หินอ่อน (Marble) กับคุณสมบัติที่ควรรู้ และการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ก่อนนำไปใช้ในการตกแต่ง

หินอ่อน (Marble) คืออะไร...?

หินอ่อน คือหินเนื้อละเอียดที่เกิดจากการตกผลึกตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการทับถมของชั้นแคลเซียมคาร์บอเนต(หินปูน) ที่ตกตะกอนสะสมอยู่ในท้องทะเล หรือมหาสมุทร กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หรือ ทางธรณีวิทยา โดยมีการเคลื่อนไหวของพื้นดินใต้ท้องทะเลเกิดการยุบตัว สลับกับการดันตัวขึ้นในบริเวณนั้น 

จึงทำให้บริเวณท้องทะเลดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ ที่โผล่พ้นน้ำ บางจุดมีลักษณะเป็นภูเขา หรือ ผาหินขนาดใหญ่จนกลายเป็นแหล่งหินอ่อน (หรือกล่าวอย่างง่ายๆก็คือ พื้นที่ ที่เคยอยู่ในน้ำทะเลจะดันตัวขึ้นมาจนโผล่พ้นน้ำอยู่บนบก พื้นที่ ที่เคยอยู่บนบก จะยุบตัวลงกลายเป็นท้องทะเล) ซึ่งหินอ่อนที่เกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตเพียงอย่างเดียวจะมีลวดลายสีขาว เทา น้ำตาล ชมพู เขียวผสมขาว ฯลฯ โดยอาจมีก้อนสี หรือ เส้นสีที่เกิดจากสายแร่ หรือคาร์บอนเจือปน จึงทำให้หินอ่อนในประเทศสวยสู้หินอ่อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งหินอ่อนที่เกิดจากลักษณะเช่นนี้จะพบมากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางจังหวัดของภาคใต้ ในประเทศไทย

แต่การที่จะทำให้เกิดหินอ่อนธรรมชาติที่มีลวดลายสวยงาม เนื้อหินมีความละเอียด หรือ มีผลึก รวมถึงสีขาวขุ่นที่พิเศษแตกต่างจากหินอ่อนที่เกิดจากการตกตะก่อนเพียงอย่างเดียว จะต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย เช่น ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยาโดยถูกแมกมาจากภูเขาไฟใต้ทะเลไหลออกมาทับชั้นตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตที่ตกตะกอนสะสมอยู่ในท้องทะเล ซึ่งแมกมาที่ไหลออกมานั้นเต็มไปด้วยความร้อน ความดัน และก๊าซต่างๆ เมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนตจึงทำให้เกิดการละลายตกผลึกเป็นหินอ่อนที่มีลักษณะเฉพาะตัวขึ้นมาได้ในที่สุด

ดังนั้นเราจึงมักจะพบว่ามีการสั่งหินอ่อนเข้ามาจากประเทศอิตาลี เนื่องจากสีของหินอ่อนที่มาจากอิตาลีเกิดจากปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยาที่มีความหลากหลายผสมผสานกัน จึงทำให้มีผลึก และลวดลายที่งดงามต่างจากหินอ่อนในประเทศไทย หรือหินอ่อนที่มาจากแหล่งอื่นๆที่มักจะเกิดจากการตกตะกอนแบบธรรมดาเพียงอย่างเดียว ประกอบกับหินอ่อนในประเทศไทยมีลวดลายไม่ชัดเจน มักมีหินอื่นเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก สีของลายจึงไม่สม่ำเสมอ เมื่อนำมาปูพื้นเป็นพื้นที่สเกลใหญ่ๆ มักเกิดการเพี้ยนของสี แม้จะเป็นหินอ่อนที่มาจากแหล่งเดียวกัน ดังนั้นเวลาใช้หินอ่อนปูพื้น ในขนาดสเกลใหญ่ๆจึงมีผู้นิยมใช้หินอ่อนที่สั่งจากต่างประเทศมากกว่าในไทย

ส่วนประกอบของหินอ่อน (Marble Raw Material​) 

เนื้อหินอ่อนมีแคลเซียมคาร์บอเนต(หินปูน) เป็นส่วนประกอบหลัก โดยอาจมีเศษหิน ,เส้นคาร์บอน และสายแร่อื่นๆเจือปนรวมอยู่ด้วยในอัตราส่วนเล็กน้อย ซึ่งแหล่งหินอ่อนบางแห่งของโลกอาจมีแมกมาที่เย็นแล้วผสมอยู่ในเนื้อหินอ่อนด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้รัศมีภูเขาไฟที่กำลังปะทุตามกระบวนการทางธรณีวิทยา 

ลักษณะของหินอ่อน 

โทนสี หินอ่อนโดยทั่วไปมีหลายสี เช่น สีขาว ,เทา ,น้ำตาล ,ชมพู ,เขียวผสมขาว ,สีชมพูเจือขาว ,สีขาวขุ่นมีเส้นสีเทาเจือเล็กๆ ,สีเขียวเข้ม ฯลฯ 

ลวดลาย ของลวดลายนั้น มีลักษณะเป็นลายเส้น หรือ มีผลึกผสม ในอัตราส่วนมากน้อยไม่เท่ากัน  ซึ่งหินอ่อนบางแผ่นอาจมีแค่โทนสีอย่างเดียวโดยไม่มีลวดลายเลยก็ได้

เนื้อหิน ความหนาแน่นของเนื้อหินอ่อนมีค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีรูพรุนอยู่บ้างตามลักษณะทางธรรมชาติ มีคุณลักษณะที่ไม่ดูดซับน้ำ ไม่เก็บความร้อน แต่ชอบดูดซับความเย็น

