ไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) คืออะไร มีกี่ประเภท และมีคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

ความเป็นมา และวิวัฒนาการของไม้วีเนียร์ (Wood Veneer)

ประวัติการใช้ไม้วีเนียร์ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกบนโลก ต้องย้อนเวลากลับไปไกลเกือบ 4,000 ปีเลยทีเดียว โดยถูกค้นพบครั้งแรกภายในสุสานของฟาโรห์ในอียิปต์ การผลิตแผ่นไม้วีเนียร์ด้วยวิธีการหั่นบางๆ จากท่อนซุง ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่คล้ายกับเลื่อย ซึ่งถือเป็นงานฝีมือชั้นยอดในยุคนั้น การผลิตไม้วีเนียร์ได้ถูกนำไปใช้ในการกรุพื้นผิวของอาคารบ้านเรือนชนชั้นสูง รวมถึงสุสานฟาโรห์อันเกรียงไกรของอาณาจักรอียิปต์โบราณ 

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 งานฝีมือในการผลิตแผ่นไม้วีเนียร์ ได้รับการขัดเกลาและการพัฒนาให้ดีขึ้น โดยนักออกแบบชาวอังกฤษ Thomas Chippendale ซึ่งเขาได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 จากการใช้แผ่นวีเนียร์ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ประณีตของเขา

ต่อมาอุตสาหกรรมเปียโนกลายเป็นอุตสาหกรรมแรกในทวีปอเมริกาเหนือที่ใช้ไม้วีเนียร์ในการผลิต และในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เครื่องบดอัดไม้วีเนียร์ได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งเป็นจุดกำเนิดสำหรับการพัฒนาต่อยอดเครื่องกลึงในปัจจุบัน 

เยื่อไม้แผ่นบางๆที่ใช้ในการผลิตแผ่นวีเนียร์ สำหรับนำไปใช้ตกแต่งจะได้รับการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันตามขนาดอัตราการเจริญเติบโต และลักษณะทางธรรมชาติ ซึ่งแผ่นไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่ถูกฝานเป็นชิ้นบางๆจากไม้เนื้อแข็ง ที่มีลักษณะเป็นไม้ผลัดใบ หรือ มีใบกว้าง ในปัจจุบันมีไม้เนื้อแข็งกว่า 90,000 ชนิดในโลก แต่มีเพียงประมาณ 100 ชนิดเท่านั้น ที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตไม้วีเนียร์

ไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) คืออะไร...?

วีเนียร์ คือ วัสดุปิดผิวที่ทำมาจากเยื่อไม้แผ่นบางๆที่ฝานมาจากท่อนซุง แล้วนำมาอบ และอัดต่อกันเป็นแผ่น ด้วยความหนาไม่เกิน 3 มม. โดยให้ผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติสวยงามไม่ต่างจากไม้จริง เหมาะสำหรับนำไปใช้ติดตั้งปิดผิวบนวัสดุจำพวกไม้อัด ,ปาร์ติเกิลบอร์ด ,แผ่นMDF ,HDF หรือ  Blockboard จนได้พื้นผิวตามขนาดของไม้นั้นๆ(ใช้กาวเป็นตัวยึดประสาน) แล้วเคลือบผิวด้วยแล็กเกอร์หรือยูรีเทนป้องกันการขีดข่วน เหมาะกับการปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน รวมถึงงานตกแต่งต่างๆภายในอาคาร 

ในปัจจุบันการผลิตไม้วีเนียร์มากกว่า 90% ผลิตมาจากแหล่งป่าปลูกที่มีการจัดการไม้อย่างยั่งยืนเป็นระบบ ไม้วีเนียร์จึงเป็นวัสดุปิดผิวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่แหล่งที่มาของป่าปลูกทดแทนจนถึงกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานน้อย

 

ส่วนประกอบของไม้วีเนียร์ (Wood Veneer Raw Material) 

ไม้วีเนียร์ ทำมาจากเยื่อไม้แผ่นบางๆซึ่งได้จากการกระบวนการผลิต โดยการนำไม้ซุงท่อนมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ด้วยความหนาตั้งแต่ 0.3 มม.ไปจนถึง 3 มม. ซึ่งวิธีการฝานไม้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะกลั่นกรองความสวยงามของลายไม้ให้ปรากฏออกมา ทั้งปัจจัยในด้านความสวยงาม เช่น สีสัน ลวดลาย หรือปัจจัยในด้านรอยตำหนิของไม้ธรรมชาติ เช่น

- เกรนไม้ (Grain) คือ ความหนาแน่นในโครงสร้างเซลล์เนื้อไม้ ซึ่งทิศทางของลายไม้ จะเป็นไปตามแกนของลำต้น ซึ่งต้นไม้ที่เจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ และมีลำต้นตรงจะให้ลายเกรนที่ตรง ส่วนลายเกรนที่เป็นคลื่นเกิดจากต้นไม้ที่มีโครงสร้างเซลล์ที่เป็นคลื่น

