หลักการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ กับ Detail สำคัญในการออกแบบ ที่ให้ความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน (Universal Design Bathroom for Disabled & Elderly)

ในปัจจุบันสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผู้พิการทุพพลภาพอยู่ไม่น้อย นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงว่าในอนาคตการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับความสะดวก ความปลอดภัย ที่มีความเหมาะสมกับวัย และลักษณะทางกายภาพได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

แน่นอนว่า Universal Design จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการได้ใช้งานอย่างปลอดภัย สะดวกสะบายไม่ต่างจากคนปกติ เช่น ลิฟต์คนพิการ ทางเดินเท้าที่ผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย หรือ แม้แต่ห้องน้ำก็ใส่ใจในรายละเอียดทุกจุด ซึ่งจะว่าไปแล้วห้องน้ำเป็นพื้นที่การใช้งานที่จะถูกใช้งานอยู่บ่อยๆ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ ถ้าหากไม่ได้รับการออกแบบให้มีความเหมาะสมกับผู้พิการ และผู้สูงอายุ

วันนี้เราจึงพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการมากขึ้น ว่าจะมีความสำคัญอย่างไร และจะมีรายละเอียดในการออกแบบในแต่ละจุดอย่างไรบ้าง ด้วย " หลักการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ (Universal Design for Bathroom Disabled & Elderly) กับ Detail สำคัญในการออกแบบ ที่ให้ความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน "

หลักการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้พิการ และผู้สูงอายุ (Universal Design for Bathroom) กับ Detail สำคัญในการออกแบบ ที่ให้ความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน สามารถแบ่งรายละเอียดการออกแบบตามพื้นที่การใช้งานจุดต่างๆได้ดังนี้

ขนาดพื้นที่ของห้องน้ำ และประเภทประตูที่เหมาะสม

- ห้องน้ำควรมีความกว้างอย่างน้อย 2.4 x 1.8 เมตร ซึ่งไม่ควรมีขนาดพื้นที่ใหญ่จนเกินไป เพราะหากผู้สูงอายุ หรือผู้พิการเกิดลื่นล้มในห้องน้ำ จะยังพอสามารถล้มไปพิงผนังได้ ซึ่งจะช่วยลดความอันตรายจากกรณีศีรษะฟาดพื้นได้

- ควรมีพื้นที่โล่งถายในห้องน้ำ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 1.50 ม. เพื่อให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่นั่งรถเข็นสามารถหมุนกลับรถได้อย่างสะดวก

- ประตูห้องน้ำ ควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร (เพื่อให้มีขนาดพอที่จะให้รถเข็นเข้าได้) และไม่ควรมีธรณีประตู หรือ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสูงไม่เกิน 2 เซนติเมตร และต้องลบเหลี่ยมคม

- ประตูควรเป็นลักษณะบานเลื่อนแบบรางแขวน โดยไม่ต้องมีรางบนพื้นเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม นอกจากนี้ประตูบานเลื่อนยังมีความเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ จะใช้ประตูบานเปิดออก ที่มีกลอนล็อคแบบขัด โดยใช้ก้านจับสำหรับล็อคที่สามารถโยกขึ้นลงได้ เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันยามเกิดเหตุฉุกเฉิน

- ลูกบิดประตูควรเป็นก้านโยก หรือ เขาควาย ที่ไม่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อของนิ้วมือ หรือแรงบิดมากนัก สำหรับผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

- ตู้สำหรับใช้เก็บสิ่งของเครื่องใช้ หรือ อุปกรณ์ภายในห้องน้ำ ควรจัดวางให้สูงจากพื้นระหว่าง 25 – 140 ซม. ซึ่งไม่ต้องก้ม หรือ เขย่งมากเกินไป

- อ่างล้างหน้าควรสูงจากพื้น 80 ซม. ใต้อ่างล้างหน้าควรเปิดโล่งเพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับเลื่อนรถเข็นสอดเข้าไปได้ และติดตั้งราวจับ 2 ข้างของอ่างล้างหน้าสำหรับเป็นตัวช่วยในการพยุงตัว

- กระจกเงาควรติดตั้งในระดับให้มองเห็นได้ทั้งนั่ง และยืน โดยเลือกใช้กระจกทรงสูงที่สามารถมองได้จากระยะไกล

- ควรติดตั้งราวจับในตำแหน่งที่ต้องออกแรงเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเหมาะสม เช่น ตำแหน่งข้างโถส้วม , อ่างล้างหน้า , ห้องอาบน้ำ

การเลือกใช้วัสดุภายในห้องน้ำ

- พื้นภายใน และภายนอก ควรมีระดับเดียวที่สม่ำเสมอ ไม่กระเดิด เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม

- ระดับพื้นต้องลาดเอียงต่อเนื่องไปยังท่อระบายน้ำ หรืออาจใช้รางระบายน้ำแบบยาววางตัวขนานไปกับแนวประตูเพื่อกันน้ำไหลย้อนออกมาด้านนอก

- วัสดุปูพื้นควรมีพื้นผิวที่มีความหยาบเพียงพอในการสัมผัส เพื่อป้องกันการลื่นหกล้ม การปูพื้นภายในห้องน้ำห้ามใช้วัสดุปูพื้นที่มีความมันวาวเด็ดขาดเพราะจะทำให้ลื่นได้ง่าย วัสดุปูพื้นที่เหมาะสมกับห้องน้ำจะต้องมีค่ากันความลื่นตั้งแต่ระดับ R9-R13 และยิ่งหากวัสดุปูพื้น และผนังมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น และช่วยดูดซับแรงกระแทกก็จะยิ่งมีความปลอดภัยมากขึ้นตามไปด้วย

