วอลเปเปอร์ (Wallpaper) กับคุณสมบัติที่ควรรู้ก่อนจะนำไปใช้งาน

เทคนิคการผลิตวอลเปเปอร์กระดาษด้วยบล็อกมือแบบดั้งเดิม

ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1877

วอลเปเปอร์ (Wallpaper) คืออะไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร...?

ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 หรือช่วงเวลาตั้งแต่ยุคกลาง ในทวีปยุโรป บ้าน หรือปราสาทของเหล่าชนชั้นสูงมักจะนิยมตกแต่งภายในประดับประดาด้วยการขึงผ้าไว้ที่ผนังหิน เพื่อเพิ่มสีสัน และความสวยงามหรูหราให้แก่ห้อง แต่ผ้านั้นเป็นวัสดุที่มีราคาสูงมาก จึงทำให้มีกำลังซื้อเพียงแค่คนบางกลุ่มที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น แต่รสนิยมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น คนชนชั้นทั่วไปก็ต้องการความสวยงามแบบนี้เช่นกันแต่อยู่ในขอบเขตที่ราคาถูกลงตามความเหมาะสม จึงคิดวิธีที่จะนำกระดาษมาใช้ในการตกแต่งผนังแทน ซึ่งมีหลักฐานการนำกระดาษไปใช้ตกแต่งผนังตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยในช่วงแรกนั้น เป็นการพิมพ์ลวดลายบนกระดาษขนาดเล็ก ประมาณ 30×36 เซนติเมตร ซึ่งมักเป็นกระดาษที่เหลือใช้จากการพิมพ์วรรณกรรมที่ผิดพลาด โดยเป็นการพิมพ์แบบขาวดำ โดยใช้แม่แบบไม้กับหมึกคาร์บอน และ มีลวดลายที่นิยม เช่น ลายตาราง หรือโดมิโน โดยนิยมใช้ตกแต่ง หีบ ตู้ หรือกล่อง และเมื่อนำมาใช้กับผนังก็จะนำกระดาษดังกล่าวไปติดกับผ้าใบข้างหลัง แล้วตอกตะปูติดกับผนัง อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกันกับที่ใช้ติดตั้งผ้าประดับผนังตั้งแต่ในอดีต

งานฝีมือการวาดวอลล์เปเปอร์แบบจีน ที่ผลิตขึ้นสำหรับขายในตลาดยุโรป ปี 1780

ในศตวรรษที่ 17 ผู้คนนิยมใช้วอลเปเปอร์ที่พิมพ์ลงบนกระดาษแผ่นเล็ก โดยคาดไม่ถึงว่ามันจะทำให้ผนังสวยงามได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่การนำไปใช้งานนั้น ยังค่อนข้างลำบาก และให้ความทนทานน้อยมีอายุการใช้งานที่ไม่ยาวนัก ผู้คนจึงคิดค้นวิธีการผลิต และพัฒนาวอลเปเปอร์ให้ใช้งานได้ง่าย และทนทานมากขึ้นจนสามารถทำเป็นม้วนกระดาษขนาดยาวต่อเนื่องกันได้ 10.5 เมตร เป็นครั้งแรก (เป็นความยาวของขนาดม้วนมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน) จึงทำให้ วอลเปเปอร์กลายเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำมากขึ้นว่า เป็นวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ของผู้คน แทนการประดับตกแต่งผนังด้วยพื้นผ้าที่มีราคาสูงมาก โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ กลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นพ่อค้า ผู้ต้องการเสพสุนทรียะแบบชนชั้นสูงในราคาที่สามารถจ่ายได้

