ไม้เทียม "เฌอร่า" วัสดุทดแทนไม้ สร้างง่าย อยู่สบาย By SHERA
“ไม้เฌอร่า” เป็นไม้สังเคราะห์ประเภทหนึ่งที่ทำจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ พัฒนามาจากการนำกระเบื้องแผ่นเรียบมาตัดให้เป็นชิ้นเล็กลงขนาดเท่ากับไม้ มีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ และเยื่อเซลลูโลสจึงทำให้มีทั้งความแข็งแรง และมีความยืดหยุ่นอยู่ในเนื้อวัสดุ
ในขั้นตอนการผลิตที่ผ่านระบบออโต้เคลฟ หรือการบ่มผลิตภัณฑ์ด้วยไอน้ำแรงดันสูงที่จะช่วยไล่ความชื้นออกไปจากเนื้อวัสดุ จึงมีการหดตัว และขยายตัวไม่มาก ทำให้ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ ทั้งความเย็น ความร้อน ความชื้น และไอทะเล เมื่อรวมกับคุณสมบัติที่ดีอย่างอื่น นั่นคือ ทนไฟ กันเสียงได้ สามารถดัดโค้งได้ ปลวกไม่กิน อีกทั้งมีราคาไม่แพงประมาณ 150 – 200 บาทต่อตารางเมตร จึงทำให้ไม้เฌอร่าเป็นที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ผลิตภัณฑ์มีทั้งแบบผิวเรียบ ลายไม้สัก ลายชัยพฤกษ์ และลายเสี้ยนไม้ รวมถึงสามารถฉลุลายได้อีกด้วย สีสันก็มีให้เลือกมากมาย มีทั้งสีที่ทำจากโรงงาน หรือจะเลือกทาสีน้ำอะคริลิคเองในภายหลังก็ได้ และยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผสมสีลงไปในเนื้อวัสดุ เมื่อมีการตัดหรือเจาะลงไป เนื้อข้างในจะยังคงมีสีเดียวกับผิวหน้าอยู่ ช่วยให้สะดวกในการติดตั้ง และการเก็บงานในภายหลัง
ไม้เฌอร่ามีหลายความหนาขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของบ้านที่ต้องการนำไปใช้งาน มีตั้งแต่ 0.8 – 1.6 ซม.สำหรับส่วนที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก เช่น ฝ้าชายคา ฝ้าเพดาน ผนัง บัวเชิงผนัง รั้ว เชิงชาย ไปจนถึง 2.5 -5.0 ซม. สำหรับส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น พื้น ขั้นบันได วงกบ รูปแบบของไม้จึงถูกผลิตขึ้นมาให้มีสีสัน ลวดลาย และขนาดที่เหมาะสม รวมทั้งเรียกชื่อผลิตภัณฑ์ตามส่วนประกอบที่ต้องการนำไปใช้งานด้วย ได้แก่ ไม้ฝา ไม้ระแนง ไม้เชิงชาย ไม้ปิดกันนก ไม้บัว ไม้มอบ ไม้บันได หลังคาปีกไม้ ไม้กันตก ไม้ตกแต่ง ฉลุช่องลม วงกบ ประตู
นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานนอกเหนือจากรูปแบบที่ผลิตออกมาได้ ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหนาเท่ากัน หรือหนามากกว่าส่วนที่ต้องการนำไปใช้ เช่น ไม้รั้วจะมีความหนา 1.2 ซม. ก็สามารถประยุกต์ใช้ไม้พื้นความหนา 2.5 ซม.มาใช้งานแทนกันได้ หรือไม้ระแนงที่ใช้สำหรับทำฝ้าชายคามีความหนา 0.8 ซม. ก็สามารถใช้ไม้ฝาความหนา 1.0 ซม.มาใช้แทนกันได้เช่นกัน
นอกจากจะเอามาใช้งานแทนกันแล้วอาจนำมาใช้งานร่วมกันไปด้วยก็ได้ ความหนาของไม้ต่างกันเมื่อนำมาใช้งานร่วมกัน จะช่วยให้งานออกแบบธรรมดาดูมิติมากขึ้น ยิ่งเมื่อนำมาใช้งานร่วมกับสีสัน และลวดลายของผิวหน้าที่แตกต่างกัน หรือติดตั้งสลับกันให้เกิดเป็นรูปแบบใหม่ๆ ก็จะช่วยให้พื้นหรือผนังที่ออกมามีความน่าสนใจมากขึ้นได้ดีทีเดียวครับ
ผู้เขียนบทความ