- ฟิคเกอร์ไม้ (Figure) คือ การรวมตัวกันของลักษณะเด่นตามธรรมชาติที่สะสมมาตลอดการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิด ฟิคเกอร์เกิดจากความแตกต่างระหว่างการเจริญเติบโตของไม้ ที่เกิดก่อนกับเกิดทีหลัง ความหนาแน่นของวงปี ที่เป็นวงซ้อนๆ กันอยู่หรือที่เป็นวงบิดเบี้ยว การกระจายตัวของผิวเนื้อไม้ ผลกระทบจากเชื้อโรค หรือการถูกทำลายทางกายภาพ ตลอดจนวิธีการแปรรูปไม้ท่อนไปเป็นแผ่นไม้

จากนั้นจึงนำเยื่อไม้แผ่นบางๆไปเข้าเครื่องอบเพื่อนำความชื้นออกจากไม้ แล้วจึงนำแผ่นวีเนียร์ที่มีขนาดหน้ากว้างที่ไม่มากนักมาต่อลวดลายเป็นแผ่นที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะวีเนียร์ออกได้หลายประเภท ดังนี้

ประเภทของไม้วีเนียร์ (Wood Veneer)

- Natural Colour 

เป็นไม้วีเนียร์โทนสีธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งโทนครีมอ่อนๆ โทนน้ำตาล และโทนที่เห็นลายไม้ชัดเจน เช่น Ash, Oak, Maple, Beech ,Walnut, Cheery, Mahogany หรือ  Zebrano เป็นต้น

- Recomposed Colour  

เป็นการนำไม้วีเนียร์มาจัดเรียงลวดลาย และสีของชั้นไม้ แล้วย้อมสีจัดเรียงใหม่โดยไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของสี และลวดลายไม้ได้ จากนั้นนำเข้ากระบวนการบีบอัดเพื่อนำมาตัดขวาง ซึ่งจะทำให้เกิดลวดลายใหม่ และมีสีสันที่แปลกตา 

- Fashion Colour  

เป็นการสร้างลวดลายให้ดูแปลกตา โดยการนำวีเนียร์ไปย้อมสีในโทนต่างๆ เช่น แดง, ชมพู, เขียว, ฟ้า, น้ำเงิน เป็นต้น

- Fancy Block Colour  

เป็นการนำวีเนียร์หลายชนิดมาผสมผสานกันให้เหมือนบล็อคไม้ที่เรียงต่อกันในโทนสีที่ตัดกันไปมา ซึ่งให้ความสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ 

- Woven Veneer 

เป็นการนำเอาไม้วีเนียร์มาเรียงสานกันแบบตารางหมากรุก เมื่อมองเผินๆจะมีลักษณะคล้ายลวดลายของเครื่องจักรสาน หรือ ที่เรียกว่าลายขัด โดยพื้นผิวจะนูนขึ้นมา จึงให้มิติการสัมผัสที่แตกต่างจากวีเนียร์แบบอื่นๆ

- Banding Inlay Veneer 

เป็นการนำเอาไม้วีเนียร์มาสร้างเป็นลวดลายสลับสีเป็นเส้นแถบยาวๆ เรียกว่าเส้นอินเลย์  โดยนำไปตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ด้วยการเจาะร่องชิ้นงาน และฝังเส้นอินเลย์ลงไป  มีขนาดหน้ากว้างตั้งแต่ 3 มม. ไปจนถึง 150 มม. และยาวเฉลี่ยเส้นละ1.20 เมตร

ผู้สนับสนุน

คุณสมบัติเด่นของไม้วีเนียร์ (Wood Veneer)

- ให้ผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติสวยงามไม่ต่างจากไม้จริง

- ให้ Feeling ในการสัมผัสที่ดี เหยียบแล้วไม่กรอบแกรบ

- มีลวดลายให้เลือกอย่างหลากหลาย เข้ากันได้กับงานออกแบบหลากสไตล์

- ทำความสะอาดได้ง่าย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

- สามารถซ่อมแซมแก้ไขพื้นผิวได้ง่าย และหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด

 

คุณสมบัติด้อยของไม้วีเนียร์ (Wood Veneer)

- ใช้งานได้เฉพาะในพื้นที่ร่ม หรือ ภายในอาคารเท่านั้น 

- ไม่ทนต่อรอยขูดขีด

- ถ้าหากโดนน้ำ หรือ ความชื้น จะทำให้แผ่นวีเนียร์ลอก และมีอายุการใช้งานที่ลดลงเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

 

การนำไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) ไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม

- ใช้ตกแต่งภายในอาคาร เช่น ปูพื้น หรือ ปิดผิวผนัง ฯลฯ
- ใช้ปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว และเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน 

ขนาด และราคาเฉลี่ยของแผ่นไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) ในท้องตลาด

ขนาดส่วนใหญ่ในท้องตลาด คือ 4×8 ฟุต หรือประมาณ 122×244ซม.

ราคา

- เกรดทั่วไป 500 - 1,500 บาท/แผ่น

- เกรดพิเศษ 3,000 บาทขึ้นไป/แผ่น

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

-  wood-veneer.com

-  www.gee-raff.com

ไอเดียการใช้วัสดุ "วีเนียร์" ในงานตกแต่งทางสถาปัตยกรรม

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