ภาพวอลเปเปอร์, C. F. A. Voysey, อังกฤษ, ปี 1899. Museum no. CIRC.263-1953,

© Victoria and Albert Museum, London

ในศตวรรษที่ 18 ได้เกิดจุดแปลงครั้งสำคัญขึ้น เมื่อเทคโนโลยีการผลิตทำให้เราสามารถพิมพ์ลวดลายที่มี ขนาดใหญ่ได้เกิน 30×36 เซนติเมตร จึงเกิดความยืดหยุ่นและความหลากหลายทางสุนทรียะเป็นอย่างมากและนั้นก็ทำให้ผู้คนหันกลับมาเลือกใช้วอลเปเปอร์ในฐานะที่มันเป็น “วอลเปเปอร์” ไม่ใช่วัสดุทำเลียนแบบลายผ้า?ลายไม้หรือลายหินอ่อนอีกต่อไป แล้วได้กลายเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูงเริ่มให้ความสนใจและต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ซึ่งแต่เดิมนั้นคนชั้นสูง มองว่าวอลเปเปอร์มีไว้สำหรับห้องคนรับใช้เท่านั้น โดยเฉพาะในเกาะอังกฤษที่เป็นผู้ครองตลาดหลักในช่วง ค.ศ.1770 สมเด็จพระราชินีแอนน์ (Queen Anne) ประกาศให้วอลเปเปอร์จัดเป็นผลิตภัณฑ์ ประเภทหรูหรา ฟุ่มเฟือยใน ค.ศ. 1772 และทำการจัดการเก็บภาษีกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาษีนำเข้า แต่มีการละเว้นภาษีในการส่งออก จึงไม่น่าแปลกใจที่วอลเปเปอร์ของชาวอังกฤษเป็นที่นิยมในระดับสากลได้อย่างรวดเร็ว หากแต่กระบวนการผลิตนั้นยังต้องการช่างฝีมือสูงในการทำซึ่งต้องใช้เวลาและความพิธีพิถันจากงานฝีมือสูง

ในปี ค.ศ.1839 ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไปอีกขั้น โดยมีการคิดค้นเครื่องพิมพ์ลายวอลเปเปอร์ขึ้นในประเทศอังกฤษ จึงทำให้สามารถ ผลิตวอลเปเปอร์ในปริมาณที่มากขึ้นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และทำให้วอลเปเปอร์กลายเป็นข้าวของที่ผู้คนทั่วไปสามารถครอบครองได้อย่างแท้จริง และได้รับความนิยมไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

ภาพวอลเปเปอร์ Sauvages de la Mer Pacifique 

พิมพ์ในอัตราส่วน 1-10 จาก woodblock สำหรับพิมพ์วอลล์เปเปอร์

ออกแบบโดย Jean-Gabriel Charvet และผลิตโดย Joseph Dufour

ภาพนี้มีอายุอยู่ในช่วงปี 1797 - 1830

วอลเปเปอร์ ทำมาจากอะไร...?

วอลเปเปอร์เป็นวัสดุที่มีส่วนผสมของกระดาษที่ผ่านกรรมวิธี และผสมผสานกับส่วนประกอบชนิดอื่นๆ เช่น ผ้า ยิปซั่ม โฟม กระดาษ ไวนิล พีวีซี จนไปถึงเส้นใยธรรมชาติ จนทำให้มีความเหนียวแน่น โดยมีการออกแบบสี หรือ ลวดลายใส่ลงบนแผ่นวอลเปเปอร์หลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์ วอลเปเปอร์จึงกลายเป็นกระดาษคุณภาพสูงชนิดพิเศษที่เหมาะกับการนำไปใช้ในการตกแต่งได้ 

ซึ่งจัดเป็นวัสดุตกแต่งปิดผิวผนัง ที่สามารถติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว เสร็จได้ภายในวันเดียว เมื่อเทียบกับการตกแต่งผนังแบบอื่นๆที่ต้องใช้เวลาหลายวันจึงจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังมีความเหนียวทนทาน ใช้งานได้นานหลายปี และมีราคาที่ไม่แพงมากนัก ด้วยรูปแบบของโทนสี และลวดลายที่มีอย่างมากมายในปัจจุบัน ก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความงดงาม และสร้างแรงบันดาลใจ จากการตกแต่งได้ในสไตล์ที่หลากหลายตามความต้องการอย่างไม่จำกัด 

วอลเปเปอร์ในศตวรรษที่ 19-20

Raw Material ส่วนประกอบของวัสดุที่ใช้ในการผลิตวอลเปเปอร์ (Wallpaper)​ ในปัจจุบันมีอยู่ 9 ประเภท และมีข้อดี - ข้อเสียของแต่ละประเภท ดังนี้

