The Motifs Eco Hotel โรงแรมที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ

The Motifs Eco Hotel

Project : The Motifs Eco Hotel
Architect/Interior : Eco Architect
Category : Hotel
Location : Chanthaburi, Thailand
Area : 1,000+ Sq.m 
Photographer : adisornr PHOTOGRAPHY

เรื่องโดย : Wuthikorn Sut

โรงแรมในแบบ Chantaburi-Modern-Craft

สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของจันทบุรีคือ หมู่ตึกแถวเก่าที่ชุมชนริมน้ำจันทบูร ซึ่งสิ่งที่ The Motifs Eco Hotel ได้เลือกนำมาใช้ คือเอกลักษณ์ของบานหน้าต่าง ลวดลาย และซุ้มโค้ง ที่ทำให้เมื่อมองผ่านจากห้องสู่ภายนอก หรือจากพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่งจะได้บรรยากาศที่โรแมนติกในแบบเมืองจันท์ มีความคล้ายบ้านเก่า แต่ในการปรับใช้นั้นก็ได้มีการคลี่คลายรายละเอียดเพื่อให้องค์ประกอบดั้งเดิมนั้น สามารถเข้ากันได้กับสถาปัตยกรรมโมเดิร์นได้ดียิ่งขึ้น

ลดหลั่นความใหญ่โต เลือกใช้วัสดุ ให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น

เพราะอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นบ้าน 2-3 ชั้น จึงทำให้โรงแรมนั้นต้องไม่ดูเป็น “Mass” ที่ใหญ่จนเกินไป และได้แรงบันดาลใจมาจากหมู่ตึกที่ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำจันทบูร ซึ่งมีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ ลดหลั่นกัน จึงคุยกันว่าเราควรทำตึกให้กระจายความเป็นอาคารให้เหมือนเป็นอาคารหลายหลังมาประกอบกันเพื่อลดทอนให้ขนาดที่ดูใหญ่มีความเป็นมิตรมากขึ้น มีการเปิดพื้นที่ภายในให้สามารถรับแสงและลมธรรมชาติเข้าสู่ทุกห้องและทุกพื้นที่ได้จริงๆ

อีกส่วนที่ช่วยให้โรงแรมนี้สามารถเข้ากันได้ดีกับบริบทบ้านเก่าโดยรอบ นั่นก็คือการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันในส่วนล่างและบนของอาคาร โดยที่ชั้นล่างจะเป็นผนังปูนทำสีขาวสะอาดตา ในขณะที่ชั้นบนนั้นเลือกใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลัก ทั้งนี้ก็เพื่อลดทอนให้อาคารดูเบาลงด้วยมุมมองสายตา และสร้างความเชื่อมโยงไปยังบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเช่นเดียวกัน

เปิดรับธรรมชาติ สร้างประสบการณ์พิเศษ

แม้ว่าโดยปกติแล้วการออกแบบโรงแรมในเชิงธุรกิจจะต้องทำการออกแบบให้สามารถมีห้องพักได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ที่ โรงแรมแห่งนี้ การออกแบบกลับพุ่งเป้าไปที่การจะทำอย่างไร ให้ห้องทุกห้องสามารถเข้าถึงธรรมชาติของจันทบุรีได้มากที่สุด

“ที่จันทบุรีจะมีภูมิอากาศร้อนชื้นคล้ายภาคใต้ คือ ฝน 8 แดด 4 และสำหรับเราแล้ว เวลาฝนตกคือเวลาที่รู้สึกถึงเสน่ห์จันทบุรีได้มากที่สุด เราจึงคุยกับคุณแก้วสถาปนิกว่า จะทำอย่างไรให้เราสามารถรับประสบการณ์เวลาฝนตกได้ แต่ยังคงความสบายแบบโรงแรมไว้ และนั่นจึงทำให้อาคารมีเว้นที่ว่างเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกห้องได้รับแดด ลม ฝน และรู้สึกถึงธรรมชาติของจันทบุรีได้อย่างแท้จริง” 

คุณดาวได้บอกกับเรา “เมื่อกลับมาคิดแบบนักธุรกิจ แม้ว่าเราจะเสียพื้นที่ห้องไปบ้าง แต่การสร้าง “ประสบการณ์พิเศษ” ที่ทำให้เราแตกต่างจากโรงแรมอื่นก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะทำให้แขกที่มาพัก จดจำ และนำไปบอกต่อ”

