
7 นวัตกรรม เทคโนโลยี ที่น่าสนใจ สุดน่าทึ่ง
มนุษย์โลกได้พัฒนาเทคโนโลยีไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแต่ละอย่างบางคนอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันกำลังจะเป็นไปได้หรือบางอย่างอาจเป็นไปแล้ว ด้วยซ้ำ วันนี้จะพาไปดู 7 นวัตกรรม เทคโนโลยี ที่น่าสนใจ สุดน่าทึ่ง ที่อาจเปลี่ยนโลกใบนี้ได้เลยทีเดียว

1) กางร่มให้โลกด้วยเทคโนโลยี Solar Geoengineering
ในปี 1991 ภูเขาไฟปีนาตูโบในฟิลิปปินส์เกิดการปะทุขึ้น สร้างความเสียหายจำนวนมาก หลายครัวเรือนต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและต้องตกงาน แต่ในเรื่องเลวร้ายก็ยังมีเรื่องดีอยู่บ้าง เพราะเถ้าภูเขาไฟและฝุ่นที่ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศนั้นส่งผลให้โลกเย็นลงถึง 0.5 องศาเซลเซียสนานกว่า 4 ปี ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Solar Geoengineering” หรือการกางร่มให้โลกแบบเดียวกับที่ภูเขาไฟทำโดยบังเอิญ แต่วิศวกรจะทำโดยตั้งใจ อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าวิธีนี้จะได้ผลจริงหรือเปล่า จะกระทบสภาพอากาศของโลกไหม หรือถ้าทำสำเร็จ มันจะทำให้คนเลิกรักษ์โลกหรือเปล่า ข้อกังขามากมายทำให้เทคโนโลยีนี้ยังไม่ถูกสนับสนุนและพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 นี้ กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลองปล่อยบอลลูนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ และปล่อยวัสดุบางอย่างที่มีการทำงานคล้ายกับเถ้าภูเขาไฟ (อย่างแคลเซียมคาร์บอเนต) จำนวน 2 กิโลกรัม เพื่อวัดผลดูว่าจะกระจายวงกว้างแค่ไหนและมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
ผู้ที่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ เพราะหากเราลดการปล่อยก๊าซไม่ได้และต้องการซื้อเวลาเพื่ออยู่ต่อบนโลกนี้จริงๆ เทคโนโลยี Solar Geoengineering นี่แหละอาจเป็นคำตอบที่จะช่วยโลกใบนี้ของเราใว้ได้
2) เครื่องปั๊มความร้อน
อากาศร้อนเลยต้องเปิดแอร์กันเยอะก็เป็นปัญหาแล้ว แต่อากาศหนาวที่ต้องใช้เครื่องทำความร้อนก็เป็นปัญหาไม่แพ้กัน การให้ความอบอุ่นแก่บ้านและอาคารต่างๆ ในหน้าหนาวนั้นปล่อย ‘มลพิษ’ มากถึง 1 ใน 4 จากการปล่อยมลพิษทั้งหมดทั่วโลก การสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า พลังงานที่ใช้ในเครื่องทำความร้อนกว่าครึ่งมาจากแก๊สธรรมชาติ นอกเหนือจากนั้นก็เป็นแก๊สโพรเพน ถ่าน น้ำมัน และไฟฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ทางเลือกทดแทนที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้คือ การใช้ “เครื่องปั๊มความร้อน” (Heat Pumps)
เครื่องปั๊มความร้อนทำงานอย่างไร แม้ในชื่อจะมีคำว่า ‘ความร้อน’ อยู่ แต่เทคโนโลยีนี้ทำงานได้สองแบบ คือ 1) ปั๊มความร้อนจากภายนอกเข้ามาในบ้าน โดยไฟฟ้าทุกๆ 1 กิโลวัตต์จะสามารถสร้างความร้อนได้ถึง 3 กิโลวัตต์ ทำให้ถูกกว่าการใช้ฮีตเตอร์เสียอีก 2) ปั๊มความร้อนออกและให้ความเย็นแก่พื้นที่ เพียงเท่านี้บ้านเราก็จะเย็นราวกับเปิดแอร์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยกาซ หรือ มลพิษ ได้มากเลยทีเดียว
แม้เครื่องปั๊มความร้อนจะมีใช้มานานแล้ว แต่มักจะถูกมองข้ามและไม่มีการสนับสนุนให้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 บริษัท Gradient จากซานฟรานซิสโก หนึ่งในหลายบริษัทที่พัฒนาเครื่องปั๊มอากาศที่ให้ทั้งความร้อนและความเย็น มีแผนว่าจะจัดจำหน่ายเครื่องปั๊มอากาศดีไซน์เรียบง่ายภายในปีหน้า ซึ่งน่าสนใจมากเลยทีเดียว

3) เครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน
ทางออกของการลดมลภาวะบนท้องถนนคือรถยนต์ไฟฟ้า แต่สำหรับเครื่องบินที่ขนาดใหญ่กว่าและเดินทางไกลกว่า ไฟฟ้าอาจไม่ใช่ทางออก แต่เป็น “เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” ต่างหาก
เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีข้อดีคือ เชื้อเพลิงที่นำไปใช้แล้วจะไม่สูญหายหรือสร้างมลภาวะ เพราะมันจะกลายเป็นน้ำบริสุทธิ์ (H2O) แทน ในปี 2022 มหาวิทยาลัยและบริษัทต่างๆ วางแผนจะทดลองเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนเป็นครั้งแรก และบางบริษัทมีแผนจะประกาศใช้จริงภายในปีหน้า

4) แท็กซี่บินได้
เมื่อพูดถึงเมืองแห่งอนาคต ภาพฝันของเรามักจะมีรถบินได้เสมอ แต่สิ่งนี้ใกล้เข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว หลายบริษัททั่วโลกจะมีการทดลองใช้จริงในปี 2022 และขอสิทธิบัตรในการใช้เชิงพาณิชย์ในขั้นตอนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Joby Aviation, eHang, Lilium, Vertical Aerospace, และ Volocopter ของเยอรมนีที่ประกาศว่าจะให้บริการแท็กซี่บินได้ในงานโอลิมปิกปี 2024 ณ กรุงปารีส

5) Metaverse
หนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงท้ายของปี 2021 คือ Metaverse โลกเสมือนจริงที่จะทำให้ประสบการณ์บนโลกออนไลน์ของเราสนุก สมจริง และเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากขึ้น แม้ Metaverse ของ Meta (อดีต Facebook) กว่าจะปล่อยออกมาเต็มตัวนั้นต้องใช้เวลาอีกนาน แต่คงมีการอัปเดตที่น่าสนใจจากค่ายอื่นๆ แน่นอนในปีต่อไป

6) ควอนตัมคอมพิวเตอร์
ไอเดียของควอนตัมคอมพิวเตอร์มีมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 แล้ว แต่เทคโนโลยีสุดล้ำนี้จะมาเยือนโลกความเป็นจริงเมื่อไหร่กันนะ จะเป็นปี 2022 หรือเปล่า!?
ปัจจุบันควอนตัมคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาอย่างมาก ทีมจากประเทศจีนได้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีจำนวนคิวบิต (หน่วยที่เล็กที่สุดของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม) อยู่ที่ 66 คิวบิต ทำให้คอมพิวเตอร์ดังกล่าวถูกขนานนามว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ “เร็ว” ที่สุดในโลก ความสำเร็จนี้กระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ เร่งพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ของตนบ้าง อย่างบริษัทหนึ่งในอเมริกาก็วางแผนจะสร้างคอมพิวเตอร์ขนาด 433 คิวบิตให้สำเร็จในปี 2022 เช่นกัน

7) การสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
จะเป็นอย่างไรถ้าเราควบคุมเกมได้โดยใช้ ‘ความคิด’ ไม่ต้องใช้มืออีกต่อไป นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทสตาร์ตอัปของ อีลอน มัสก์ ได้พัฒนาไมโครชิปที่สามารถฝังไว้ในสมอง ช่วยให้คนควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยความรู้สึกนึกคิด แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แต่หากนวัตกรรมนี้ทำสำเร็จคงจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้ป่วยที่สูญเสียการควบคุมร่างกาย
หลักจากที่ได้อ่านบทความแล้วรู้สึกไหมว่าโลกเราพัฒนาไปเร็วมาก จนบางทีถ้าเราไม่ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เราอาจจะกลายเป็นคนตกเทรนด์ไปเลยก็ได้นะจร้า
ENRICH ENERGY ผู้นำด้าน โซล่าเซลล์ แผงโซล่าเซลล์ อินเวอร์เตอร์ รับติดตั้งโซล่ารูฟท็อปครบวงจร โดยทีมงานโซล่าร์มืออาชีพ
สนใจ
โซล่ารูฟท็อป หรือ
อินเวอร์เตอร์ สามารถติดต่อเราได้ที่
065-845-8698
ต้องการทราบรายละเอียดการติดตั้งระบบ
โซล่ารูฟท็อป คลิก
https://bit.ly/solarrich