1. Duplex Wallpaper 

วอลเปเปอร์ชนิดกระดาษ เป็นวัสดุบุผนังที่ผลิตจากกระดาษพิมพ์ลายอย่างเดียว โดยไม่ได้เคลือบผิวหน้า หรือเพียงเคลือบมันบางๆ ที่ผิวหน้าเท่านั้น

ข้อดี - หาได้ง่าย ราคาไม่สูงมากนัก

ข้อเสีย - ลวดลายอาจจะดูไม่ค่อยมีมิติ ไม่เหมาะติดในห้องที่มีความชื้นหรือเปียก เพราะมีขีดจำกัดในด้านความทนทาน

2. Vinyl Wallpaper

วอลเปเปอร์ที่ใช้วัสดุบุผนังที่ผลิตจากกระดาษเคลือบผิวหน้า (Surface) ด้วยสารประเภทไวนิลพิมพ์สี และใช้การกดลาย (Emboss) เพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ในบางชนิดมีการทำรีจิสเตอร์ (Register) เพื่อเพิ่มมิติเส้นของลวดลายต่างๆ ให้กับวอลเปเปอร์ โดยมีลักษณะผิวหน้ามันและผิวแบบด้าน 

ข้อดี - ไวนิลจัดเป็นประเภทวอลเปเปอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ด้วยน้ำ ดูแลรักษาง่าย ไม่เป็นที่เกาะของฝุ่นละออง เหมาะกับการแต่งผนังห้องทั่วไป

ข้อเสีย - แต่เมื่อเวลาผ่านไป สี และลวดลายอาจจางเร็ว ถ้าหากเจอแสงแดดบ่อยๆ

3. Foam Wallcovering

เป็นวัสดุบุผนังชนิดหลังกระดาษ (Paper Back) เคลือบผิวหน้าด้วยสารพีวีซี (PVC) หรือโฟมพิมพ์สีแล้วทำการอบนูนเพื่อให้เป็นลวดลาย  เหมาะสำหรับติดตั้งในที่ ที่ไม่มีฝุ่นมาก เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน หรือ ห้องปรับอากาศ ฯลฯ  

ข้อดี - มีลวดลายที่ลึกเด่นชัด มีความหนานุ่ม และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย สามารถบดบัง ซ่อนเร้นความไม่เรียบร้อยของผนังได้ดี นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบากว่าวอลเปเปอร์ประเภทอื่นจึงสามารถติดบนเพนดานได้อีกด้วย

ข้อเสีย - การนำไปติดเพดานนั้นมีข้อควรระวังเป็นพิเศษในเรื่องของความชื้นจากฝ้าเพดานด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากหยดน้ำจากความเย็นของช่องแอร์แบบฝังเพดาน หรือ หลังคารั่วแล้วน้ำหยดซึมลงเพดาน เป็นต้น แต่ถ้าหากฝ้าเพดานไม่มีปัญหาที่กล่าวมาก็จะสามารถติดตั้ง และใช้งานได้ยาวนาน

4. Textile Wallcovering

วัสดุบุผนังชนิดหลังกระดาษ (Paper Black) แล้วใช้เส้นใยธรรมชาติ หรือ ใยสังเคราะห์ เช่น ฝ้าย ไหม โพลีเอสเตอร์ ทอเป็นลวดลายบนกระดาษ

ข้อดี - มีลักษณะเด่นคือ จะมีเส้นสายที่ชัดเจน โดดเด่น สร้างความหรูหราให้กับผนังเป็นอย่างดี ส่วนมากวอลเปเปอร์ประเภทนี้จะเป็นแบบหน้ากว้าง

ข้อเสีย - การดูแลรักษาจะต้องระมัดระวังไม่ให้โดนฝุ่น และความชื้นเด็ดขาด เพราะทำมาจากเส้นใยธรรมชาติซึ่งมีความเปราะบางอยู่บ้างพอสมควร