*หมายเหตุ : ค่า R ได้มาจากการทดสอบ Ramp Test เพื่อหาค่าเฉลี่ยความหนืดของพื้นผิววัสดุ โดยนำวัสดุปูพื้น มาปูบนทางลาดในระดับองศาต่างๆแล้วทดสอบเพื่อหาค่า R

พื้นที่ส่วนเปียกสำหรับอาบน้ำ 

- ภายในพื้นที่อาบน้ำควรมีเก้าอี้ที่สามารถเคลื่อนย้าย หรือ พับเก็บได้ โดยมีความสูงจากพื้น 40 -45 ซม.  เพื่อใช้งานในกรณีที่ไม่สามารถยืนอาบน้ำได้ ซึ่งควรเป็นเก้าอี้แบบสี่ขาที่มีความแข็งแรงมั่นคง และต้องมียางกันลื่นติดที่ปลายขาเพื่อป้องกันอันตรายจากการลื่นไถล

- ฝักบัวควรเลือกใช้แบบมีแกนปรับระดับเลื่อนขึ้น-ลงได้ง่าย มีแรงดันต่ำ ก๊อกควรเป็นแบบก้านโยก โดยติดตั้งในบริเวณที่ไม่สูง หรือ ไกลเกินเอื้อมมือมากเกินไป   

- ควรใช้ม่านกั้นอาบน้ำจะให้ความปลอดภัยไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าหากเป็นฉากกั้นอาบน้ำกระจก ควรเป็นกระจกลามิเนต หรือ นิรภัยลามิเนตซึ่งให้ความคงทนปลอดภัยสูง เพราะเมื่อกระจกปริแตกจะไม่หลุดกระเด็นมาบาดตัวผู้ใช้งาน เพราะมีชั้นฟิล์มที่คอยยึดเกาะแผ่นกระจกเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นนั่นเอง และควรหลีกเลี่ยงการใช้อ่างอาบน้ำ เพราะไม่เหมาะกับลักษณะการใช้งานของผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

- ที่อาบน้ำควรมีราวจับแนวดิ่ง ที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 70 ซม. เพื่อใช้พยุงตัว หรือ เกาะยึดเวลาที่เสียการทรงตัว

การเลือกใช้อุปกรณ์ และสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำ

- ควรมีราวจับหรือราวทรงตัวในห้องน้ำที่เหมาะสม เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินได้โดยรอบ ควรติดตั้งอย่างแน่นหนามั่นคงแข็งแรงเพื่อให้ใช้งานได้อย่างมั่นใจ เนื่องจากต้องรับน้ำหนักในการพยุงตัวหรือเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่างๆ ราวจับมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเหมาะสม (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.5 ซม.) มีผิวเรียบไม่มีเหลี่ยมคม ทำจากวัสดุที่ปลอดภัย

- อ่างล้างหน้าควรติดตั้งให้สามารถรับน้ำหนัก จากการท้าวแขนสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้าได้

- โถสุขภัณฑ์ควรเป็นโถนั่งราบ ที่กดชำระแบบคันโยกที่ออกแบบมาให้รับสรีระ มีความสูงใกล้เคียงกับเก้าอี้นั่งหรือรถเข็น (สูงจากพื้นประมาณ 42.5-45 ซม.) เพื่อที่ว่าผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องย่อหรือเขย่ง สามารถลุกนั่งได้ง่ายเพราะผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องข้อเข่าไม่ค่อยดี

- ก๊อกน้ำ ควรเลือกใช้ก๊อกแบบก้านโยก แบบปัดไปด้านข้าง หรือแบบอัตโนมัติ จะได้ไม่ต้องออกแรงในการปิดเปิดมากนัก

- ที่ใส่สบู่เหลว ควรใช้แบบก้านโยก ก้านปัด หรือก้านกด เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน

อุปกรณ์แจ้งเตือนต่างๆภายในห้องน้ำที่จำเป็นต้องมี

-  ควรติดอักษรเบรลล์ไว้บริเวณประตูทางเข้า เพื่อให้ผู้พิการตาบอดได้ทราบว่าเป็นห้องน้ำหญิง หรือ ชาย รวมถึงตำแหน่งต่างๆของอุปกรณ์ภายในห้องน้ำ

- ควรติดตั้งไฟสำหรับเตือนภัย หรือไฟสัญญาณที่ใช้ในการสื่อความหมายต่างๆไว้ภายในห้องน้ำ สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน

- ควรติดตั้งสัญญาณสำหรับขอความช่วยเหลือ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

การเลือกใช้แสงสว่าง และการถ่ายเทอากาศภายในห้องน้ำ

- สีของวัสดุปูพื้น และผนัง ควรมีเฉดสีที่ต่างกับสีของชุดสุขภัณฑ์อย่างชัดเจน

- ทัศนวิสัยที่ชัดเจนในการมองเห็นคือสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ  การออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการควรมีช่องแสงธรรมชาติส่องสว่างอย่างเพียงพอ เพื่อบรรยากาศที่สว่างปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด นอกจากนี้การเลือกใช้หลอดไฟควรเลือกใช้แสงสีขาว ซึ่งจะได้มุมมองที่ชัดเจนกว่าโทนแสงสีอื่นๆ

- ควรออกแบบช่องระบายอากาศให้สามารถถ่ายเทอากาศได้อย่างเหมาะสม อย่างน้อย 1 จุด เพื่อเพิ่มอากาศดีไล่อากาศเสีย ซึ่งจะช่วยลดความอับชื้น และการสะสมของเชื้อโรคภายในห้องน้ำได้

แปล และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

- Architect Data

- www.thisoldhouse.com

 

หลักการออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม สำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ 

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