ลวดลายหินอ่อนในประเทศไทยที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ดำไทย ,เขางอบ ,ชมพูพรานกระต่าย ,ทราเวอร์ทีน ,แดงปราจีน ,ตาหวาน ,ขาวสระบุรี ,ชมพูทับกวาง

ลวดลายหินอ่อนนำเข้าที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ขาวคาราร่า เขียวอิตาลี ครีมมาเฟิล โกลเด้นดราก้อน เอ็มเพอราโด้

คุณสมบัติเด่นของหินอ่อน

- เป็นวัสดุที่ให้ความเงางาม หรูหรา ด้วยลวดลายที่เป็นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

- มีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน (ไม่ผุ ไม่บวม ไม่กรอบ ไม่ขึ้นสนิม เหมือนวัสดุอื่นๆ ถ้าดูแลอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมหินอ่อนจะเป็นวัสดุที่สามารถมีอายุการใช้งานได้นับ 100 ปี ดังที่เรามักจะเห็นการนำหินอ่อนไปตกแต่งปราสาท หรือพราะราชวัง ถึงตัวอาคารจะมีอายุนับร้อยปี แต่วัสดุอย่างหินอ่อนก็ยังคงทนทานไม่บุบสลาย)

- ติดตั้ง และทำความสะอาดได้ง่าย

คุณสมบัติด้อยของหินอ่อน 

- ไม่ทนต่อกรด ถ้าโดนน้ำส้มสายชูก็จะเกิดรอยด่าง ถ้าเป็นหินอ่อนสีขาวจะด่างเป็นสีเหลือง 

- หินอ่อนบางชนิดไม่เหมาะสมกับการนำไปใช้ตกแต่งอาคารที่อยู่ชายทะเล เพราะไอเค็มของน้ำทะเลจะกัดกร่อนผิวหน้าของหินอ่อน (ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากๆกับหินอ่อนราคาถูก เพราะคุณภาพที่ถูกตามไปด้วย จึงไม่สามารถป้องกันไอเค็มทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

- ความร้อนของแสงแดดสามารถทำให้สีของหินอ่อนซีดจางได้ จึงไม่เหมาะที่จะนำไปตกแต่งในพื้นที่โดนแสงจัด (ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้หินอ่อนสีขาวเพราะถึงแม้สีจะซีดจางลงบ้างแต่ก็เห็นไม่ชัดเจนนัก)

- ไม่ค่อยทนต่อรอยขีดข่วน

วิธีการดูแลรักษาวัสดุประเภทหินอ่อน 

- การทำความสะอาดหินอ่อน สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดแล้วตามด้วยผ้าแห้ง เพราะผิวหน้าของหินอ่อนไม่ดูดซับน้ำ และความสกปรกมากนักเนื่องจากผิวหน้าที่มีความมัน

- ถ้าหากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการยืดอายุการใช้งานควรใช้น้ำมันก๊าดผสมกับขี้ผึ้ง ใส่น้ำเล็กหน่อยแล้วอุ่นให้ละลายเข้ากัน จึงนำมาเช็ดที่ผิวหินอ่อน แล้วใช้ผ้าแห้งสะอาดๆเช็ดอีกที วิธีนี้อาจอันตรายอยู่บ้างเพราะต้องอุ่นน้ำมันก๊าดบนเตา

- ถ้าเน้นความสะดวกสามารถซื้อน้ำยาขัดพื้นหินอ่อนมาใช้ ซึ่งราคาจะแพงขึ้นแต่ให้ความปลอดภัย

การนำหินอ่อน (Marble for Architectural) ไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม

- ใช้กรุผนัง หรือ ปูพื้นอาคาร (ไม่ค่อยนิยมใช้ปูพื้น)

- ใช้ทำ Top โต๊ะ

- ใช้ปูขั้นบันได

- ใช้ทำรูปสลักแบบต่างๆ

ขนาด และราคาเฉลี่ยของหินอ่อน (Marble)​ ในท้องตลาด

- ขนาดของหินอ่อนที่นิยมใช้กันมีตั้งแต่ 15×30 ซม. ,30×30 ซม. เรื่อยไปจนถึง 60×90 ซม. ความหนาเฉลี่ยประมาณ 2 ซม. สามารถตัดแต่งให้มีขนาดใหญ่กว่านี้ได้แต่จะยุ่งยากมากขึ้น เพราะเนื้อหินอ่อนมีความเปราะพอสมควร จึงไม่นิยมที่จะตัดเป็นชิ้นใหญ่ๆ

- ราคาหินอ่อนที่ขายในประเทศไทย เฉลี่ยตารางเมตรละ 2,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับโทนสี เพราะแต่ละโทนสีราคาก็จะไม่เท่ากัน ในส่วนหินอ่อนที่นำเข้าจากต่างประเทศจะแพงกว่าสองถึงสามเท่า ซึ่งมักจะเป็นโทนสี หรือ เป็นลวดลายที่หายาก และอาจไม่มีในประเทศไทย

 

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

-  Dictionary of Geology

- Marble Institute of America

- www.bestroomstyle.com

ไอเดียการนำ "หินอ่อน" ไปใช้ในงานตกแต่งภายใน

การดีไซน์คอนโดมิเนียมระดับ SUPER LUXURY ภายใต้แนวความคิด "ทรงคุณค่า เหนือกาลเวลา" กับการนำหินอ่อนมาใช้ตกแต่งภายในได้อย่างมีเสน่ห์

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