พื้นที่ “ระหว่าง” ภายในกับภายนอก

การเปิดพื้นที่ภายในอาคารของโรงแรมแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้สามารถสัมผัสธรรมชาติได้จากภายในห้องแต่ละห้องเท่านั้น แต่ในภาพรวมของอาคารนั้นยังทำให้อาคารสามารถ “หายใจได้” อีกด้วย โดยจะมีช่องเปิดให้กับห้องทุกห้องมากกว่าหนึ่งด้านประตู สามารถเปิดหน้าต่างรับกระแสลมธรรมชาติได้ ทั้งลมที่พัดผ่านในแนวนอน และการระบายออกของลมในแนวตั้ง ผ่านช่องว่างระหว่างอาคาร นอกจากนี้ “พื้นที่ระหว่างอาคาร” ยังใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นอเนกประสงค์ไปพร้อมกัน

อีกส่วนที่เป็นความตั้งใจเจ้าของโรงแรมก็คือการใช้ไม้เก่าที่มาจากบ้านเดิม ด้วยว่าที่แห่งนี้เป็นที่ของตระกูลมายาวนาน ตามเจตนารมย์ของคุณยายเจ้าของโรงแรม ที่มีความตั้งใจอยากให้ใช้ประโยชน์มากกว่าการขายออกไป เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะสร้างเป็นโรงแรมและต้องรื้ออาคารเดิมออก การนำไม้เก่าทั้งหมดมาใช้จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งของครอบครัวที่ต้องการสร้างให้โรงแรมหลังนี้ ยังมีภาพจำของบ้านเดิมหลงเหลืออยู่ และส่งต่อไปยังอนาคตเช่นกัน โดยจะเห็นได้จากหลายพื้นที่ของโรงแรม

ความตั้งใจของเจ้าของโรงแรม

คือการสร้างโรงแรมที่เป็นเหมือนภาพแทนของความ Eco ที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะสุดท้ายแล้วการอยู่อาศัยแบบไม่เบียดเบียนธรรมชาติจะกลายเป็นเรื่องปกติและเป็นวิถีชีวิตไปในที่สุด หลายอย่างในโรงแรมแห่งนี้มีการคิดคำนึงถึงความยั่งยืนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเวียนน้ำใช้จากน้ำฝนบนหลังคามาใช้รดน้ำต้นไม้ การเปิดรับลมและแสงธรรมชาติเพื่อประหยัดพลังงาน การนำเอาอาหารในพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้เสิร์ฟในโรงแรม หรือมี Craft Soda ที่คิดโดยคนในจันทบุรีเอง

ภายในห้องพักนั้นตกแต่งเรียบง่ายด้วยไม้เก่าคุมโทนด้วยสีเบจ มีการยกพื้นขึ้นแทนการใช้เตียงและสร้างเพดานคล้ายจั่วเพื่อให้ยังคงความรู้สึกของบ้านเก่าแบบชุมชนริมน้ำเมืองจันท์ การวางที่นอนลงบนยกพื้นยังช่วยให้ห้องดูสูงขึ้น และมีพื้นที่ใช้งานแบบเอกเขนกที่เหมาะกับคนไทยมากกว่า สามารถนอนเล่นดูวิวฝนผ่านหน้าต่างห้องได้ในวันสบาย ๆ

Sharing Economy Value

เพื่อส่งเสริมงานและอัตลักษณ์ของชุมชนในแบบ Sharing Economy หรืออย่างปัญหาหนึ่งของเมืองจันท์ก็คือขนส่งสาธารณะ เพราะที่นี่ก็ยังนิยมใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่ คุณดาวก็มีความคิดที่จะลองนำสามล้อไฟฟ้ามาปรับใช้รับส่งนักท่องเที่ยวในจังหวัด ถ้าเกิดขึ้นได้ก็จะทำให้สามารถกระจายรายได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของชื่อ THE MOTIFS ที่แปลว่าแม่ลาย หรือ บรรทัดฐาน ซึ่งการได้มาพักที่นี่ก็จะได้สัมผัสชีวิต Eco ในความตั้งใจของคุณดาว และอาจจะติดใจนำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวันในที่สุด

ติดต่อสอบถามรายละเอียด และติดตามชมผลงานการออกแบบอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่

Eco Architect

ผลงานการออกแบบอื่นๆที่น่าสนใจจาก  Eco Architect

Eco Architect
Eco Architect Co.,Ltd.
e-mail : eco.arch.phuket@gmail.com ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

Eco Architect

architect

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