5. Non-Woven Wallpaper

เป็นวอลเปเปอร์นวัตกรรมใหม่ที่ผลิตจากเส้นใยเซลลูโลส โดยไม่ต้องใช้เยื่อไม้จากป่าสนในการทำวัตถุดิบ แต่เป็นเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม จึงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดยุโรป อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก

ข้อดี - มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายกว่ากระดาษทนทานมากกว่าในด้านความเหนียว ฉีกขาดยากสามารถระบายความชื้นได้ดีกว่ากระดาษ ลอกออกง่ายสำหรับการเปลี่ยนวอลเปเปอร์ (Repealable) ใหม่ และลดปริมาณการทำลายสิ่งแวดล้อม 

ข้อเสีย - อาจมีการลอก-หลุดในบริเวณรอยต่อ หรือ ขอบ ช่างผู้ติดตั้งต้องมีความประณีตในการเก็บรายละเอียด

6. Photo Wall

วอลเปเปอร์ชนิดภาพวิว คือกระดาษติดผนังที่พิมพ์เอาลวดลายหรือรูปภาพที่ถ่ายจากธรรมชาติหรือภาพเขียน ภาพถ่าย โดยมีลักษณะเป็นภาพเดียวทั้งผนัง เช่น ภาพบรรยากาศเมือง ภาพวิวธรรมชาติ ภาพบุคคล เป็นต้น

ข้อดี - เรื่องราวของภาพมีความสวยงามต่อเนื่อง 

ข้อเสีย - ต้องมีการเตรียมพื้นที่ และวัดขนาดที่แน่นอน เพราะถ้าหากไม่เตรียมพื้นที่อาจทำให้เมื่อติดตั้งไปแล้ว ภาพจะขาดๆเกินๆไม่สวยงาม

7. Fiber Wall 

ไฟเบอร์ เป็นวัสดุบุผนังที่แตกต่างจากวอลเปเปอร์ทั่วไปคือ ผลิตจากวัสดุแผ่น ที่เป็นแผ่นยิปซัมรีดบาง แล้วเคลือบผิวหน้าด้วยการใช้เส้นใยไฟเบอร์มาถักเป็นโครงสร้างเส้นใย (NET) แล้วทำการพิมพ์สีลวดลายให้สวยงาม 

ข้อดี -  Backing ที่เป็นยิปซัม สามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้ดี อีกทั้งโครงข่าย (NET) ของไฟเบอร์ที่มีความเหนียว ยึดผนังไว้เป็นอย่างดี ช่วยผนังให้ไม่เกิดรอยร้าว และป้องกันรอยแยกได้ในระดับหนึ่ง

ข้อเสีย - อาจเกิดรอยลอก ล่อน ที่สี หรือพื้นผิวผนังเดิมเมื่อทำการลอกออก

8. Wood Backing Wallpaper

ผิวหน้าเป็นไม้จริง โดยการใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น ไม้คอร์ก ไม้ไผ่ มาทำลามิเนตกับกระดาษหนังไก่ ไม่มีการเคลือบผิวหน้าเหมือนประเภทอื่นๆ

ข้อดี - ให้ความสวยงาม และผิวสัมผัสแบบธรรมชาติ 

ข้อเสีย - ต้องระวังเรื่องความชื้น 

9. Fabric Backing Wallpaper

ใช้วัสดุสิ่งทอเป็นด้านหลังแทนกระดาษ และเคลือบผิวหน้าด้วยสารพีวีซี (PVC)

ข้อดี - มีความทนทาน ป้องกันการกระแทกได้ดี เหมาะสำหรับพื้นที่ ที่มีการใช้งานมาก

ข้อเสีย - ต้องระวังเรื่องความชื้น 

วอลเปเปอร์ในศตวรรษที่ 21 หรือยุคปัจจุบันนั่นเอง

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

- นิตยสาร ELLE DECORATION 

- vam.ac.uk

สินค้าเทียบเคียงในหมวด "วอลเปเปอร์"

สินค้าเทียบเคียงในหมวด"วอลเปเปอร์ - วัสดุปิดผิวผนัง"

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