เปรียบเทียบคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ระแนงไม้เทียม ไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์ และไม้พลาสติกคอมโพสิต (WPC)

เปรียบเทียบคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ระแนงไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์ และระแนงไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

ก่อนที่เราจะไปดูข้อดี-ข้อเสียของระแนงไม้เทียมนั้น เราทำทำความรู้จักกับบทบาทหน้าที่ของระแนงกันเสียก่อนครับว่ามันมีความสำคัญ และส่งผลอย่างไรบ้างต่องานสถาปัตยกรรม ระแนง คือ องค์ประกอบส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม และการตกแต่ง จะมีลักษณะเป็นแผงไม้หน้าตัดสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ สี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่จัดเรียงด้วยช่องไฟที่เท่าๆกันทั้งแบบแนวตั้ง และแนวนอน ซึ่งเกิดจากการนำไม้ท่อนยาว มาตีทับบนโครงคร่าว ,จันทัน หรือ ตามรูปแบบโครงสร้างในแต่ละพื้นที่การใช้งาน เรามักพบเห็นระแนงตามอาคารหลายๆแห่ง เช่น ระแนงหลังคา ,ระแนงกันแดด หรือ รั้วระแนง นอกจากนี้ระแนงยังทำหน้าที่ส่งเสริมด้านสุนทรียศาสตร์ความสวยงามให้กับตัวอาคารอีกด้วย

รูปแบบประเภทการใช้งานของระแนง ที่นิยมใช้ในงานสถาปัตยกรรม

- รั้วระแนง 

การทำรั้วระแนง ทั้งในระนาบแนวตั้ง และแนวนอน ส่วนใหญ่มักจะเป็นการต่อเติมระแนงบนโครงสร้างกำแพง หรือการติดตั้งระแนงบนโครงสร้างต่างๆ เช่น โครงเหล็ก หรือ โครงไม้ การเลือกใช้ระแนงไม้มาติดตั้งมีข้อดีคือสามารถติดตั้งได้ง่าย และรวดเร็ว 

- ระแนงบังแดด 

ระแนงบังแดด หรือ ระแนงกันแดด ถูกนำไปติดตั้งอย่างแพร่หลายกับบ้านพักอาศัย หรืออาคารทั่วไป ทั้งในระนาบแนวตั้งและแนวนอน เพื่อช่วยลดความร้อนจากแสงแดด ซึ่งระแนงที่จะนำมาติดตั้งควรมีขนาดหน้าตัด 1-4 นิ้ว ตามความเหมาะสม การติดตั้งจะนิยมติดตั้งในทิศตะวันตกของตัวอาคารเพื่อช่วยลดความร้อน และความสว่างจ้าจากแสงแดดในช่วงเวลาบ่ายของวัน

- ฉากระแนง หรือ ระแนงบังสายตา

การใช้ระแนงมาตกแต่งเป็นฉากระแนง หรือระแนงบังตา ใช้เพื่อปิดบังพื้นที่บางส่วน หรือใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม หรือ บางครั้งก็จะติดตั้งเพื่อใช้ในการจัดสวนแนวตั้ง

- ระแนงหลังคา

ส่วนใหญ่การใช้ระแนงมาตกแต่งพื้นที่ส่วนหลังคานั้นจะทำเพื่อความสวยงาม และเน้นให้พื้นที่ส่วนนั้นมีความสว่างปลอดโปร่ง และต้องการให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อใช้สำหรับการพักผ่อน ในบางกรณีถ้าหากไม่อยากให้พื้นที่ส่วนนั้นโดนฝน ระแนงจะถูกออกแบบให้มีหลังคากระจก หรือ แผ่นโพลีคาร์บอเนตใส มาปิดทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งวัสดุที่กล่าวมาล้วนมีคุณสมบัติที่ใสโปร่งแสง และสามารถป้องกันฝนได้ 

- ระแนงพื้น

พื้นระแนงส่วนใหญ่มักนิยมใช้ภายนอกอาคารเช่น เฉลียง ระเบียง หรือ ใช้เป็นพื้นทางเดินในการจัดภูมิทัศน์

ในปัจจุบันระแนงไม้เทียมที่นิยมนำไปใช้งานส่วนใหญ่มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

- ระแนงไม้เทียม ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Wood Fiber Cement)

- ระแนงไม้เทียม พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite) 

เรามาดูกันครับว่า การเปรียบเทียบคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ระแนงไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ และระแนงไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต จะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ระแนงไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber Cement Wood Lath​)​ คืออะไร

ระแนงไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์  คือ วัสดุทดแทนไม้จริง ที่มีส่วนผสมของ ปูน,ทราย,ผงไม้ และนำมาผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน เช่น ไม้ฝา ,ไม้พื้น,ไม้ระแนง และไม้เอนกประสงค์ เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

ไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่นิยมนำมาใช้ทำระแนงนั้น เป็นไม้เทียมที่มีส่วนผสมของ ปูน,ทราย,เกล็ดไม้,ชิ้นไม้ขนาดเล็ก,ผงไม้,เส้นใยไม้ แล้วนำมาผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปในรูปแบบต่างๆตามประเภทการใช้งาน โดยวัสดุผสมข้างต้นที่ได้กล่าวไปจะเรียกว่า “วัสดุประกอบ” (Composite Materials) ซึ่งใช้ผลิตเป็นไม้สังเคราะห์ประเภทต่างๆตามชนิดของ Raw Material ได้ดังนี้

- เส้นใยเซลลูโลสผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เรียกว่า ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fibercement)

- ผงไม้ผสมกับพลาสติก เรียกว่า WPC หรือ Wood Plastic Composite

- ชิ้นไม้ขนาดเล็กผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เรียกว่า ไม้อัดซีเมนต์ หรือ แผ่นชิ้นไม้อัดซีเมนต์ความหนาแน่นสูง (Wood Cement Board หรือ Cement Bonded Particle Board)

- ผงไม้และเส้นใยผสมกับกาวสังเคราะห์ เรียกว่า แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (MDF หรือ Medium Density Fiber Board)

Benefit : ข้อดี

- เป็นวัสดุที่หาซื้อง่าย ราคาถูกพบได้ตามร้านค้าวัสดุที่มีตามท้องตลาด

- ทนทานต่อแดด และฝน มีความเหนียว และทนต่อแรงกระแทกได้ดีในระดับหนึ่ง

- สามารถทำสี และเลือกสีให้เหมือนไม้จริงได้ บางทีมองไกลๆจนแยกไม่ออกว่าเป็นพื้นไม้เทียม

- สามารถตัดแต่ง เจาะสกรูได้เหมือนไม้จริง

- ปลวก และแมลงไม่กิน

- ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ไม่หด บิด งอ และไม่ผุเหมือนไม้จริง

Disadvantage : ข้อเสีย

- ความแข็งแรงของไม้ระแนงไฟเบอร์ซีเมนต์ขึ้นอยู่กับระยะโครงคร่าวและความหนาของหน้าตัดไม้ระแนง ถ้าคำนวนไม่ดีอาจทำให้เสี่ยงเกิดความเสียหายจากการใช้งาน เนื่องจากมีความแข็งแรงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

- มีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก เพราะมีส่วนผสมของปูน และทราย(ซิลิก้า)

- ถึงแม้ระแนงไม้เทียมสังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์จะทำสีเลียนแบบได้เหมือนไม้จริง แต่ต้องอาศัยฝีมือของช่างในการทาสีให้เหมือน ไม่อย่างงั้นงานจะออกมาเละเทะ

- เวลาสัมผัสพื้นผิวจะรู้สึกร้อน เนื่องจากตัววัสดุมีคุณสมบัติสะสมความร้อน เพราะมีส่วนผสมของซีเมนต์

- ในการทำสีจะมีโอกาสลอกได้ง่าย  ถ้าหากโดนขูดขีดก็จะเป็นรอยที่เห็นเป็นเนื้อปูนสีขาว  และไม่สามารถขัดผิวแก้ไขได้เหมือนไม้จริง   

ระแนงไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต (Plastic Composite Wood Lath) คืออะไร

ระแนงไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต หรือ WPC คือ วัสดุที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกันนั่นเอง โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 10 ปี 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนการผลิตไม้พลาสติกคอมโพสิต จะมี 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ

- การนำไม้ และเม็ด พลาสติกมาผสมกัน

- การขึ้นรูปพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต โดยใช้วิธีต่างๆกัน เช่น การอัด รีดขึ้นรูป (Extrusion) ,การฉีดขึ้นรูป (Injection) และการใช้เครื่องนาบหรือเครื่องกดความร้อนขึ้นรูป (Hot Press)

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังสามารถแบ่งประเภทของส่วนผสมต่างๆ ได้ดังนี้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polyethylene (PE based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polypropylene (PP based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Poly vinyl chrolide (PVC based ) ผสมกับผงไม้

Benefit : ข้อดี

- ไม่มีมอด และแมลงรบกวน

- มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักที่เบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน

- ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน)

- มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี

- ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง

- สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

- ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ

- มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้

Disadvantage : ข้อเสีย

-  เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว

- ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส

- ไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก

ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้ระแนงไม้เทียมประเภทใดๆนั้น เราควรพิจารณาดูว่าคุณสมบัติของตัววัสดุนั้นๆ มีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะนำไปตกแต่งมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นด้าน ราคา ,ความสวยงาม ,การดูแลรักษา ,ความคงทน และอายุการใช้งาน เป็นต้น 

ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ wazzadu.com ด้วยนะครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