการติดตั้งแผ่นพลาสติกแต่ละชิ้นเข้ากับผนังด้วยสกรู
- ใส่ดินและต้นไม้ลงไปในแต่ละกระถางตามที่กำหนด
- เตรียมเรื่องการระบายน้ำไว้ที่พื้นให้เรียบร้อย
จะเห็นว่าวัสดุปิดผิวนั้นมีมากมายหลายประเภท การเลือกใช้งานนั้นควรคำนึงถึงความเหมาะสม หากต้องการเลือกใช้วัสดุที่น่าสนใจใหม่ๆ ควรศึกษาถึงรายละเอียดที่สำคัญ เช่น วิธีการใช้งาน หรือการติดตั้งที่ถูกต้องจากผู้ผลิต เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ชำนาญในการใช้งานตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ ของช่างทั่วไป
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม